คณะรัฐมนตรีเห็นชอบโครงการยกระดับขีดความสามารถอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ (ปี 2553-2557) ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ และให้กระทรวงอุตสาหกรรมรับความเห็นและข้อสังเกตของกระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงบประมาณ ในประเด็นอื่นๆ ไปพิจารณาดำเนินการด้วย ทั้งนี้ ในส่วนของค่าใช้จ่ายเพื่อดำเนินการโครงการให้กระทรวงอุตสาหกรรมกำหนดเป้าหมายโครงการให้ชัดเจน วิเคราะห์ความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจ ความคุ้มค่าของการลงทุนความเหมาะสมของระยะเวลา กระบวนการและวิธีการดำเนินงานที่ชัดเจน ตลอดจนถึงการสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชนในการร่วมรับภาระค่าใช้จ่าย โดยกำหนดวงเงินทั้งสิ้นของโครงการและสัดส่วนที่ชัดเจนว่ารัฐและเอกชนจะรับภาระเท่าไร ทั้งนี้ ในส่วนที่รัฐรับภาระสำนักงบประมาณจะพิจารณาจัดสรรงบประมาณประจำปีตามความจำเป็น และเหมาะสมตามขั้นตอนต่อไป สำหรับในช่วงที่เป็นรอยต่อของการขยายระยะเวลาโครงการสำนักงบประมาณได้พิจารณาจัดสรรงบประมาณสนับสนุนไว้แล้วในปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 ในวงเงิน 142.50 ล้านบาท ตามความเห็นสำนักงบประมาณ รวมทั้งให้กระทรวงอุตสาหกรรมรับความเห็นและข้อสังเกตของกระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงบประมาณในประเด็นอื่นๆ ไปพิจารณาดำเนินการด้วย
สาระสำคัญของเรื่อง
กระทรวงอุตสาหกรรมรายงานว่า
1. ได้ดำเนินโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ (ปี 2547-2552) ซึ่งเสร็จสิ้นในปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 โดยมีผลการดำเนินการ ดังนี้
1.1 ยกระดับศักยภาพในการผลิตแม่พิมพ์ให้มีคุณภาพและความเที่ยงตรงสูง สามารถรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ของประเทศ
1.2 ทดแทนการนำเข้าและเพิ่มการส่งออก ซึ่งจากการสำรวจผลกระทบทางเศรษฐกิจพบว่ามูลค่าการนำเข้าแม่พิมพ์มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องในขณะเดียวกันตัวเลขการส่งออกแม่พิมพ์เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
1.3 การพัฒนาบุคลากรและยกระดับทักษะของช่างด้านแม่พิมพ์ให้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น สามารถพัฒนาช่างเทคนิคในอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ที่ได้มาตรฐานวิชาชีพช่างแม่พิมพ์ระดับต่าง ๆ ได้ถึง 6,665 คน
1.4 เกิดศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทาง (Excellence Center) ด้านแม่พิมพ์จำนวน 7 แห่ง
2. การดำเนินโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ ระยะที่ 1 เป็นการสร้างพื้นฐาน สำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ในอนาคต ซึ่งที่ผ่านมายังประสบปัญหาในการผลิตบุคลากรแม่พิมพ์ด้านการออกแบบและเทคโนโลยีการผลิตแม่พิมพ์ยังอยู่ในระดับต่ำส่งผลให้ยังคงต้องพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบและเทคโนโลยี
3. กระทรวงอุตสาหกรรมพิจารณาแล้วเห็นว่าเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการพัฒนาอุตสาหกรรมและเพื่อผลิตสินค้าให้มีคุณภาพระดับสูง ประเทศไทยจะต้องเร่งแก้ไขจุดอ่อนของอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ในด้านเทคโนโลยีการออกแบบและการผลิตแม่พิมพ์ ให้สามารถแข่งขันและตอบสนองตลาดได้ ซึ่งต้องอาศัยเทคโนโลยีในระดับสูงขึ้น จึงจะสามารถรักษาระดับความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมการผลิตไว้ได้ จึงได้จัดทำโครงการยกระดับขีดความสามารถอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ ปี 2553-2557 ซึ่งเป็นการทำงานเชิงบูรณาการร่วมกันระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมกับ หน่วยงานเครือข่ายที่เกี่ยวข้องกับแม่พิมพ์ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
3.1 เป้าหมายโครงการ
เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ไทยให้มีศักยภาพในการออกแบบและผลิตแม่พิมพ์ที่มีความซับซ้อนและเที่ยงตรงสูงด้วยคุณภาพเป็นที่ยอมรับ สามารถรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ของประเทศ อันได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมพลาสติกและภาชนะบรรจุภัณฑ์ ด้วยการยกระดับความสามารถของบุคลากรและเทคโนโลยีให้ก้าวทันกับการพัฒนาทางเทคโนโลยีทัดเทียมประเทศอุตสาหกรรมและรักษาไว้ซึ่งความเป็นศูนย์กลางการลงทุนในภูมิภาค
3.2 วัตถุประสงค์โครงการ
- เพื่อยกระดับความสามารถของบุคลากรให้มีทักษะและความสามารถในด้านเทคโนโลยีแม่พิมพ์สูงขึ้น และมีสมรรถนะเป็นที่ยอมรับของอุตสาหกรรม
- เพื่อส่งเสริมให้เกิดการทำวิจัยประยุกต์ร่วมกันระหว่างนักวิชาการและนักอุตสาหกรรมให้สามารถนำผลการวิจัยไปสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ได้
- เพื่อให้เกิดการขยายการลงทุนทั้งในอุตสาหกรรมแม่พิมพ์และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง
- เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและโอกาสในการแข่งขันให้กับสินค้าที่ผลิตในประเทศให้มากขึ้น
3.3 แนวทางการยกระดับขีดความสามารถของอุตสาหกรรมแม่พิมพ์
มุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการสร้างความสามารถในการแข่งขันและการเพิ่มผลิตภาพให้กับผู้ประกอบการโดยต่อยอดจากโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ (2547-2552) ที่สิ้นสุดลงด้วยการเจาะลึกในกลุ่มแม่พิมพ์ที่มีความซับซ้อนและแม่นยำสูง ซึ่งยังเป็นจุดอ่อนของอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ไทย เช่น Progressive Die, Micro Mould, Multi Components Mould โดยการยกระดับช่างแม่พิมพ์ในแต่ละระดับ (T3 ถึง T5) ให้มีความสามารถในระดับที่สูงขึ้นในด้านการออกแบบและผลิตแม่พิมพ์ โดยจะมุ่งไปที่แม่พิมพ์ที่ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มสูง ทั้งนี้ จะดำเนินกิจกรรมบางส่วนตามที่ระบุในโครงการก่อนหน้า ซึ่งยังมีความจำเป็นอยู่อีก โดยใช้กลไกด้านการสร้างตลาดและการสร้างคลัสเตอร์เป็นเครื่องมือในการดำเนินโครงการ ส่วนในการดำเนินงานโครงการยังคงเป็นการทำงานแบบบูรณาการร่วมกันของทุกฝ่าย ซึ่งได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาไว้ 3 ด้าน ดังนี้
ยุทธศาสตร์ที่ 1 การพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับเทคโนโลยีแม่พิมพ์ขั้นสูง
ยุทธศาสตร์ที่ 2 การยกระดับความสามารถด้านเทคโนโลยีการผลิตแม่พิมพ์ความเที่ยงตรงและความซับซ้อนสูง
ยุทธศาสตร์ที่ 3 การสร้างปัจจัยสนับสนุนที่เอื้อต่อการขยายและพัฒนาอุตสาหกรรม แม่พิมพ์ให้เข้มแข็งและยั่งยืน
ผลผลิตที่คาดว่าจะได้รับ
- พัฒนาช่างเทคนิคและวิศวกรใหม่เข้าสู่โรงงาน จำนวน 660 คน และยกระดับความสามารถบุคลากรระดับต่างๆ ในโรงงาน จำนวน 3,525 คน รวมทั้งสิ้น 4,185 คน
- พัฒนาการเรียนการสอนในสถานศึกษาให้สามารถผลิตช่างเทคนิคและวิศวกรป้อนอุตสาหกรรมได้อย่างมีคุณภาพและเพียงพอจำนวน 10 แห่ง
- จำนวนโครงการวิจัยร่วมระหว่างศูนย์เชี่ยวชาญกับสถานประกอบการ ไม่น้อยกว่า 25 โครงการต่อปี
- จำนวนโรงงานเข้ารับการปรึกษาระบบคุณภาพ ISO 9000 ไม่น้อยกว่า 25 โรงงานต่อปี
- สามารถสร้างครูฝึกเป็นตัวคูณในการขยายผลได้ 360 คน
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 13 ตุลาคม 2552 --จบ--