ผลการประชุมคณะกรรมการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน ครั้งที่ 2/2552

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 14, 2009 17:09 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการประชุมคณะกรรมการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน ครั้งที่ 2/2552 ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ

ตามที่ คณะกรรมการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (กพบ.) ได้มีการประชุมครั้งที่ 2/2552 เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2552 โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน นั้น สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ซึ่งทำหน้าที่ฝ่ายเลขานุการ สรุปผลการประชุมดังนี้

1. ที่ประชุมรับทราบผลการประชุมคณะกรรมการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (กพบ.) ครั้งที่ 1/2552 เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2552 เวลา 10.00-12.00 น. ณ ห้องประชุมสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2552 รับทราบผลการประชุมดังกล่าว โดยให้ปลัดกระทรวงการต่างประเทศเป็นเลขานุการร่วมในคณะกรรมการ กพบ. ด้วย และให้ สศช. รับความเห็นของกระทรวงการต่างประเทศเกี่ยวกับการจัดตั้งคณะทำงานระหว่างกระทรวงการต่างประเทศและ สศช. ไปพิจารณาต่อไป

2. ที่ประชุมรับทราบความก้าวหน้าการดำเนินงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้านในกรอบ GMS IMT-GT BIMSTEC ACMECS Mekong-Japan Cooperation และสามเหลี่ยมมรกต และการดำเนินงานในระยะต่อไป ดังนี้

2.1 กรอบ GMS มีความก้าวหน้า ดังนี้ (1) การประชุมระดับรัฐมนตรี แผนงานการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ ครั้งที่ 15 ณ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ระหว่างวันที่ 17-19 มิถุนายน 2552 (2) การประชุมเวทีหารือเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาแนวพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจ (Economic Corridor Forum: ECF) ครั้งที่ 2 ณ กรุงพนมเปญ กัมพูชา ในวันที่ 16-17 กันยายน 2552 และ (3) ประเด็นที่ต้องดำเนินงานในระยะต่อไป คือ การเร่งรัดการดำเนินงานตามความตกลงขนส่งข้ามพรมแดน การผลักดันการดำเนินงานระบบศุลกากรผ่านแดน (Customs Transit System: CTS) และการพัฒนาความร่วมมือด้านการลงทุนของอนุภูมิภาค

2.2 กรอบ IMT-GT มีความก้าวหน้า ดังนี้ (1) การทบทวนกลางรอบ (Mid-Term Review: MTR) ของแผนที่นำทาง IMT-GT ปี 2550-2554 ระหว่างวันที่ 16-17 กรกฎาคม 2552 ที่กรุงเทพฯ (2) การประชุมระดับคณะทำงานยุทธศาสตร์การพัฒนาร่วมสำหรับพื้นที่ชายแดนไทย-มาเลเซีย (JDS) ครั้งที่ 7 เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2552 ประเทศมาเลเซีย เห็นชอบให้มีกลไกการประชุมระดับสูงระหว่างไทย-มาเลเซีย เพื่อการประสานการดำเนินงานตามแผนพัฒนาภาคใต้ของไทย ควบคู่กับการดำเนินงานตามแผนการพัฒนาเศรษฐกิจในบริเวณแนวพื้นที่ภาคเหนือ (NCER) และการพัฒนาในบริเวณแนวพื้นที่ชายฝั่งทะเลด้านตะวันออก (ECER) ของมาเลเซีย และ (3) ประเด็นที่ต้องดำเนินงานระยะต่อไป คือ การประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสและระดับรัฐมนตรี IMT-GT ครั้งที่ 16 ระหว่างวันที่ 13-15 ตุลาคม 2552 ณ เมืองมะละกา ประเทศมาเลเซีย การลงนามความตกลงการจัดตั้งศูนย์ประสานความร่วมมืออนุภูมิภาค IMT-GT (CIMT) และการประชุมสุดยอดแผนงาน IMT-GT ครั้งที่ 5 ซึ่งกำหนดจะจัดขึ้นในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 16 ที่ประเทศเวียดนาม

2.3 กรอบ ACMECS มีความก้าวหน้าดังนี้ (1) ที่ประชุมรับทราบผลการประชุมผู้นำครั้งที่ 3 เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2551 ที่กรุงฮานอย ซึ่งได้รับรองปฏิญญาการประชุมผู้นำครั้งที่ 3 และปฏิญญาผู้นำเรื่องการอำนวยความสะดวกและการส่งเสริมการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว สาระสำคัญคือ การเร่งการตรวจปล่อยจุดเดียว สนับสนุนให้ประเทศสมาชิกเป็นภาคีใน ACMECS Single Visa ขยายศูนย์บริการแบบจุดเดียวชายแดน เน้นการจัดทำ Contract Farming พิจารณาการจัดตั้งกลไกความร่วมมือเรื่องข้าว และการจัดตั้งสาขาใหม่ คือ สาขาสิ่งแวดล้อม (2) ไทยอาจเป็นเจ้าภาพจัดประชุม ACMECS Midterm Review Retreat ระดับผู้นำคู่ขนานกับการประชุมสุดยอดอาเซียนในวันที่ 25 ตุลาคม 2552 และการประชุมระดับรัฐมนตรีคู่ขนานกับการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนในโอกาสเดียวกัน (3) กระทรวงพาณิชย์ได้จัดประชุมคณะกรรมการจัดทำแผนการลงทุนเกษตรแบบมีสัญญา (Contract Farming) ในกรอบ ACMECS กับประเทศเพื่อนบ้านแล้ว แต่ยังมิได้เสนอแผนขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ส่วนการจัดทำบันทึกความเข้าใจเรื่องโครงการลงทุนการเกษตรแบบมีสัญญาขณะนี้อยู่ระหว่างการแลกเปลี่ยนร่างโต้ตอบระหว่างกัน

2.4 กรอบ BIMSTEC ประเด็นที่ต้องดำเนินการต่อไปมีดังนี้ (1) ผลักดันการลงนามบันทึกความเข้าใจการจัดตั้งศูนย์พลังงาน ศูนย์อากาศและภูมิอากาศ คณะกรรมาธิการอุตสาหกรรมวัฒนธรรมและศูนย์ปฏิบัติการอุตสาหกรรมวัฒนธรรม และการจัดทำอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการก่อการร้ายระหว่างประเทศ องค์กรอาชญากรรมข้ามชาติและการค้ายาเสพติด (2) รับรองผลการศึกษาและข้อเสนอแนะของธนาคารพัฒนาแห่งเอเชียในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางคมนาคมขนส่ง ทั้งทางบก เรือ และอากาศ เพื่อเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งในภูมิภาค (3) ผลักดันให้ได้ข้อสรุปการจัดทำ BIMSTEC FTA (4) การจัดตั้งสำนักเลขาธิการ BIMSTEC และ (5) จะมีการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศครั้งต่อไปในปี 2552 ที่พม่า

2.5 กรอบ Mekong-Japan Cooperation ญี่ปุ่นเสนอเป็นเจ้าภาพจัดประชุมระดับผู้นำครั้งแรกในเดือนพฤศจิกายน 2552 ที่กรุงโตเกียว และจะมีการประชุมระดับรัฐมนตรีครั้งที่ 2 ในวันที่ 3 ตุลาคม 2552 ที่จังหวัดเสียมราฐ กัมพูชา ซึ่งญี่ปุ่นเสนอให้ความช่วยเหลือ สปป.ลาว กัมพูชา พม่า และเวียดนามในการพัฒนาประสิทธิภาพโลจิสติกส์ และการกระจายสินค้าตามแนว EWEC และ SEC ของกรอบแผนงาน GMS และไทยเข้าร่วมในฐานะหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา โดยเน้นด้านพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

2.6 กรอบความร่วมมือสามเหลี่ยมมรกต จะมีการประชุมระดับรัฐมนตรีในวันที่ 3 ตุลาคม 2552 ที่จังหวัดเสียมราฐ กัมพูชา และกัมพูชาเสนอให้ไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมระดับผู้นำที่จังหวัดอุบลราชธานี เป็นกรอบความร่วมมือที่เน้นการท่องเที่ยวเป็นสาขาแรก

3. ที่ประชุมรับทราบการให้ความช่วยเหลือในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของไทยในประเทศเพื่อนบ้าน (ภายใต้กรอบ GMS/IMT-GT/ACMECS/ทวิภาคี) ผ่านทางสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) กระทรวงการคลัง กรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม และภาคเอกชน ประกอบด้วย (1) โครงการที่ดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2551 รวม 6 โครงการ วงเงินรวม 2,942.57 ล้านบาท (2) โครงการที่ดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2552 รวม 2 โครงการ วงเงิน 1,335 ล้านบาท (3) โครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการในปี 2552 รวม 6 โครงการ วงเงิน 2,905 ล้านบาท และ (4) โครงการที่มีแผนจะดำเนินการในปี 2553 รวม 5 โครงการ วงเงิน 3,690 ล้านบาท

4. ที่ประชุมรับทราบความก้าวหน้าและเห็นชอบการดำเนินงานเกี่ยวกับเวทีขับเคลื่อนการพัฒนาแนวพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจ (Economic Corridor Forum: ECF) ภายใต้แผนงาน GMS ดังนี้

4.1 รับทราบการเตรียมการและการจัดประชุมเวทีขับเคลื่อนการพัฒนาแนวพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจภายใต้แผนงาน GMS ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 ณ กรุงพนมเปญ กัมพูชา ระหว่างวันที่ 16-17 กันยายน 2552 โดยในวันที่ 16 กันยายน 2552 เป็นการประชุมระดับผู้ว่าราชการจังหวัด (Governors’ Forum: GF) และวันที่ 17 กันยายน 2552 เป็นการประชุมระดับรัฐมนตรี (Economic Corridor Forum: ECF) โดยมีรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายวีระชัย วีระเมธีกุล) เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนฝ่ายไทย

4.2 เห็นชอบประเด็นหารือของฝ่ายไทยในการประชุม GF สาระสำคัญประกอบด้วย (1) ประเด็นปัญหาและข้อจำกัดสำคัญในการพัฒนาแนวพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจ (2) แนวทางความร่วมมือที่ไทยเห็นควรผลักดันเพื่อให้เกิดการพัฒนาแนวพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจ (3) ข้อเสนอสาขาความร่วมมือที่มีศักยภาพ 6 สาขา ได้แก่ การท่องเที่ยวและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ คมนาคมขนส่ง การค้า การผลิตและการลงทุน การพัฒนาเมืองชายแดนและเมืองตอนในตามแนวพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจ และ (4) กลไกการดำเนินงาน

4.3 เห็นชอบประเด็นหารือฝ่ายไทยในการประชุม ECF สาระสำคัญประกอบด้วย (1) การอำนวยความสะดวกการค้าและการขนส่งข้ามพรมแดน (2) การพัฒนาแนวพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจตอนใต้ (Southern Economic Corridor: SEC) แนวพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor: EWEC) และแนวพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ (North-South Economic Corridor: NSEC) และ (3) ประเด็นข้อเสนออื่น ๆ ในการพัฒนาแนวพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจ อาทิ การใช้ระบบ GPS ในการติดตามรถบรรทุกและคอนเทนเนอร์ การกำหนดมาตรฐานด้านสาธารณสุขและเกษตร และการเร่งดำเนินมาตรการส่งเสริมและแก้ไขอุปสรรคการลงทุน

4.4 เห็นชอบแนวทางดำเนินงานในระยะต่อไป โดย สศช. เป็นหน่วยงานหลักรับผิดชอบการประชุม ECF และกระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหลักรับผิดชอบการประชุม GF โดยกำกับดูแลให้จังหวัดที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังนี้ (1) จัดประชุมเตรียมท่าทีฝ่ายไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุม GF เป็นประจำทุกปี พิจารณาจัดสรรงบประจำปีและบุคลากรให้เพียงพอสำหรับการปฏิบัติงาน GMS ทั้งในและระหว่างประเทศ รวมทั้งกรณีไทยรับเป็นเจ้าภาพจัดประชุม GF ในอนาคต (2) บรรจุการดำเนินงาน GMS ในวาระประชุมคณะกรรมการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ (กบจ.) และกำหนดให้มีผู้ประสานงานหลักเรื่อง GMS ที่กระทรวงมหาดไทยและในแต่ละจังหวัด (3) ประสานความร่วมมือกับภาคเอกชนในท้องถิ่น โดยใช้กลไกคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) ในระดับจังหวัด เป็นกลไกหลัก และ (4) สร้างฐานข้อมูลเรื่อง GMS ที่สำนักงานจังหวัด และพัฒนาเครือข่ายการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน เพื่อเผยแพร่ความเข้าใจ รวมทั้งให้เกิดการรายงานปัญหา และเสนอวิธีแก้ไขกลับมายังส่วนกลาง

ความเห็นและประเด็นอภิปราย

1) ภาคเอกชนขอให้รัฐช่วยผลักดันเรื่อง (1) เส้นทางเชื่อมโยงเมืองทวาย ขณะเดียวกันภาครัฐควรพิจารณาผลกระทบกับท่าเรือของไทยด้วย (2) เร่งรัดการดำเนินงานระบบ CTS (3) สนับสนุนการจัดตั้ง SMEs Development Bank (4) สนับสนุนกลไก ECF เพื่อสร้างเครือข่ายการทำงานร่วมกันของภาครัฐและเอกชนในระดับจังหวัด (5) เจรจาเปิดเส้นทางการเดินรถ โดยเส้นทางเดินรถในเวียดนามควรขยายจากดานังให้เข้าไปได้ถึงฮานอย ท่าเรือไฮฟอง และโฮจิมินห์ซิตี้ และเส้นทางเดินรถในจีนควรขยายจากคุนหมิงให้เข้าไปได้ถึงกวางโจวหรือปักกิ่ง ในทางกลับกันควรพิจารณาอย่างรอบคอบเมื่อประเทศเพื่อนบ้านขอขยายเส้นทางเดินรถ และ (6) ขอความชัดเจนของนโยบายรัฐบาลในการสนับสนุนการดำเนินงาน Single Window Inspection และ Single Stop Inspection และการอำนวยความสะดวกการขนส่งสินค้าผ่านแดน (Transit และ Transshipment)

2) ควรบรรจุโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้านไว้ในแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ให้ครบถ้วน และควรพิจารณาการเชื่อมโยงทางอากาศระหว่างไทยและเพื่อนบ้าน โดยเพิ่มโอกาสในการเปิดสนามบินนานาชาติในจังหวัดต่าง ๆ เพิ่มเติมเพื่อเชื่อมโยงกับแหล่งท่องเที่ยวของอนุภูมิภาค โดยเฉพาะในกาญจนบุรีซึ่งใกล้กับทวาย ทั้งนี้ ในอนาคต ทวายและหลวงพระบางจะเป็นเมืองท่องเที่ยวสำคัญของอนุภูมิภาค การดำเนินงานความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน ควรมองภาพรวมว่าภูมิภาคนี้กำลังจะเปลี่ยนเป็นประชาคมอาเซียนในปี 2558 และควรให้ความสำคัญกับการเติบโตร่วมกันของภูมิภาค

3) การเชื่อมโยงระหว่างจีนและอาเซียนควรมองภาพรวมควบคู่กันทั้งระบบถนนและระบบราง เนื่องจาก GMS ปัจจุบันเน้นการพัฒนาถนน จำเป็นต้องมีการประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจและไหลเวียนของสินค้าในแต่ละช่วงเวลา เชื่อว่าในอนาคตไม่เกิน 10 ปี สินค้าส่วนใหญ่จะมาจากจีน ปัจจุบันจีนได้วางระบบรางเชื่อมโยงลงมาทางเวียดนามเพื่อเปิดทางไว้แล้ว

4) การพัฒนาท่าเรือน้ำลึกที่ทวายและเส้นทางถนนเชื่อมโยงทวาย-ชายแดนไทย ปัจจุบันได้มีการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการก่อสร้างท่าเรือที่ทวาย และการขออนุมัติสัมปทานก่อสร้างถนนเชื่อมโยงกับท่าเรือแล้ว

5) การสนับสนุนทางการเงินของไทยและองค์กรการเงินระหว่างประเทศตลอดจนประเทศผู้ให้ความช่วยเหลือการพัฒนาให้แก่ประเทศเพื่อนบ้านผ่านกรอบต่าง ๆ ควรมีการบูรณาการเพื่อให้เห็นภาพรวมทั้งหมด

6) การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนอยู่ในฝั่งไทยที่สามารถใช้ประโยชน์จากแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน และการอำนวยความสะดวกจากระบบศุลกากร ซึ่งพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่มีความเป็นไปได้ ได้แก่ ตาก และกาญจนบุรี

7) รัฐบาลยังขาดความชัดเจนในการจัดลำดับความสำคัญ และผลประโยชน์ของไทยในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะ (1) การพัฒนาท่าเรือน้ำลึกทางฝั่งอันดามันของไทย กับการพัฒนาท่าเรือทวายในพม่า (2) การพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงเมืองท่องเที่ยวศักยภาพสูงของอนุภูมิภาค (3) การพัฒนาการขนส่งระบบรางและทางอากาศ ซึ่งฝ่ายเลขานุการได้ชี้แจงว่าปัจจัยที่เป็นเงื่อนไขของการพัฒนาตามแนวพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจภายใต้แผนงาน GMS มีการเปลี่ยนแปลงไปจากช่วงที่แนวคิดดังกล่าวถือกำเนิดขึ้นเมื่อ 10 ปีก่อน ดังนั้น ต้องมีการกำหนดยุทธศาสตร์ใหม่เพื่อรองรับเงื่อนไขที่เปลี่ยนแปลงไปและให้สอดคล้องกับศักยภาพของไทย เช่น การมุ่งเน้นภาคบริการแทนการผลิตเพื่อส่งออก โดยเร่งการเชื่อมโยงโครงข่ายการขนส่งให้เป็นระบบขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ

การมอบหมายหน้าที่ มอบหมาย สศช. ดำเนินการ 3 เรื่อง ได้แก่ (1) ศึกษาผลประโยชน์ของไทยและกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาท่าเรือน้ำลึกชายฝั่งทะเลภาคใต้ ประเมินข้อได้เปรียบและผลกระทบของการพัฒนาท่าเรือทางฝั่งอันดามันของไทย เปรียบเทียบกับการพัฒนาท่าเรือทวายในพม่า เร่งการดำเนินการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ (Southern Seaboard) โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมของประชาชน และกำหนดแนวเส้นทางเชื่อมโยงระบบรางกับจีนที่ไทยจะได้ประโยชน์สูงสุด (2) กำกับดูแลให้โครงการโครงสร้างพื้นฐานที่สนับสนุนการพัฒนาแนวพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจทั้งสามแนว อยู่ภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 และ (3) หาข้อสรุปและกำหนดแนวทางการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนในอนาคต โดยเฉพาะที่จังหวัดตากและกาญจนบุรีที่ชัดเจน

5. ที่ประชุมรับทราบความก้าวหน้าและเห็นชอบการดำเนินงานตามความตกลงการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Cross Border Transport Agreement: CBTA) ดังนี้

5.1 สาระสำคัญ (1) มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2552 รับทราบผลการประชุม กพบ. ครั้งที่ 1/2552 เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2552 และเห็นชอบแนวทางการดำเนินงานตาม CBTA ระยะต่อไป (2) ผลการประชุมหารืออย่างไม่เป็นทางการระดับรัฐมนตรี ระหว่างการประชุมระดับรัฐมนตรี 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ครั้งที่ 15 เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2552 เห็นควรสนับสนุน การเปิดสิทธิจราจรระหว่างประเทศตามแนวพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจ และผลักดันการดำเนินงานระบบศุลกากรผ่านแดน (CTS) ให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว โดยเร่งเสริมสร้างความพร้อมของภาคเอกชนของประเทศสมาชิกในฐานะองค์กรค้ำประกัน และเห็นควรให้ปรับปรุงโครงสร้างของคณะกรรมการประสานการขนส่งผ่านแดนและขนส่งข้ามแดนแห่งชาติ (National Transport Facilitation Committee: NTFC) ของประเทศสมาชิก ซึ่งธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) รับเป็นผู้ประสานและจัดคณะเจ้าหน้าที่หารือกับประเทศสมาชิกเพื่อหาข้อสรุปรูปแบบและกลไกที่เหมาะสมต่อไป

5.2 ความก้าวหน้าในการดำเนินงาน มีดังนี้ (1) การประชุม NTFC ของไทย ครั้งที่ 1/2551 เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2552 มีมติที่สำคัญในการผลักดันการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้สามารถเปิดการเดินรถระหว่างไทย-ลาว-เวียดนาม ตามแนว EWEC ได้ตามกำหนดในวันที่ 11 มิถุนายน 2552 (2) การอำนวยความสะดวกการขนส่งข้ามพรมแดนระหว่างไทย-ลาว-จีน จีนอยู่ระหว่างพิจารณาร่างบันทึกความเข้าใจ ว่าด้วยการแลกเปลี่ยนสิทธิจราจรตามเส้นทางกรุงเทพฯ-คุนหมิง (R3E) และคาดว่าจะมีการประชุม 3 ฝ่ายต่อไป (3) ไทยและกัมพูชาได้ข้อสรุปการแลกเปลี่ยนสิทธิจราจร ณ จุดผ่านแดนอรัญประเทศ-ปอยเปต ด้วยการจัดทำหนังสือแก้ไขบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ว่าด้วยการแลกเปลี่ยนสิทธิจราจรสำหรับการขนส่งข้ามพรมแดน ณ จุดผ่านแดนอรัญประเทศ-ปอยเปต แนบท้ายบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการแลกเปลี่ยนสิทธิจราจรที่ยังไม่สามารถเริ่มดำเนินการได้ ทั้งนี้หนังสือแก้ไขบันทึกความเข้าใจ (Addendum) ดังกล่าวจะทำให้เริ่มเดินรถระหว่างกันได้ในต้นปี 2553 (4) การให้สัตยาบันภาคผนวกและพิธีสารแนบท้ายความตกลงฯ จำนวน 9 ฉบับที่เหลือ มี 3 ฉบับพร้อมให้สัตยาบัน และอีก 6 ฉบับอยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาร่างกฎหมาย และ (5) ADB ได้จัดคณะมาหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของประเทศ GMS เพื่อปรับปรุงโครงสร้างกลไกในการดำเนินงานอำนวยความสะดวกการค้าและการขนส่งข้ามพรมแดน ตามมติที่ประชุมระดับรัฐมนตรี 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ครั้งที่ 15 โดยในส่วนของไทย ADB ได้หารือกับ สศช. กระทรวงคมนาคม และกรมศุลกากร เมื่อวันที่ 18-19 สิงหาคม 2552 และได้สรุปข้อเสนอเบื้องต้นในการปรับโครงสร้างกลไกการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเสนอให้จัดตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการการอำนวยความสะดวก ณ ด่านพรมแดน (Border Management Committee: BMC) ขึ้นใหม่เพิ่มเติมจากคณะกรรมการ NTFC โดยให้อธิบดีกรมศุลกากร เป็นประธาน และประกอบด้วยหน่วยงานด้าน CIQ โดยให้คณะกรรมการ NTFC และ BMC รายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานต่อคณะกรรมการ กพบ. ผ่านรัฐมนตรีกำกับดูแลแผนงาน GMS ซึ่งในปัจจุบัน คือ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายวีระชัย วีระเมธีกุล) ทราบอย่างต่อเนื่อง โดยมี สศช. เป็นผู้ให้การสนับสนุนและประสานงาน

5.3 ความเห็นและประเด็นอภิปราย (1) ภาคเอกชนขอให้ภาครัฐช่วยเจรจาผลักดันเวียดนามเรื่องระบบ CTS ตามแนว EWEC ซึ่งในปัจจุบันยังไม่สามารถดำเนินการได้ (2) การจัดประชุมระดับสุดยอดผู้นำ GMS ครั้งที่ 4 ซึ่งเป็นคราวที่พม่าต้องเป็นเจ้าภาพยังไม่มีความชัดเจน เนื่องจาก ADB ไม่สนับสนุน แต่ทั้งนี้ประเทศ GMS เห็นพ้องกันว่าให้เริ่มมีการหารือเพื่อเตรียมด้านสารัตถะไปก่อน โดยยังไม่จำเป็นต้องหาข้อสรุปเรื่องเจ้าภาพจัดประชุม และ (3) Addendum แนบท้ายจะสามารถลงนามได้ทันในการประชุม ECF ครั้งที่ 2 และได้แต่งตั้งอนุกรรมการเพื่อคัดเลือกผู้ประกอบการเดินรถระหว่างไทย-กัมพูชาแล้ว

5.4 การมอบหมายงาน

5.4.1 ให้คณะกรรมการ NTFC (1) เร่งดำเนินการให้มีการลงนามใน Addendum ระหว่างไทย-กัมพูชา และสามารถเปิดสิทธิจราจรระหว่างไทย-กัมพูชา ณ ด่านอรัญประเทศ-ปอยเปต ได้ภายในต้นปี 2553 (2) เริ่มเจรจาการเปิดสิทธิจราจรไทย-ลาว-จีน ตามแนว R3E ภายในปี 2552 (3) เร่งรัดการให้สัตยาบันภาคผนวกและพิธีสารแนบท้ายความตกลงฯ จำนวน 3 ฉบับ (ภาคผนวก 7 9 และพิธีสาร 3) ก่อนการประชุมระดับรัฐมนตรี 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ครั้งที่ 16 ซึ่งเวียดนามจะเป็นเจ้าภาพในเดือนมีนาคม 2553 (4) ให้จัดทำแผนการดำเนินงานและรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานต่อคณะกรรมการ กพบ. ในการประชุมทุกครั้ง

5.4.2 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กระทรวงคมนาคม กระทรวงการคลัง และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เร่งรัดการดำเนินงานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการพิจารณาร่างกฎหมายจำนวน 5 ฉบับ ซึ่งจะทำให้ไทยสามารถให้สัตยาบันภาคผนวกและพิธีสารแนบท้ายความตกลงที่ยังค้างอยู่อีก 6 ฉบับ และรายงานให้ กพบ. ทราบ

5.4.3 ให้ สศช. หารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเรื่องการปรับโครงสร้างกลไก CBTA ของไทยตามที่ ADB เสนอ และรับข้อเสนอของภาคเอกชนไปเจรจากับเวียดนามให้เร่งผลักดันกระบวนการภายในประเทศเพื่อให้สามารถดำเนินการ CTS ตามแนว EWEC ได้ต่อไป

6. เรื่องอื่นๆ

ที่ประชุมรับทราบข้อเสนอของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เสนอให้ สศช. รับเป็นหน่วยงานหลักในการศึกษาประสบการณ์ของการบริหารจัดการแม่น้ำมิสซิสซิปปีของสหรัฐฯ เป็นแบบอย่างเพื่อนำมาปรับใช้กับประเทศในเขตลุ่มน้ำโขง ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ยกประเด็นเรื่องการประชุม US-Lower Mekong Ministerial Meeting ระหว่างรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กับรัฐมนตรีต่างประเทศต่างๆ ในลุ่มน้ำโขงตอนล่าง (กัมพูชา ลาว ไทย เวียดนาม) ซึ่งมีการหารือระหว่างการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2552 ที่จังหวัดภูเก็ต โดยสหรัฐฯ ย้ำความสำคัญของพื้นที่ลุ่มน้ำโขงตอนล่าง และประเทศในพื้นที่ต่อสหรัฐฯ และความมุ่งมั่นของสหรัฐฯ ในการช่วยเสริมสร้างสันติภาพ และความเจริญรุ่งเรืองแก่ภูมิภาค ส่งเสริมความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาข้ามชาติ รวมทั้งการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของแม่น้ำโขง

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 13 ตุลาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ