เรื่อง ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน พ.ศ. ....
(การกระจายการถือครองที่ดินในรูปแบบโฉนดชุมชน)
คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน พ.ศ. .... ตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน แล้วดำเนินการต่อไปได้ ทั้งนี้ การใช้อำนาจของคณะกรรมการประสานงานและจัดโฉนดชุมชนตามร่างข้อ 10 จะต้องไม่ขัดกับอำนาจการจัดการที่ดินของหน่วยงานของรัฐตามกฎหมาย โดยให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีทำหน้าที่สำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการประสานงานและจัดโฉนดชุมชน โดยไม่เพิ่มอัตรากำลังขึ้นใหม่ และให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายที่จะต้องใช้ในการดำเนินการจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น โดยให้ทำความตกลงกับสำนักงบประมาณอีกครั้ง
ข้อเท็จจริง
สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเสนอว่า
1. ด้วยนายกรัฐมนตรี ได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 71/2552 ลงวันที่ 9 มีนาคม 2552 แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการเพื่อแก้ไขปัญหาของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย โดยมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ รัฐมนตรี หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และตัวแทนภาคประชาชนเป็นกรรมการ เพื่อทำหน้าที่กำหนดนโยบาย แนวทาง มาตรการ และงบประมาณในการดำเนินงานแก้ไขปัญหาตามข้อเสนอของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทยภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และนโยบายรัฐบาลตามข้อ 4.1 และข้อ 4.2
2. ต่อมาคณะกรรมการอำนวยการเพื่อแก้ไขปัญหาของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ได้มีคำสั่งที่ 1/2552 ลงวันที่ 24 มีนาคม 2552 แต่งตั้งคณะอนุกรรมการศึกษาแนวทางการปฏิบัติตามนโยบายการกระจายถือครองที่ดิน โดยมีรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย) เป็นประธานอนุกรรมการ ผู้แทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และตัวแทนภาคประชาชน เป็นอนุกรรมการ เพื่อทำหน้าที่ศึกษาแนวทางกฎหมายและมาตรการอื่นๆ เพื่อรองรับนโยบายการกระจายการถือครองที่ดินของรัฐบาล ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ ได้ศึกษาแนวทางกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลที่ได้แถลงต่อรัฐสภาในเรื่องการออกเอกสารสิทธิให้แก่เกษตรกรยากจนและชุมชนที่ทำกินอยู่ในที่ดินของรัฐที่ไม่มีสภาพป่าแล้วในรูปแบบโฉนดชุมชน เพื่อให้ประชาชนซึ่งรวมตัวกันเป็นชุมชนมีส่วนร่วมในการดูแลใช้ประโยชน์ที่ดินรวมกัน แต่เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีกฎเกณฑ์ทางกฎหมายออกมารองรับโดยเฉพาะ จึงก่อให้เกิดความไม่มั่นคงในการดำเนินงาน และขาดองค์กรกลางที่เป็นเจ้าภาพรวมทั้งขาดการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการที่ชัดเจนในการดำเนินงาน
3. คณะอนุกรรมการฯ ได้จัดให้มีการสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นของภาคประชาชน และภาครัฐในการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของเกษตรกรและประชาชนที่ยากจน โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการให้ความคิดเห็นและเสนอแนะในกระบวนการดำเนินการตามนโยบายการกระจายถือครองที่ดินของรัฐบาล ซึ่งผลการสัมมนาสรุปได้ว่า การกระจายการถือครองที่ดินในรูปแบบโฉนดชุมชนของรัฐบาลจะเป็นการแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชนในกรณีที่มีการแย่งชิงสิทธิครอบครอง การอ้างการครอบครองอยู่ก่อน การบุกรุกพื้นที่ของรัฐที่ดำรงสภาพความขัดแย้งอยู่ในปัจจุบันได้ ซึ่งการดำเนินการในเรื่องโฉนดชุมชนในระยะยาวจำเป็นต้องตรากฎหมายขึ้นใช้บังคับ แต่การตรากฎหมายย่อมต้องใช้เวลาพอสมควรไม่ว่าจะเป็นในขั้นตอนของฝ่ายบริหารหรือฝ่ายนิติบัญญัติ ดังนั้น สมควรแก้ปัญหาในเบื้องต้นโดยการกำหนดระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชนขึ้นเพื่อให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องยึดถือปฏิบัติไปพลางก่อน
สาระสำคัญของร่างระเบียบ
1. กำหนดนิยามคำว่า “โฉนดชุมชน” หมายความว่า สิทธิร่วมกันของชุมชนในการบริหารจัดการ การครอบครองที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่ดินเพื่อสร้างความมั่นคงในการถือครองและใช้ประโยชน์ในที่ดินของชุมชน และเป็นการรักษาพื้นที่เกษตรในการผลิตพืชอาหารเพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหาร โดยการเลือกรูปแบบการผลิตที่สอดคล้องกับภูมิปัญญาท้องถิ่นและระบบภูมินิเวศ รวมทั้งการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้สมดุล (ร่างข้อ 3)
2. กำหนดให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง เรียกว่า “คณะกรรมการประสานงานและจัดโฉนดชุมชน” เรียกโดยย่อว่า “ปจช.” และกำหนดอำนาจหน้าที่ของ ปจช. เช่น เสนอนโยบาย แผนงานและงบประมาณในการดำเนินงานโฉนด ชุมชนต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อกำหนดเป็นมติคณะรัฐมนตรีในการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐ (ร่างข้อ 5 และร่างข้อ 8)
3. กำหนดคุณสมบัติกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ วาระการดำรงตำแหน่ง และการพ้นจากตำแหน่งของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ร่างข้อ 6 และร่างข้อ 7)
4. กำหนดให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการ และให้มีอำนาจหน้าที่ประสานนโยบายการปฏิบัติระหว่างหน่วยงานของรัฐเกี่ยวกับการดำเนินงานโฉนดชุมชนให้สำเร็จเป็นไปตามกฎหมาย กฎ คำสั่ง และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง และติดตามประเมินผล และปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่คณะกรรมการมอบหมาย (ร่างข้อ 9)
5. กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมดูแลใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐ (ร่างข้อ 10)
6. กำหนดให้มีคณะกรรมการชุมชนเพื่อกระทำการแทนในนามของชุมชน และอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการชุมชน (ร่างข้อ 12 และร่างข้อ 13)
7. กำหนดให้ในกรณีที่มีการกระทำผิดเงื่อนไขที่ให้ไว้ของชุมชนที่ได้รับสิทธิให้หน่วยงานของรัฐโดยความเห็นชอบของ ปจช. มีอำนาจยกเลิกโฉนดชุมชนได้ (ร่างข้อ 14)
8. กำหนดให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการฯ ภายในหกสิบวันนับแต่ระเบียบนี้ใช้บังคับ และกำหนดให้มีพื้นที่นำร่องในการดำเนินงานโฉนดชุมชนจำนวนไม่น้อยกว่าสามสิบพื้นที่ให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่ระเบียบนี้ใช้บังคับ (ร่างข้อ 15)
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 20 ตุลาคม 2552 --จบ--