คณะรัฐมนตรีรับทราบแนวทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาผู้สูงอายุอย่างบูรณาการ ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอ โดยสรุปดังนี้
1. การสร้างหลักประกันความมั่นคงทางรายได้ โดยมุ่งส่งเสริมการมีงานทำในกลุ่มผู้สูงอายุที่มีศักยภาพ เน้นการเสริมสร้างโอกาสควบคู่กับการพัฒนาทักษะความรู้ รวมถึงการจัดหาแหล่งเงินทุน การส่งเสริมให้ชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เข้ามามีส่วนร่วมกำหนดแนวทางในการสร้างอาชีพที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุทั้งในและนอกระบบ เพื่อให้มีความมั่นคงทางรายได้และสามารถพึ่งพาตนเองทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมการออมของประชากรทุกกลุ่มวัย ด้วยการพัฒนาระบบหลักประกันด้านรายได้ให้ครอบคลุมถ้วนหน้า เน้นการออกแบบระบบให้มีหลายระดับตามความสามารถในการออม รวมถึงพัฒนากลไกการบริหารจัดการกองทุนโดยมืออาชีพ และจัดตั้งกลไกขับเคลื่อนนโยบายการออมเพื่อการเกษียณระดับชาติอย่างบูรณาการ ตลอดจนสร้างวินัยการออมของคนทุกกลุ่มวัย ทั้งยังต้องเร่งส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยให้สถาบันการศึกษาปรับปรุงและพัฒนาระบบการเรียนการสอนให้เหมาะสม ตอบสนองต่อโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไปในการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เอื้อให้คนทุกกลุ่มวัยเข้าถึงการเรียนรู้ตลอดชีวิต และสามารถพัฒนาทักษะในการดำเนินชีวิตได้สอดคล้องกับความต้องการและสถานการณ์การเปลี่ยนแปลง พึ่งตนเองได้และมีคุณภาพชีวิตที่ดี นอกจากนี้ ต้องเร่งเสริมสร้างคุณค่าของผู้สูงอายุเพื่อเพิ่มมูลค่าทางสังคมและเศรษฐกิจ โดยรณรงค์ส่งเสริมให้คนวัยต่างๆ เห็นคุณค่าและศักยภาพของผู้สูงอายุ พร้อมทั้งส่งเสริมการนำศักยภาพผู้สูงอายุและภูมิปัญญาไทยมาใช้ประโยชน์เพื่อเพิ่มคุณค่าและมูลค่าทางสินค้าและบริการ และได้รับผลตอบแทนที่เป็นธรรม
2. การพัฒนาระบบสังคมสวัสดิการและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุ โดยมุ่งพัฒนาระบบสวัสดิการ ที่เน้นให้ทุกภาคส่วนมีบทบาทดูแลผู้สูงอายุให้มากขึ้น โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ยากจน ไร้ที่พึ่ง และกลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือ รัฐจะต้องพัฒนาระบบการช่วยเหลือสาธารณะให้คนกลุ่มนี้อย่างทั่วถึง เป็นธรรม ควบคู่กับการเสริมสร้างทุนทางสังคมให้เป็นระบบช่วยเหลือเกื้อกูลกันในชุมชนท้องถิ่นหนุนเสริมระบบสวัสดิการของรัฐ พร้อมกับพัฒนาศักยภาพของสถาบันครอบครัวให้มีความสามารถในการดูแลผู้สูงอายุอย่างมีคุณภาพ มีการปลูกฝังค่านิยมเรื่องความกตัญญูและความเอื้ออาทรให้แก่สมาชิก ขณะที่ระบบและกลไกการดูแลผู้สูงอายุที่มีอยู่แล้วในชุมชน จะต้องได้รับการพัฒนาให้เชื่อมต่อกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนระบบการดูแลโดยสถาบัน ควรกำหนดรูปแบบและมาตรฐานการดูแลผู้สูงอายุระยะยาวที่เหมาะสมกับแต่ละประเภทของการให้บริการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมบทบาทครอบครัว ชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการดูแลกลุ่มผู้สูงอายุที่พอช่วยเหลือตนเองได้และกลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือ รวมถึงให้ความสำคัญกับการจัดทำแผนการผลิตและการพัฒนากำลังคนที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการดูแลผู้สูงอายุอย่างพอเพียง นอกจากนี้ ยังต้องเน้นการพัฒนาออกแบบสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุ โดยสร้างความตระหนักรู้ให้ทุกภาคส่วนร่วมจัดสภาพแวดล้อมและมุ่งรังสรรค์การออกแบบที่อยู่อาศัย อาคารสถานที่ แหล่งท่องเที่ยวและบริการที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุ และคนทุกกลุ่มวัยให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ร่วมกันได้อย่างมีคุณค่าและมีคุณภาพชีวิตที่ดี
3. การบริหารจัดการการขับเคลื่อนการพัฒนาผู้สูงอายุอย่างบูรณาการ ควรมุ่งเน้นพัฒนาระบบฐานข้อมูลและองค์ความรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุที่สามารถเชื่อมโยงเครือข่ายอย่างเป็นระบบ รวมทั้งส่งเสริมให้มีการศึกษาวิจัยระบบโครงสร้างภาษีที่เหมาะสมกับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุการวิจัยและพัฒนาที่เชื่อมโยงกับสถาบันการศึกษาในการคิดค้น ออกแบบนวัตกรรมที่เหมาะกับผู้สูงอายุและสภาพภูมิสังคม พร้อมทั้งเสริมสร้างความเข้มแข็งของกลไกการบริหารการพัฒนาผู้สูงอายุในทุกระดับ และใช้แผนผู้สูงอายุแห่งชาติเป็นเครื่องมือ เชื่อมโยงกับการเสริมสร้างศักยภาพของจังหวัดและกลุ่มจังหวัด เพื่อเตรียมความพร้อมสู่สังคมผู้สูงอายุในทุกพื้นที่ ควบคู่กับการเสริมสร้างศักยภาพชุมชน องค์กรชุมชนและเครือข่าย ให้เป็นแกนหลักในการบูรณาการขับเคลื่อนการพัฒนาในระดับชุมชน ตลอดจนผลักดันมาตรการที่สร้างแรงจูงใจให้องค์กรภาคธุรกิจ สนับสนุนการลงทุนพัฒนาชุมชนและสังคมในลักษณะความรับผิดชอบทางสังคมของธุรกิจ
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 6 ตุลาคม 2552 --จบ--