ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 14, 2009 14:12 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (กำหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณา

รายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง)

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบหลักการร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (กำหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณารายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง) ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานด้านนิติบัญญัติตรวจพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป

ข้อเท็จจริง

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอว่า

1. โดยที่มาตรา 67 ของรัฐธรรมนูญ บัญญัติให้การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพ สิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ จะกระทำมิได้ เว้นแต่จะได้ศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพ สิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชน และจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียก่อน รวมทั้งให้องค์การอิสระให้ความเห็นประกอบก่อนมีการดำเนินการ ดังนั้น เพื่อกำหนดรายละเอียดในการดำเนินการให้สอดคล้องกับมาตรา 67 ของรัฐธรรมนูญ จึงจำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมพระราช บัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และรายละเอียดในการดำเนินการให้สอดคล้องกับมาตรา 67 ของรัฐธรรมนูญ

2. สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้พิจารณาร่วมกับผู้แทนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อม ผู้แทนกระทรวงอุตสาหกรรม และผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข มีความเห็น ดังนี้

2.1 มาตรา 67 ของรัฐธรรมนูญ มิได้บัญญัติให้ต้องมีการตรากฎหมายเพื่อจัดตั้งองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมขึ้นเป็นหน่วยงานต่างหาก อย่างเช่นกรณีขององค์การเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคตามมาตรา 61 วรรคสองประกอบกับมาตรา 303 ดังนั้น ความหมายขององค์การอิสระตามมาตรา 67 จึงสามารถเข้าใจได้ว่าหมายถึงองค์การใด ๆ ก็ได้ที่มีความเป็นอิสระในการดำเนินการโดยมิได้อยู่ในบังคับบัญชาของหน่วยงานของรัฐ เพราะองค์การนี้ตามรัฐธรรมนูญจะให้ประกอบด้วยบุคคลที่เกี่ยวข้องเป็นผู้ให้ความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณา มิได้มีอำนาจวินิจฉัยเป็นเด็ดขาด

2.2 การให้ความเห็นขององค์การอิสระตามมาตรา 67 เป็นเพียงการให้ความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาก่อนที่จะมีการดำเนินโครงการ จึงไม่ควรจำกัดให้องค์การอิสระเพียงองค์กรเดียวที่จะมีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาให้ความเห็นประกอบ แต่ควรเปิดโอกาสให้องค์การอิสระที่มีองค์ประกอบครบถ้วนตามมาตรา 67 มีสิทธิให้ความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาได้

2.3 บทบัญญัติของมาตรา 67 ยังคงหลักการในเรื่องการประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมตามกฎหมายปัจจุบัน เพียงแต่เพิ่มเรื่องการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ และกำหนดให้มีองค์การอิสระให้ความเห็นประกอบเพื่อให้การประเมินผลกระทบมีความครบถ้วนและสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ดังนั้น แนวทางในการดำเนินการจึงควรเป็นไปตามแนวทางที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ โดยกำหนดหลักเกณฑ์ในการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำหรับโครงการหรือกิจกรรมที่มีผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงเป็นการเฉพาะแยกต่างหากจากการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมทั่วไป

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ

1. กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ประกาศกำหนดประเภทของโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง รวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์ในการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการหรือกิจกรรมดังกล่าว ซึ่งต้องประกอบด้วยการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพของประชาชนในชุมชน และการจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้มีส่วนได้เสีย โดยคณะกรรมการชำนาญการที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติแต่งตั้งจะเป็นผู้พิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมดังกล่าว (ร่างมาตรา 3 เพิ่มมาตรา51/1)

2. กำหนดให้องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมพิจารณาให้ความเห็นแล้วเสร็จภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ถ้าองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมมิได้พิจารณาให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ถือว่าองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมให้ความเห็นชอบแล้ว

2.1 ในกรณีที่องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมให้ความเห็นชอบให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอเรื่องให้คณะรัฐมนตรีหรือหน่วยงานซึ่งมีอำนาจอนุญาตตามกฎหมายพิจารณาต่อไป

2.2 ในกรณีที่องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมไม่ให้ความเห็นชอบหรือให้ความเห็นแตกต่าง ให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอความเห็นขององค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมให้คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณาอีกครั้ง โดยให้ถือความเห็นของคณะกรรมการผู้ชำนาญการเป็นที่สุด และให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แจ้งให้คณะรัฐมนตรีหรือหน่วยงานอนุญาตพิจารณาดำเนินการต่อไป (ร่างมาตรา 3 เพิ่มมาตรา 51/2)

3. กำหนดให้นิติบุคคลหรือคณะบุคคลใดมีวัตถุประสงค์หรือกิจกรรมเกี่ยวข้องโดยตรงกับการคุ้มครอง สงวน อนุรักษ์ หรือส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม และมีผู้แทนองค์การเอกชนซึ่งดำเนินกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติหรือด้านสุขภาพร่วมดำเนิน การอยู่ในนิติบุคคลหรือคณะบุคคลนั้น ให้มีสิทธิจดทะเบียนเป็นองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมต่อกระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และให้ได้รับค่าตอบแทนในการให้ความเห็นตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติประกาศกำหนด (ร่างมาตรา 3 เพิ่มมาตรา 51/3)

4. กำหนดให้คณะกรรมการผู้ชำนาญการได้รับเบี้ยประชุมในการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามอัตราที่รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีประกาศกำหนด (ร่างมาตรา 3 เพิ่มมาตรา 51/4)

5. กำหนดให้ในระหว่างที่ยังไม่มีองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมที่ได้จดทะเบียนไว้กับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแต่งตั้งผู้แทนองค์กรเอกชนซึ่งดำเนินกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติ หรือสุขภาพ ตามจำนวนที่เห็นสมควร เพื่อทำหน้าที่เป็นองค์การด้านสิ่งแวดล้อม (ร่างมาตรา 4)

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 13 ตุลาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ