คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจชายแดนไทย-พม่า อำเภอแม่สอด จังหวัดตากตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ ทั้ง 3 ข้อ ดังนี้
1. ให้เร่งรัดการก่อสร้างสะพานมิตรภาพ ไทย-พม่า แห่งที่ 2 เพื่อรองรับปริมาณการขนส่งสินค้าที่เพิ่มมากขึ้น และรองรับระเบียงเศรษฐกิจ ตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor)
2. ให้เร่งรัดการดำเนินโครงการสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษ รวมทั้งศูนย์บริการนำเข้า-ส่งออก เบ็ดเสร็จ (One Stop Service) และศูนย์โลจิสติกส์รวมทั้งคลังสินค้า (Logistics Park) ในพื้นที่บริเวณชายแดนไทย-พม่า อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก โดยจัดหาพื้นที่ตามแนวเส้นทางก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-พม่า แห่งที่ 2
3. ให้กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาธุรกิจการค้าชายแดนไทย-พม่า โดยมี หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องร่วมด้วย เพื่อส่งเสริมและขับเคลื่อนการพัฒนาธุรกิจการค้าชายแดนไทย-พม่า ให้เป็นไปอย่างบูรณาการต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ
สาระสำคัญของเรื่อง
กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) รายงานว่า
1. พณ. ได้แต่งตั้งคณะกรรมการโลจิสติกส์การค้า พณ. โดยมีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายอลงกรณ์ พลบุตร) เป็นประธาน และมีกรรมการประกอบด้วยผู้แทนหน่วยงานของ พณ. และผู้แทนองค์กรภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เช่น สภาผู้ขนส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาพันธ์โลจิสติกส์ไทย และสมาพันธ์ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทย เป็นต้น เพื่อดำเนินการขับเคลื่อนการพัฒนาโลจิสติกส์ การค้าให้เป็นรูปธรรม รองรับพันธกิจในการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล รวมทั้งเร่งพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยทั้งในภาคการผลิต การส่งออก และธุรกิจโลจิสติกส์ การดำเนินการของคณะกรรมการชุดนี้สอดคล้องตามหลักการและยุทธศาสตร์ที่กำหนดโดยคณะกรรมการพัฒนาระบบบริหารจัดการขนส่งสินค้าและบริการของประเทศ (กบส.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน
2. คณะกรรมการโลจิสติกส์ฯ ได้ดำเนินกิจกรรม “โลจิสติกส์การค้าสัญจรเพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจไทย” ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม-1 สิงหาคม 2552 ณ พื้นที่ชายแดน ไทย-พม่า อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ในการสัญจรในครั้งนี้คณะกรรมการโลจิสติกส์ฯ ได้ประชุมหารือกับผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องของจังหวัดตากและจังหวัดใกล้เคียงและได้รับทราบปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ รวมทั้งข้อเสนอแนะซึ่งมีประเด็นสำคัญ ดังนี้
2.1 ขอให้เร่งรัดให้มีการก่อสร้างสะพานมิตรภาพ ไทย-พม่า แห่งที่ 2 เพื่อรองรับระเบียงเศรษฐกิจ ตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor) เนื่องจากสะพานมิตรภาพ ไทย-พม่า ในปัจจุบันมีสภาพชำรุดไม่สามารถรองรับรถบรรทุกขนาดใหญ่ที่มีน้ำหนักเกินกว่า 25 ตัน และปริมาณการขนส่งสินค้าที่มากขึ้น
2.2 จัดหาพื้นที่ตามแนวเส้นทางก่อสร้างสะพานมิตรภาพ ไทบ-พม่า แห่งที่ 2 เพื่อรองรับการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ ศูนย์บริการนำข้า-ส่งออกแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) และศูนย์โลจิสติกส์รวมทั้งคลังสินค้า (Logistics Park)
2.3 ส่งเสริมและขับเคลื่อนการพัฒนาธุรกิจการค้าชายแดนไทย-พม่า ให้เป็นไปอย่างบูรณาการต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ
3. พณ. พิจารณาเหตุผลและความจำเป็นตามข้อ 2 แล้ว เห็นว่า
3.1 ความสำคัญของด่านแม่สอด
3.1.1 การค้าระหว่างไทยและสหภาพพม่าในปี 2551 มีมูลค่าการค้ารวมสูงถึง 156,300 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 1.3 ของมูลค่าการค้ารวมทั้งหมดของไทย โดยสหภาพพม่าเป็นคู่ค้าอันดับที่ 20 ของไทยในโลก และเป็นคู่ค้าของไทยอันดับที่ 6 ในกลุ่มอาเซียน รองจากมาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ขณะที่ไทยเป็นคู่ค้าลำดับที่ 1 ของสหภาพพม่า โดยมีมูลค่าการค้าชายแดนรวมประมาณ 144,000 ล้านบาท คิดเป็นประมาณร้อยละ 92 ของยอดรวมการค้าระหว่างไทย-พม่า ทั้งนี้ มูลค่าการค้าชายแดนไทย-พม่า คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 20.2 ของการค้าชายแดนในภาพรวมของไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน
3.1.2 จังหวัดตากมีพรมแดนทางทิศตะวันตกติดต่อกับสหภาพพม่า โดยมีแม่น้ำเมยเป็นพรมแดนกั้นระยะทางยาวประมาณ 390 กิโลเมตร และถ้ารวมตลอดแนวชายแดนแล้วจะมีระยะทาง 520 กิโลเมตร การค้าชายแดนไทย-พม่า ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก โดยด่านแม่สอดมีสภาพทางภูมิศาสตร์ที่เหมาะสมในการทำการค้า อยู่ตรงข้ามกับเมืองเมียวดี จังหวัดเมียวดี สหภาพพม่า ซึ่งทั้ง 2 เมืองมีการติดต่อค้าขายกันมานานในปี 2551 ด่านแม่สอดมีมูลค่าการค้าชายแดนไทย-พม่า รวม 19,614 ล้านบาท คิดเป็นประมาณร้อยละ 13 ของมูลค่า รวมการค้าชายแดนไทย-พม่า และมีอัตราการเติบโตสูงขึ้นแม้ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปัจจุบัน
3.1.3 การค้าชายแดนแม่สอด-เมียวดี เป็นการค้าขายของผู้ประกอบการในท้องถิ่นผู้ประกอบการส่งออกจากกรุงเทพฯ และผู้ประกอบการส่งออกในพื้นที่จังหวัดอื่นในภาคเหนือ นอกจากนี้ยังมีพ่อค้าจากเมืองย่างกุ้งเข้ามาทำการค้าผ่านชายแดนอำเภอแม่สอดด้วย เนื่องจากตั้งอยู่ห่างจากเมืองย่างกุ้งซึ่งเป็นเมืองศูนย์กลางการค้าที่จะกระจายสินค้าไปสู่ภาคต่างๆ ของพม่าเพียง 450 กิโลเมตร การค้าชายแดนด้านอำเภอแม่สอดจึงมีการส่งออก — นำเข้าสินค้าที่หลากหลาย มีการขนส่งสินค้าข้ามสะพานมิตรภาพ ไทย — พม่า และการขนย้ายผ่านคลังสินค้าชั่วคราวที่ตั้งอยู่ริม แม่น้ำเมย
3.1.4 นอกจากนี้ ทางฝ่ายพม่าได้จัดตั้งเขตการค้าเมียวดี ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักงานตรวจสินค้าส่งออกและนำเข้า รวมทั้งคลังสินค้าและร้านค้าต่างๆ ซึ่งมีการจัดระเบียบเพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าเป็นอย่างดี เพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาทางการค้าของพม่าและรองรับการค้าที่จะมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้น แต่ในส่วนของไทย การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ของด่านแม่สอดยังเป็นไปอย่างล่าช้า แม้ว่าการค้าชายแดนกับพม่าที่ด่านแม่สอดมีศักยภาพที่จะขยายตัวสูงขึ้นได้อีกมาก ดังที่สะท้อนโดยอัตราความเติบโตของการค้า ณ ด่านแม่สอด ที่เป็นไปอย่างต่อเนื่อง แม้ในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจก็ตาม ทั้งนี้ การก่อสร้างสะพานมิตรภาพ ไทย-พม่า แห่งที่ 2 สมควรได้รับความสำคัญเร่งด่วนเนื่องจากสภาพที่ชำรุดและข้อจำกัดของสะพานมิตรภาพ ไทย- พม่า ในปัจจุบันที่ไม่สามารถรองรับปริมาณการขนส่งสินค้าที่เพิ่มมากขึ้น และรถบรรทุกสินค้าที่มีน้ำหนักเกินกว่า 25 ตัน และมีความจำเป็นที่จะต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าโดยให้มีการปรับปรุงและเสริมสร้างความทนทานของสะพานมิตรภาพ ไทย — พม่า ปัจจุบันด้วย
3.2 ศักยภาพและความพร้อมในการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ
ไทยมีความพร้อมในการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ ณ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก สืบเนื่องจากที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2547 (ในข้อ 4) อนุมัติให้มีการสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนในพื้นที่อำเภอแม่สอด เพื่อรองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษเมียวดีและการเติบโตของจังหวัดเมียวดี ตลอดจนเขตอุตสาหกรรมพิเศษที่ย่างกุ้ง มิงละกา ดอนผาอัน และเมาะลำใย ซึ่งได้ดำเนินการไปบ้างแล้ว แต่ไทยยังไม่ได้จัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ ณ อำเภอแม่สอด แม้ว่าพื้นที่บริเวณอำเภอแม่สอดมีความพร้อมทางด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน โดยผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการศึกษาวิจัยถึงความพร้อมของการจัดตั้งแม่สอดเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษและประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากการจัดตั้งดังกล่าว และองค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน เช่น หอการค้าจังหวัดตาก และสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตากมีความเห็นตรงกัน ถึงความสำคัญในการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ และได้แสดงเจตนารมณ์ที่จะให้ความสนับสนุนและความร่วมมืออย่างเต็มที่
3.3 ความจำเป็นในการจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาธุรกิจการค้าชายแดนไทย-พม่า
เนื่องจากมูลค่าการค้าชายแดนระหว่างไทย-พม่า ขยายตัวสูงขึ้นทุกปี จึงมีความจำเป็นในการจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาธุรกิจการค้าชายแดนไมย-พม่า ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องทั้งจากส่วนกลางและภูมิภาค เพื่อส่งเสริมและขับเคลื่อนการพัฒนาธุรกิจการค้าชายแดนไทย —พม่า ให้เป็นไปอย่างบูรณาการต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมทั้งทำหน้าที่ผลักดันและติดตามการดำเนินการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอดและปัจจัยโครงสร้างพื้นฐานด้วย
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 6 ตุลาคม 2552 --จบ--