การให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจและปัญหาภายในประเทศ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 14, 2009 15:38 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบและเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ดังนี้

1. รับทราบขั้นตอนการดำเนินงานร่วมกันระหว่างธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ธพว.) ธนาคารออมสิน และคณะทำงานกลั่นกรองรายสาขากลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว

2. เห็นชอบ

2.1 การผ่อนปรนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการพิจารณาคุณสมบัติของผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว โดยให้ธนาคารที่เข้าร่วมโครงการช่วยเหลือด้านการเงินแก่ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจและปัญหาภายในประเทศ ไม่ต้องนำสถานการณ์เป็นลูกหนี้สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของผู้ประกอบการที่เกิดขึ้นหลังจากการเกิดปัญหาการปิดท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิและท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมือง (นับจากวันที่ 1 พฤศจิกายน 2551 เป็นต้นไป) มาประกอบการพิจารณาการขอสินเชื่อ ทั้งนี้ ให้ธนาคารนำข้อมูลผลการดำเนินงานของผู้ประกอบการก่อนหน้า (ก่อนวันที่ 1 พฤศจิกายน 2551) และแนวโน้มรวมทั้งศักยภาพของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในปัจจุบันมาประกอบการพิจารณาให้สินเชื่อ

2.2 การเรียกเก็บอัตราดอกเบี้ยจากผู้กู้ภายใต้โครงการฯ ดังนี้

2.2.1 อัตราดอกเบี้ย MLR ของธพว. ลบ 3 ต่อปี เป็นเวลา 2 ปี

2.2.2 ตั้งแต่ปีที่ 3 เป็นต้นไป ให้คิดอัตราดอกเบี้ยตามที่แต่ละธนาคารกำหนด

ทั้งนี้ ให้กระทรวงการคลังรับข้อสังเกตของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปประกอบการพิจารณาด้วย

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงการคลังรายงานว่า ได้ดำเนินการตามที่คณะรัฐมนตรี (21 กรกฎาคม 2552) มีมติมอบหมายแล้ว โดยได้จัดการประชุมหารือร่วมกับ ธพว. ธนาคารออมสิน และสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2552 เพื่อพิจารณาการดำเนินงานและแนวทางการผ่อนปรนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขต่างๆ ให้เกิดความรวดเร็วและคล่องตัวมากยิ่งขึ้น โดยสรุปผลการประชุมได้ดังนี้

1. ขั้นตอนการดำเนินงาน เนื่องจากคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ธนาคารออมสินเข้ามามีส่วนร่วมในการอำนวยสินเชื่อในโครงการฯ และให้ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวที่ต้องการขอสินเชื่อยื่นเอกสารต่อคณะทำงานกลั่นกรองรายสาขากลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว (สมาคมโรงแรมไทย สมาคมภัตตาคารไทย สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว และสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย) เพื่อพิจารณากลั่นกรองรายละเอียดและคุณสมบัติของผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวก่อนเสนอ ธพว. หรือธนาคารออมสิน ดังนั้น ที่ประชุมจึงเห็นชอบร่วมกันกำหนดแนวทางการดำเนินงาน ดังนี้

1.1 ให้คณะทำงานกลั่นกรองรายสาขากลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวดำเนินการดังนี้

1.1.1 ประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการทราบว่ามีธนาคารออมสินเข้ามามีส่วนร่วมในการปล่อยสินเชื่อในโครงการฯ ด้วย ทั้งนี้ ผู้ประกอบการจะยื่นขอสินเชื่อผ่านธนาคารใดขึ้นอยู่กับความต้องการ และความสะดวกในการขอรับบริการของผู้ประกอบการ

1.1.2 เป็นผู้พิจารณาความซ้ำซ้อนของความต้องการของผู้ประกอบการมิให้มีการยื่นขอรับสินเชื่อซ้ำทั้ง 2 ธนาคาร

1.1.3 ตรวจสอบและรวบรวมเอกสารที่จะขอกู้เงินให้ครบถ้วนก่อนส่งต่อให้ ธพว.หรือธนาคารออมสิน เพื่อพิจารณาอนุมัติสินเชื่อต่อไป โดยแบ่งเอกสารเป็น 2 ประเภท

(1) เอกสารที่คณะทำงานกลั่นกรองฯ ต้องตรวจสอบและรับรองความถูกต้องมี 3 รายการ คือ 1) ใบทะเบียนการค้า 2) หนังสือรับรองกระทรวงพาณิชย์ และ 3) ใบอนุญาตประกอบกิจการเฉพาะ (ถ้ามี) ซึ่งแสดงถึงการรับรองว่าเป็นผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวจริง

(2) เอกสารที่คณะทำงานกลั่นกรองฯ รวบรวมให้ตามความต้องการของธนาคาร

1.2 ให้ ธพว. ดำเนินการดังนี้

1.2.1 รวบรวมและติดตามการอนุมัติสินเชื่อของทั้งโครงการฯ เพื่อมิให้เกินวงเงินที่คณะรัฐมนตรีกำหนด

1.2.2 รวบรวมและติดตามการเบิกจ่ายเงินสินเชื่อ เพื่อขอชดเชยจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

1.2.3 รายงานผลการอนุมัติและการเบิกจ่ายเงินแยกเป็นรายสถาบันการเงินให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง ทราบเป็นประจำทุกเดือน (ภายในวันที่ 10 ของเดือนถัดไป)

ทั้งนี้ ในการดำเนินงานให้ ธพว. และธนาคารออมสินแยกบันทึกบัญชีการดำเนินงานตามโครงการนี้ออกจากการดำเนินงานโดยปกติของธนาคาร เพื่อประเมินผลการดำเนินงานต่อไป

2. การผ่อนปรนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการพิจารณาคุณสมบัติของผู้ประกอบการภายใต้โครงการฯ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก และผลกระทบจากปัญหาภายในประเทศอย่างรุนแรงโดยเฉพาะการปิดสนามบินนานาชาติทั้งสองแห่ง และอุตสาหกรรมท่องเที่ยวมีธุรกิจต่อเนื่องเป็นจำนวนมาก มีการจ้างงานในอัตราสูง มีศักยภาพ รวมทั้งมีผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ดังนั้น จึงเห็นควรนำเสนอแนวทางในการช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว โดยให้ธนาคารที่เข้าร่วมโครงการฯ ไม่ต้องนำสถานการณ์เป็นลูกหนี้สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของผู้ประกอบการที่เกิดขึ้นหลังจากการเกิดปัญหาการปิดท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิและท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมือง (นับจากวันที่ 1 พฤศจิกายน 2551 เป็นต้นไป) มาประกอบการพิจารณาการขอสินเชื่อ ทั้งนี้ให้ธนาคารนำข้อมูลผลการดำเนินงานของผู้ประกอบการก่อนหน้า (ก่อนวันที่ 1 พฤศจิกายน 2551) และแนวโน้มรวมทั้งศักยภาพของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในปัจจุบันมาประกอบการพิจารณาให้สินเชื่อ

3. อัตราดอกเบี้ยที่เรียกเก็บจากผู้กู้ภายใต้โครงการฯ ตามมติคณะรัฐมนตรี (28 เมษายน 2552) กำหนดอัตราดอกเบี้ยที่เรียกเก็บจากผู้กู้ไว้ในอัตราร้อยละ MLR ลบ 3 ต่อปี เป็นเวลา 2 ปี และตั้งแต่ปีที่ 3 เป็นต้นไป ให้คิดอัตราดอกเบี้ยตามที่ ธพว. กำหนด และต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติ (21 กรกฎาคม 2552) เห็นชอบให้ธนาคารออมสินเข้ามามีส่วนร่วมในการปล่อยสินเชื่อ แต่เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยของทั้งสองธนาคารมีความแตกต่างกัน ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินโครงการฯ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นธรรม จึงเห็นควรกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่เรียกเก็บจากผู้กู้ภายใต้โครงการฯ ดังนี้

3.1 อัตราดอกเบี้ย MLR ของธพว. ลบ 3 ต่อปี เป็นเวลา 2 ปี

3.2 ตั้งแต่ปีที่ 3 เป็นต้นไป ให้คิดอัตราดอกเบี้ยตามที่แต่ละธนาคารกำหนด

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 13 ตุลาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ