กรอบการประเมินผลการปฏิบัติงานของหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติเฉพาะ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 7, 2009 16:12 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอดังนี้

1. เห็นชอบกรอบการประเมินผลการปฏิบัติงานของหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งตามพระราชบัญญัติเฉพาะ

2. เห็นชอบแนวทางการนำกรอบการประเมินผลการปฏิบัติงานของหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งตามพระราชบัญญัติเฉพาะ จำนวน 14 แห่ง ไปปฏิบัติ

สาระสำคัญของเรื่อง

สำนักงาน ก.พ.ร. รายงานว่า เพื่อเตรียมการประเมินผลหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งตามพระราชบัญญัติเฉพาะ ซึ่งเป็นการดำเนินการในระยะที่ 2 ตามมติคณะรัฐมนตรี (7 กันยายน 2547) สำนักงาน ก.พ.ร. ได้ศึกษาและยกร่างกรอบและแนวทางการประเมินผลหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งตามพระราชบัญญัติเฉพาะพร้อมทั้งจัดทำคู่มือการประเมินผลของหน่วยงาน กรณีศึกษา : สสวท : และ สวทช. และได้นำร่างกรอบการประเมินผลการปฏิบัติงานของหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งตามพระราชบัญญัติเฉพาะไปรับฟังความคิดเห็นของคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบราชการ (อ.ก.พ.ร.) เกี่ยวกับการส่งเสริมและพัฒนาองค์การมหาชนฯ และผู้บริหารหน่วยงานของรัฐเพื่อนำข้อสังเกตและความเห็นประกอบการพิจารณาปรับร่างกรอบฯ ให้มีความเหมาะสมกับการนำไปปฏิบัติ ซึ่ง อ.ก.พ.ร. ได้นำเสนอคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการในการประชุมครั้งที่ 6/2552 เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2552 พิจารณาแล้ว มีมติเห็นชอบให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป โดยกรอบการประเมินผลหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งตามพระราชบัญญัติเฉพาะมีสาระสำคัญ ดังนี้

1. กรอบการประเมินผลของหน่วยงานของรัฐฯ ประกอบด้วย เกณฑ์ประเมินผลการปฏิบัติงาน กรอบน้ำหนักของเกณฑ์ประเมินผล การกำหนดตัวชี้วัดผลการปฏิบัติงาน การกำหนดเป้าหมาย การประเมินผล การกำหนดน้ำหนักตัวชี้วัด และระดับคะแนนของการประเมินผล

2. เกณฑ์การประเมินผลการปฏิบัติงานของหน่วยงานของรัฐมี 4 เกณฑ์ คือ เกณฑ์ด้านผลสัมฤทธิ์ตามพันธกิจ (ร้อยละ 20 — 40) เกณฑ์ด้านผู้มีส่วนได้เสีย (ร้อยละ 10-20) เกณฑ์ด้านประสิทธิภาพ (ร้อยละ 15- 35) และเกณฑ์ด้านการกำกับดูแลและพัฒนาองค์กร (ร้อยละ 20-40)

3. กลุ่มเป้าหมายของการนำกรอบการประเมินผลการปฏิบัติงานไปใช้เป็นแนวทางในการประเมินผล คือ หน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งตามพระราชบัญญัติเฉพาะ จำนวน 14 แห่ง ได้แก่ หน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งตามพระราชบัญญัติเฉพาะในขณะที่มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2547 ใช้บังคับ จำนวน 8 แห่ง และหน่วยงานของรัฐที่ได้รับการจัดประเภทเป็นหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัติเฉพาะเพิ่มขึ้นอีก 6 แห่ง คือ สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) คุรุสภา สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) และสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.)

4. แนวทางการนำกรอบการประเมินผลการปฏิบัติงานขององค์การมหาชนที่จัดตั้งตาม พระราชบัญญัติเฉพาะไปปฏิบัติ โดยในระยะเริ่มต้นเห็นควรกำหนดแนวทางทางการปฏิบัติงาน ดังนี้

4.1 หน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งตามพระราชบัญญัติเฉพาะดำเนินการจัดให้มีการประเมินผลการปฏิบัติงานตามกรอบการประเมินผลฯ ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 เป็นต้นไป โดยจัดจ้างผู้ประเมินอิสระจากภายนอก และใช้งบประมาณของหน่วยงาน ทั้งนี้ ให้สำนักงาน ก.พ.ร. ร่วมให้ความเห็นในการคัดเลือกที่ปรึกษาเพื่อทำหน้าที่เป็นผู้ประเมินอิสระจากภายนอก

4.2 คณะกรรมการของแต่ละหน่วยงานเป็นผู้รับผิดชอบการดำเนินการจัดให้มีการประเมินผลการปฏิบัติงานตามกรอบการประเมินผลฯ ที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในระยะเริ่มแรกจะยังไม่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการเจรจาข้อตกลงและประเมินผลจาก ก.พ.ร. เพื่อทำหน้าที่เจรจาข้อตกลงผลการปฏิบัติงาน ความเหมาะสมของตัวชี้วัด น้ำหนัก ค่าเป้าหมาย และเกณฑ์การให้คะแนน รวมทั้งการติดตามประเมินผลการปฏิบัติงานตามข้อตกลง ดังเช่น ในกรณีของส่วนราชการ จังหวัด สถาบันการศึกษา และองค์การมหาชน หรือรัฐวิสาหกิจ ซึ่งมีคณะกรรมการจัดทำบันทึกข้อตกลงและประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจ อย่างไรก็ดี ให้หน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งตามพระราชบัญญัติเฉพาะรายงานการกำหนดตัวชี้วัด ค่าเป้าหมาย และเกณฑ์การให้คะแนนตามกรอบการประเมินผลต่อ ก.พ.ร. และรายงานการประเมินผลการปฏิบัติงานไปยัง ก.พ.ร. ภายใน 3 เดือนหลังสิ้นสุดปีงบประมาณ

4.3 ก.พ.ร. ประมวลรายงานการประเมินผลการปฏิบัติงานของหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งตามพระราชบัญญัติเฉพาะในภาพรวมเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ศึกษาและวิเคราะห์รูปแบบวิธีการประเมินผลการปฏิบัติงานดังกล่าว เพื่อเสนอแนะรูปแบบวิธีการที่เหมาะสมในการประเมินผลการปฏิบัติงานของหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งตามพระราชบัญญัติเฉพาะต่อไป

5. สำนักงาน ก.พ.ร. นำกรอบการประเมินผลการปฏิบัติงานของหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติเฉพาะเสนอนายกรัฐมนตรี ซึ่งนายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้ว อนุมัติให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 6 ตุลาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ