ร่างพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. ....

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 14, 2009 14:25 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. .... ตามที่สำนักงบประมาณเสนอ และให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานด้านนิติบัญญัติพิจารณา ก่อนนำเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป

ข้อเท็จจริง

ด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ได้บัญญัติหลักการเกี่ยวกับการงบประมาณแผ่นดินไว้หลายประการ ทำให้พระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ และเนื่องจากบทบัญญัติเกี่ยวกับการกู้เงินได้แยกออกไปบัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ อีกทั้งกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการแผ่นดินได้ปรับปรุงระบบบริหารราชการและอำนาจการดำเนินการงบประมาณของจังหวัดและกลุ่มจังหวัด รวมทั้งวิธีการงบประมาณตามพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 ยังขาดหลักการในเรื่องการจัดการงบประมาณที่มุ่งเป้าหมายและผลสัมฤทธิ์ของงาน ประกอบกับสำนักงบประมาณต้องดำเนินการตามแผนพัฒนากฎหมายที่กำหนดให้ต้องแก้ไขกฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฯ

สำนักงบประมาณจึงปรับปรุงพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 และที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยยกเลิกพระราชบัญญัติดังกล่าว และยกร่างพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. .... ขึ้นใหม่ ซึ่งสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

1. กำหนดให้หน่วยรับงบประมาณตามพระราชบัญญัตินี้ ครอบคลุมถึงส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐลักษณะต่าง ๆ จังหวัด กลุ่มจังหวัด รัฐวิสาหกิจ รวมถึงหน่วยงานของรัฐสภา หน่วยงานของศาล หน่วยงานขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ โดยให้ใช้บังคับเท่าที่ไม่ขัดต่อหลักความเป็นอิสระตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด

2. กำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายงบประมาณ โดยให้มีอำนาจหน้าที่กำหนดนโยบายและกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี กำหนดยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี กำหนดกรอบวงเงินงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น กำหนดสัดส่วนรายจ่ายลงทุนต่อรายจ่ายในภาพรวม ภาระงบประมาณจากการก่อหนี้สาธารณะและกิจกรรมกึ่งการคลัง และกำหนดแนวทางการทบทวนรายจ่ายสาธารณะ

3. ให้หน่วยรับงบประมาณส่งรายงานสถานะเงินนอกงบประมาณก่อนการยื่นงบประมาณรายจ่ายประจำปี เพื่อประกอบการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ผู้อำนวยการกำหนด

4. ในการขอตั้งงบประมาณรายจ่ายเพื่อดำเนินการเรื่องใด ซึ่งจะมีภาระงบประมาณรายจ่ายต่อเนื่องเป็นจำนวนมาก หน่วยรับงบประมาณจะต้องชี้แจงแสดงแนวโน้มภาระงบประมาณที่จะเกิดขึ้นในอนาคตพร้อมกับการยื่นคำขอตั้งงบประมาณด้วย

5. กำหนดให้การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายอุดหนุนให้แก่บุคคล องค์กร หรือองค์กรที่มิใช่หน่วยรับ งบประมาณ ต้องเป็นไปเพื่อบริการสาธารณะหรือประโยชน์สาธารณะ และหน่วยรับงบประมาณที่รับผิดชอบจะต้องติดตามผลการใช้จ่ายงบประมาณ และรายงานต่อสำนักงบประมาณด้วย

6. กำหนดให้งบประมาณรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง ต้องแสดงแหล่งที่มาของรายได้ที่จะจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลังนั้นด้วย

7. ห้ามมิให้มีการกำหนดยกเว้นไม่ต้องนำเงินส่งคลังไว้ในกฎหมายอื่นใด เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

8. กำหนดให้การโอนงบประมาณข้ามส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจสามารถกระทำได้เมื่อมีพระราชบัญญัติให้โอน มีพระราชกฤษฎีกาให้โอนหรือรวมส่วนราชการเข้าด้วยกัน มีมติคณะรัฐมนตรีให้โอนกรณีที่ประเทศอยู่ในภาวะสงครามหรือการรบ และในกรณีมีการตัดโอนตำแหน่งระหว่างส่วนราชการหรือหน่วยงานในกำกับของรัฐที่ต้องมีการตัดโอนเงินเดือนตามไปด้วย

9. กำหนดให้มีระบบการรายงาน ดังนี้

  • รายงานตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณกำหนดซึ่งหน่วยรับงบประมาณจะต้องจัดทำ และส่งให้สำนักงบประมาณเพื่อประโยชน์ในการติดตามประเมินผล ยกเว้นหน่วยงานของรัฐสภา หน่วยงานของศาล และหน่วยงานขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ ให้จัดทำรายงานผลการวิเคราะห์ระดับความสำเร็จของการดำเนินงานจากการใช้จ่ายงบประมาณเสนอต่อรัฐสภา
  • รายงานการโอนงบประมาณข้ามหน่วยรับงบประมาณอันเนื่องมาจากความจำเป็นในภาวะสงครามหรือการรบ
  • รายงานการโอนงบประมาณของหน่วยรับงบประมาณต่อรัฐสภาทุกหกเดือน
  • ให้หน่วยรับงบประมาณที่อุดหนุนงบประมาณให้แก่บุคคล องค์กร หรือองค์กรที่ไม่ใช่หน่วยรับงบประมาณ ส่งรายงานผลการติดตามการใช้จ่ายงบประมาณดังกล่าวต่อสำนักงบประมาณ
  • ให้หน่วยงานของรัฐสภา ศาล และองค์กรตามรัฐธรรมนูญจัดทำรายงานผลการวิเคราะห์ระดับความสำเร็จของการดำเนินงานจากการใช้จ่ายงบประมาณเมื่อสิ้นปีงบประมาณต่อรัฐสภา

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 13 ตุลาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ