แนวทางการเสริมสร้างความยุติธรรมและความสมานฉันท์ภายใต้โครงการเยาวชนพลยุติธรรม

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 14, 2009 16:00 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบแนวทางการเสริมสร้างความยุติธรรมและความสมานฉันท์ภายใต้โครงการเยาวชนพลยุติธรรมตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ ดังนี้

1. มอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการ ดำเนินการพัฒนาและ เสริมสร้างจิตสำนึกรักความยุติธรรมความสมานฉันท์และความปลอดภัย ปลูกฝังเด็กและเยาวชนให้รับรู้ในเรื่องหน้าที่พลเมืองที่ดี สิทธิของบุคคลและไม่ละเมิดสิทธิของคนอื่น รวมทั้งเสริมสร้างจิตสำนึกคุณธรรมในด้านต่างๆ โดยจัดทำเนื้อหาหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมเข้าไปในกิจกรรมการเรียนการสอนของเด็กและเยาวชนในหมวดสังคมศึกษา ทั้งในระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษาและอุดมศึกษา

2. ให้นำกรอบแนวคิด วัตถุประสงค์ เป้าหมาย รูปแบบและขั้นตอนการดำเนินงาน ตลอดจนผลการดำเนินงานและประสบการณ์เรียนรู้ที่ได้รับจากโครงการเยาวชนพลยุติธรรม ซึ่งกระทรวงยุติธรรม โดยสำนักงานกิจการยุติธรรม ได้ริเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2548 - 2551 จนประสบความสำเร็จและเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน มาพิจารณาประกอบเพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินงานตามความเหมาะสม

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงยุติธรรมรายงานว่า

1. ด้วยกระทรวงยุติธรรมมีแนวนโยบายต้องการสร้างรูปแบบและแนวทางการเสริมสร้างสังคมแห่งความเป็นธรรม ส่งเสริมให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้มีการพัฒนากระบวนการยุติธรรมที่ยั่งยืน และเกิดประสิทธิผลอย่างแท้จริงต่อการป้องกันอาชญากรรมและการกระทำผิด ดังนั้น กลุ่มเด็กและเยาวชนในสถานศึกษาจึงเป็นผู้มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนากระบวนการยุติธรรมในอนาคต การสนับสนุนส่งเสริมการปลูกจิตสำนึกด้วยความยุติธรรมจะเป็นพื้นฐานสำคัญต่อการให้ความร่วมมือของประชาชนในการอำนวยความยุติธรรมในอนาคต กระทรวงยุติธรรมโดยสำนักงานกิจการยุติธรรม จึงได้ริเริ่มดำเนินโครงการภายใต้ชื่อ “โครงการเยาวชนพลยุติธรรม” ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2548 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เด็กและเยาวชนในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษามีจิตสำนึกและทัศนคติที่ดี ในเรื่องความยุติธรรมและความสมานฉันท์ โดยผ่านกระบวนการให้ความรู้ความเข้าใจในกฎหมาย ขั้นตอนกระบวนการยุติธรรมขั้นพื้นฐาน สิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย มีส่วนร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมแสดงออกในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับความยุติธรรมและความสมานฉันท์ รวมทั้งให้สร้างเครือข่ายยุติธรรมระหว่างเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการและขยายเครือข่ายสู่กลุ่มเด็กเยาวชนอื่น ครูอาจารย์ ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้ปกครองและชุมชนรอบข้าง

ขั้นตอนการดำเนินงานโครงการฯ เริ่มจากประชาสัมพันธ์โครงการฯ ผ่านทาง Website และทางสื่อประชาสัมพันธ์ ต่าง ๆ เพื่อเผยแพร่และรับสมัครสถานศึกษาทั่วประเทศ คัดเลือกสถานศึกษาที่มีความสนใจและมีความพร้อมในการเข้าร่วมโครงการฯ ประชุมชี้แจงแนวทางดำเนินงาน อบรมให้ความรู้แก่แกนนำเยาวชนและครูพี่เลี้ยง และมอบเงินสนับสนุน ให้นักเรียนสร้างเครือข่ายเรียนรู้ข้อมูลเพิ่มเติมจากหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมและจากแหล่งอื่นๆ เพื่อร่วมคิด สร้างสรรค์ ร่วมทำและแสดงออกกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับความยุติธรรมและความสมานฉันท์ที่โรงเรียนได้ริเริ่มขึ้น มีการนิเทศ ติดตามและประเมินผลเพื่อแนะนำให้ดำเนินการเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด จัดเวทีนำเสนอผลงานและประกวดกิจกรรมในแต่ละภาค พร้อมทั้งมอบรางวัลและเกียรติบัตรแก่ทุกโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ จัดกิจกรรมค่ายเยาวชนพลยุติธรรม เพื่อเสริมสร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดี แลกเปลี่ยนองค์ความรู้และเป็นเครือข่ายเยาวชนพลยุติธรรม จัดนิทรรศการแสดงผลงานของสถานศึกษาที่มีผลงานดีเด่นในแต่ละภาค ณ กรุงเทพมหานคร พร้อมทั้งมอบประกาศนียบัตรสถานศึกษาต้นแบบ โล่รางวัลและเงินรางวัล จัดสัมมนาเพื่อพิจารณาผลการดำเนินงานและรับฟังข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะจากผู้ทรงคุณวุฒิและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งจัดทำรายงานสรุปผลการดำเนินงานเสนอผู้บริหารระดับสูง

ตั้งแต่เริ่มดำเนินโครงการฯ ในปี 2548 จนถึงปัจจุบันมีสถานศึกษาจากทั่วประเทศเข้าร่วมโครงการ จำนวน 315 แห่ง และจำนวนนักเรียนเข้าร่วมโครงการ ประมาณ 250, 000 คน

ระยะที่ 1 ในปีงบประมาณ 2548 เป็นการนำร่อง เพื่อหารูปแบบดำเนินการ ณ จังหวัดนครราชสีมา

ระยะที่ 2 ในปีงบประมาณ 2549 ได้นำรูปแบบที่ได้จากการศึกษาทดลองมาพัฒนาแนวทางการดำเนินงานให้มีความสมบูรณ์ และดำเนินการต่อในพื้นที่จังหวัด ฉะเชิงเทรา เชียงใหม่ อุบลราชธานี และภูเก็ต โดยมีสถานศึกษาสมัครเข้าร่วมโครงการ 58 แห่ง คัดเลือกกิจกรรมดีเด่นตามช่วงชั้น (3 ระดับ) จนได้สถานศึกษาที่ชนะเลิศในระดับจังหวัด รวม 12 แห่ง และจัดการประกวดกิจกรรมระดับประเทศ ภายใต้งาน การประชุมทางวิชาการระดับชาติว่าด้วยงานยุติธรรม ครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2549 ซึ่งพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ได้เสด็จเยี่ยมชมกิจกรรมของแต่ละสถานศึกษาและทรงดำริว่าเป็นกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อกระบวนการยุติธรรม และควรนำไปขยายผลดำเนินงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

ระยะที่ 3 ได้ขยายพื้นที่การดำเนินงานเฉพาะสถานศึกษาในเขตกรุงเทพมหานคร

ระยะที่ 4 ในปีงบประมาณ 2550 ได้ขยายผลการดำเนินงานต่อเนื่องสู่ระดับประเทศ

ระยะที่ 5 ในปีงบประมาณ 2551 ได้ขยายผลการดำเนินงานต่อเนื่องในระดับประเทศ โดยเน้นการสร้างจิตสำนึกและทัศนคติที่ดีด้านความยุติธรรมและความสมานฉันท์ เพื่อให้สถานศึกษายอมรับและมีบทบาทหลักในการดำเนินงาน อันจะเป็นการส่งเสริมการพัฒนากระบวนการยุติธรรมภาคประชาชนให้เข้มแข็งยั่งยืน และนำไปประยุกต์เข้าสู่หลักสูตรการเรียนการสอนของกระทรวงศึกษาธิการได้อย่างเหมาะสมต่อไป

การประเมินผลโครงการเยาวชนพลยุติธรรมผ่านผู้ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ครูอาจารย์ ผู้ปกครองและเด็กและ เยาวชนที่เข้าร่วมโครงการ พบว่า ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้โครงการฯ ประสบความสำเร็จได้แก่ ผู้บริหารสถานศึกษาและครูอาจารย์ที่กระตุ้นให้เด็กและเยาวชนในสถานศึกษาได้มีส่วนร่วมคิดร่วมวางแผนและลงมือปฏิบัติจริง รวมทั้งนักเรียนแกนนำที่ผ่านโครงการฯ เห็นว่าควรต้องมีกิจกรรมต่อเนื่องหรือต่อยอดภายหลังที่ได้เข้าร่วมโครงการเยาวชนพลยุติธรรม นอกจากนี้ ผู้ที่เกี่ยวข้องเห็นว่าจะต้องมีการบรรจุเนื้อหาสาระและรูปแบบกิจกรรมของโครงการฯ ไว้ในหลักสูตรและกิจกรรมการเรียนการสอนของกระทรวงศึกษาธิการในทุกระดับ

ในคราวประชุมคณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2552 เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2552 ที่ประชุมเห็นว่า โครงการเยาวชนพลยุติธรรมเป็นโครงการที่ควรสนับสนุน เนื่องจากจะทำให้เด็กและ เยาวชนมีจิตสำนึกในเรื่องความถูกต้อง ความยุติธรรม รับรู้เข้าใจในสิทธิและหน้าที่พลเมืองที่ดี อย่างไรก็ดี เพื่อให้การ ดำเนินงานของโครงการฯ ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายเด็กและเยาวชนทั่วประเทศที่มีอยู่จำนวนมาก จึงควรปรับปรุงแนวทางการดำเนินงานให้เหมาะสมและเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณา ดังนี้

1) กรณีเด็กและเยาวชนในระบบการศึกษา ให้กระทรวงศึกษาธิการดำเนินการพัฒนา เสริมสร้างจิตสำนึกรักความยุติธรรม ความสมานฉันท์และความปลอดภัย และปลูกฝังเด็กและเยาวชนให้รับรู้ในเรื่องหน้าที่พลเมืองที่ดี สิทธิของบุคคลและไม่ละเมิดสิทธิของคนอื่น รวมทั้งเสริมสร้างจิตสำนึกคุณธรรมในด้านต่างๆ โดยแทรกสาระในเนื้อหาหลักสูตรหรือกิจกรรมเสริมหลักสูตรการเรียนการสอนของเด็กและเยาวชนทั้งในระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษาและอุดมศึกษา

2) กรณีเด็กและเยาวชนที่ไม่อยู่ในระบบการศึกษา มอบหมายให้กระทรวงยุติธรรมเป็นเจ้าภาพประสานหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ ศาล สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกระทรวงมหาดไทย เพื่อกำหนดรูปแบบและจัดทำกิจกรรมการดำเนินงานที่เหมาะสมในเรื่องดังกล่าว โดยให้ครอบคลุมถึงการส่งเสริมบทบาทของสถาบันครอบครัวและชุมชนด้วย

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 13 ตุลาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ