คณะรัฐมนตรีรับทราบสรุปรายงานการปฏิบัติงานรองรับสถานการณ์พายุไต้ฝุ่น “กิสนา” ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ
ตามที่พายุไต้ฝุ่น “กิสนา” ได้เคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทยและส่งผลให้เกิดมีฝนตกหนักในหลายพื้นที่ เกิดน้ำท่วม น้ำป่าไหลหลากและดินถล่ม ในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ระหว่างวันที่ 29 กันยายน — 5 ตุลาคม 2552 และกระทรวงคมนาคมได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดในพื้นที่ เตรียมความพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างทันท่วงที รวมทั้งการให้ความร่วมมือกับหน่วยงานในพื้นที่ ตามแผนปฏิบัติการการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแบบบูรณาการ ระดับกระทรวง ด้านคมนาคม และมอบหมายให้ศูนย์ปลอดภัยคมนาคม โทร.1356 เป็นศูนย์ปฏิบัติการเฉพาะกิจ เพื่อการติดต่อประสานงานระหว่างหน่วยงานในสังกัดและหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน สำหรับการให้การช่วยเหลือประชาชน และการสนับสนุนอุปกรณ์/เครื่องมือต่างๆ นั้น
กระทรวงคมนาคมขอรายงานสรุปความเสียหายที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว การบรรเทาและช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัย และมาตรการดำเนินการภายหลังน้ำลด ดังนี้
1. ความเสียหายที่เกิดขึ้น
1.1 เส้นทางในความรับผิดชอบของกรมทางหลวง
เส้นทางในความรับผิดชอบของกรมทางหลวงได้รับความเสียหายจำนวน 63 สายทาง มีพื้นที่ความเสียหาย รวม 101.970 กม. จำแนกเป็นพื้นที่จังหวัดทางภาคเหนือ10 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 13 จังหวัด และพื้นที่ภาคกลาง 6 จังหวัด รวมเส้นทางในพื้นที่ได้รับความเสียหาย 29 จังหวัด มูลค่าความเสียหายเบื้องต้นที่จะต้องใช้งบประมาณในการซ่อมแซมจำนวนประมาณ 209.86 ล้านบาท ปัจจุบันกรมทางหลวงได้ดำเนินการซ่อมให้การจราจรผ่านได้ในเบื้องต้นแล้ว และต้องซ่อมคืนสู่สภาพเดิมอีก 141 แห่ง ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการจัดทำแผนรายงานประมาณการ
1.2 เส้นทางในความรับผิดชอบของกรมทางหลวงชนบท
เส้นทางในความรับผิดชอบของกรมทางหลวงชนบท ได้รับความเสียหาย 29 เส้นทาง จำแนกเป็นพื้นที่จังหวัดทางภาคเหนือ 5 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 6 จังหวัด ภาคกลาง 1 จังหวัด รวมเส้นทางที่ได้รับความเสียหาย 12 จังหวัด มูลค่าความเสียหายเบื้องต้นที่ต้องใช้งบประมาณในการซ่อมแซมประมาณ 43.840 ล้านบาท ปัจจุบันกรมทางหลวงชนบทได้ซ่อมแซมให้การจราจรผ่านได้แล้วจำนวน 24 เส้นทาง อยู่ระหว่างการซ่อมแซมอีก 4 เส้นทาง
2. การบรรเทาและช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัย
กรมทางหลวง โดยสำนักทางหลวง แขวงการทาง สำนักงานบำรุงทาง ศูนย์สร้างทาง ศูนย์สร้างและบูรณะสะพาน ได้จัดส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปดำเนินการซ่อมแซมทรัพย์สินและทางหลวงที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมทางหลวงแล้ว และเจ้าหน้าที่อีกส่วนหนึ่งได้เข้าไปให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัยในพื้นที่จังหวัดต่างๆ จำนวน 14 รายการ ดังนี้
- ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปให้ความช่วยเหลือ จำนวน 854 คน
- จัดส่งช่างซ่อมรถยนต์ จำนวน 16 คน
- สนับสนุนรถบรรทุกน้ำ 24 คัน สนับสนุนรถบรรทุกเพื่อขนย้ายผู้ประสบภัย 20 คัน
- สนับสนุนรถบรรทุกเพื่อขนเครื่องอุปโภคบริโภคไปแจกจ่ายให้แก่ผู้ประสบภัย 15 คัน
- สนับสนุนรถขุดตักเพื่อขนย้ายเศษวัสดุ สิ่งปรักหักพัง 8 คัน
- สนับสนุนรถบรรทุกพร้อมเครน 5 คัน
- สนับสนุนรถเทเลอร์ 2 คัน
- สนับสนุนรถปิคอัพ/รถตู้ 35 คัน
- สนับสนุนกระสอบทราย 285,000 ลูก
- สนับสนุน Concrete Barrier 85 ท่อน
- ได้นำสิ่งของเครื่องอุปโภคบริโภคไปแจกจ่ายผู้ประสบภัย 5 คัน
- สนับสนุนการทอดสะพานเบลี่ย์ให้หน่วยงานในท้องถิ่น 2 แห่ง
- สนับสนุนเครื่องสูบน้ำ 5 เครื่อง
3. มาตรการดำเนินการภายหลังน้ำลด
กระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้กรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบทเร่งฟื้นฟูสภาพเส้นทางที่เสียหายให้กลับสู่สภาพปกติ โดยใช้จ่ายจากเงินงบประมาณที่ได้รับการจัดสรร
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 6 ตุลาคม 2552 --จบ--