รายงานผลการประชุมคณะกรรมการอำนวยการการกำกับ ติดตามการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (คชอ.)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 7, 2009 16:31 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานผลการประชุมคณะกรรมการอำนวยการการกำกับ ติดตามการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (คชอ.) ตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเสนอ โดยมีพลตรี สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการอำนวยการกำกับ ติดตามการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย สรุปดังนี้

คณะกรรมการอำนวยการกำกับ ติดตามการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ได้จัดให้มีการประชุม คชอ. ครั้งที่ 2/2552 เมื่อวันจันทร์ที่ 5 ตุลาคม 2552 ณ ห้องประชุมอรรถไกวัลวที สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล เพื่อติดตามสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นและการดำเนินงานในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งแผนงาน/โครงการในการให้ความช่วยเหลือในระยะเร่งด่วน และการให้ความช่วยเหลือภายหลังน้ำลด

สถานการณ์อุทกภัยและการเตรียมการสถานการณ์อุทกภัย

ระหว่างวันที่ 29 กันยายน — 2 ตุลาคม 2552 ไต้ฝุ่นพายุ “กิสนา” พัดผ่านประเทศไทย ทำให้มีฝนตกทั่วไปเป็นบริเวณกว้าง ปริมาณฝนเฉลี่ยวัดได้ 70-150 มิลลิเมตร ในหลายจังหวัดทาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำเพิ่มสูงขึ้น และมีน้ำป่าไหลหลาก เข้าท่วมในพื้นที่ทางการเกษตรและชุมชน มีพื้นที่ประสบภัย 16 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ ชัยภูมิ พิษณุโลก พิจิตร นครสวรรค์ ลพบุรี ระนอง เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน ชัยนาท เพชรบูรณ์ เลย และตาก รวม 87 อำเภอ 503 ตำบล 3,584 หมู่บ้าน

ประชาชนได้รับความเดือดร้อน 394,752 คน 105,155 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 1 คน (อำเภอแม่พริก จังหวัดลำปาง) บ้านเรือนเสียหายทั้งหลัง 3 หลัง เสียหายบางส่วน 100 หลัง ถนนเสียหาย 547 สาย สะพาน 22 แห่ง บ่อปลา/กุ้ง 712 บ่อ และพื้นที่การเกษตรถูกน้ำท่วมเบื้องต้น ประมาณ 133,253 ไร่ มูลค่าความเสียหายเบื้องต้น อยู่ระหว่างการสำรวจ ปัจจุบัน (ณ วันที่ 4 ตุลาคม 2552) สถานการณ์คลี่คลายเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดระนอง นครสวรรค์ ลพบุรี เลย และเพชรบูรณ์

การช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย การสำรวจความเสียหาย และแผนงาน/โครงการในการช่วยเหลือ

(1) การติดตามสถานการณ์ และการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย

กระทรวงมหาดไทย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้มอบหมายให้จังหวัด สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการให้ความช่วยเหลือราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อน ในเบื้องต้นแล้ว และจะดำเนินการให้ความช่วยเหลือจากเงินทดรองราชการ(งบ 50 ล้านบาท ที่ตั้งไว้ในแต่ละจังหวัด) ตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินฯ ต่อไป

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมทรัพยากรน้ำ โดยศูนย์ป้องกันวิกฤติน้ำ และคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ได้มีการจัดทำแผนการรับสถานการณ์น้ำท่วม รวมทั้ง ได้จัดประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อติดตามสถานการณ์น้ำ ปริมาณน้ำฝน และน้ำท่าทั่วประเทศเป็นประจำ ทุกวันจันทร์ เพื่อรายงานให้คณะรัฐมนตรีทราบ

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร ได้ติดตามสถานการณ์อุทกภัย และให้การช่วยเหลือเบื้องต้น โดยสนับสนุนเครื่องสูบน้ำ 16 จังหวัด จำนวน 107 เครื่อง และเครื่องผลักดันน้ำ3 จังหวัด จำนวน 37 เครื่อง และสนับสนุนพืชอาหารสัตว์ 1,423 กิโลกรัม แร่ธาตุและเวชภัณฑ์ 100 ชุด และดูแลสุขภาพสัตว์ 1,255 ตัว

นอกจากนี้ ศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการให้ศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตรจังหวัด เตรียมรับสถานการณ์พายุกิสนา และจัดเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ฯ ตลอดเวลาในช่วงวิกฤต

กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่า ช่วงวันที่ 5-12 ตุลาคม 2552 ร่องความกดอากาศต่ำพาดผ่านภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้และอ่าวไทยมีกำลังไม่แรง ทำให้มีฝนฟ้าคะนองกระจายเกือบทั่วไปในภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน ส่วนภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีฝนไม่มากฝนส่วนใหญ่จะอยู่ทางตอนล่างของภาค พายุ PARMA ในทะเลจีนใต้จะทวีกำลังแรงเป็นพายุไต้ฝุ่นและจะปะทะกับอากาศเย็นจากจีน ทำให้ลดกำลังแรงลง และคาดว่ามีแนวโน้มเคลื่อนเข้าประเทศจีนตอนใต้ (ใกล้เกาะไหหลำ) ประมาณวันที่ 14 ตุลาคม 2552 สำหรับพายุไต้ฝุ่น MELOR มีแนวโน้มเคลื่อนไปทางเหนือมากกว่า

กระทรวงคมนาคม กรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท การให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นสายทางที่ถูกน้ำท่วมได้ส่งเครื่องมือ เครื่องจักร วัสดุ อุปกรณ์ เข้าทำการซ่อมแซมเบื้องต้นให้สัญจรไปมาได้ สำหรับสายทางที่น้ำยังไม่ลดจะทำการปักป้ายเตือน เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้เส้นทางและจะเร่งเข้าทำการซ่อมแซมทันทีที่น้ำลดสู่สภาพปกติ

กระทรวงสาธารณสุข ได้แจกยารักษาโรค จำนวน 370,000 ชุด งบประมาณ 14 ล้านบาท รวมทั้งเตรียมพร้อมในการเฝ้าระวังโรคต่างๆ ที่อาจจะเกิดภายหลังน้ำลด เช่นโรคฉี่หนู และโรคระบบทางเดินอาหาร เป็นต้น

สำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ มีวัดที่ประสบอุทกภัยในเบื้องต้น 14 จังหวัด จำนวนวัด/ที่พักสงฆ์ 100 แห่ง สำหรับความเสียหายอยู่ระหว่างการสำรวจ

นอกจากนี้ หน่วยงานต่างๆ ได้รายงานสถานการณ์ การเตรียมการ และการช่วยเหลือในเรื่องต่างๆ ตามภารกิจที่รับผิดชอบ ได้แก่ สถานการณ์น้ำในเขื่อน การติดตามสถานการณ์ราคาสินค้า การให้ความช่วยเหลือแรงงาน เด็กนักเรียน และสถานศึกษา เป็นต้น ซึ่งในภาพรวม คชอ.เห็นว่าสถานการณ์ยังไม่น่าวิตกแต่อย่างใด

การสำรวจความเสียหาย และแผนงาน/โครงการ และแนวทางในการช่วยเหลือเนื่องจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้จัดทำแผนปฏิบัติการและงบประมาณ ระยะ 3 ปี (พ.ศ. 2553 — 2555) ภายใต้แผนแม่บทการป้องกันและให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัยและโคลนถล่ม(ระยะ 5 ปี) ซึ่งกำหนดยุทธศาสตร์ การป้องกันและช่วยเหลือไว้แล้ว ประกอบกับการช่วยเหลือกรณีเกิดภัยพิบัติ จังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถดำเนินการให้ความช่วยเหลือจากเงินทดรองราชการที่ตั้งไว้ที่จังหวัด และหน่วยงานต่างๆ (งบ 50 ล้านบาท ที่ตั้งไว้ในแต่ละจังหวัด) ตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินฯ

ดังนั้น จึงเห็นควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มีบทบาทและภารกิจในแต่ละยุทธศาสตร์ได้ติดตามสถานการณ์ จัดเตรียมเครื่องมืออุปกรณ์ไว้ให้พร้อมปฏิบัติงานช่วยเหลือประชาชน และรายงานให้ที่ประชุมได้รับทราบเป็นระยะๆ ต่อไป และหากพิจารณาเห็นว่าสถานการณ์รุนแรงและจำเป็นจะต้องใช้งบประมาณเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน และฟื้นฟูสาธารณูปโภคให้กลับสู่สภาพการใช้งานได้ตามปกติโดยเร็วให้หน่วยงานต่างๆ สำรวจความเสียหาย และเสนอแผนงาน/โครงการมายัง คชอ.ภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2552 เพื่อจะได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการกลั่นกรองแผนงาน/โครงการ และงบประมาณการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ซึ่งมีผู้อำนวยการสำนักงบประมาณเป็นประธาน รับไปพิจารณากลั่นกรองตามความจำเป็นและเหมาะสมต่อไป โดยมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาแผนงาน/โครงการ/งบประมาณในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

1) เป็นเหตุการณ์อุทกภัย ตั้งแต่ วันที่ 29 กันยายน 2552 เป็นต้นมา

2) เป็นการให้ความช่วยเหลือความเดือดร้อนที่มีความจำเป็นเร่งด่วน

3) เป็นการซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพเดิม (ไม่เป็นการปรับปรุงเพื่อจัดหาใหม่ในลักษณะการเพิ่มประสิทธิภาพ)

4) ระยะเวลาดำเนินการควรแล้วเสร็จภายใน 30 กันยายน 2553

5) การฟื้นฟูควรให้ความสำคัญในระดับรองลงมา

6) อัตราการให้ความช่วยเหลือให้เป็นไปตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงิน ทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ สำหรับในส่วนอื่นให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และระเบียบของทางราชการ

7) ต้องสอดคล้องกับอำนาจหน้าที่หรือภารกิจของหน่วยงาน โดยไม่เกิดความซ้ำซ้อน

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มอบหมายให้หน่วยงานต่างๆ ติดตามสถานการณ์อุทกภัย และการช่วยเหลือโดยรายงานให้ คชอ. ทราบ ทุก 7 วัน จนสถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 6 ตุลาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ