รายงานการหยุดเดินรถของพนักงานการรถไฟแห่งประเทศไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 28, 2009 14:58 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบและเห็นชอบตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ ทั้ง 2 ข้อ ดังนี้

1. รับทราบสถานการณ์การหยุดเดินรถ การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า การให้ความช่วยเหลือผู้โดยสาร และการแก้ไขปัญหาระยะยาว

2. เห็นชอบในหลักการให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ยกเว้นการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2541 โดยอนุมัติให้ รฟท. รับพนักงาน รฟท. จำนวน 171 อัตรา ประกอบด้วย ตำแหน่ง ช่างเครื่องฝึกหัด จำนวน 121 อัตรา และตำแหน่งพนักงานเดินรถและโยธา จำนวน 50 อัตรา

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงคมนาคมรายงานว่า ตามที่ปรากฏเป็นข่าวต่อสาธารณชนเกี่ยวกับพนักงาน รฟท.บางกลุ่มหยุดการเดินรถในบางขบวน ตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2552 เป็นต้นมา ซึ่งก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนผู้ใช้บริการ รฟท. และการบริการของภาครัฐ นั้น กระทรวงคมนาคมได้ดำเนินการแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่วันเกิดเหตุ รวมทั้งได้มีการประชุมร่วมระหว่างผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในการให้ความช่วยเหลือผู้โดยสารที่ตกค้าง นอกจากนี้ รฟท. ยังได้จัดให้มีการประชุมวิสามัญของคณะกรรมการ รฟท. เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วย กระทรวงคมนาคมจึงขอเสนอรายงานผลการดำเนินการตลอดจนแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ดังนี้

1. สถานการณ์การหยุดเดินรถ

1.1 การหยุดเดินรถ : พนักงาน รฟท. ในพื้นที่เส้นทางภาคใต้ได้ยื่นขอลาป่วยพร้อมกันเป็นจำนวนมากผิดปกติ ในวันที่ 19 ตุลาคม 2552 โดยสถานีชุมทางหาดใหญ่ มีพนักงานลาป่วย จำนวน 49 คน จากจำนวน 121 คน คิดเป็นร้อยละ 40.50 และต่อมาได้อ้างว่าหัวรถจักรอยู่ในสภาพที่ไม่สมบูรณ์ ไม่สามารถให้บริการได้ ทำให้มีการหยุดเดินรถไฟในเส้นทางภาคใต้ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรถขบวนท้องถิ่น ดังนี้

(1) วันที่ 16 ตุลาคม 2552 ขบวนรถหยุดเดินรถ 14 ขบวน ทำให้มีผู้โดยสารได้รับผลกระทบ จำนวน 19,000 คน

(2) วันที่ 17 ตุลาคม 2552 ขบวนรถหยุดเดินรถ 21 ขบวน ทำให้มีผู้โดยสารได้รับผลกระทบ จำนวน 25,900 คน

(3) วันที่ 18 ตุลาคม 2552 ขบวนรถหยุดเดินรถ 28 ขบวน ทำให้มีผู้โดยสารได้รับผลกระทบ จำนวน 30,800 คน

(4) วันที่ 19 ตุลาคม 2552 ขบวนรถหยุดเดินรถ 30 ขบวน ทำให้มีผู้โดยสารได้รับผลกระทบ จำนวน 32,200 คน

ส่วนการเดินรถไฟทางไกลสามารถเดินรถได้ทุกเส้นทางยกเว้นรถไฟสายใต้ ซึ่งพนักงานส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือเปิดเดินรถไฟได้ถึงสถานีสุราษฎร์ธานี

1.2 ความเสียหายจากการหยุดเดินรถ : จากเหตุการณ์การหยุดเดินรถดังกล่าว ทำให้เกิดความเสียหายแก่ รฟท. ประมาณ 20.16 ล้านบาท ดังนี้

(1) ความเสียหายจากการให้บริการผู้โดยสาร ประมาณ 13.54 ล้านบาท ประกอบด้วยการขาดรายได้จากขบวนรถที่งดบริการ 7.54 ล้านบาท ผู้โดยสารคืนเงินค่าบัตรโดยสาร 4.00 ล้านบาท ขาดรายได้จากสัมภาระ 1.50 ล้านบาท ค่าขนถ่ายผู้โดยสาร 0.50 ล้านบาท

(2) ความเสียหายจากการให้บริการขนส่งสินค้า ประมาณ 6.62 ล้านบาท

2. การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าและการช่วยเหลือประชาชน

2.1 กระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดให้ความช่วยเหลือผู้โดยสาร ดังนี้

(1) กรมการขนส่งทางบก บริษัท ขนส่ง จำกัด และบริษัทเอกชนร่วมบริการ จัดรถโดยสารมาให้บริการขนถ่ายสัมภาระและรับผู้โดยสารที่ตกค้างไปส่งยังจุดหมายปลายทาง โดย รฟท. เป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด

(2) กรมการขนส่งทางบก กรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบทจัดส่งเจ้าหน้าที่ในพื้นที่เข้าดูแลและช่วยเหลือประชาชนเพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทาง รวมทั้งการจัดหาอาหาร ที่พักชั่วคราว การขนถ่ายสัมภาระเพื่อเปลี่ยนถ่ายผู้โดยสารไปยังจุดมุ่งหมายปลายทาง รวมทั้งเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ ได้แก่ ทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครองได้จัดกำลังเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสารด้วยด้วย

2.2 ปัจจุบันรถจักร จำนวน 4 คัน ได้ถูกยึดไว้ที่โรงรถจักรหาดใหญ่ โดยพนักงานอ้างว่ามีสภาพไม่สมบูรณ์ ไม่อาจนำมาใช้เดินรถได้ ในขณะที่วิศวกรใหญ่ฝ่ายการช่างกลยืนยันว่ารถจักรดังกล่าวอยู่ในสภาพที่ใช้การได้ตามข้อบังคับและระเบียบการเดินรถ พ.ศ. 2549 เนื่องจากเป็นรถจักรที่เดินรถมาตามปกติจากกรุงเทพสถานีต้นทาง และเมื่อเดินรถถึงสถานีชุมทางหาดใหญ่ พนักงาน รฟท. ที่สถานีชุมทางหาดใหญ่อ้างว่า รถจักรมีสภาพไม่สมบูรณ์ต้องซ่อมบำรุงก่อนและยึดไว้ไม่ให้เดินรถ ผู้บริหาร รฟท. จึงได้จัดหาพนักงานขับรถและช่างเครื่อง จำนวน 4 ชุด จากส่วนกลางไปสำรองในพื้นที่เพื่อเดินรถทันที เมื่อกู้รถจักรคืนได้ โดยการกู้รถคืนดังกล่าว กระทรวงคมนาคมได้ประสานหน่วยทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครองในพื้นที่เพื่อดำเนินการด้วยแล้ว

2.3 กรณีที่เกิดเหตุการณ์ผู้โดยสารถูกพนักงานขับรถไฟทิ้งตกค้างไว้กลางทางที่สถานีชุมพร กรณีนี้เกิดจากการที่รถไฟสามารถเดินรถได้ถึงสถานีปลายทางที่สถานีสุราษฎร์ธานี จึงต้องมีการส่งผู้โดยสารที่สถานีชุมพร หลังสวน ละแม และสถานีสุราษฎร์ธานีตามลำดับ เพื่อไม่ให้ผู้โดยสารไปแออัดที่สถานีสุราษฎร์ธานี ซึ่งจะทำให้ยากต่อการขนส่งผู้โดยสาร รฟท.จึงได้กระจายจุดจอดเพื่อให้เจ้าหน้าที่กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท ดูแลผู้โดยสารได้อย่างทั่วถึง และบริษัท ขนส่ง จำกัด จัดรถรับส่งได้อย่างสะดวก โดยไม่แออัดอยู่ในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี

2.4 ปัจจุบัน รฟท. ได้รับการประสานงานจากอดีตพนักงานขับรถ รฟท. ที่เกษียณอายุแล้ว เมื่อเดือนกันยายน 2552 จำนวน 28 นาย ได้แจ้งความจำนงที่จะให้ความช่วยเหลือในการเดินรถให้ รฟท. เพื่อบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้น แต่เนื่องจากข้อบังคับและระเบียบการเดินรถ พ.ศ. 2549 ของ รฟท. กำหนดให้ผู้ที่จะอยู่ในห้องพนักงานขับรถบนขบวนรถไฟจะต้องเป็นพนักงาน รฟท.เท่านั้น คณะกรรมการ รฟท. ในการประชุมวิสามัญฯ เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2552 จึงมีมติให้ปรับปรุงระเบียบดังกล่าวเพื่อให้บุคคลใด ๆ ที่มีความรู้ ความสามารถในการเดินรถ เช่น อดีตพนักงานขับรถไฟที่เกษียณอายุแต่ยังมีศักยภาพในการปฏิบัติหน้าที่ให้ รฟท.สามารถรับพนักงานดังกล่าวมาช่วยสนับสนุนในการเดินรถได้

3. การตรวจสอบข้อเท็จจริง : คณะกรรมการ รฟท.ในการประชุมวิสามัญฯ เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2552 ได้มีมติให้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการลาหยุดของพนักงาน รฟท. และคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความสมบูรณ์ของรถจักร โดยมีหน่วยงานภายนอกร่วมเป็นกรรมการด้วยทั้ง 2 คณะ เพื่อความเป็นธรรมในการตรวจสอบดังกล่าว และนำผลการตรวจสอบมาดำเนินการตามระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้องต่อไป

4. การแก้ไขปัญหาระยะยาว : กระทรวงคมนาคมเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นใน รฟท. อย่างเร่งด่วนในลักษณะของการยกเครื่องหรือปฏิรูป รฟท. ทั้งองค์กรในทุกด้าน จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการบริการจัดการ รฟท. จำนวน 4 คณะ ประกอบด้วย คณะกรรมการฯ ด้านโครงสร้างพื้นฐาน คณะกรรมการฯ ด้านทรัพย์สิน คณะกรรมการฯ ด้านกฎหมายและระเบียบข้อบังคับ และคณะกรรมการฯ ด้านบุคลากรและอัตรากำลัง ทั้งนี้ เพื่อแก้ไขปัญหาการดำเนินงานด้านต่างๆ ของ รฟท. อย่างเป็นรูปธรรมนำไปสู่การปฏิบัติอย่างจริงจัง ซึ่งกระทรวงคมนาคมจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาภายใน 3 สัปดาห์

5. รฟท. ได้เสนอให้กระทรวงคมนาคมพิจารณานำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณายกเว้นมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2541 โดยให้ รฟท. บรรจุผู้ที่จบการศึกษาจากโรงเรียนวิศวกรรมรถไฟเป็นพนักงาน รฟท. จำนวน 171 นาย ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ รฟท. ในการประชุมวิสามัญฯ เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2552 แล้ว ตามเหตุผลและข้อเท็จจริง ดังนี้

(1) มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2541 มีข้อจำกัดเกี่ยวกับการรับพนักงานใหม่ของ รฟท. ทำให้ รฟท. ฝ่ายช่างกลขาดพนักงานกว่าจำนวน 380 อัตรา แยกเป็น พนักงานขับรถ 209 อัตรา พนักงานช่างเครื่อง 171 อัตรา

(2) รฟท. ได้เตรียมแผนกำลังคนไว้ โดยการเปิดทำการสอนนักเรียนวิศวกรรมรถไฟ ซึ่งมีผู้จบการศึกษาในปี 2551 จำนวน 171 ราย ประกอบด้วย แผนกช่างเครื่องกล 121 คน และแผนกเดินรถและโยธา 50 คน ซึ่งปัจจุบัน รฟท. ได้แก้ไขเฉพาะหน้าโดยจ้างลูกจ้างเฉพาะรายจากนักเรียนวิศวกรรมที่จบการศึกษาแล้ว แต่ลูกจ้างดังกล่าวไม่สามารถปฏิบัติงานระบบหัวรถจักรได้ เนื่องจากยังไม่ได้มีสถานะเป็นพนักงานของ รฟท.

(3) จากปัญหาการหยุดเดินรถที่เกิดขึ้น รฟท. เห็นว่า มีความจำเป็นที่ต้องมีพนักงานขับรถทดแทนให้เป็นไปตามกรอบอัตรากำลังที่ยังขาดอยู่ และโดยที่ขั้นตอนการเป็นพนักงานขับรถไฟต้องใช้เวลา 7 ปี สำหรับการฝึกจากการเป็นช่างเครื่องฝึกหัด ช่างเครื่อง 2 และช่างเครื่อง 1 และสอบผ่านขั้นสุดท้ายเป็นพนักงานขับรถ ทั้งนี้ เมื่อมีการบรรจุพนักงานใหม่แล้ว รฟท. จะได้บริหารจัดการเกี่ยวกับพนักงานขับรถให้ปฏิบัติหน้าที่ในแต่ละพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพต่อไป

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 27 ตุลาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ