ข้อเสนอการริเริ่มจัดทำความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมระหว่างประเทศลุ่มแม่น้ำโขงกับญี่ปุ่น

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 21, 2009 16:50 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบร่าง Initiative จัดทำความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมระหว่างประเทศลุ่มแม่น้ำโขงกับญี่ปุ่น และมอบให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นหน่วยงานเจ้าภาพหลักในการดำเนินการความร่วมมือประเทศลุ่มแม่น้ำโขงกับญี่ปุ่น ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ

ข้อเท็จจริง

1. ที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Minister Meeting : AEM) ครั้งที่ 30 เมื่อเดือนตุลาคม 2541 ได้มีมติให้จัดตั้งคณะกรรมการความร่วมมือทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมอาเซียนและญี่ปุ่น (AEM-METI Economic and Industrial Cooperation Committee : AMEICC) เพื่อปรับปรุงความร่วมมือระหว่างสมาชิกอาเซียนเดิมและสมาชิกใหม่ และญี่ปุ่นให้ความช่วยเหลือเป็นรูปธรรมมากขึ้น

2. AMEICC ได้ตั้งคณะทำงานด้านการพัฒนาพื้นที่ตะวันตก-ตะวันออก (Working Group on West-East Corridor Development : WEC-WG) เน้นให้ความช่วยเหลือด้านการพัฒนาเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมในประเทศเพื่อนบ้านของไทยเป็นหลัก โดยมีผู้แทนระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสของญี่ปุ่น กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม และไทย เข้าร่วมการประชุม โดยในส่วนของไทย มีผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และผู้แทนกระทรวงพาณิชย์เข้าร่วมการประชุมมาโดยตลอด

3. ต่อมาในปี 2552 ญี่ปุ่นได้เสนอกรอบความร่วมมือประเทศลุ่มแม่น้ำโขงกับญี่ปุ่นขึ้น และได้มีการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสประเทศลุ่มแม่น้ำโขงกับญี่ปุ่น (Mekong-Japan SEOM) ขึ้นครั้งแรก เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2552 ณ ประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งญี่ปุ่นได้เสนอแนวคิดที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจภายในภูมิภาคด้วยการส่งเสริมให้ภาคเอกชนมาร่วมลงทุนในลักษณะ Public-Private Partnership (PPP) โดยมอบให้ JETRO ดำเนินการสำรวจยุทธศาสตร์และความต้องการของภาคเอกชนเพื่อกำหนดจัดทำแผนความร่วมมือ พร้อมกันนี้ ที่ประชุมได้มอบหมายให้ WEC-WG เป็นเวทีในการประสานงานเรื่องการจัดทำแผนความร่วมมือ โดยนำผลการสำรวจมาพิจารณาประกอบด้วย

4. ขณะนี้ JETRO ได้ดำเนินการสำรวจเสร็จแล้วและคณะทำงานได้จัดทำร่าง “Initiative จัดทำความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมระหว่างประเทศลุ่มแม่น้ำโขงกับญี่ปุ่น” โดยมีสาระสำคัญครอบคลุม 5 ด้าน คือ

1) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ โดยเสนอให้จัดทำการศึกษาความเป็นไปได้และการจัดลำดับความสำคัญโครงสร้างพื้นฐานในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านของไทย เช่น โครงสร้างพื้นฐานการขนส่ง พลังงาน อุตสาหกรรม

2) การอำนวยความสะดวกทางการค้าและโลจิสติกส์ โดยเสนอให้มีการประชุมร่วมกันระหว่างญี่ปุ่นกับประเทศลุ่มแม่น้ำโขงเพื่อประเมินสภาพมาตรการและกฎระเบียบในปัจจุบัน

3) การยกระดับ SME โดยการฝึกอบรมพัฒนาบุคลากรและผู้ประกอบการ และการอำนวยความสะดวกในการสร้างเครือข่าย SME ในภูมิภาค

4) การยกระดับสาขาบริการและอุตสาหกรรมใหม่ของภูมิภาค โดยเสนอให้จัดทำการศึกษาความเป็นไปได้ในการทำโครงการนำร่อง

5) การจัดเวทีหารือระหว่างภาคอุตสาหกรรมและภาครัฐ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและข้อคิดเพื่อเป็นประโยชน์ในการกำหนดนโยบายพัฒนาอุตสาหกรรม

5. ญี่ปุ่นจะเสนอให้ที่การประชุมระดับรัฐมนตรีเศรษฐกิจของประเทศลุ่มแม่น้ำโขงกับญี่ปุ่นในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน ณ ชะอำ/หัวหิน ในวันที่ 24 ตุลาคม 2552 พิจารณา Initiative ก่อนที่จะเสนอต่อที่ประชุมสุดยอดประเทศลุ่มแม่น้ำโขงกับญี่ปุ่น ในเดือนพฤศจิกายน 2552 ณ ประเทศญี่ปุ่น

6. กระทรวงพาณิชย์พิจารณาเห็นว่า การเริ่มจัดทำความร่วมมือดังกล่าวน่าจะมีประโยชน์ต่อการพัฒนาโดยรวมของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมและความเป็นอยู่ของประชาชนในอนุภูมิภาค ถึงแม้ญี่ปุ่นจะมุ่งเน้นให้ความช่วยเหลือด้านการพัฒนาแก่ประเทศเพื่อนบ้านเช่น ลาว พม่า และเวียดนาม เป็นหลัก โดยไทยอาจไม่ได้รับความช่วยเหลือโดยตรงจากญี่ปุ่นมากนัก แต่การพัฒนาของประเทศเพื่อนบ้านย่อมส่งผลดีให้กับไทยในหลาย ๆ ด้าน เช่น การลดต้นทุนโลจิสติกส์ในการส่งออกผ่านเส้นทางการค้าใหม่ การสนับสนุนให้เกิดการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการและการลงทุนในภูมิภาค การค้าและการลงทุนกับประเทศเพื่อนบ้านซึ่งเป็นตลาดที่มีความสำคัญกับไทย ส่งเสริมการลงทุนในภูมิภาค นอกจากนี้ การให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศเพื่อนบ้านเป็นบทบาทที่ไทยดำเนินการอยู่แล้วในปัจจุบัน จึงมิน่าจะก่อให้เกิดผลเสียแต่อย่างไร

7. การพัฒนาพื้นที่และโลจิสติกส์เป็นเรื่องที่มีความสำคัญและมีความเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน จึงมีความจำเป็นที่ไทยควรมีหน่วยงานหลักเพื่อให้การดูแลภาพรวมการดำเนินงานเป็นไปอย่างมีเอกภาพ ประกอบกับที่ผ่านมารัฐบาลยังไม่ได้มอบหมายหน่วยงานใดเป็นเจ้าภาพหลักในการรับผิดชอบความร่วมมือประเทศลุ่มแม่น้ำโขงกับญี่ปุ่น และโดยที่โครงการความร่วมมือประเทศลุ่มแม่น้ำโขงกับญี่ปุ่นมีสาระสำคัญคล้ายกับการพัฒนาโครงการความร่วมมือภายใต้กรอบอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Sub-region : GMS) ซึ่ง สศช.เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ กระทรวงพาณิชย์พิจารณาแล้วเห็นว่า สศช.ควรเป็นหน่วยงานเจ้าภาพหลักในการรับผิดชอบกรอบความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและ อุตสาหกรรมประเทศลุ่มแม่น้ำโขงกับญี่ปุ่นด้วย

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 20 ตุลาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ