ผลการประชุมเวทีหารือเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาแนวพื้นที่เศรษฐกิจระดับรัฐมนตรี และระดับผู้ว่าราชการจังหวัด ครั้งที่ 2

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 14, 2009 15:49 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการประชุมเวทีหารือเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาแนวพื้นที่เศรษฐกิจระดับรัฐมนตรี และระดับผู้ว่าราชการจังหวัด ครั้งที่ 2 ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอ ตามที่ รัฐบาลกัมพูชา ได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเวทีหารือเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาแนวพื้นที่เศรษฐกิจระดับรัฐมนตรี และระดับผู้ว่าราชการจังหวัด ครั้งที่ 2 (2nd Economic Corridor Forum : ECF) ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ระหว่างวันที่ 16-17 กันยายน 2552 ประกอบด้วย (1) การประชุมเวทีหารือระดับผู้ว่าราชการจังหวัด ในวันที่ 16 กันยายน 2552 โดยหัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย (นายจาดุร อภิชาตบุตร) เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนฝ่ายไทย และมีผู้แทนกระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้แทนของจังหวัดตาก กาญจนบุรี ตราด สระแก้ว เชียงราย มุกดาหาร พิษณุโลก เข้าร่วมด้วย (2) การประชุมเวทีหารือระดับรัฐมนตรี ในวันที่ 17 กันยายน 2552 โดยมีรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายวีระชัย วีระเมธีกุล) ปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีกำกับดูแลแผนงาน GMS และหัวหน้าคณะผู้แทนฝ่ายไทย นั้น สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สรุปรายงานผลการปฏิบัติงานของคณะผู้แทนไทยดังนี้

1. ผลการประชุมเวทีหารือระดับผู้ว่าราชการจังหวัด ที่ประชุมได้หารือภาพรวมการพัฒนา GMS การพัฒนาตามแนวพื้นที่เศรษฐกิจ (Economic Corridor Forum : EC) ยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการของแต่ละแนวพื้นที่เศรษฐกิจ บทบาทภาครัฐและเอกชน และกลไกการทำงานร่วมกัน แล้วมีความเห็นและมติร่วมกันดังนี้

1.1 ควรเริ่มดำเนินการความร่วมมือระดับจังหวัดในเรื่องที่ทำได้เร็วก่อน เช่น ด้านท่องเที่ยวแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม การศึกษา และพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และเร่งการเชื่อมโยง และลดอุปสรรคด้านโลจิสติกส์ระหว่างเมืองตามแนวพื้นที่เศรษฐกิจโดยเร็ว

1.2 สนับสนุนการพัฒนาถนนสายรองเชื่อมโยงเส้นทางหลักของอนุภูมิภาค การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งระบบรางและทางน้ำ และให้พิจารณาขยายการเดินรถให้สามารถขนส่งออกนอกเส้นทางแนวพื้นที่เศรษฐกิจได้ และขอให้ธนาคารพัฒนาเอเชียให้ความสำคัญและเพิ่มบุคลากรและงบประมาณในการขับเคลื่อนงานด้านซอฟต์แวร์ของอนุภูมิภาค โดยลดความยุ่งยากของกระบวนการตรวจปล่อย ณ ด่านพรมแดน การจัดทำ เอกสารให้เป็นรูปแบบเดียวกัน และพัฒนาสู่ระบบเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ และการพัฒนาศักยภาพด้านวิชาการและด้านคุณธรรรมในการปฏิบัติงานให้กับเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง

1.3 เห็นควรให้เร่งดำเนินการ Single Visa นำร่องไทย — กัมพูชา ให้เป็นรูปธรรมโดยเร็วพิจารณาความเป็นไปได้ในการขยายขอบเขตการใช้บัตรผ่านแดน (Border pass) ให้ไปได้ตลอดแนวพื้นที่เศรษฐกิจ การเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวที่มีศักยภาพ และการจัดตั้งศูนย์เผยแพร่ข้อมูลการท่องเที่ยวร่วมกัน

1.4 เสนอให้มีการเชื่อมโยงความร่วมมือด้านสังคมและวัฒนธรรมตามแนวพื้นที่เศรษฐกิจ (Social Corridor) ทั้งในจังหวัดชายแดนและจังหวัดที่ไม่ได้มีชายแดนติดต่อกันเพิ่มโอกาสการกระจายผลประโยชน์ให้กับประเทศที่ล้าหลังกว่าโดยเฉพาะการลงทุนในการพัฒนาคน และการลงทุนด้านสังคม

1.5 ส่งเสริมให้มีกลไกความร่วมมือของภาคเอกชนท้องถิ่น การสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ด้านการเงินและความสามารถในการพัฒนาธุรกิจ เลือกอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพสูง (Champion of Industries) ในแต่ละแนวพื้นที่เศรษฐกิจ โดยให้ธนาคารพัฒนาเอเชียช่วยส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มของห่วงโซ่การผลิต การลงทุนเกี่ยวเนื่องด้านโลจิสติกส์และจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ ขอให้ภาครัฐเพิ่มศักยภาพของภาครัฐ-เอกชนจังหวัดและท้องถิ่นในการทำงาน และรับทราบข้อมูลแผนงาน GMS และแนวพื้นที่เศรษฐกิจ และช่วยผ่อนปรนมาตรการด้านความปลอดภัย เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจร่วมกันของประเทศ GMS

1.6 ขอให้ธนาคารพัฒนาเอเชียรับความเห็นไปประกอบการกำหนดขอบข่ายประเด็นที่ควรดำเนินการในกรอบของความร่วมมือระดับผู้ว่าราชการจังหวัด และระดับประเทศ รวมทั้งจัดทำเป็นแผนการทำงานที่ชัดเจนต่อไป และขอความช่วยเหลือเชิงวิชาการในการดำเนินโครงการพัฒนาเมืองตามแนวพื้นที่เศรษฐกิจ (corridor Towns Development Project) ที่ครอบคลุมทั้งด้านการลงทุนเพื่อส่งเสริมศักยภาพของเมือง และการดูแลสิ่งแวดล้อม

2. ผลการประชุมเวทีหารือระดับรัฐมนตรีของ ECF ที่ประชุมได้พิจารณาแนวทางความร่วมมือและผลักดันไปสู่การปฏิบติของแผนงานความร่วมมือ GMS แล้ว มีมติเห็นและมติร่วมกันดังนี้

2.1 รับทราบผลการประชุมระดับผู้ว่าราชการจังหวัด และขอให้ธนาคารพัฒนาเอเชียสนับสนุนให้มีการประชุมอย่างต่อเนื่องและส่งเสริมความร่วมมือที่ใกล้ชิดของจังหวัดตามแนวพื้นที่เศรษฐกิจต่อไป

2.2 รับทราบความก้าวหน้าและข้อเสนอของธนาคารพัฒนาเอเชียในการปรับโครงสร้างกลไกการดำเนินงานอำนวยความสะดวกการค้าและการขนส่งข้ามพรมแดนของแต่ละประเทศ โดยกำหนดเป้าหมายให้ธนาคารพัฒนาเอเชียร่วมกับประเทศสมาชิกเร่งพิจารณาและนำเสนอรูปแบบการปรับโครงสร้างกลไกการดำเนินงานที่แต่ละประเทศเห็นชอบแล้วในที่ประชุมระดับรัฐมนตรี GMS ครั้งที่ 16 ที่ประเทศเวียดนาม เพื่อพิจารณาอนุมัติต่อไป

2.3 เห็นพ้องว่าการขับเคลื่อนการพัฒนาแนวพื้นที่เศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากนโยบายระดับสูง และให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนการอำนวยความสะดวกการค้าและการขนส่งข้ามพรมแดน (Trade and Transpot Facilitation: TTF) ซึ่งเป็นหัวใจหลักในการปรับเปลี่ยนจากแนวเส้นทางการขนส่ง ให้เป็นแนวเส้นทางโลจิสติกส์ โดยขอให้ธนาคารพัฒนาเอเชียจัดทำ Scorecard เพื่อติดตามประเมินผลการดำเนินงานอย่างใกล้ชิด

2.4 เห็นชอบตามข้อเสนอของไทยที่เสนอให้มีการจัดประชุมหน่วยงานของประเทศลุ่มแม่น้ำโขงที่เกี่ยวข้องกับมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (Sanitary and Phytosanitary Measures : SPS) เพิ่มเติมจากการประชุมหน่วยงานศุลกากรของ 6 ประเทศ โดยเห็นควรให้จัดประชุมหน่วยงานทั้งสองเรื่องก่อนล่วงหน้าในลักษณะคู่ขนานกับการประชุมระดับรัฐมนตรี GMS ครั้งที่ 16 ณ กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม

2.5 เสนอให้เร่งรัดผลักดันการดำเนินงานด้านการพัฒนาแนวพื้นที่เศรษฐกิจ 6 เรื่อง ได้แก่

2.5.1 เริ่มเดินรถระหว่างไทย-กัมพูชา ณ ด่านอรัญประเทศ-ปอยเปตภายในปี 2552 ซึ่งควรขยายผลให้ครอบคุลม 3 ประเทศโดยเร็วต่อไป ทั้งนี้ขอให้เวียดนามเร่งรัดการจัดการภายในประเทศเพื่อให้ระบบศุลกากรผ่านแดน (Customs Transit System : CTS) สามารถดำเนินงานได้

2.5.2 เร่งพัฒนาเส้นทางช่วงที่ขาดหายตามแนวพื้นที่เศรษฐกิจหลัก และการพัฒนาถนนสายรองเพื่อเชื่อมโยงแหล่งผลิตและแหล่งท่องเที่ยว

2.5.3 พัฒนาระบบรางเชื่อมโยงตามแนวพื้นที่เศรษฐกิจเพื่อส่งเสริมระบบการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ

2.5.4 ผลักดันการดำเนินงานด้านกฎระเบียบ แก้ไขปัญหาอุปสรรคการดำเนินงานระบบศุลกากรผ่านแดนและองค์กรค้ำประกันนำร่องตามแนวพื้นที่เศรษฐกิจตะวันออก — ตะวันตก โดยขอให้ธนาคารพัฒนาเอเชียให้ความช่วยเหลืออย่างแข็งขัน

2.5.5 ส่งเสริมการผลิตผลิตภัณฑ์เชิงภูมิปัญญา เพื่อกระจายประโยชน์การพัฒนาเข้าถึงระดับรากหญ้าได้มากขึ้น

2.5.6 เพิ่มการมีส่วนร่วมและการเพิ่มศักยภาพหน่วยงานรัฐและเอกชนในจังหวัดตามแนวพื้นที่เศรษฐกิจ โดยให้ความช่วยเหลือทางด้านการเพิ่มศักยภาพการเข้าถึงแหล่งเงิน ด้านวิชาการ และสร้างโอกาสความร่วมมือในลักษณะหุ้นส่วนความร่วมมือภาครัฐและเอกชนให้มากขึ้น

3. การลงนามในหนังสือแก้ไขบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ว่าด้วยการแลกเปลี่ยนสิทธิจราจรสำหรับการขนส่งข้ามพรมแดน ณ จุดผ่านแดนอรัญประเทศ- ปอยเปต รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายวีระชัย วีระเมธีกุล) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมของกัมพูชา ได้ร่วมลงนามใน Addendum ระหว่างไทย- กัมพูชา เพื่อเริ่มการเดินรถนำร่องระหว่างกัน ในจำนวน 40 คัน ณ ด่านอรัญประเทศ — ปอยเปต ภายในต้นปี 2553 โดยกัมพูชาจะสามารถเดินรถเข้ามาได้ถึงกรุงเทพฯ ขณะที่ไทยเดินรถได้ถึงกรุงพนมเปญ และต่อเนื่องไปยังเมืองบาเวต (ชายแดนกัมพูชา — เวียดนาม) ซึ่งในอนาคตไทย — กัมพูชาและเวียดนามจะได้หารือการแลกเปลี่ยนสิทธิจราจรระหว่าง 3 ประเทศ ตามแนวเส้นทางนี้ต่อไปถึงโฮจิมินห์ และวังเตา (เวียดนามตอนใต้)

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 13 ตุลาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ