คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ ทั้ง 3 ข้อ ดังนี้
1. เห็นชอบร่างปฏิญญาชะอำ-หัวหิน เนื่องในโอกาสการจัดตั้งคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นทางการ และร่างปฏิญญาชะอำ-หัวหิน ว่าด้วยการเสริมสร้างความร่วมมือด้านการศึกษาเพื่อบรรลุประชาคมอาเซียนที่เอื้ออาทรและแบ่งปัน รวม 2 ฉบับ
2. เห็นชอบร่างความตกลงว่าด้วยเอกสารสิทธิและความคุ้มกันของอาเซียน
3. มอบหมายให้นายกรัฐมนตรีร่วมลงนามหรือรับรองเอกสารตามข้อ 1 และมอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศร่วมลงนามร่างเอกสารตามข้อ 2 กับประเทศที่เกี่ยวข้องในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 15 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขร่างเอกสารดังกล่าวที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก
ข้อเท็จจริง
กระทรวงการต่างประเทศเสนอว่า ตามที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 15 และการประชุมสุดยอดอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องได้แก่ การประชุมสุดยอดอาเซียน+1 กับประเทศคู่เจรจา คือ สาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี และสาธารณรัฐอินเดีย รวมทั้งการประชุมสุดยอดอาเซียน+3 ครั้งที่ 12 และการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 23-25 ตุลาคม 2552 ที่ชะอำ-หัวหิน นั้น นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจะต้องร่วมลงนาม รับรอง หรือให้ความเห็นชอบเอกสารสำคัญต่างๆ ดังนี้
1. เอกสารที่นายกรัฐมนตรีจะต้องร่วมลงนามหรือรับรองมี 2 ฉบับ ได้แก่
1.1 ร่างปฏิญญาชะอำ-หัวหินเนื่องในโอกาสการจัดตั้งคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นทางการ
1.2 ร่างปฏิญญาชะอำ-หัวหินว่าด้วยการเสริมสร้างความร่วมมือด้านการศึกษาเพื่อบรรลุประชาคมอาเซียนที่เอื้ออาทรและแบ่งปัน
2. เอกสารที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจะต้องร่วมลงนาม จำนวน 1 ฉบับ คือ ร่างความตกลงว่าด้วยเอกสิทธิและความคุ้มกันของอาเซียน
3. เอกสารสำคัญในข้อ 1 รวม 2 ฉบับ เป็นเพียงการแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองเพื่อส่งเสริมให้มีการกระชับความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน โดยเฉพาะการดำเนินงานเพื่อให้กฎบัตรอาเซียนมีผลบังคับใช้ในทางปฏิบัติและการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายรวมตัวเป็นประชมคมอาเซียนภายในปี 2558 จึงไม่น่าจะเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550
4. เอกสารสำคัญในข้อ 2 น่าจะเป็นหนังสือสัญญาและเข้าข่ายประเภทของหนังสือสัญญาตามมาตรา 190 วรรคสองของรัฐธรรมนูญฯ เนื่องจากจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามความตกลง แต่โดยที่กรอบการเจรจาประเด็นกฎหมายภายใต้กฎบัตรอาเซียนภายใต้การพิจารณาของคณะผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายระดับสูงว่าด้วยกฎบัตรอาเซียนเคยได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาแล้ว เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2552
สาระสำคัญของเรื่อง
1. ร่างปฏิญญาชะอำ-หัวหิน เนื่องในโอกาสการจัดตั้งคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นทางการ มีสาระสำคัญสนับสนุนขอบเขตอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมาธิการฯ และย้ำความสำคัญของคณะกรรมาธิการฯ ในการเป็นเครื่องมือที่จะนำไปสู่การพัฒนาสังคมที่ก้าวหน้า มีความยุติธรรม การบรรลุซึ่งศักดิ์ศรี ของความเป็นมนุษย์และคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าของประชาชนอาเซียน รวมทั้งให้คำมั่นที่จะสนับสนุนและจัดสรรงบประมาณที่พอเพียงสำหรับการดำเนินงานของคณะกรรมาธิการฯ ตลอดจนเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และเห็นพ้องให้มีการทบทวนเขตอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมาธิการฯ ทุก 5 ปี
2. ร่างปฏิญญาชะอำ-หัวหินว่าด้วยการเสริมสร้างความร่วมมือด้านการศึกษาเพื่อบรรลุประชาคมอาเซียนที่เอื้ออาทรและแบ่งปัน มีสาระสำคัญย้ำถึงบทบาทที่สำคัญของการศึกษาในการสร้างประชาคมอาเซียนในทั้ง 3 เสาหลัก โดยการส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างประชาชนเพื่อให้มีความชื่นชมต่อความแตกต่างทางด้านวัฒนธรรม ศาสนา และความเชื่อ การเสริมสร้างหลักสูตรที่เน้นถึงหลักการประชาธิปไตยและการเคารพสิทธิมนุษยชน การส่งเสริมให้มีการแลกเปลี่ยน การส่งเสริมโอกาสในการเรียนรู้
3. ร่างความตกลงว่าด้วยเอกสิทธิและความคุ้มกันของอาเซียน มีสาระสำคัญ ให้นิติฐานะแก่อาเซียนทั้งในบริบทของกฎหมายภายในประเทศและกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งสงผลให้อาเซียนในฐานะองค์กรสามารถทำนิติกรรมได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย รวมทั้งกำหนดเอกสิทธิและความคุ้มกันตามที่กฎบัตรฯ ระบุไว้เป็นหลักการให้แก่อาเซียนและบุคคลประเภทต่างๆ ที่ปฏิบัติงานให้กับอาเซียน ซึ่งจะส่งผลให้บุคคลข้างต้นมีอิสระในการทำงานและจะผลิตผลงานที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 6 ตุลาคม 2552 --จบ--