ขออนุมัติดำเนินการโครงการห้วยโสมงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดปราจีนบุรี

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 28, 2009 14:45 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีพิจารณาการขออนุมัติดำเนินการโครงการห้วยโสมงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดปราจีนบุรี ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ แล้วมีมติดังนี้ ดังนี้

1. อนุมัติหลักการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทานเริ่มดำเนินการโครงการห้วยโสมง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดปราจีนบุรี ระยะเวลาดำเนินการโครงการทั้งสิ้น 9 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2553-2561)

2. อนุมัติหลักการให้กรมชลประทานสามารถจ่ายค่าชดเชยพิเศษแทน การจัดสรรที่ดินแปลงอพยพในกรณีที่กรมชลประทานไม่สามารถจัดสรรที่ดินแปลงอพยพให้แก่ราษฎรที่ได้รับผลกระทบ หรือราษฎรไม่ประสงค์จะรับที่ดินแปลงอพยพ

3. ให้กรมชลประทาน สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมดำเนินการตามแผนปฏิบัติการป้องกันแก้ไขและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมและติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รายงานว่า โครงการห้วยโสมงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดปราจีนบุรี ระยะเวลาดำเนินการโครงการทั้งสิ้น 9 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2553-2561) มีรายละเอียดโครงการสรุปได้ ดังนี้

1. วัตถุประสงค์ของโครงการ

(1) เพื่อพัฒนาแหล่งน้ำต้นทุนและเพิ่มพื้นที่ชลประทานในเขตอำเภอนาดีและอำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี

(2) เพื่อบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำปราจีนบุรีและลุ่มน้ำสาขาในเขตพื้นที่อำเภอนาดี และอำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี

(3) เพื่อประโยชน์ในการใช้เป็นแหล่งน้ำด้านการอุปโภค-บริโภค และการประปา

(4) เพื่อรักษาระบบนิเวศ ผลักดันน้ำเค็มและน้ำเน่าเสียในแม่น้ำปราจีนบุรีและแม่น้ำบางปะกง

2. ที่ตั้งโครงการ

โครงการห้วยโสมง มีที่ตั้งเขื่อนหัวงานอยู่ในเขตบ้านแก่งยาว ตำบลแก่งดินสอ อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี เส้นละติจูด 140-04’-46’’ เหนือ และเส้นลองติจูด 1020-01’-49’’ ตะวันออก โดยพื้นที่อ่างเก็บน้ำส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในเขตตำบลแก่งดินสอและมีพื้นที่ชลประทานครอบคลุม 5 หมู่บ้านในเขตอำเภอนาดี และ 32 หมู่บ้านในเขตอำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี

3. องค์ประกอบของโครงการ

โครงการห้วยโสมงเป็นโครงการชลประทานขนาดใหญ่ ประกอบด้วยเขื่อนหัวงาน ชนิดเขื่อนดินแบบแบ่งโซน (Zone Type Dam) ความสูงประมาณ 33 เมตร ความยาวประมาณ 3,970 เมตร และทำนบดินปิดช่องเขาต่ำ จำนวน 2 แห่ง อ่างเก็บน้ำมีความจุ 295 ล้านลูกบาศก์เมตร พร้อมระบบส่งน้ำและระบายน้ำ ครอบคลุมพื้นที่ชลประทาน 111,300 ไร่

4. ระยะเวลาดำเนินการโครงการ 9 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2553-2561)

5. ผลประโยชน์โครงการ

(1) เป็นแหล่งน้ำต้นทุนและเพิ่มพื้นที่ชลประทานในฤดูฝนจำนวน 111,300 ไร่ และฤดูแล้ง จำนวน 45,000 ไร่ ในเขตอำเภอนาดี และอำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี

(2) ช่วยบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำปราจีนบุรีและลุ่มน้ำสาขาในเขตพื้นที่อำเภอนาดี และอำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี

(3) เป็นแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคของราษฎรและการประปา

(4) ช่วยรักษาระบบนิเวศ ผลักดันน้ำเค็มและน้ำเน่าเสียในแม่น้ำปราจีนบุรี และแม่น้ำบางปะกง

(5) อ่างเก็บน้ำจะเป็นแนวกันชนหรือแนวป้องกันการบุกรุกทำลายพื้นป่าไม้ในเขตอุทยานแห่งชาติทับลานและอุทยานแห่งชาติปางสีดา รวมทั้งช่วยเพิ่มระดับความชุ่มชื้นในพื้นที่ป่าไม้ ทำให้โอกาสการเกิดไฟไหม้ป่าลดลงหรือหากเกิดไฟป่าก็จะมีแหล่งน้ำต้นทุนที่จะสามารถนำน้ำมาใช้ดับไฟป่าได้

6. การศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อม

(1) กรมชลประทานได้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการ ห้วยโสมงแล้วเสร็จเดือนพฤษภาคม 2538 และมีการแก้ไขเพิ่มเติมรายงานแผนปฏิบัติการป้องกันแก้ไขและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามความเห็นสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแล้วเสร็จสิ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2546

(2) กรมชลประทานได้ดำเนินการขออนุญาตใช้พื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน และพื้นที่อุทยานแห่งชาติปางสีดาเพื่อก่อสร้างโครงการ ซึ่งคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ในคราวการประชุมครั้งที่ 3/2548 เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2548 มีมติเห็นชอบในหลักการให้เพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลานและอุทยานแห่งชาติปางสีดาบางส่วน เพื่อก่อสร้างโครงการห้วยโสมง จังหวัดปราจีนบุรี แล้วต่อมาเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2548 อุทยานแห่งชาติทับลานและอุทยานแห่งชาติปางสีดาได้รับการประกาศให้เป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ ทำให้เกิดปัญหาอุปสรรคในการขออนุญาตใช้พื้นที่เพื่อก่อสร้างโครงการ เนื่องจากมีผลกระทบต่อพื้นที่มรดกโลก กรมชลประทาน จึงได้จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่มรดกโลกเพิ่มเติมตามมติการประชุมร่วมระหว่างกรมชลประทาน สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2548 แล้วเสร็จเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2550

(3) คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก ในคราวการประชุมครั้งที่ 2/2552 เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2552 มีมติไม่ขัดข้องในการดำเนินโครงการห้วยโสมงที่อยู่ใกล้กับพื้นที่มรดกโลก แต่ให้กรมชลประทานต้องคำนึงถึงหลักเกณฑ์และการติดตามรายงานสภาพพื้นที่เป็นระยะเพื่อป้องกันผลกระทบที่จะทำให้เข้าสู่การประเมินว่าเป็นภาวะอันตรายต่อมรดกโลก หลังจากนั้นคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านโครงการพัฒนาแหล่งน้ำมีมติเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และนำเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ซึ่งคณะกรรมกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ในคราวประชุมครั้งที่ 4/2552 เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2552 มีมติเห็นชอบรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการห้วยโสมง จังหวัดปราจีนบุรีฯ

7. การสำรวจ-ออกแบบโครงการ แล้วเสร็จเดือนตุลาคม 2544

8. การดำเนินการด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน

ในขั้นตอนการศึกษาผลกระทบวิ่งแวดล้อมโครงการกรมชลประทานได้ดำเนินการด้านการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่โครงการในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2549-2550 โดยจัดให้มีการประชุมปฐมนิเทศโครงการการประชุมย่อยรวม 2 ครั้ง และการประชุมปัจฉิมนิเทศโครงการร่วมกับประชาชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ โดยการให้ข้อมูลโครงการ แนะนำโครงการและเปิดโอกาสให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ ต่อโครงการ เพื่อให้การพัฒนาโครงการมีความเหมาะสมสอดคล้องกับความต้องการและวิถีการดำเนินชีวิตของประชาชนในท้องถิ่นให้มากที่สุด ซึ่งผลการประชุมพบว่า ผู้เข้าร่วมประชุมส่วนใหญ่มีความต้องการให้ดำเนินการก่อสร้างโครงการห้วยโสมงและมีความคิดเห็นว่าการพัฒนาโครงการไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงพื้นที่แหล่งมรดกโลก รวมทั้งโครงการจะสามารถแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในการเกษตรอุปโภค-บริโภค และบรรเทาปัญหาอุทกภัยได้ ทั้งนี้ กรมชลประทานมีแผนจะดำเนินการด้านการมีส่วนร่วมของประชาชนทั้งระหว่างการก่อสร้างและหลังการก่อสร้างต่อไป

9. การจัดหาที่ดิน

(1) ที่ดินบริเวณอ่างเก็บน้ำ จำนวนประมาณ 15,000 ไร่ ดำเนินการสำรวจปักหลักเขตแล้วเสร็จ

(2) ที่ดินระบบส่งน้ำและระบายน้ำ จำนวนประมาณ 5,500 ไร่ กรมชลประทานจะได้ดำเนินการจัดหาที่ดินต่อไป

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 27 ตุลาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ