สรุปสถานการณ์ภัยธรรมชาติในช่วงฤดูฝน ครั้งที่ 13

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 7, 2009 16:26 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สรุปสถานการณ์ภัยธรรมชาติในช่วงฤดูฝน ครั้งที่ 13 ณ วันที่ 5 ตุลาคม 2552 ประกอบด้วย สถานการณ์อุทกภัย ผลกระทบด้านการเกษตร การให้ความช่วยเหลือ และสถานการณ์น้ำ สรุปได้ดังนี้

สถานการณ์อุทกภัย

พายุหมุนเขตร้อน กิสนา เป็นพายุลูกแรกในปี 2552 ที่เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย โดยเคลื่อนเข้าสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยบริเวณอำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อเวลา 07.00 น. ของวันที่ 30 กันยายน 2552 แล้วปกคลุมบริเวณดังกล่าวอยู่ระยะหนึ่งจนเมื่อเวลา 04.00 น. ของวันที่ 1 ตุลาคม 2552 พายุนี้ได้อ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงปกคลุมบริเวณจังหวัดอุบลราชธานีและศรีสะเกษ ด้วยเหตุที่หย่อมความกดอากาศต่ำนี้วางอยู่ในแนวร่องความกดอากาศต่ำที่พาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง จึงเคลื่อนตัวตามแนวร่องความกดอากาศต่ำผ่านจังหวัดสุรินทร์ บุรีรัมย์ ลพบุรี สระบุรี และกาญจนบุรี ตามลำดับ

สำหรับประเทศไทยมีการกระจายของฝนเพิ่มขึ้นกับมีฝนหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ โดยเฉพาะบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลาง ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่งในพื้นที่ 22 จังหวัด ดังนี้ จังหวัดลำพูน ลำปาง พิษณุโลก นครสวรรค์ พิจิตร สุโขทัย กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ เชียงใหม่ อุทัยธานี กาฬสินธุ์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ชัยภูมิ บุรีรัมย์ นครราชสีมา เลย ลพบุรี สุรินทร์ อ่างทอง สุพรรณบุรี และระนอง

ปัจจุบันสถานการณ์เข้าสู่สภาวะปกติแล้ว 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพิษณุโลก เชียงใหม่ และจังหวัดระนอง สำหรับอีก 19 จังหวัดหากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่มคาดว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 1 สัปดาห์

เนื่องจากอิทธิพลของร่องความกดอากาศต่ำพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนบนสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง กรมชลประทานคาดการณ์ว่าในช่วง วันที่ 6 — 7 ตุลาคม 2552 ปริมาณน้ำจากแม่น้ำปิง แม่น้ำวัง แม่น้ำยม และแม่น้ำน่าน จะไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาที่จังหวัดนครสวรรค์ ในเกณฑ์สูงสุดประมาณ 2,100-2,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งปริมาณน้ำดังกล่าวนี้ จะไหลมารวมกับปริมาณน้ำจากแม่น้ำสะแกกรัง จ.อุทัยธานี อีกประมาณ 300 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ลักษณะเช่นนี้จะมีผลให้ปริมาณน้ำไหลถึงเขื่อนเจ้าพระยาในช่วงวันที่ 7 — 8ตุลาคม 2552 รวมกันแล้วอยู่ในเกณฑ์ประมาณ 2,400 — 2,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งยังคงต่ำกว่าเกณฑ์ปกติที่เขื่อนเจ้าพระยาจะรองรับได้คือ 2,800 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ขณะที่เขื่อนพระรามหกมีน้ำไหลผ่าน 255 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านกรุงเทพฯและปริมณฑล 1,418 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

ดังนั้นเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับประชาชนริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยาลงมา กรมชลประทานได้บริหารจัดการน้ำ ด้วยการรับน้ำระบบชลประทานทั้งฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ตามความสามารถที่จะรับน้ำได้ ในเกณฑ์รวมกันประมาณ 450 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยไม่ให้เกิดปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ชลประทานทั้งสองฝั่ง คาดว่าจะมีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในช่วงวันที่ 7-8 ตุลาคม 2552 ในเกณฑ์สูงสุดประมาณ 2,100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งจะส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยาจะสูงขึ้นอีกประมาณ 70 เซนติเมตร จังหวัดชัยนาท ในช่วงวันที่ 7-8 ตุลาคม 2552 ระดับน้ำบริเวณท้ายเขื่อนเจ้าพระยาจะสูงขึ้นอีกประมาณ 70 เซนติเมตร จังหวัดสิงห์บุรี ในช่วงวันที่ 8-9 ตุลาคม 2552 ระดับน้ำจะสูงขึ้นอีกประมาณ 1 เมตร จังหวัดอ่างทองในช่วงวันที่ 8-9 ตุลาคม 2552 ระดับน้ำจะสูงขึ้นอีกประมาณ 90 เซนติเมตร ทั้งนี้ ก่อนที่น้ำจะไหลถึงจังหวัดอ่างทอง นั้น กรมชลประทานได้บริหารจัดการน้ำโดยการแบ่งรับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าสู่แม่น้ำลพบุรีและคลองบางแก้วในเกณฑ์ประมาณ 150 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที อ้อมเมืองอ่างทองไปลงแม่น้ำป่าสักแล้วไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งจะช่วยให้ระดับน้ำที่จังหวัดอ่างทองเพิ่มสูงขึ้นไม่มากนัก จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในช่วงวันที่ 9-10 ตุลาคม 2552 ระดับน้ำจะสูงขึ้นอีกประมาณ 1.10 เมตร ทั้งนี้ ได้แจ้งผู้ว่าราชการจังหวัดดังกล่าวเพื่อเตรียมรับสถานการณ์แล้ว

สภาพน้ำท่าในแม่น้ำเจ้าพระยา ปัจจุบัน (5 ต.ค.52) มีปริมาณน้ำไหลผ่านจังหวัดนครสวรรค์ 1,971 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เขื่อนเจ้าพระยามีปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,840 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และที่เขื่อนพระรามหกมีปริมาณน้ำไหลผ่าน 357 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านกรุงเทพฯ และปริมณฑลในเกณฑ์ 1,632 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

สถานการณ์ของลุ่มน้ำภาคกลางขณะนี้ยังไม่เข้าขั้นวิกฤต และแม้จะไม่ส่งผลกระทบต่อกรุงเทพมหานครและปริมณฑลแต่อย่างใด เนื่องจากที่ผ่านมาระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างอยู่ในระดับต่ำกว่าตลิ่งค่อนข้างมาก แต่ก็สั่งการกรมชลประทานติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากอาจจะมีบางพื้นที่ที่เป็นพื้นที่ไม่รับน้ำ เช่น จังหวัดอ่างทอง อาจจะได้รับผลกระทบจากการระบายน้ำอยู่บ้างในบางส่วน อย่างไรก็ตาม การที่ประเทศไทยได้รับผลจากพายุกิสนาในบางส่วน นับว่าส่งผลดีต่อปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำที่ต่ำกว่า 30 % ที่ทำให้มีปริมาณน้ำเพิ่มมากขึ้น จากเดิมมีถึง 3 อ่างแต่ในปัจจุบันเหลือเพียงอ่างแม่กวงฯ แห่งเดียวที่อยู่ต่ำกว่าเกณฑ์

ผลกระทบด้านการเกษตรและการให้ความช่วยเหลือ

1. พื้นที่ประสบอุทกภัย (ช่วงภัยวันที่ 1 กันยายน — 4 ตุลาคม 2552 ข้อมูล ณ วันที่ 5 ตุลาคม 2552) รวม 27 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกำแพงเพชร เชียงใหม่ เชียงราย ตาก นครสวรรค์ น่าน พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง อุทัยธานี กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ นครราชสีมา มหาสารคาม ยโสธร เลย ศรีสะเกษ อุดรธานี อุบลราชธานี จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ตราด ระนองและจังหวัดพังงา

ด้านพืช 22 จังหวัด เกษตรกรประสบภัย 69,287 ราย พื้นที่คาดว่าจะเสียหาย 504,663 ไร่ แบ่งเป็น ข้าว 2383,018 ไร่ พืชไร่ 114,351 ไร่ และพืชสวน 7,294 ไร่

ด้านปศุสัตว์ 8 จังหวัด เกษตรกรประสบภัย 3,250 ราย สัตว์ได้รับผลกระทบ 53,632 ตัว แบ่งเป็น โค-กระบือ 6,625 ตัว สุกร-แพะ-แกะ 1,185 ตัว และสัตว์ปีก 45,822 ตัว

ด้านประมง 15 จังหวัด เกษตรกรประสบภัย 12,525 ราย พื้นที่ประสบภัย 15,197 บ่อ คิดเป็นพื้นที่ 12,583 ไร่ และ 11กระชัง คิดเป็นพื้นที่ 275 ตารางเมตร

การช่วยเหลือเบื้องต้น

1. สนับสนุนเครื่องสูบและเครื่องผลักดันน้ำเพื่อช่วยเหลือไปแล้ว ดังนี้

เครื่องสูบน้ำ 15 จังหวัด จำนวน 106 เครื่อง ได้แก่ จังหวัดมหาสารคาม(1) อุดรธานี (1) ร้อยเอ็ด(1) ศรีสะเกษ(2) ชัยภูมิ(6) นครราชสีมา (4) นนทบุรี(4) พระนครศรีอยุธยา(10) สมุทรสาคร(5) สมุทรปราการ(4) สุพรรณบุรี (47) ลพบุรี (9) อ่างทอง(8) นครปฐม (1) และระนอง(3)

เครื่องผลักดันน้ำ 3 จังหวัด จำนวน 37 เครื่อง ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา(19) กรุงเทพมหานคร(3) สุพรรณบุรี (15)

2. สนับสนุนพืชอาหารสัตว์ 1,423 กิโลกรัม แร่ธาตุและเวชภัณฑ์ 100 ชุด และดูแลสุขภาพสัตว์ 1,255 ตัว

2. ฝนทิ้งช่วง (ช่วงวันที่ 1 — 31 สิงหาคม2552)

พื้นที่ประสบภัยด้านการเกษตร 9 จังหวัด 23 อำเภอ 68 ตำบล ได้แก่ จังหวัดนครสวรรค์ เพชรบูรณ์ พะเยา พิจิตร พิษณุโลก แพร่ ลำปาง จันทบุรี และสุพรรณบุรี

เกษตรกรได้รับผลกระทบ 42,909 ราย พื้นที่คาดว่าจะเสียหาย 716,083 ไร่ แยกเป็น ข้าว 498,657 ไร่ พืชไร่ 213,973 ไร่ และพืชสวน 3,453 ไร่ (ข้อมูล ณ 11 กันยายน 2552)

การช่วยเหลือ สำนักฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 8 ศูนย์ (8 หน่วยปฏิบัติการ และ 6 ฐานเติมสาร) ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ พิษณุโลก ลพบุรี ขอนแก่น นครราชสีมา สระแก้ว อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และสุราษฎร์ธานี และฐานเติมสารฝนหลวง ได้แก่ จังหวัดตาก กาญจนบุรี นครสวรรค์ อุบลราชธานี ระยอง และนครศรีธรรมราชขึ้นปฏิบัติการในรอบสัปดาห์ (ช่วงวันที่ 25 กันยายน — 1 ตุลาคม 2552) จำนวน 95 เที่ยวบิน ปริมาณน้ำฝนวัดได้ 0.1 -121.0 มม. มีฝนตกในพื้นที่ 55 จังหวัด

สถานการณ์น้ำ

1. สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่

สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศ (5 ตุลาคม 2552) มีปริมาตรน้ำในอ่างฯ ทั้งหมด 52,394 ล้านลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 75 ของความจุอ่างฯ ทั้งหมด น้อยกว่าปี 2551 (53,834 ล้าน ลบ.ม.) จำนวน 1,440 ล้านลบ.ม. ปริมาตรน้ำใช้การได้ 29,038 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 36 ของความจุอ่างฯ สามารถรับน้ำได้อีก 17,034 ล้านลบ.ม.

อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก และอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ มีปริมาตรน้ำในอ่างฯ ทั้งหมด 8,243 และ 5,868 ล้านลบ.ม.ตามลำดับ หรือคิดเป็นร้อยละ 61 และ 62 ของความจุอ่างฯทั้งหมด ตามลำดับโดยมีปริมาตรน้ำทั้งสองอ่างฯ รวมกัน จำนวน 14,111 ล้านลบ.ม. สามารถรับน้ำได้อีก 8,861 ล้านลบ.ม.

อ่างเก็บน้ำเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จังหวัดลพบุรี มีปริมาตรน้ำในอ่างฯ 887 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 92 ของความจุอ่างฯทั้งหมด สามารถรับน้ำได้อีก 73 ล้าน ลบ.ม.

อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่อยู่ในเกณฑ์น้ำน้อยกว่าร้อยละ 30 ของความจุอ่างฯ จำนวน อ่างฯ ดังนี้

อ่างเก็บน้ำ      ปริมาตรน้ำในอ่างฯ        ปริมาตรน้ำใช้การได้     ปริมาตรน้ำไหลลงอ่างฯ      ปริมาณน้ำระบาย    ปริมาณน้ำ
              ปริมาตร   %ความจุ       ปริมาตร   %ความจุ     วันนี้       เมื่อวานนี้      วันนี้    เมื่อวาน    รับได้อีก
แม่กวง             47       18           33       12                  0.86      0.71     0.71       216

อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่อยู่ในเกณฑ์น้ำมากกว่าร้อยละ 80 ของความจุอ่างฯ จำนวน 9 อ่างฯ ดังนี้

อ่างเก็บน้ำ      ปริมาตรน้ำในอ่างฯ        ปริมาตรน้ำใช้การได้     ปริมาตรน้ำไหลลงอ่างฯ      ปริมาณน้ำระบาย      ปริมาณน้ำ
              ปริมาตร   %ความจุ       ปริมาตร   %ความจุ     วันนี้       เมื่อวานนี้      วันนี้    เมื่อวาน      รับได้อีก
จุฬาภรณ์           146       89          102       62    3.36          5.69     0.51      1.00          18
ลำปาว          1,297       91        1,212       85   16.61         17.73    18.91     17.73         131
สิรินธร          1,812       92          981       50   14.26         19.73    10.60     10.60         154
ป่าสักชลสิทธิ์        887       92          884       92   43.76         45.72    38.02     19.00          73
ศรีนครินทร์      15,562       88        5,297       30   79.47        116.78     9.11     12.05       2,183
วชิราลงกรณ์      7,875       89        4,863       55   35.81         41.40    13.02     15.02         985
หนองปลาไหล       144       88          130       80    1.16          1.60     0.23      0.23          20
ประแสร์           265      107          245       99    2.50          5.62     2.71      2.76           0
รัชชประภา       5,150       91        3,798       67   23.58         44.48     5.83      7.81         489

2. สภาพน้ำท่า

ภาคเหนือ

แม่น้ำปิง สภาพน้ำในลำน้ำ พบว่า ด้านเหนือเขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก ปริมาณน้ำในลำน้ำส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์น้ำน้อยและจากท้ายเขื่อนภูมิพลลงมาปริมาณน้ำส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ปกติ

แม่น้ำวัง สภาพน้ำในลำน้ำ พบว่า ด้านเหนือเขื่อนกิ่วลม จังหวัดลำปาง ปริมาณน้ำในลำน้ำส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์น้ำน้อยและจากท้ายเขื่อนกิ่วลมลงมาปริมาณน้ำส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ปกติ

แม่น้ำยม สภาพน้ำในลำส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย

แม่น้ำน่าน สภาพน้ำในลำน้ำ พบว่า ด้านเหนือเขื่อนสิริกิติ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ ปริมาณน้ำในลำน้ำส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์น้ำน้อยและจากท้ายเขื่อนสิริกิติ์ลงมาปริมาณน้ำส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ปกติ

ภาคกลาง

แม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณจังหวัดนครสวรรค์ ชัยนาท อยู่ในเกณฑ์ปกติ

แม่น้ำป่าสัก สภาพน้ำในลำน้ำ พบว่า ด้านเหนือเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จังหวัดลพบุรี ปริมาณน้ำในลำน้ำส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์น้ำน้อยและจากท้ายเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ลงมาปริมาณน้ำส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ปกติ และที่สถานี S.42 บ้านบ่อวัง อำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ ระดับน้ำสูงกว่าตลิ่ง 0.80 เมตร อยู่ในเกณฑ์น้ำท่วม แนวโน้มเพิ่มขึ้น

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

แม่น้ำชี สถานีบ้านค่าย อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ อยู่ในเกณฑ์น้ำท่วม และสถานีอำเภอมหาชนะชัย จ.ยโสธร อยู่ในเกณฑ์ปกติ

แม่น้ำโขง สถานีบ้านฟากเลย อำเภอเมือง จังหวัดเลย อยู่ในเกณฑ์ปกติ

แม่น้ำมูล สภาพน้ำในลำน้ำส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์น้ำปกติ ท้ายแม่น้ำมูลอยู่ในเกณฑ์น้ำมาก

ที่สถานี M.7 สะพานเสรีประชาธิปไตย อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ระดับน้ำสูงกว่าตลิ่ง 0.44 เมตร อยู่ในเกณฑ์น้ำท่วม แนวโน้มเพิ่มขึ้น

ที่สถานี M.42 บ้านห้วยทับทัน อำเภอห้วยทับทัน จังหวัดศรีสะเกษ ระดับน้ำสูงกว่าตลิ่ง 1.00 เมตร อยู่ในเกณฑ์น้ำท่วม แนวโน้มเพิ่มขึ้น

ที่สถานี M.9 บ้านหนองหญ้าปล้อง อำเภอเมือง จังหวัดศรีสะเกษ ระดับน้ำสูงกว่าตลิ่ง 0.55 เมตร อยู่ในเกณฑ์น้ำท่วม แนวโน้มเพิ่มขึ้น

ภาคตะวันออก

แม่น้ำปราจีนบุรี สภาพน้ำในลำน้ำส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์น้ำปกติ

ภาคใต้

แม่น้ำท่าตะเภา สภาพน้ำในลำน้ำอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย

แม่น้ำปัตตานี สภาพน้ำในลำน้ำอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย

แม่น้ำตะกั่วป่า สภาพน้ำในลำน้ำอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 6 ตุลาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ