พิธีสารฉบับที่ 2 เพื่อแก้ไขพิธีสารว่าด้วยการนำพิกัดอัตราศุลกากรฮาร์โมไนซ์อาเซียนมาใช้

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 14, 2009 16:55 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีอนุมัติและเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอดังนี้

1. เห็นชอบร่างพิธีสารฉบับที่ 2 เพื่อแก้ไขพิธีสารว่าด้วยการนำพิกัดอัตราศุลกากรฮาร์โมไนซ์อาเซียนมาใช้ (Second Protocol to Amend the Protocol Governing the Implementation of the ASEAN Harmonised Tariff Nomenclature)

2. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นผู้ลงนามในพิธีสารฉบับที่ 2 ในนามรัฐบาลไทย

3. มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) จัดทำหนังสือมอบอำนาจ (Full Powers) ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อการลงนามในพิธีสารฉบับที่ 2

สาระสำคัญของเรื่อง

สำนักงานเลขาธิการอาเซียนได้ยกร่างพิธีสารฉบับที่ 2 เพื่อแก้ไขพิธีสารว่าด้วยการนำพิกัดอัตราศุลกากรฮาร์โมไนซ์อาเซียนมาใช้ (Protocol Governing the Implementation of the ASEAN Harmonised Tariff Nomenclature) และที่ประชุมอธิบดีศุลกากรอาเซียน (ครั้งที่ 17 วันที่ 17 — 19 มิถุนายน 2551) ได้ให้การรับรองร่างพิธีสารฉบับที่ 2 ด้วยแล้ว โดยที่สาระสำคัญของร่างพิธีสารฉบับที่ 2 เพื่อแก้ไขพิธีสารว่าด้วยการนำพิกัดอัตราศุลกากรฮาร์โมไนซ์อาเซียนมาใช้ (Second Protocol to Amend the Protocol Governing the Implementation of the ASEAN Harmonised Tariff Nomenclature) มีดังนี้

1. มาตรา 1 การแก้ไขข้อ 3 ของพิธีสารฯ สรุปได้ดังนี้

(1) แก้ไขการอ้างอิงถึงพิธีสารฯ จากเดิม อ้างถึงฉบับ 2002/1 ปี 2002 เป็น ฉบับ 2007/1 ปี 2007 และที่แก้ไขปรับปรุงโดยลำดับ

(2) AHTN เป็นภาคผนวกของพิธีสารฯ และให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของพิธีสารฯ

(3) SEN ไม่ถือเป็นส่วนหนึ่งของ AHTN แต่อาจใช้อ้างอิงทางวิชาการในการจำแนกพิกัดอัตราศุลกากรของสินค้า

2. มาตรา 2 การแก้ไขข้อ 7 ของพิธีสารฯ เป็นการปรับเปลี่ยนคณะทำงานที่ช่วยเหลืออธิบดีกรมศุลกากรอาเซียนในการติดตาม ทบทวน และกำกับดูแลทุกด้านที่เกี่ยวข้องกับการนำพิธีสารฯ มาใช้ จาก คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญด้านศุลกากร มาเป็น คณะทำงานด้านพิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้าหรือคณะทำงานที่อธิบดีศุลกากรอาเซียนได้มอบหมายโดยเฉพาะ

3. พิธีสารฉบับที่ 2 กำหนดให้มีผลใช้บังคับในวันที่ลงนามและผู้ลงนามต้องเป็นผู้ที่ได้รับมอบอำนาจโดยถูกต้องจากรัฐบาล

กระทรวงการคลังพิจารณาแล้วเห็นว่า ร่างพิธีสารฉบับที่ 2 มีสาระสำคัญเพื่อแก้ไขพิธีสารฯ เดิม ซึ่งเป็นพิธีสารที่เป็นไปตามความตกลงระหว่างประเทศที่เป็นประโยชน์แก่การเศรษฐกิจที่มีอยู่เดิม ประเด็นการแก้ไขเกี่ยวข้องกับกลไกการปฏิบัติงาน และระบบอ้างอิงทางศุลกากรเพื่อให้ทันสมัย เกิดความชัดเจนในการนำมาใช้และถือปฏิบัติของสมาชิกอาเซียน มิใช่การแก้ไขที่มีผลต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศไทยอย่างกว้างขวาง หรือมีผลผูกพันด้าน การค้า การลงทุนหรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญแต่อย่างใด

กระทรวงการต่างประเทศ โดยกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย พิจารณาแล้วเห็นว่าร่างพิธีสารฉบับที่ 2 มีสาระสำคัญเป็นการแก้ไขมาตรา 3 และมาตรา 7 ของพิธีสารฯ ในประเด็นที่เกี่ยวกับระบบอ้างอิงทางศุลกากร และกลไกการปฏิบัติ จึงไม่น่าจะเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือเขตพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือมีเขตอำนาจตามหนังสือหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ หรือมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง หรือมีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุนหรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนั้น โดยที่รัฐบาลได้ออกพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2549 ซึ่งมีผลใช้บังคับแล้วเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2550 เพื่ออนุวัติการการแก้ไขพิธีสารฯ ดังนั้น ร่างพิธีสารฯ ดังกล่าวจึงไม่น่าจะเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 190 วรรคสอง ที่ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาก่อนดำเนินการให้มีผลผูกพัน

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 13 ตุลาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ