คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการขนส่งข้ามพรมแดน พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานด้านนิติบัญญัติพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป และเห็นชอบให้กระทรวงคมนาคมรับไปดำเนินการตามความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 12) (ในส่วนที่เกี่ยวกับการดำเนินการในขั้นตอนหลังจากการลงนามในหนังสือสัญญา ตามมาตรา 190 วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย) ด้วย
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
1. กำหนดบทนิยามคำว่า “การขนส่งข้ามพรมแดน” “พิธีการ” “พื้นที่ควบคุมร่วมกัน” และ “หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง” (ร่างมาตรา 3)
2. กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจประกาศกำหนดให้พื้นที่ในเขตศุลกากรหรือพื้นที่ต่อเนื่องกับเขตศุลกากร สถานีหรือท่าเรือในราชอาณาจักร เป็นพื้นที่ควบคุมร่วมกันในราชอาณาจักร และเมื่อรัฐบาลของประเทศภาคีตามความตกลงได้แจ้งพื้นที่ที่กำหนดให้เป็นพื้นที่ควบคุมร่วมกันนอกราชอาณาจักรให้รัฐบาลไทยทราบแล้ว ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเท่าที่จำเป็นเพื่อให้สามารถดำเนินพิธีการอย่างเบ็ดเสร็จในพื้นที่ควบคุมร่วมกัน (ร่างมาตรา 4)
3. กำหนดให้การดำเนินพิธีการของเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลไทยในพื้นที่ควบคุมร่วมกันนอกอาณาจักรเป็นการดำเนินพิธีการในราชอาณาจักร (ร่างมาตรา 5)
4. กำหนดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลประเทศภาคีตามความตกลงมีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในข้อตกลงที่รัฐบาลไทยได้ทำไว้กับรัฐบาลของประเทศภาคีตามความตกลงสำหรับการดำเนินพิธีการในพื้นที่ควบคุมร่วมกันแต่ละแห่ง และกำหนดข้อยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลประเทศภาคีตามความตกลงที่เข้ามาดำเนินพิธีการในพื้นที่ควบคุมร่วมกันในราชอาณาจักรตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยกำหนด (ร่างมาตรา 6)
5. กำหนดให้การกระทำที่เป็นความผิดตามกฎหมายไทยเกี่ยวกับการขนส่งข้ามพรมแดนในพื้นที่ควบคุมร่วมกันนอกราชอาณาจักรเป็นการกระทำความผิดในราชอาณาจักร (ร่างมาตรา 9)
6. กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการดำเนินการกับผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับการขนส่งข้ามพรมแดนที่เจ้าหน้าที่ตรวจพบในพื้นที่ควบคุมร่วมกันในราชอาณาจักรและพื้นที่ควบคุมร่วมกันนอกราชอาณาจักร (ร่างมาตรา 10 และร่างมาตรา 11)
7. กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ มีอำนาจออกระเบียบเพื่อกำหนดวิธีปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลไทยในพื้นที่ควบคุมร่วมกัน เพื่อให้เกิดการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสามารถดำเนินพิธีการได้อย่างเบ็ดเสร็จในพื้นที่ควบคุมร่วมกันได้ (ร่างมาตรา 12 และร่างมาตรา 13)
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 27 ตุลาคม 2552 --จบ--