คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ติดตามสถานการณ์อุทกภัยเนื่องจากอิทธิพลของพายุ “กิสนา” ระหว่างวันที่ 29 กันยายน - 5 ตุลาคม 2552 สรุปสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้น รวมทั้งผลการปฏิบัติงานช่วยเหลือประชาชน ในห้วงเวลาดังกล่าว ดังนี้
1. การดำเนินการของกระทรวงมหาดไทย
เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2552 เวลา 10.30 น.รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย(นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ และนายถาวร เสนเนียม) ปลัดกระทรวงมหาดไทย และอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ประชุมทางไกลผ่านระบบ VDO Conference กับผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อติดตามสถานการณ์พายุ “กิสนา” พร้อมกับมอบนโยบายให้ทุกจังหวัดเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้น และเตรียมเครื่องมืออุปกรณ์ เรือท้องแบน เครื่องอุปโภคบริโภค น้ำดื่ม ยารักษาโรค ให้สามารถช่วยเหลือประชาชนได้ทันที เมื่อเกิดสถานการณ์ขึ้น
2. สรุปสถานการณ์อุทกภัยเนื่องจากอิทธิพลของพายุ “กิสนา (KETSANA)” (ระหว่างวันที่ 29 กันยายน - 5 ตุลาคม 2552)
2.1 พื้นที่ประสบภัย 20 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดอุบลราชธานี ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ ชัยภูมิ พิษณุโลก พิจิตร เชียงใหม่ ลำปาง นครสวรรค์ ลำพูน เพชรบูรณ์ เลย ตาก ลพบุรี ชัยนาท ระนอง นครราชสีมา สุโขทัย กาฬสินธุ์ และจังหวัดกำแพงเพชร รวม 87 อำเภอ 503 ตำบล 3,584 หมู่บ้าน มีผู้เสียชีวิต 1 คน (จ.ลำปาง) ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 394,752 คน 105,155 ครัวเรือน บ้านเรือนเสียหายทั้งหลัง 3 หลัง เสียหายบางส่วน 100 หลัง ถนน 547 สาย สะพาน 22 แห่ง บ่อปลา/บ่อกุ้ง 712 บ่อ พื้นที่การเกษตรเสียหายเบื้องต้นประมาณ 133,253 ไร่
2.2 ตารางสรุปความเสียหายจากพายุ “กิสนา” (ระหว่างวันที่ 29 กันยายน - 5 ตุลาคม 2552)
ลำดับที่ ประเภทความเสียหาย จำนวนความเสียหาย 1 พื้นที่ประสบอุทกภัย 20 จังหวัด (อุบลราชธานี ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ ชัยภูมิ พิษณุโลก พิจิตร เชียงใหม่
ลำปาง นครสวรรค์ ลำพูน เพชรบูรณ์ เลย ตาก ลพบุรี ชัยนาท ระนอง นครราชสีมา
สุโขทัย กาฬสินธุ์ กำแพงเพชร) 87 อำเภอ 503 ตำบล 3,584 หมู่บ้าน
2 ประชาชนได้รับความเดือดร้อน 394,752 คน 105,155 ครัวเรือน 3 ผู้เสียชีวิต 1 คน (อ.แม่พริก จ.ลำปาง) 4 บาดเจ็บ - 5 บ้านเรือนเสียหายทั้งหลัง 3 หลัง 6 บ้านเรือนเสียหายบางส่วน 100 หลัง 7 ถนนเสียหาย 547 สาย 8 สะพาน 22 แห่ง 9 บ่อปลา/กุ้ง 712 บ่อ 10 ปศุสัตว์ - 11 สัตว์ปีก - 12 พื้นที่การเกษตรถูกน้ำท่วมเบื้องต้นประมาณ 133,253 ไร่ มูลค่าความเสียหายเบื้องต้น อยู่ระหว่างการสำรวจ
2.3 สถานการณ์ปัจจุบัน คลี่คลายเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดระนอง นครสวรรค์ ลพบุรี เลย และจังหวัดเพชรบูรณ์
ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 15 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดศรีสะเกษ อุบลราชธานี ชัยภูมิ บุรีรัมย์ พิษณุโลก พิจิตร เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน ชัยนาท ตาก นครราชสีมา สุโขทัย กาฬสินธุ์ และจังหวัดกำแพงเพชร ดังนี้
1) จังหวัดศรีสะเกษ ยังคงมีน้ำท่วมขังในเขตเทศบาลเมืองศรีสะเกษ 4 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนสะพานขาว ชุมชนโนนสวรรค์ ชุมชนโนนงาม และชุมชนพันทาน้อย ระดับน้ำที่สถานีบ้านหนองหญ้าปล้อง วัดได้ 9.55 เมตร สูงกว่าตลิ่ง 0.55 เมตร (ตลิ่ง 9 เมตร) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และยังคงมีน้ำท่วมพื้นที่การเกษตร 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอภูสิงห์ ห้วยทับทัน ปรางค์กู่ และอำเภอเมือง
2) จังหวัดอุบลราชธานี ยังคงมีน้ำท่วมในขังในพื้นที่อำเภอเมือง (เทศบาลนครอุบลราชธานี 17 ชุมชน 401 ครัวเรือน 1,665 คน) และอำเภอวารินชำราบ (เทศบาลเมืองวารินชำราบ 11 ชุมชน 389 ครัวเรือน 1,335 คน) ระดับน้ำมูลที่สะพานเสรีประชาธิปไตย (M 7) วัดได้ 7.50 เมตร สูงกว่าตลิ่ง 0.50 เมตร (ตลิ่ง 7 เมตร) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
3) จังหวัดชัยภูมิ ระดับน้ำชีได้เพิ่มสูงขึ้นเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรในพื้นที่อำเภอบ้านเขว้า (ตำบลลุ่มน้ำชี) และอำเภอจัตุรัส (ตำบลส้มป่อย ตำบลบัวบาน และตำบลละหาน) ความเสียหายอยู่ระหว่างการสำรวจ
4) จังหวัดบุรีรัมย์ น้ำท่วมพื้นที่การเกษตรที่ลุ่มต่ำ 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอนางรอง ลำปลายมาศ สตึก พลับพลาชัย ประโคนชัย และอำเภอเมือง
5) จังหวัดพิษณุโลก น้ำท่วมพื้นที่การเกษตร 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเนินมะปราง และอำเภอวังทอง รวมประมาณ 10,000 ไร่ ระดับน้ำทรงตัว
6) จังหวัดพิจิตร น้ำท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำการเกษตร 8 อำเภอ ได้แก่ อำเภอ ดงเจริญ เมือง วชิรบารมี วังทรายพูน สากเหล็ก ทับคล้อ บางมูลนาก และอำเภอโพทะเล คาดว่าระดับน้ำมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกในสัปดาห์นี้
7) จังหวัดเชียงใหม่ เกิดน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่อำเภออมก๋อย (ตำบลแม่ตื่น ตำบลม่อนจอง และตำบลยางเปียง) อำเภอดอยเต่า (ตำบลโป่งทุ่ง และตำบลดอยเต่า) ในช่วงกลางดึกของวันที่ 2 ตุลาคม 2552 ปัจจุบันจังหวัดได้ส่งเรือท้องแบนไปช่วยแล้ว 2 ลำ ถุงยังชีพ 3,000 ชุด มทบ.33 และสำนักงานพัฒนาภาค 3 ส่งกำลังพลทหารเข้าไปช่วยเหลือในพื้นที่ประสบภัย ระดับน้ำลดลงเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว อยู่ระหว่างดำเนินการเก็บล้างดินโคลนตามบ้านเรือนราษฎร และจะได้ช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัยตามระเบียบกระทรวงการคลังต่อไป (งบ 50 ล้านบาท)
8) จังหวัดลำปาง เกิดฝนตกหนักต่อเนื่องทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอแม่พริก 4 ตำบล (ตำบลแม่พริก ตำบลผาปัง ตำบลพระบาทวังดวง และตำบลแม่ปุก) อำเภอเถิน 3 ตำบล (ตำบลเวียง มอก ตำบลแม่วะ และตำบลแม่ปุ) มีผู้เสียชีวิต 1 คน คือนายเปี้ย สุยะทา อายุ 63 ปี (ตาบอด พิการไม่สมประกอบ) บ้านเรือนเสียหายทั้งหลัง 3 หลัง ราษฎรเดือดร้อน 2,731 ครัวเรือน 8,193 คน สะพานข้ามห้วยแม่พริกขาด 5 แห่ง ไม่สามารถสัญจรไป-มาได้ ถนนสายห้วยขี้นก-แม่พริกถูกกระแสน้ำพัดขาด หมู่บ้านที่ยังเข้าไปช่วยเหลือไม่ได้มี 3 หมู่บ้าน คือหมู่ที่ 7,8,11 ตำบลแม่พริก จังหวัดลำปางร่วมกับศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 10 ลำปาง สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดลำปาง มณฑลทหารบกที่ 32 ลำปาง อส.จ.ลำปาง สมาคมกู้ภัย ได้จัดส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปช่วยเหลือในเบื้องต้นแล้ว พร้อมมอบถุงยังชีพ 750 ถุง ข้าวกล่อง 8,500 กล่อง และจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่เข้าช่วยเหลือที่ตำบลแม่พริก
ปัจจุบันระดับน้ำลดลงเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว จังหวัดได้ระดมเครื่องจักรกลจากหน่วยงานต่าง ๆ และภาคเอกชนเข้าให้การช่วยเหลือซ่อมแซมเส้นทางที่ชำรุดเสียหายเบื้องต้น เก็บล้างดินโคลนตามบ้านเรือนราษฎร และจะได้สำรวจความเสียหายเพื่อให้การช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัย ตามระเบียบกระทรวงการคลังต่อไป (งบ 50 ล้านบาท)
9) จังหวัดลำพูน เกิดฝนตกหนักต่อเนื่องทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมในพื้นที่อำเภอลี้ 5 ตำบล ได้แก่ ตำบลก้อ (หมู่ที่ 1-4) ตำบลแม่ลาน ตำบลนาทราย (หมู่ที่4,6,15,16) ตำบลลี้ (หมู่ที่ 1,5,6,7,8,11,12) และตำบลป่าไผ่ (หมู่ที่ 3,4,5,8) ราษฎรเดือดร้อน 970 ครัวเรือน 3,500 คน ปัจจุบันจังหวัดได้ส่งเรือท้องแบนไปช่วยเหลือผู้ประสบภัย 8 ลำ และอพยพราษฎรไปในที่ปลอดภัย 200 ครัวเรือน 750 คน มอบถุงยังชีพ 1,000 ชุด และแขวงการทางลำพูนจัดทำสะพาน ชั่วคราวและซ่อมคอสะพานถนนลี้-บ้านก้อทุ่ง (สาย 1087) ที่ถูกน้ำพัดเสียหาย โดยวางสะพานแบลี่ย์ ซึ่งเปิดให้ผ่านได้ตั้งแต่ช่วงบ่ายของวันที่ 4 ตุลาคม 2552
ปัจจุบันระดับน้ำลดลงเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว อยู่ระหว่างเก็บล้างดินโคลนตามบ้านเรือนราษฎร และจะได้ช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัย ตามระเบียบกระทรวงการคลังต่อไป (งบ 50 ล้านบาท)
10) จังหวัดชัยนาท น้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมในพื้นการเกษตรและบ้านเรือนราษฎร 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอหนองมะโมง 4 ตำบล คือ ตำบลหนองมะโมง ตำบลสะพานหิน ตำบลวังตะเคียน และตำบลกุดจอก อำเภอเนินขาม 3 ตำบล คือ ตำบลเนินขาม ตำบลกะบกเตี้ย และตำบลสุขเดือนห้า อำเภอวัดสิงห์ 2 ตำบล คือ ตำบลวังหมัน และตำบลหนองขุ่น อำเภอหันคา 5 ตำบล ได้แก่ ตำบลเด่นใหญ่ ตำบลวังไก่เถื่อน ตำบลไพรนกยูง ตำบลหนองแซง และตำบลหันคา รวม 162 หมู่บ้าน ราษฎรเดือดร้อน 8,692 ครัวเรือน 24,554 คน พื้นที่การเกษตรถูกน้ำท่วม นาข้าว 27,000 ไร่ พืชไร่ 13,420 ไร่ บ่อปลา 17 บ่อ จังหวัดได้ส่งเรือท้องแบนเข้าช่วยเหลือ จำนวน 20 ลำ และมอบถุงยังชีพ 1,270 ชุด ระดับน้ำที่อำเภอวัดสิงห์ หนองมะโมง และอำเภอหันคา ลดลง หากไม่มีฝนตกเพิ่มสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติใน 1-2 วันนี้
11) จังหวัดตาก เกิดอุทกภัยน้ำป่าไหลหลากช่วงกลางดึกของคืนวันที่ 2 ตุลาคม 2552 ในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอสามเงา 4 ตำบล คือ ตำบลสามเงา ตำบลวังหมัน ตำบลวังจันทร์ และตำบลยกกระบัตร อำเภอบ้านตาก 2 ตำบล คือ ตำบลแม่สลิด และตำบลท้องฟ้า และอำเภอแม่ระมาด ที่ตำบลแม่ตื่น
ระดับน้ำที่ท่วมอำเภอแม่ระมาด อำเภอบ้านตาก และบางส่วนของอำเภอสามเงา ลดลงเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว คงเหลือในพื้นที่ ตำบลยกกระบัตร อำเภอสามเงา ยังคงมีน้ำท่วมเนื่องจากระดับน้ำในแม่น้ำวังสูงล้นตลิ่ง จังหวัดได้ระดมเครื่องจักรกลจากหน่วยงานต่าง ๆ จัดทำคันดินกั้นน้ำเพื่อป้องกันพื้นที่การเกษตรแล้ว
12) จังหวัดนครราชสีมา มีฝนตกหนักต่อเนื่องในพื้นที่ ทำให้เกิดน้ำท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำในเขตอำเภอเมือง บริเวณสนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา (ท้ายอ่างเก็บน้ำเถกิงพล เดิม) และตำบลหนองบัวศาลา แนวโน้มลดลง หากไม่มีฝนตกเพิ่มคาดว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติใน 3 วัน ส่วนอำเภอพิมาย ที่สถานีวัดน้ำ M.184 น้ำเอ่อล้นตลิ่ง 0.35 ม. ความเสียหายอยู่ระหว่างการสำรวจ
13) จังหวัดสุโขทัย แม่น้ำยมน้ำล้นตลิ่งเพิ่มขึ้นในพื้นที่อำเภอกงไกรลาศ (ฝั่งขวาแม่น้ำยม) ท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำริมตลิ่งในเขตตำบลปากพระ ตำบลยางซ้าย และมีปริมาณน้ำไหลลงสู่อ่างเก็บน้ำ 2 แห่ง เพิ่มขึ้น สรุปได้ดังนี้
(1) อ่างเก็บน้ำแม่มอก อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง มีระดับน้ำสูงกว่าระดับเก็บกัก 1.48 ม. (เพิ่มขึ้น 0.04 ม.) ปริมาณน้ำไหลล้นออกทางระบายน้ำล้น อัตราการไหล 364.44 ลบ.ม./วินาที (31.49 ลบ.ม.ต่อวัน) ประกอบกับมีฝนตกในพื้นที่ 106.0 มม. ทำให้น้ำท่วมบ้านเรือนราษฎร 20 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตร 500 ไร่ ในพื้นที่ตำบลเวียงมอก อำเภอเถิน และน้ำไหลเข้าสู่อำเภอทุ่งเสลี่ยม จังหวัดสุโขทัย
(2) อ่างเก็บ้ำห้วยท่าแพ อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสำโขทัย มีระดับน้ำสูงกว่าระดับเก็บกัก 0.49 ม. (เพิ่มขึ้น 0.01 ม.) ปริมาณน้ำไหลล้นออกทางระบายน้ำล้น อัตราการไหล 60.75 ลบ.ม./วินาที (5.24 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน)
14) จังหวัดกาฬสินธุ์ เกิดฝนตกหนักในพื้นที่ทำให้มีน้ำท่วมพื้นที่ชลประทานในเขตโครงการส่งน้ำฯ ลำปาว รวม 2,045 ไร่ ได้แก่พื้นที่ในเขตอำเภอเมือง ประกอบด้วย บริเวณบ้านดอนสนวน ตำบลหลุบ พื้นที่น้ำท่วม 210 ไร่ ตำบลห้วยโพธิ์ พื้นที่น้ำท่วม 1,485 ไร่ (ตำบลหลุบ และตำบลห้วยโพธิ์ เป็นพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก) ในพื้นที่อำเภอยางตลาด บริเวณบ้านปอแดง ตำบลนาดี 150 ไร่ บ้านขมิ้น ตำบลอุ่มเม่า 200 ไร่ หากไม่มีฝนตกเพิ่ม คาดว่าจะเริ่มลดลงใน 1-2 วันนี้
15) จังหวัดกำแพงเพชร น้ำท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำ ในพื้นที่อำเภอพรานกระต่ายที่ตำบลวังตะแบก และตำบลคุยบ้านโอง ท่วมที่นาประมาณ 5,000 ไร่ ระดับน้ำสูง 0.30-0.50 ม. ปริมาณน้ำได้ไหลลงคลองธรรมชาติและคลองส่งน้ำชลประทาน เข้าสู่อำเภอคีรีมาศ หากไม่มีฝนตกเพิ่ม คาดว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติใน 3 วัน
2.4 การให้ความช่วยเหลือ
2.4.1 สิ่งของพระราชทานผู้ประสบภัยพายุ “กิสนา”
1) มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เดินทางไปมอบสิ่งของพระราชทานแก่ราษฎรที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่ รวม 6,000 ชุด ดังนี้
- วันที่ 2 ตุลาคม 2552 จังหวัดมหาสารคาม ที่หอประชุม อำเภอโกสุมพิสัย จำนวน 1,000 ชุด
- วันที่ 3 ตุลาคม 2552 จังหวัดร้อยเอ็ด ที่หอประชุม อำเภอ ทุ่งเขาหลวง จำนวน 1,000 ชุด และที่หอประชุม อำเภอเสลภูมิ จำนวน 1,000 ชุด และจังหวัดกาฬสินธุ์ ที่วัดบ้านโพนงาม อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ จำนวน 500 ชุด
- วันที่ 4 ตุลาคม 2552 จังหวัดบุรีรัมย์ ที่ อบต.สะแก อำเภอสตึก จำนวน 500 ชุด ที่วัดประชาชาติ ตำบลดงพลอง อำเภอแคนดง จำนวน 500 ชุด ที่ อบต.หนองคู อำเภอลำปลายมาศ จำนวน 500 ชุด ที่หอประชุม อำเภอหนองกี่ จำนวน 500 ชุด และที่หอประชุม อำเภอปะคำ จำนวน 500 ชุด
2) สำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย ได้นำชุดธารน้ำใจฯ พระราชทาน จำนวน 400 ชุด ยาสามัญประจำบ้าน จำนวน 260 ชุด และน้ำดื่ม จำนวน 9,600 ขวด จากโครงการน้ำทิพย์ปันน้ำใจให้กาชาด มอบให้ผู้ประสบอุทกภัย บ้านโพธิ์กลาง อำเภอโขงเจียม และอำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี พร้อมตรวจเยี่ยมผู้ประสบอุทกภัย ณ อำเภอขุขันธ์ และอำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ ระหว่างวันที่ 30 กันยายน - 2 ตุลาคม 2552
- เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2552 นำเรือท้องแบน จำนวน 2 ลำ ไปบรรเทาทุกข์ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในเขตตำบลหนองเมือง อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี เพื่อช่วยบรรทุกคนและขนสิ่งของที่ประสบน้ำท่วม
2.4.2 การให้ความช่วยเหลือของจังหวัด สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้ความช่วยเหลือแก่ราษฎรที่ประสบภัยในเบื้องต้นแล้ว พร้อมทั้งได้ระดมเจ้าหน้าที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสำรวจความเสียหายเพื่อให้ความช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการฯ (งบ 50 ล้านบาท) ต่อไป
3. การคาดหมายลักษณะอากาศระหว่างวันที่ 4-10 ตุลาคม 2552
3.1 กรมอุตุนิยมวิทยา คาดหมายลักษณะอากาศว่า ในช่วงวันที่ 4-5 ตุลาคม 2552 ร่องความกดอากาศต่ำพาดผ่านภาคใต้ตอนบน และภาคตะวันออกเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณปลายแหลมญวน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ยังคงมีกำลังค่อนข้างแรง ทำให้มีฝนตกชุก และมีฝนตกหนักบางแห่ง คลื่นลมบริเวณทะเลอันดามัน และอ่าวไทยมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 6-10 ตุลาคม 2552 ร่องความกดอากาศต่ำนี้จะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง
อนึ่ง พายุโซนร้อน “ป้าหม่า”บริเวณหัวเกาะลูซอน ประเทศฟิลิปปินส์ มีแนวโน้มเคลื่อนตัวไปทางเกาะไต้หวันในระยะแรก จากนั้นจะมีทิศทางเบนกลับไปทางประเทศญี่ปุ่น สำหรับพายุลูกนี้ไม่มีผลกระทบต่อลมฟ้าอากาศของประเทศไทย
3.2 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้แจ้งเตือนเกี่ยวกับสภาวะอากาศ ให้จังหวัดในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ เตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม อันเกิดจากสภาวะฝนตกหนัก อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินถล่ม สร้างความเสียหายให้แก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน และให้ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ในพื้นที่อย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งเตรียมเครื่องมืออุปกรณ์ไว้ให้พร้อมเพื่อสามารถช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ทันต่อเหตุการณ์เมื่อเกิดสาธารณภัยขึ้น
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 6 ตุลาคม 2552 --จบ--