เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ร่างพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
(ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ร่างพระราชกฤษฎีกายกเลิกพระราชกฤษฎีกาเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับ เบี้ยหวัดบำนาญ พ.ศ.
2521 พ.ศ. .... และร่างพระราชกฤษฎีกาการจ่ายเงินเดือน เงินปี บำเหน็จ บำนาญ และเงินอื่นในลักษณะเดียวกัน
(ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... รวม 4 ฉบับ
คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติและร่างพระราชกฤษฎีกา รวม 4 ฉบับ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ดังนี้
1. อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานด้านนิติบัญญัติพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป
2. อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกายกเลิกพระราชกฤษฎีกาเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ พ.ศ. 2521 พ.ศ. .... และร่างพระราชกฤษฎีกาการจ่ายเงินเดือน เงินปี บำเหน็จ บำนาญ และเงินอื่นในลักษณะเดียวกัน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
สำหรับงบประมาณรายจ่ายที่จะต้องใช้ในการจ่ายเพิ่มเงินบำเหน็จดำรงชีพอันเนื่องมาจากการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายทั้ง 4 ฉบับดังกล่าวนั้น ให้กระทรวงการคลังดำเนินการตามความเห็นของสำนักงบประมาณ โดยเบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 งบกลาง รายการเงินเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ ที่ได้ตั้งงบประมาณรายจ่ายไว้แล้ว จำนวน 87,633.7238 ล้านบาท
ข้อเท็จจริง
กระทรวงการคลังเสนอว่า
1. การให้ความช่วยเหลือด้านค่าครองชีพแก่ผู้รับเบี้ยหวัดและผู้รับบำนาญโดยกำหนดให้ผู้รับเบี้ยหวัดและ ผู้รับบำนาญได้รับเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ (ช.ค.บ.) แยกออกจากเบี้ยหวัดหรือบำนาญ แล้วแต่กรณี ทำให้การเบิกจ่ายเงินแก่ผู้รับเบี้ยหวัดและผู้รับบำนาญในแต่ละเดือนมีความยุ่งยาก และมีขั้นตอนในการดำเนินงานเพิ่มมากขึ้น กล่าวคือ จะต้องแยกดำเนินการระหว่างเงินเบี้ยหวัดกับ ช.ค.บ. สำหรับผู้รับเบี้ยหวัดและบำนาญกับ ช.ค.บ. สำหรับผู้รับบำนาญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันมีการกำหนด ช.ค.บ. แก่ผู้รับเบี้ยหวัดและผู้รับบำนาญถึง 13 ครั้ง ส่งผลให้ส่วนราชการและกรมบัญชีกลางสูญเสียทั้งเวลางบประมาณและบุคลากรไปโดยเปล่าประโยชน์โดยไม่จำเป็น
2. การกำหนดให้ ช.ค.บ. แยกออกจากบำนาญ ส่งผลให้ผู้รับบำนาญได้รับบำนาญดำรงชีพน้อยลงเนื่องจากกฎหมายกำหนดให้จ่ายบำเหน็จดำรงชีพได้ไม่เกิน 15 เท่าของบำนาญรายเดือนที่ได้รับหรือมีสิทธิได้รับ แต่โดยที่การปรับค่าครองชีพแก่ผู้รับบำนาญมิได้ปรับบำนาญโดยตรงดังเช่นข้าราชการที่ได้รับปรับค่าครองชีพโดยตรงกับเงินเดือน ทำให้บำนาญของผู้รับบำนาญที่จะนำมาคำนวณบำเหน็จดำรงชีพไม่เคยได้รับการปรับเพิ่มขึ้น และมีผลทำให้ผู้รับบำนาญได้รับบำเหน็จดำรงชีพน้อยกว่าที่ควรจะมีสิทธิได้รับ
3. การที่พระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่ 24) พ.ศ. 2551 ได้บัญญัติหลักเกณฑ์การจ่ายบำเหน็จตกทอดขึ้นใหม่ จากเดิมที่บัญญัติให้จ่ายจำนวนสามสิบเท่าของอัตราบำนาญที่มีสิทธิได้รับโดยไม่นำ ช.ค.บ. มารวมคำนวณเป็นให้นำ ช.ค.บ. มารวมกับบำนาญเพื่อคำนวณบำเหน็จตกทอดด้วยแล้ว ทำให้ไม่มีความจำเป็นต้องแยกเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญและเงินบำนาญออกจากกันอีก ประกอบกับการปรับปรุงแก้ไขหลักเกณฑ์การจ่ายบำเหน็จตกทอดดังกล่าวได้ปรับปรุงแก้ไขเฉพาะบทบัญญัติในพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494 โดยมิได้ปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2539 ซึ่งยังคงหลักเกณฑ์การจ่ายบำเหน็จตกทอดให้จ่ายเป็นจำนวนสามสิบเท่าของอัตราบำนาญที่ผู้ตายมีสิทธิได้รับ ทำให้หลักเกณฑ์การจ่ายบำเหน็จตกทอดตามกฎหมายทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว ไม่สอดคล้องกันและอาจจะทำให้เกิดปัญหาในการตีความบังคับใช้กฎหมายในอนาคตได้
4. การให้ความช่วยเหลือด้านค่าครองชีพแก่ผู้รับเบี้ยหวัดและผู้รับบำนาญ โดยการกำหนดให้ได้รับ ช.ค.บ. ตามพระราชกฤษฎีกาเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ พ.ศ. 2521 มิได้เป็นการปรับเพิ่มเบี้ยหวัดหรือบำนาญโดยตรงเหมือนเช่นการปรับเงินเดือนของข้าราชการซึ่งเป็นการปรับอัตราเงินเดือนที่ได้รับอยู่ให้สูงขึ้น ก่อให้เกิดผลกระทบทางด้านจิตใจของผู้รับเบี้ยหวัดและผู้รับบำนาญ ซึ่งเข้าใจว่าไม่ได้รับการปรับเบี้ยหวัดหรือบำนาญโดยแท้จริง ซึ่งสะท้อนได้จากข้อเรียกร้องจำนวนมากจากผู้รับเบี้ยหวัดและผู้รับบำนาญในปัจจุบันที่ประสงค์จะให้มีการปรับเพิ่มเงินเบี้ยหวัดและบำนาญโดยตรง
5. กรมบัญชีกลางได้จัดให้มีการประชุมสัมมนารับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการปรับปรุง แก้ไขกฎหมายทั้ง 4 ฉบับดังกล่าวจากส่วนราชการต่างๆ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 9 เมษายน 2552 ซึ่งผู้เข้าร่วมประชุมสัมมนาเห็นพ้องด้วยกับหลักการที่กรมบัญชีกลางจะเสนอปรับปรุงแก้ไข
6. การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายดังกล่าวจะทำให้มีค่าใช้จ่ายสำหรับจ่ายเพิ่มบำเหน็จดำรงชีพเป็นเงินงบประมาณ งบกลาง ในวงเงินจำนวนทั้งสิ้น 2,103,505,995 บาท ทั้งนี้ ภาระงบประมาณดังกล่าว ขึ้นอยู่กับจำนวนการใช้สิทธิขอรับบำเหน็จดำรงชีพของผู้รับบำนาญ
สาระสำคัญของร่างกฎหมาย
1. ร่างพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มีสาระสำคัญ ดังนี้
1.1 ให้นำเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญตามพระราชกฤษฎีกาเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ พ.ศ. 2521 มารวมเป็นเบี้ยหวัดหรือบำนาญ และให้ถือเป็นเบี้ยหวัดตามข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยเงินเบี้ยหวัดหรือบำนาญตามพระราชบัญญัตินี้ แล้วแต่กรณี
1.2 กรณีที่คณะรัฐมนตรีเห็นสมควรให้มีการกำหนดเบี้ยหวัดหรือบำนาญขั้นต่ำหรือปรับเพิ่มเบี้ยหวัดหรือบำนาญในอัตราไม่เกินร้อยละสิบของเบี้ยหวัดหรือบำนาญที่ได้รับอยู่ ให้กระทำได้โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา
1.3 ปรับปรุงแก้ไขหลักเกณฑ์การจ่ายบำเหน็จตกทอดให้สอดคล้องกับกรณีที่ได้นำเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญมารวมเป็นบำนาญ
2. ร่างพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มีสาระสำคัญ ดังนี้
2.1 ให้นำเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญตามพระราชกฤษฎีกาเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ พ.ศ. 2521 มารวมเป็นเบี้ยหวัดหรือบำนาญ และให้ถือเป็นเบี้ยหวัดตามข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยเงินเบี้ยหวัดหรือบำนาญตามพระราชบัญญัตินี้ แล้วแต่กรณี
2.2 กรณีที่คณะรัฐมนตรีเห็นสมควรให้มีการกำหนดเบี้ยหวัดหรือบำนาญขั้นต่ำหรือปรับเพิ่มเบี้ยหวัด หรือบำนาญในอัตราไม่เกินร้อยละสิบของเบี้ยหวัดหรือบำนาญที่ได้รับอยู่ ให้กระทำได้โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา
3. ร่างพระราชกฤษฎีกายกเลิกพระราชกฤษฎีกาเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ พ.ศ. 2521 พ.ศ. .... มีสาระสำคัญเป็นการยกเลิกพระราชกฤษฎีกาเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ พ.ศ. 2521 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
4. ร่างพระราชกฤษฎีกาการจ่ายเงินเดือน เงินปี บำเหน็จ บำนาญ และเงินอื่นในลักษณะเดียวกัน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มีสาระสำคัญเป็นการแก้ไขการจ่ายเงินช่วยพิเศษให้สอดคล้องกับการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 13 ตุลาคม 2552 --จบ--