สรุปสถานการณ์อุทกภัยเนื่องจากอิทธิพลของพายุ “กิสนา (KETSANA)”

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 21, 2009 16:45 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง สรุปสถานการณ์อุทกภัยเนื่องจากอิทธิพลของพายุ “กิสนา (KETSANA)” และหย่อมความกดอากาศต่ำ

(ระหว่างวันที่ 29 กันยายน - 19 ตุลาคม 2552)

คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ติดตาม สถานการณ์อุทกภัยเนื่องจากอิทธิพลของพายุ “กิสนา” และหย่อมความกดอากาศต่ำ ระหว่างวันที่ 29 กันยายน- 19 ตุลาคม 2552 จึงขอสรุปสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้น รวมทั้งผลการปฏิบัติงานช่วยเหลือประชาชน ดังนี้

1. สรุปสถานการณ์อุทกภัยเนื่องจากอิทธิพลของพายุ “กิสนา (KETSANA)” และหย่อมความกดอากาศต่ำ (ระหว่างวันที่ 29 กันยายน - 19 ตุลาคม 2552)

1.1 พื้นที่ประสบภัย 36 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกำแพงเพชร ลำปาง พิษณุโลก พิจิตร เชียงใหม่ ตาก สุโขทัย ลำพูน เพชรบูรณ์ อุทัยธานี นครสวรรค์ แม่ฮ่องสอน เลย ศรีสะเกษ ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี ชัยภูมิ กาฬสินธุ์ บุรีรัมย์ นครราชสีมา ยโสธร สุรินทร์ มุกดาหาร ขอนแก่น ชัยนาท ลพบุรี สิงห์บุรี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สมุทรปราการ นครปฐม กาญจนบุรี ปทุมธานี จันทบุรี ระยอง และระนอง) รวม 207 อำเภอ 1,221 ตำบล 9,140 หมู่บ้าน มีผู้เสียชีวิต 1 คน (จ.ลำปาง) ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 1,783,245 คน 437,723 ครัวเรือน บ้านเรือนเสียหายทั้งหลัง 16 หลัง เสียหายบางส่วน 2,218 หลัง ถนน 2,539 สาย สะพาน 104 แห่ง บ่อปลา/กุ้ง 3,069 บ่อ ปศุสัตว์ 15,889 ตัว สัตว์ปีก 33,007 ตัว พื้นที่การเกษตรถูกน้ำท่วมเบื้องต้นประมาณ 1,366,659 ไร่ มูลค่าความเสียหายอยู่ระหว่างการสำรวจ

1.2 ตารางสรุปความเสียหายจากพายุ “กิสนา” และหย่อมความกดอากาศต่ำ (ระหว่างวันที่ 29 กันยายน - 19 ตุลาคม 2552)

ลำดับที่   ประเภทความเสียหาย                            จำนวนความเสียหาย
1       พื้นที่ประสบอุทกภัย                               36  จังหวัด (กำแพงเพชร ลำปาง พิษณุโลก พิจิตร เชียงใหม่ ตาก

สุโขทัย ลำพูน เพชรบูรณ์ อุทัยธานีนครสวรรค์ แม่ฮ่องสอน เลย

ศรีสะเกษ ร้อยเอ็ดอุบลราชธานี ชัยภูมิ กาฬสินธุ์ บุรีรัมย์ นครราชสีมา

ยโสธร สุรินทร์ มุกดาหาร ขอนแก่น ชัยนาท ลพบุรีสิงห์บุรี

พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สมุทรปราการนครปฐม กาญจนบุรี

ปทุมธานี จันทบุรี ระยอง ระนอง) รวม 207 อำเภอ 1,221 ตำบล

9,140 หมู่บ้าน

2       ประชาชนได้รับความเดือดร้อน                      1,783,245 คน 437,723 ครัวเรือน
3       ผู้เสียชีวิต                                     1 คน (อ.แม่พริก จ.ลำปาง)
4       บาดเจ็บ                                      -
5       บ้านเรือนเสียหายทั้งหลัง                          16 หลัง
6       บ้านเรือนเสียหายบางส่วน                         2,218 หลัง
7       ถนนเสียหาย                                   2,539 สาย
8       สะพาน                                       104 แห่ง
9       บ่อปลา/กุ้ง                                    3,069 บ่อ
10      ปศุสัตว์                                       15,889 ตัว
11      สัตว์ปีก                                       33,007 ตัว
12      พื้นที่การเกษตรถูกน้ำท่วมเบื้องต้นประมาณ              1,366,659 ไร่
        มูลค่าความเสียหายเบื้องต้น                        อยู่ระหว่างการสำรวจ

1.3 สถานการณ์ปัจจุบัน คลี่คลายเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว 27 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกำแพงเพชร ลำปาง เชียงใหม่ ตาก สุโขทัย ลำพูน เพชรบูรณ์ อุทัยธานี นครสวรรค์ แม่ฮ่องสอน เลย ร้อยเอ็ด ชัยภูมิ กาฬสินธุ์ บุรีรัมย์ ยโสธร สุรินทร์ มุกดาหาร ชัยนาท ลพบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง นครปฐม ปทุมธานี จันทบุรี ระยอง และจังหวัดระนอง

ปัจจุบัน (19 ตุลาคม 2552) ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 9 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพิษณุโลก พิจิตร พระนครศรีอยุธยา ขอนแก่น นครราชสีมา ศรีสะเกษ อุบลราชธานี สมุทรปราการ และจังหวัดกาญจนบุรี ดังนี้

1) จังหวัดพิษณุโลก น้ำท่วมพื้นที่การเกษตรซึ่งเป็นที่ลุ่มต่ำของ อำเภอบางระกำ 3 ตำบล ได้แก่ ตำบลหนองกุลา ชุมแสงสงคราม และตำบลปลักแรด รวมประมาณ 20,000 ไร่ แนวโน้มระดับน้ำเพิ่มขึ้นเนื่องจากฝนตก

2) จังหวัดพิจิตร ยังคงมีน้ำท่วมขังพื้นที่ลุ่มต่ำการเกษตรใน 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอวังทรายพูน บางมูลนาก และอำเภอสามง่าม ระดับน้ำลดลง

3) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน้อย และแม่น้ำป่าสัก เอ่อล้นเข้าท่วมในพื้นที่ลุ่มต่ำ 8 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเสนา ผักไห่ บางบาล พระนครศรีอยุธยา บางปะหัน มหาราช บางปะอิน และอำเภอบางไทร เฉพาะชุมชนริมฝั่งแม่น้ำได้รับความเดือดร้อนเป็นบางส่วน ระดับน้ำสูงประมาณ 0.10-0.30 เมตร ระดับน้ำลดลงอย่างต่อเนื่อง คาดว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติใน 1-2 วัน

4) จังหวัดขอนแก่น น้ำจากจังหวัดชัยภูมิได้ไหลเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มน้ำชีตอนบนเหนือฝายชนบท ท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำการเกษตร ของอำเภอโคกโพธิ์ชัย แวงน้อย แวงใหญ่ บ้านไผ่ และอำเภอบ้านแฮด ระดับน้ำลดลง คาดว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 4-5 วัน

5) จังหวัดนครราชสีมา ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ อำเภอพิมาย ตำบลในเมือง ที่สถานีวัดน้ำ M.184 น้ำเอ่อล้นตลิ่ง 0.77 ม. ระดับน้ำสูงประมาณ 0.20-0.40 เมตร ระดับน้ำทรงตัว คาดว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติใน 2-3 วัน

6) จังหวัดศรีสะเกษ มีน้ำท่วมขังในพื้นที่อำเภอเมือง ในเขตเทศบาลเมืองศรีสะเกษ 4 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนสะพานขาว ชุมชนโนนสวรรค์ ชุมชนโนนงาม และชุมชนพันทาน้อย ระดับน้ำที่สถานีหนองหญ้าปล้อง วัดได้ 10.25 เมตร สูงกว่าตลิ่ง 1.25 เมตร (ตลิ่ง 9 เมตร) มีแนวโน้มลดลง และยังคงมีน้ำท่วมพื้นที่การเกษตรและชุมชนเป็นบางพื้นที่ของ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอห้วยทับทัน ปรางค์กู่ อุทุมพรพิสัย และอำเภอเมือง

7) จังหวัดอุบลราชธานี มีน้ำท่วมขังในพื้นที่อำเภอเมือง (เทศบาลนครอุบลราชธานี 17 ชุมชน 401 ครัวเรือน 1,665 คน) อำเภอวารินชำราบ (เทศบาลเมืองวารินชำราบ 11 ชุมชน 389 ครัวเรือน 1,335) ระดับน้ำมูลที่สะพานเสรีประชาธิปไตย (M.7) วัดได้ 7.68 เมตร สูงกว่าตลิ่ง 0.68 เมตร (ตลิ่ง 7 เมตร) มีแนวโน้มลดลง โดยมีน้ำท่วมพื้นที่การเกษตรที่ราบลุ่มของลำเซบก ลำเซบาย ลำโดมใหญ่ ลำชี และลำมูล ในเขตอำเภอเขื่องใน ดอนมดแดง เดชอุดม และอำเภอเมือง

8) จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2552 เกิดฝนตกหนักและน้ำทะเลหนุนทำให้น้ำท่วมขังพื้นที่ลุ่มต่ำใน 2 อำเภอ 3 เทศบาล 16 ตำบล 27 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 3,570 ครัวเรือน 10,711 คน พื้นที่การเกษตร 2,614 ไร่ ได้แก่ อำเภอเมือง 3 เทศบาล 12 ตำบล ประกอบด้วย เทศบาลนครสมุทรปราการ เทศบาลเมืองปากน้ำสมุทรปราการ เทศบาลตำบลสำโรงเหนือ ตำบลเทพารักษ์ ตำบลบางเมือง ตำบลบางเมืองใหม่ ตำบลบางโปรง ตำบลบางด้วน ตำบลแพรกษา ตำบลแพรกษาใหม่ ตำบลบางปู ตำบลบางปูใหม่ ตำบลท้ายบ้าน ตำบลท้ายบ้านใหม่ และตำบลด่านสำโรง อำเภอบางพลี 4 ตำบล 27 หมู่บ้าน ได้แก่ ตำบลบางพลีใหญ่ (หมู่ที่1,2,3,4,7,8,9,12,13,14,15,16,17) ตำบลบางแก้ว (หมู่ที่ 1,2,3,4,6,8,9,13,14,15) ตำบลบางโฉลง (หมู่ที่ 4) และตำบลราชาเทวะ (หมู่ที่ 1,2,3,4,6,8,15) ระดับน้ำสูงประมาณ 0.20-0.50 เมตร ระดับน้ำลดลงอย่างต่อเนื่อง หากไม่มีฝนตกเพิ่ม คาดว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติในวันที่ 20 ตุลาคม 2552

การให้ความช่วยเหลือ จังหวัด สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดเรือท้องแบน 2 ลำ ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ จำนวน 28 เครื่อง กระสอบทราย 30,000 ถุง เร่งระบายน้ำด้านในคันกั้นน้ำออกสู่พื้นที่ด้านฝั่งตะวันออกลงสู่คลองบางปลาเพื่อระบายน้ำออกทะเล และดำเนินการให้ความช่วยเหลือราษฎรในเบื้องต้นแล้ว

9) จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2552 ได้เกิดน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมใน 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเลาขวัญ 7 ตำบล 90 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 2,100 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตร 20,000 ไร่ และอำเภอห้วยกระเจา 4 ตำบล 73 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 1,200 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตร 10,025 ไร่ ระดับน้ำสูงประมาณ 1.20 เมตร

การให้ความช่วยเหลือ จังหวัด สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กองพลทหารราบที่ 9 นพค.11 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมให้ความช่วยเหลือจัดเรือท้องแบน จำนวน 6 ลำ รถผลิตน้ำดื่ม 1 คัน และนำรถแบล็คโฮลด์เปิดทางน้ำเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ราษฎรในเบื้องต้นแล้ว

10) จังหวัดแม่ฮ่องสอน เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2552 เวลาประมาณ06.00 น.เกิดฝนตกหนัก น้ำป่าไหลหลากบริเวณเส้นทางสาย 108 เชียงใหม่-แม่สะเรียง-แม่ฮ่องสอน กม. ที่ 89 ทำให้ถนนเกิดการทรุดตัวลง เป็นระยะทางยาวประมาณ 100 เมตร ความลึกประมาณ 30 เมตร ผู้ที่สัญจรไป-มาระหว่างเชียงใหม่-แม่สะเรียง-แม่ฮ่องสอน ไม่สามารถใช้เส้นทางนี้ได้

การให้ความช่วยเหลือ จังหวัด สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนไปใช้เส้นทางสาย 1263 ขุนยวม-ปางอุ๋ง และสาย 1095 แม่มาลัย-ปาย-แม่ฮ่องสอน แทน พร้อมทั้งได้นำเครื่องจักรกลเข้าไปเพื่อซ่อมเส้นทางให้ใช้งานได้

2. การให้ความช่วยเหลือ

2.1 สิ่งของพระราชทานผู้ประสบภัยพายุ “กิสนา” และ” หย่อมความกดอากาศต่ำ

1) มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เดินทางไปมอบสิ่งของพระราชทาน ที่จังหวัดมหาสารคาม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ บุรีรัมย์ อุบลราชธานี ชุมพร ลำพูน ลำปาง ตาก อุทัยธานี ชัยนาท พระนครศรีอยุธยา และจังหวัดอ่างทอง จำนวน 25,060 ชุด

2) สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สภานายิกาสภากาชาดไทยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้เลขาธิการสภากาชาดไทย มอบชุดธารน้ำใจสภากาชาดไทย ที่จังหวัดนครราชสีมา อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา และนครรสวรรค์ จำนวน 3,050 ชุด และน้ำดื่ม จำนวน 24,600 ขวด

3) สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร และพระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ให้ พล.อ.อ.โยธิน ประยูรโภคราช ประธานที่ปรึกษา กองงานพระวรชายาฯ เป็นผู้แทนพระองค์ มอบถุงยังชีพและสิ่งของพระราชทาน ที่จังหวัดสุโขทัย และจังหวัดกาญจนบุรี จำนวน 2,000 ชุด

4) สำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย มอบชุด ธารน้ำใจฯ พระราชทาน ที่จังหวัดชัยนาท ลำปาง ศรีสะเกษ ตาก บุรีรัมย์ อุทัยธานี สุรินทร์ อุบลราชธานี และจังหวัดนครสวรรค์ จำนวน 9,121 ชุด ยาสามัญประจำบ้าน จำนวน 2,860 ชุด น้ำดื่ม 33,874 ขวด และเสื้อยืดแขนสั้น จำนวน 2,000 ตัว และหม้อ MEYER 12 ชุด

5) พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ (นายกกิตติมศักดิ์ตลอดชีพ) และพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ประธานมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก ทรงโปรดให้ นายอภัย จันทนจุลกะ รองประธานมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก เป็นผู้แทนพระองค์ มอบถุงพระราชทาน พร้อมตรวจเยี่ยมและจัดรถประกอบอาหารเคลื่อนที่แจกจ่ายแก่ราษฎรที่ประสบอุทกภัย จังหวัดสุโขทัย และอ่างทอง จำนวน 1,988 ชุด

2.2 การตรวจเยี่ยมผู้ประสบอุทกภัยของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2552 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล) พร้อมประธานคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงมหาดไทย รองปลัดกระทรวงมหาดไทย อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และคณะเดินทางไปตรวจสถานการณ์ และมอบถุงยังชีพ ที่จังหวัดกาญจนบุรี อำเภอเลาขวัญ วัดตลุงเหนือ ตำบลหนองประดู่ จำนวน 1,000 ชุด ที่เทศบาลตำบลเลาขวัญ จำนวน 100 ชุด และที่วัดลำเหย ตำบลหลุมรัง อำเภอบ่อพลอย จำนวน 1,000 ชุด

2.3 การให้ความช่วยเหลือของจังหวัดที่ประสบภัย สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้ให้ความช่วยเหลือแก่ราษฎรที่ประสบภัยในเบื้องต้นแล้ว พร้อมทั้งได้ระดมเจ้าหน้าที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสำรวจความเสียหายเพื่อให้ความช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการฯ (งบ 50 ล้านบาท) ต่อไป

3. การคาดหมายลักษณะอากาศระหว่างวันที่ 19-25 ตุลาคม 2552

3.1 กรมอุตุนิยมวิทยา คาดหมายลักษณะอากาศว่า ในช่วงวันที่ 19-25 ตุลาคม 2552 หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงปกคลุมทะเลจีนใต้ตอนกลางและมรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ มีฝนฟ้าคะนองกระจายและมีฝนตกหนักบางแห่ง และในช่วงวันที่ 21-23 ตุลาคม 2552 บริเวณความกดอากาศสูงกำลัง ปานกลางจากประเทศจีนจะแผ่เข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้ภาคเหนือและ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนฟ้าคะนองเพิ่มขึ้นกับอุณหภูมิลดลง ส่วนภาคอื่นๆ ยังคงมีฝนกระจาย จากนั้นในช่วงวันที่ 25 ตุลาคม 2552 จะมีความกดอากาศสูงกำลังค่อนข้างแรงแผ่เสริมเข้ามาอีกระลอกหนึ่ง ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอุณหภูมิลดลงได้อีก อนึ่ง พายุไต้ฝุ่น “ลูปิด” บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก มีแนวโน้มทิศทางการเคลื่อนตัวผ่านเกาะลูซอน ประเทศฟิลิปปินส์ในช่วงวันที่ 21-22 ตุลาคม 2552 และลงสู่ทะเลจีนใต้ตอนบนในระยะต่อไป

3.2 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้แจ้งเตือนเกี่ยวกับสภาวะอากาศให้จังหวัดใน ภาคกลาง และภาคตะวันออก เตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย และ ดินถล่ม อันเกิดจากสภาวะฝนตกหนัก อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินถล่มแล้ว และให้ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ในพื้นที่ อย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งเตรียมเครื่องมืออุปกรณ์ไว้ให้พร้อมเพื่อสามารถช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ทันต่อเหตุการณ์เมื่อเกิดสาธารณภัยขึ้น

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 20 ตุลาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ