รายงานผลการพิจารณาศึกษาของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมือง

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 14, 2009 16:46 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่ประธานรัฐสภาเสนอรายงานผลการพิจารณาศึกษาของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมือง ดังนี้

ข้อเท็จจริง

ประธานรัฐสภาเสนอว่า โดยที่ได้มีคำสั่งรัฐสภา ที่ 16/2552 ลงวันที่ 1 พฤษภาคม 2552 แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมือง โดยให้มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาศึกษา สอบสวน รวบรวม ตรวจสอบข้อมูล ข้อเท็จจริง ตลอดจนรายละเอียดต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองระหว่างวันที่ 8 — 15 เมษายน 2552 โดยให้คณะกรรมการดังกล่าวรายงานผลต่อประธานรัฐสภาเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป

บัดนี้ คณะกรรมการฯ ได้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่เสร็จเรียบร้อยแล้ว และได้จัดส่งรายงานสรุปผลการพิจารณาศึกษาของคณะกรรมการฯ ต่อประธานรัฐสภา ซึ่งได้พิจารณาเห็นว่ารายงานสรุปดังกล่าวจะเป็นประโยชน์แก่การดำเนินการของรัฐบาล จึงได้เสนอรายงานดังกล่าวมาเพื่อดำเนินการ

สาระสำคัญของเรื่อง

รายงานผลการพิจารณาศึกษาของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมือง ประกอบด้วยรายละเอียดรวม 5 บท ได้แก่

บทที่ 1 บัญชีเอกสารประกอบการพิจารณา

บทที่ 2 ผลการพิจารณาของคณะอนุกรรมการรวบรวมเหตุการณ์ข้อเท็จจริง

บทที่ 3 ลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

บทที่ 4 บทวิเคราะห์ประเด็นปัญหาและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง

บทที่ 5 ข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ

ทั้งนี้ รายละเอียดทั้ง 5 บท มีเนื้อหาโดยสรุป ดังนี้

1. การออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่จังหวัดชลบุรี ลงวันที่ 11 เมษายน 2552 และการออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี อำเภอเมืองสมุทรปราการ อำเภอบางพลี อำเภอพระประแดง อำเภอบางบ่อ อำเภอบางเสาธง จังหวัดสมุทรปราการ อำเภอธัญบุรี อำเภอลาดหลุมแก้ว อำเภอสามโคก อำเภอลำลูกกา อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม และอำเภอวังน้อย อำเภอบางปะอิน อำเภอบางไทร อำเภอลาดบัวหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ลงวันที่ 12 เมษายน 2552 เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้พิจารณาเงื่อนไขความชอบด้วยกฎหมายใน 3 ประเด็น ดังนี้

1.1 มี “สถานการณ์ฉุกเฉิน” ตามคำนิยามในมาตรา 4 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เกิดขึ้นหรือไม่

1.2 การใช้อำนาจในการออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นไปตามขั้นตอนที่กำหนดในมาตรา 5 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 หรือไม่ กล่าวคือ นายกรัฐมนตรีได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีในการออกประกาศดังกล่าวหรือไม่ อย่างไร

1.3 การออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินอยู่ในขอบเขตที่จำเป็นหรือไม่

นอกจากนั้น เห็นควรพิจารณาเงื่อนไขดังกล่าวควบคู่กับการพิจารณาถึงความสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ด้วย ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้มีความเห็นในประเด็นดังกล่าว แบ่งออกเป็น 2 แนวทาง

2. การชุมนุมทางการเมืองที่เกิดขึ้นในแต่ละแห่งดำเนินไปโดยชอบและอยู่ในขอบเขตที่สมควรหรือไม่ ซึ่งคณะกรรมการฯ พิจารณาเห็นว่า แม้รัฐธรรมนูญจะได้บัญญัติรับรองเสรีภาพในการชุมนุมไว้ แต่ก็ได้บัญญัติให้อำนาจในการจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมไว้ด้วยเช่นกัน ดังนั้น หลักในการใช้เสรีภาพในการชุมนุมในประการสำคัญต้องจำกัดแดนแห่งขอบเขตเสรีภาพของตนและไม่ล่วงล้ำแดนแห่งเสรีภาพของบุคคลอื่น เพราะมิฉะนั้นแล้ว การใช้สิทธิเสรีภาพดังกล่าวจะกลายเป็นการสร้างความเดือดร้อนเสียหาย และอาจก่อให้เกิดภาระแก่บุคคลอื่น ๆ จนนำไปสู่ความวุ่นวายไม่สงบในบ้านเมืองได้ ซึ่งการชุมนุมแต่ละแห่งมีดังนี้

2.1 การชุมนุมบริเวณทำเนียบรัฐบาล การชุมนุมบริเวณทำเนียบรัฐบาลอาจกล่าวได้ว่า ไม่ได้ละเมิดสิทธิผู้อื่นหรือละเมิดบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ เนื่องจากไม่ปรากฏความรุนแรง หรือเหตุการณ์อันเป็นการละเมิดกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม จากข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพฤติการณ์ในการชุมนุมของกลุ่มผู้ชุมนุมแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือกลุ่มคนเสื้อแดง ถือเป็นการชุมนุมตามวิถีทางปกติของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ส่วนการกล่าวปราศรัยเพื่อปลุกระดมให้เห็นถึงความสำคัญของการมาชุมนุมและเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่กลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้อง มีการเคลื่อนไหวไปสมทบกับกลุ่มผู้ชุมนุมตามจุดต่างๆ ตามมาตรการของแกนนำ เห็นได้ว่าพฤติการณ์การชุมนุมที่บริเวณทำเนียบรัฐบาล เป็นเสมือนจุดบัญชาการการชุมนุมและเป็นจุดหลักในการปราศรัยทางการเมืองของกลุ่มแกนนำเท่านั้น ไม่ได้มีเหตุการณ์ความรุนแรงที่ถือเป็นการละเมิดกฎหมาย การชุมนุมส่วนใหญ่จึงเป็นการชุมนุมโดยสงบ ซึ่งต่อมาเมื่อได้มีการประกาศบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เป็นผลให้การควบคุมการชุมนุมมีความเข้มงวดขึ้น และระหว่างนั้นก็ไม่ได้มีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้น จนวันที่ 14 เมษายน 2552 แกนนำได้ประกาศสลายการชุมนุม การชุมนุมจึงยุติลงโดยไม่มีการเข้าสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่รัฐ

2.2 การชุมนุมบริเวณเมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี คณะกรรมการฯ พิจารณาเห็นว่า ในตอนต้นของการชุมนุม แม้จะมีการปิดถนนบางส่วนแต่ก็เป็นการปิดชั่วคราว ประกอบกับกลุ่มผู้ชุมนุมยังได้เปิดการเจรจาในระดับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานเพื่อขอความอนุเคราะห์ให้เปิดทางโดยมิได้มีการใช้กำลังแต่อย่างใด การชุมนุมดังกล่าวจึงเป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ แม้ว่าต่อมาจะมีความรุนแรงเกิดขึ้นระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมเดิมกับกลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อน้ำเงิน แต่หากพิจารณาแล้วเห็นว่า กลุ่มผู้ชุมนุมเดิมได้ถูกยั่วยุจากกลุ่มบุคคลภายนอก ดังนั้น การใช้อาวุธที่มีลักษณะเช่นเดียวกันย่อมสามารถอ้างความชอบธรรมด้วยกฎหมายได้ แต่เมื่อการชุมนุมดังกล่าวได้มีการบุกเข้าไปยังสถานที่จัดประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 14 กับประเทศคู่เจรจา (14th ASEAN Summit and Related Summits) ซึ่งบริเวณพื้นที่โดยรอบการประชุมเป็นพื้นที่ควบคุมอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันความปลอดภัยให้กับผู้นำประเทศต่าง ๆ เมื่อกลุ่มผู้ชุมนุมละเมิดก้าวล่วงเข้าในเขตพื้นที่ควบคุมดังกล่าว ต้องถือว่าการชุมนุมในขณะนี้ได้ก้าวล่วงขอบเขตของการชุมนุมโดยสงบไปแล้ว

2.3 การชุมนุมที่กระทรวงมหาดไทย คณะกรรมการฯ พิจารณาเห็นว่า เป็นการชุมนุมที่มีการปราศรัยชักชวนบุคคลทั่วไปให้มาร่วมชุมนุม โดยปลุกระดมหรือปลุกเร้าให้เกิดอารมณ์เคียดแค้น ชิงชังตามไปด้วย ถือได้ว่ามีเจตนาย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำได้ว่าอาจก่อให้เกิดความไม่สงบขึ้นได้ เมื่อพิจารณาการกระทำของแกนนำและผู้ชุมนุมที่กระทรวงมหาดไทยแล้วถือว่าไม่เป็นการชุมนุมโดยสงบ

ส่วนการทุบรถยนต์ประจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและเลขาธิการนายกรัฐมนตรี รถยนต์รักษาความปลอดภัยนายกรัฐมนตรี และการทำร้ายร่างกายกักขังหน่วงเหนี่ยวเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นการกระทำของกลุ่มผู้ชุมนุมที่เกิดอารมณ์ร่วมในการชุมนุม เกิดความเคียดแค้น และบันดาลโทสะจากการถูกรถยนต์ในขบวนของนายกรัฐมนตรีเฉี่ยวชน

2.4 การชุมนุมบริเวณเขตดินแดง คณะกรรมการฯ พิจารณาเห็นว่า กลุ่มผู้ชุมนุมมีการปรับแผนเพื่อยึดพื้นที่การจราจรเป็นเหตุให้การจราจรในบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิตลอดไปจนถึงบริเวณสามแยกดินแดง ถนนวิภาวดีรังสิต และพื้นที่ใกล้เคียง ติดขัดไม่สามารถใช้การได้ เป็นเหตุให้รัฐบาลต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินโดยให้เหตุผลว่าสถานการณ์การชุมนุมดังกล่าวไม่ใช่การใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญอีกต่อไปแล้ว และได้เน้นย้ำนโยบายให้ทหารซึ่งเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักสากลและหลักการเคารพสิทธิมนุษยชน รวมทั้งการใช้ความอดทน อดกลั้นอย่างถึงที่สุด ซึ่งลักษณะการชุมนุมดังกล่าวคณะกรรมการฯ เห็นว่าอาจเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

2.5 การชุมนุมบริเวณอนุสาวรีย์ บริเวณถนนเพชรบุรี ซอย 5 ซอย 7 บริเวณนางเลิ้งและบริเวณยมราช เหตุตระเตรียมวางเพลิงธนาคารกรุงเทพ คณะกรรมการฯ พิจารณาเห็นว่า จากข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ในพื้นที่ดังกล่าวผู้ชุมนุมได้ปิดเส้นทางการจราจรโดยรอบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ก่อนให้เกิดเหตุการณ์ปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมกับประชาชน มีการทำลายทรัพย์สิน มีการใช้อาวุธประทุษร้ายร่างกายผู้อื่น ดังนั้น เหตุการณ์การชุมนุมในบริเวณ ดังกล่าวนี้ล้วนแสดงให้เห็นถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากการชุมนุมหรือเป็นผลอันเนื่องมาจากการชุมนุมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คณะกรรมการฯ เห็นว่าการชุมนุมดังกล่าวอาจเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

3. การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ของรัฐในแต่ละแห่งที่มีการชุมนุมทางการเมืองเป็นไปโดยชอบและเหมาะสมหรือไม่ คณะกรรมการฯ ได้พิจารณาการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ตามพื้นที่การชุมนุมต่าง ๆ ซึ่งโดยการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ของรัฐในพื้นที่การชุมนุมบริเวณทำเนียบรัฐบาลและบริเวณเมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี ได้มีการดำเนินการไปตามขั้นตอนและแผนการควบคุมการชุมนุม และหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรง

ส่วนการชุมนุมบริเวณกระทรวงมหาดไทยและบริเวณอนุสาวรีย์บริเวณถนนเพชรบุรีซอย 5 ซอย 7 บริเวณนางเลิ้งและบริเวณยมราช เหตุตระเตรียมวางเพลิงธนาคารนั้น เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ ทำให้บริเวณดังกล่าวไม่อยู่ในความสงบ โดยเฉพาะกรณีเหตุการณ์ที่กระทรวงมหาดไทยซึ่งมีเจ้าหน้าที่ของรัฐทั้งทหารและอาสารักษาดินแดงปฏิบัติหน้าที่รักษาความปลอดภัยอยู่ แต่ไม่มีมาตรการในการป้องกันการเกิดเหตุร้ายแรงหรือแผนการเข้าระงับเหตุ

ส่วนการชุมนุมบริเวณดินแดง คณะกรรมการฯ ได้พิจารณาความเห็นของคณะอนุกรรมการรวบรวมเหตุการณ์ที่บริเวณดินแดงซึ่งมีความเห็นเกี่ยวกับการเข้าสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ในเวลา 04.00 นาฬิกา ของวันที่ 13 เมษายน 2552 และขั้นตอนการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ในการสลายการชุมนุมดังกล่าว โดยแบ่งออกเป็นฝ่ายที่เห็นว่าการดำเนินการดังกล่าวมีความเหมาะสมแล้ว และอีกฝ่ายเห็นว่าไม่เหมาะสม

4. ข้อเสนอแนะของคณะกรรมการฯ

4.1 เสนอให้การออกกฎหมายเกี่ยวกับการชุมนุมสาธารณะ

4.2 เสนอให้ตั้งคณะทำงานพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. .... ประกอบด้วยสมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นคณะทำงาน

4.3 รัฐควรส่งเสริมให้มีกระบวนการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในสังคม โดยรัฐต้องมีกลไกในการแก้ไขปัญหาหรือความเดือดร้อนของประชาชนที่มีประสิทธิภาพ สามารถแก้ไขได้ตรงจุดและทันท่วงที

4.4 รัฐสภาควรตั้งคณะกรรมการติดตาม และรับแจ้งเรื่องร้องทุกข์เกี่ยวกับความเสียหายที่เกิดจากการชุมนุม โดยผ่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา

4.5 การดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดในเหตุการณ์การชุมนุม ควรให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายโดยเสมอภาคเป็นมาตรฐานเดียวกัน

4.6 ควรมีกฎหมายกำหนดให้หน่วยงานของรัฐ เอกชน สื่อสารมวลชน เก็บรักษาข้อมูลเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองที่ได้นำเสนอข่าวไว้เป็นเวลา 5 ปี นับแต่วันที่ได้มีการบันทึก และต้องส่งมอบต่อคณะทำงานของสภาผู้แทนราษฎร หรือวุฒิสภา ที่ตั้งขึ้นเพื่อตรวจสอบเหตุการณ์ดังกล่าว เมื่อมีการร้องขอ

4.7 รัฐบาลควรสร้างความเข้าใจ โดยสรุปข้อเท็จจริง ตลอดจนรายละเอียดต่าง ๆ เกี่ยวกับการชุมนุมทุกแง่ทุกมุมอย่างโปร่งใสตามความจริง และดำเนินการเผยแพร่ข้อมูล เพื่อให้เกิดความปรองดองและสมานฉันท์ของคนในชาติ

4.8 รัฐต้องสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตยให้เกิดขึ้น ในการใช้อำนาจบริหาร อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจตุลาการ โดยเฉพาะทหารควรเคารพหลักการประชาธิปไตยอย่างเคร่งครัด ตลอดจนสนับสนุนการเมืองภาคประชาชนให้พัฒนาความรู้ด้านประชาธิปไตย เพื่อต่อต้านการปฏิวัติรัฐประหาร หรือการใช้อำนาจรัฐที่มีความรุนแรงเกินสมควร

4.9 รัฐบาลควรส่งเสริมและสร้างจิตสำนึกร่วมกันในสังคมด้านการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งด้วยความสงบและสันติ การเคารพสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่น การเคารพกฎเกณฑ์และกฎหมาย สร้างความสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นในสังคม โดยบรรจุเป็นหลักสูตรการศึกษาที่มีความเป็นรูปธรรม

4.10 ควรตั้งงบกลางในการเยียวยาผู้เสียหายและอุดหนุนโรงพยาบาลที่เกี่ยวข้อง

4.11 รัฐควรส่งเสริมให้เกิดวัฒนธรรมการดำเนินการทางการเมืองที่ดีเพื่อให้อนุชนรุ่นหลังนำไปใช้เป็นตัวอย่าง

4.12 สื่อมวลชนไม่ควรเสนอข่าวในลักษณะที่จะทำให้เกิดความแตกแยก รวมทั้งไม่ควรให้มีการทำโพลสำรวจความคิดเห็นเพราะจะทำให้เกิดความคิดต่อต้านกันเป็น 2 ฝ่าย

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 13 ตุลาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ