ขออนุมัติใช้วิธีการอนุญาโตตุลาการในการระงับข้อพิพาทในสัญญาจ้างก่อสร้างงานโยธา

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 14, 2009 15:30 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ขออนุมัติใช้วิธีการอนุญาโตตุลาการในการระงับข้อพิพาทในสัญญาจ้างก่อสร้างงานโยธาสัญญาจ้างที่ปรึกษาบริหาร

และควบคุมโครงการ โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ

คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้ใช้วิธีการอนุญาโตตุลาการในการระงับข้อพิพาทไว้ในสัญญาจ้างก่อสร้างงานโยธาสัญญาที่ 1, 2 และ 3 ที่ดำเนินการประกวดราคาแล้วเสร็จ และงานโยธาสัญญาที่ 6 ที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จะดำเนินการประกวดราคา และสัญญาจ้างที่ปรึกษาบริหารและควบคุมโครงการที่ รฟม.อยู่ระหว่างการคัดเลือกบริษัทที่ปรึกษา ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงคมนาคมรายงานว่า

1. กระทรวงคมนาคมได้รายงานความคืบหน้าการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่- บางซื่อ สายที่ 1, 2 และ 3 ของ รฟม. และการปรับกรอบวงเงินค่างานโยธาของสัญญาที่ 6 (งานระบบราง) จากวงเงินที่ คณะรัฐมนตรีได้มีมติไว้เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2551 จำนวน 4,077 ล้านบาท เป็น 3,638 ล้านบาท ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ และตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเสนอเพิ่มเติม ทั้งนี้ ให้กระทรวงคมนาคมรับไปตรวจสอบ ติดตาม และกำกับดูแลการดำเนินการต่าง ๆ ให้ถูกต้อง และอยู่ในกรอบวงเงินค่าก่อสร้างงานโยธาสำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ จำนวน 36,055 ล้านบาท ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2551 ดังกล่าว โดยให้คณะรัฐมนตรีทราบ

2. เนื่องจากคณะรัฐมนตรีได้มีมติ (28 กรกฎาคม 2552) ว่า “สัญญาทุกประเภทที่หน่วยงานของรัฐทำกับเอกชนในไทยหรือต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นสัญญาทางการปกครองหรือไม่ ไม่ควรเขียนผูกมัดในสัญญาให้มอบข้อพิพาทให้คณะอนุญาโตตุลาการเป็นผู้ชี้ขาด แต่หากมีปัญหาหรือความจำเป็นหรือเป็นข้อเรียกร้องของคู่สัญญาอีกฝ่ายที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้ ให้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติเป็นราย ๆ ไป” ซึ่งในเรื่องนี้ รฟม.ได้ชี้แจงเหตุผลความจำเป็นในการปรับปรุงเอกสารสัญญาว่าจ้างในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการยกเลิกการใช้วิธีการอนุญาโตตุลาการ เพื่อให้ JICA (Japan International Cooperation Agency) พิจารณาให้ความเห็นชอบ แต่ JICA ไม่อนุญาตให้มีการยกเลิกวิธีการอนุญาโตตุลาการในการระงับกรณีพิพาทจากข้อสัญญา โดยเห็นว่า หาก JICA อนุญาตให้มีการยกเลิกวิธีการอนุญาโตตุลาการให้แก่ รฟม. จะทำให้มีการร้องขอเพื่อยกเว้นหลักเกณฑ์ต่างๆ ของ JICA จากผู้กู้ยืมรายอื่นเช่นเดียวกัน ซึ่งจะทำให้ JICA ไม่สามารถรักษามาตรฐานต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ได้

3. กระทรวงคมนาคมพิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อให้โครงการดังกล่าวสามารถดำเนินการไปได้อย่างต่อเนื่อง ไม่เกิดความล่าช้าและบรรลุวัตถุประสงค์ ดังนั้น เมื่อ JICA ซึ่งเป็นผู้ให้กู้ไม่อนุญาตให้มีการยกเลิกวิธีการอนุญาโตตุลาการในการระงับกรณีพิพาทจากข้อสัญญา กระทรวงคมนาคมจึงมีความจำเป็นต้องขออนุมัติคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามนัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2552

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 13 ตุลาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ