คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) ครั้งที่ 7/2552 และเห็นชอบมติคณะกรรมการ กรอ. และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของคณะกรรมการ กรอ.ไปประกอบการพิจารณาดำเนินการ แล้วรายงานให้คณะกรรมการ กรอ. และคณะรัฐมนตรีทราบต่อไป ตามที่เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการ กรอ.เสนอ
สรุปผลการประชุมและมติคณะกรรมการ กรอ. ดังนี้
1. การให้คงวงเงินการให้ความช่วยเหลือทางการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทยไว้โดยกระทรวงการคลังช่วยดูแลแทน
1.1 สาระสำคัญ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เสนอที่ประชุมพิจารณาให้กระทรวงการคลังพิจารณาให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการสามารถใช้วงเงินจำนวน 66,737 ล้านบาท ทั้งจำนวน เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับความเดือดร้อนที่ยังไม่ได้ขอรับความช่วยเหลือต่อจากโครงการของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยนำเสนอข้อเท็จจริง ดังนี้
1.1.1 จากข้อมูลของ กกร. อ้างถึงการที่ ธปท. ประกาศยกเลิกวงเงินความช่วยเหลือทางการเงินตามหนังสือเวียนที่ ธปท.ฝกช.(22)ว.1000/2551 ลงวันที่ 3 มิถุนายน 2551 เรื่อง การปรับบทบาทการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่บางภาคเศรษฐกิจ ทำให้ภาคอุตสาหกรรมได้รับความเดือดร้อนไม่สามารถใช้วงเงิน ธปท. ทั้ง 3 โครงการ จำนวนวงเงิน ธปท. รวม 66,737 ล้านบาท ได้ทั้งจำนวน โดยแบ่งเป็น (1) โครงการให้ความช่วยเหลือทางการเงินโดยมีตั๋วสัญญาใช้เงินของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดย่อมเป็นประกัน จำนวนวงเงิน ธปท. เท่ากับ 38,000 ล้านบาท โดยเริ่มใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2550 และหมดอายุโครงการ วันที่ 29 พฤษภาคม 2554 (2) โครงการให้ความช่วยเหลือทางด้านการเงินแก่ผู้ประกอบการในจังหวัดสงขลาและสตูล จำนวนวงเงิน ธปท. เท่ากับ 3,000 ล้านบาท โดยเริ่มใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2549 และหมดอายุโครงการ วันที่ 31 ธันวาคม 2553 และ (3) โครงการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบการใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวนวงเงิน ธปท. เท่ากับ 25,737 ล้านบาท โดยเริ่มใช้เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2548 และหมดอายุโครงการ วันที่ 31 ธันวาคม 2553
1.1.2 ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2552 ผู้ประกอบการใช้วงเงินเพียง 19,288.74 ล้านบาท จากวงเงินที่ ธปท. อนุมัติ 31,259.95 ล้านบาท จึงเหลือวงเงินอนุมัติที่ยังไม่เบิกใช้ 11,971.21 ล้านบาท สำหรับวงเงินรวมทั้ง 3 โครงการจำนวน 66,737 ล้านบาทที่ ธปท. ไม่ได้อนุมัติมีจำนวน 35,477.05 ล้านบาท
1.2 มติคณะกรรมการ กรอ.
มอบหมายกระทรวงการคลังรับไปพิจารณาดำเนินการโครงการให้ความช่วยเหลือทางการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทยให้มีความต่อเนื่อง โดยไม่ต้องรอให้ถึงวันหมดอายุโครงการในวันที่ 29 พฤษภาคม 2554 และรายงานคณะกรรมการ กรอ. ต่อไป
2. การอำนวยสินเชื่อของสถาบันการเงินเฉพาะกิจในสภาวะเศรษฐกิจถดถอย
2.1 สาระสำคัญ คณะกรรมการ กกร. ได้ให้ข้อเสนอแนะแนวทางการอำนวยสินเชื่อตามนโยบายการปล่อยสินเชื่อของรัฐบาลให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) และเป็นการช่วยเหลือทางการเงินแก่กลุ่มธุรกิจวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนี้
2.1.1 จำแนกกลุ่มผู้ประกอบการเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ (1) ผู้ประกอบการ SMEs ที่มีผลประกอบการดี ไม่ต้องการความช่วยเหลือ และสามารถเข้าถึงแหล่งสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ได้ (2) กลุ่มผู้ประกอบการที่อยู่ในฐานะมีหนี้สินที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ซึ่งได้ปรับโครงสร้างหนี้แล้ว และผู้ประกอบการที่มีปัญหา NPL เกิดขึ้นหลังเดือนกันยายน 2551 ควรพิจารณาให้สินเชื่อ และ (3) กลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ที่ธุรกิจมีศักยภาพและมีอนาคต แต่มีปัญหาขาดสภาพคล่อง กลุ่มนี้มีความสำคัญที่ SFIs ควรให้ความช่วยเหลือและผ่อนปรนหลักเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อเพื่อให้ SMEs กลุ่มนี้สามารถเข้าถึงแหล่งสินเชื่อและดำเนินธุรกิจต่อไปได้
2.1.2 กรณีสินเชื่อบุคคลธรรมดาซึ่งเป็นเจ้าของกิจการคนเดียว มีประวัติค้างชำระที่บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (National Credit Bureau Co, Ltd.) และได้ชำระหนี้แล้ว แต่ยังไม่พ้นระยะที่กำหนดไว้ ผู้ประกอบการกลุ่มนี้จะมีปัญหาในการขอสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์
2.1.3 ข้อเสนอการผ่อนปรนหลักเกณฑ์การอนุมัติสินเชื่อในภาวะเศรษฐกิจไม่ปกติ ดังนี้ (1) ขอให้ฝ่ายบริหารและฝ่ายจัดการของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) ร่วมกันกำหนดหลักเกณฑ์ให้มีความชัดเจนในทางปฏิบัติ และควรมีคณะกรรมการกำกับดูแลกรณีที่ไม่อนุมัติสินเชื่อเพื่อความโปร่งใสในการดำเนินงาน (2) การอนุมัติสินเชื่อในภาวะไม่ปกติ ขอให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น กรณีมีความเสียหายควรมีการแยกบัญชีความเสียหายออกเพื่อให้เกิดการกำกับดูแลเป็นพิเศษและใกล้ชิด (3) กระทรวงการคลัง พิจารณาทบทวนเพิ่มทุนให้กับ SFIs เพื่อให้สามารถปล่อยสินเชื่อได้ มีความมั่นคง และดำเนินงานได้ดีขึ้น และ (4) เสนอจัดตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างภาครัฐ (หน่วยงานด้านนโยบาย และกำกับสถาบันการเงิน) SFIs และตัวแทนภาคเอกชน เพื่อร่วมวางหลักเกณฑ์ในการอำนวยสินเชื่อซึ่งเป็นที่ยอมรับของผู้ที่เกี่ยวข้องของทุกฝ่าย
2.2 มติคณะกรรมการ กรอ.
2.2.1 มอบหมายกระทรวงการคลังรับความเห็นของคณะกรรมการ กรอ. ไปพิจารณาดำเนินการและให้มีภาคเอกชนเข้าร่วมในการกำหนดแนวทางการอำนวยสินเชื่อของสถาบันการเงินเฉพาะกิจให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
2.2.2 มอบหมายกระทรวงการคลังและกระทรวงอุตสาหกรรมพิจารณาดำเนินการออกมาตรการและระเบียบในการส่งเสริมและช่วยเหลือการประกอบธุรกิจอุตสาหกรรมก่อสร้างในต่างประเทศ และรายงานคณะกรรมการ กรอ. ต่อไป
3. การทบทวนการดำเนินงานภายใต้ความตกลงการค้าเสรีระหว่างประเทศไทยกับคู่ภาคี
3.1 สาระสำคัญ คณะกรรมการ กกร. เสนอให้ที่ประชุมพิจารณาให้ความเห็นชอบแต่งตั้งคณะกรรมการ หรือมอบหมายผู้กำกับดูแลเรื่อง Post FTA ที่ชัดเจน มีความต่อเนื่อง และมีอำนาจสั่งการข้ามกระทรวง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเน้นเฉพาะ 3 ประเด็นสำคัญ คือ การเตรียมการสำหรับการเจรจาในรอบต่อไป การดูแลและเร่งรัดแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการบังคับใช้ความตกลงการค้าเสรีอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรม และการสร้างศักยภาพในการแข่งขัน โดยนำเสนอข้อเท็จจริง ดังนี้
3.1.1 ภาคเอกชนได้เน้นความสำคัญในการทบทวนการดำเนินงานตามความตกลงการค้าเสรี หรือ “Post FTA” กล่าวคือ กรอบการเจรจาความตกลงการค้าเสรีของไทย ที่ได้มีการลงนามและมีผลบังคับใช้แล้ว เช่น ไทย-ออสเตรเลีย ไทย-นิวซีแลนด์ ไทย-อินเดีย ไทย-ญี่ปุ่น อาเซียน-จีน การรวมกลุ่มเศรษฐกิจของอาเซียน (AEC) และ กรอบการเจรจาความตกลงการค้าเสรีที่ไทยได้ลงนามไปแล้วและอยู่ระหว่างกระบวนการเพื่อให้มีผลบังคับใช้ เช่น อาเซียน-อินเดีย อาเซียน-เกาหลีใต้ อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ เป็นต้น
3.1.2 ภาคเอกชนมีความกังวลว่า กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ อาจจะไม่สามารถดำเนินการได้อย่างทั่วถึง และยังเป็นเรื่องที่ต้องประสานงาน ตลอดจนต้องกำกับและติดตามผลการดำเนินงานของหลายๆ หน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรีได้อย่างมีประสิทธิภาพหลังจากความตกลงการค้าเสรีมีผลบังคับใช้ ภาคเอกชนได้จัดทำตัวอย่างปัญหาและอุปสรรค รวมถึงประเด็นที่ควรติดตามอย่างใกล้ชิดจากกรอบความตกลงการค้าเสรีที่กำลังอยู่ระหว่างการทำให้มีผลบังคับใช้
3.2 มติคณะกรรมการ กรอ.
มอบหมายรองนายกรัฐมนตรี (นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ) รับไปพิจารณาเรื่อง Post FTA ในคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) โดยอาจใช้กลไกคณะอนุกรรมการกำกับดูแลการเจรจาความตกลงการค้าเสรี ภายใต้คณะกรรมการ กนศ. ที่มีอยู่ หรือพิจารณาจัดตั้งขึ้นใหม่ โดยให้มีประธานผู้แทนการค้าไทยเข้าร่วมเป็นองค์ประกอบด้วย แล้วนำเสนอคณะกรรมการ กรอ. ต่อไป
4. แนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำตาลทรายโควตา ก.
4.1 สาระสำคัญ สศช. รายงานผลการศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำตาลโควตา ก. ตามมติคณะกรรมการ กรอ. ในคราวประชุม ครั้งที่ 5/2552 เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2552 ที่มอบหมาย สศช. วิเคราะห์ข้อมูลให้ชัดเจนในเรื่องต้นทุนที่แท้จริง ผลกระทบต่ออุตสาหกรรมต่างๆ และแนวทางเลือกเพิ่มเติม โดยผลการศึกษาสรุปได้ ดังนี้
4.1.1 ผลกระทบต่อราคาจำหน่ายน้ำตาลทรายภายในประเทศ ทำให้ราคาจำหน่ายส่งไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มเพิ่มขึ้นเป็น 20.65 บาท หรือคิดเป็นร้อยละ 31.9 และราคาจำหน่ายปลีกรวมภาษีมูลค่าเพิ่มเพิ่มขึ้นเป็น 23.60 บาท หรือคิดเป็นร้อยละ 29.3 อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบราคาจำหน่ายน้ำตาลกับประเทศเพื่อนบ้าน ราคาจำหน่ายปลีกน้ำตาลภายในประเทศของไทยยังต่ำกว่าหลายประเทศ เช่น สิงคโปร์ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ ลาว อินโดนีเซีย และพม่า แต่แพงกว่าราคาจำหน่ายปลีกของประเทศกัมพูชาและมาเลเซีย (ซึ่งรัฐบาลอุดหนุน)
4.1.2 ผลกระทบต่อปริมาณการจำหน่ายน้ำตาลทราย ในภาพรวมเมื่อเปรียบเทียบปริมาณการจำหน่ายน้ำตาลทรายในช่วงก่อนปรับราคากับปริมาณการจำหน่ายน้ำตาลทรายระยะเดียวกันของปีที่แล้ว ลดลงร้อยละ 0.3 โดยมีสาเหตุหลักจากปัจจัยภายนอกเป็นสำคัญ ในขณะที่เมื่อเปรียบเทียบในช่วงหลังปรับราคา ปริมาณการจำหน่ายลดลงร้อยละ 5.6 โดยมีสาเหตุทั้งจากปัจจัยภายนอกและผลกระทบจากการปรับเพิ่มราคาน้ำตาล ทั้งนี้ สัดส่วนปริมาณการใช้น้ำตาลของภาคครัวเรือนและภาคการผลิตคิดเป็นร้อยละ 31.55 และ 68.45 ของปริมาณจำหน่ายน้ำตาลรวมตามลำดับ
4.1.3 ผลกระทบต่อภาระค่าใช้จ่ายต้นทุนน้ำตาล โดยในปี 2551 มีภาระค่าใช้จ่ายภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้นประมาณ 2,100 ล้านบาท และภาระภาคอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำตาลเป็นวัตถุดิบเพิ่มขึ้นประมาณ 4,400 ล้านบาท โดยอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากค่าใช้จ่ายน้ำตาลทรายต่อต้นทุนรวมเพิ่มขึ้นสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตขนมชนิดต่างๆ โดยมีสัดส่วนผลกระทบต่อต้นทุนรวมเฉลี่ยปี 2551 และปี 2552 อยู่ที่ประมาณร้อยละ 5.4 รองลงมาได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์และน้ำอัดลม (ไม่รวมน้ำดื่ม) มีสัดส่วนผลกระทบอยู่ที่ประมาณร้อยละ 3.0 และอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ที่ได้จากนมมีสัดส่วนผลกระทบอยู่ที่ประมาณร้อยละ 2.5
4.1.4 ผลกระทบต่อสัดส่วนมูลค่าเพิ่มและผลตอบแทนการผลิต พบว่าอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากสุดใน 3 อันดับแรกเป็นไปในทิศทางเดียวกับผลกระทบต่อต้นทุนรวม อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตว่าอุตสาหกรรมเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์และน้ำอัดลม และอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ที่ได้จากนมเป็นสินค้าที่ถูกควบคุมหรือเฝ้าระวังโดยกระทรวงพาณิชย์ จึงได้รับผลกระทบค่อนข้างมากเนื่องจากไม่สามารถปรับราคาสินค้าตามภาระต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น ขณะที่อุตสาหกรรมการผลิตขนมชนิดต่างๆ ผู้ประกอบการสามารถปรับเพิ่มราคาเพื่อบรรเทาผลกระทบได้
4.1.5 ข้อเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำตาลทรายโควตา ก. เพื่อบรรเทาผลกระทบให้แก่ผู้ประกอบการ ใน 2 แนวทาง ได้แก่
1) ปรับลดการขึ้นราคาน้ำตาลทรายเพื่อนำส่งเป็นรายได้ให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย โดยมีทางเลือก 4 ทาง ดังนี้ (1) กรณีฐาน อัตราการนำเข้ากองทุน 5 บาท/กก. ใช้ระยะเวลาชำระคืนเงินกู้ 1 ปี 4 เดือน ช่วงเวลาสิ้นสุดการชำระคืนเงินกู้ประมาณเดือนพฤศจิกายน 2553 (2) กรณีลดอัตราการนำเข้ากองทุนเหลือ 4 บาท/กก.ใช้ระยะเวลาชำระคืนเงินกู้ 1 ปี 8 เดือน ช่วงเวลาสิ้นสุดการชำระคืนเงินกู้ประมาณเดือนมีนาคม 2554 (3) กรณีลดอัตราการนำเข้ากองทุนเหลือ 3 บาท/กก. ใช้ระยะเวลาชำระคืนเงินกู้ 2 ปี 2 เดือน ช่วงเวลาสิ้นสุดการชำระคืนเงินกู้ประมาณเดือนกันยายน 2554 และ (4) กรณีลดอัตราการนำเข้ากองทุนเหลือ 2 บาท/กก. ใช้ระยะเวลาชำระคืนเงินกู้ 3 ปี 3 เดือน ช่วงเวลาสิ้นสุดการชำระคืนเงินกู้ประมาณเดือนตุลาคม 2555
2) ปรับขึ้นราคาสินค้าที่ได้รับผลกระทบและเป็นสินค้าที่ถูกควบคุมราคา เพื่อเป็นการบรรเทาผลกระทบให้กับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นราคาน้ำตาลทรายและเพื่อมิให้มีผลกระทบต่อสถานะเงินกองทุนที่จะต้องนำไปใช้สำหรับช่วยเหลือชาวไร่อ้อยและพัฒนาคุณภาพอ้อย ทั้งนี้ในการปรับขึ้นราคาให้ยึดหลักความเป็นธรรม และให้พิจารณาสถานการณ์ภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน ตลอดจนผลกระทบที่จะตกเป็นภาระต่อผู้บริโภคประกอบด้วย
4.2 มติคณะกรรมการ กรอ.
4.2.1 ให้คงอัตราการนำเงินเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย โดยใช้ราคาน้ำตาลทรายโควตา ก. ที่ปรับเพิ่มตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2551 คือ เพิ่มขึ้นกิโลกรัมละ 5 บาท จนครบกำหนดการชำระหนี้ให้กองทุนประมาณเดือนพฤศจิกายน 2553
4.2.2 มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาแนวทางการยกเลิกอัตราการนำเงินเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายภายหลังจากครบกำหนดชำระหนี้ของกองทุน
4.2.3 มอบหมายกระทรวงพาณิชย์รับไปพิจารณาทบทวนรายการสินค้าที่ถูกควบคุมราคา รวมทั้งสินค้าที่ต้องติดตามภาวะและสถานการณ์อย่างใกล้ชิด (Watch List) ให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน โดยให้ภาคเอกชนเสนอเรื่องการขอปรับราคาสินค้า โดยเฉพาะสินค้าในหมวดเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์และน้ำอัดลม และหมวดผลิตภัณฑ์ที่ได้จากนม ให้กระทรวงพาณิชย์พิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน และรายงานคณะกรรรมการ กรอ. ทราบ
5. ความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Auction)
5.1 สาระสำคัญ กระทรวงการคลัง รายงานความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Auction) โดยกรมบัญชีกลางได้รับฟังปัญหาในการปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ กับส่วนราชการ (หน่วยงานกลาง และหน่วยปฏิบัติ) ภาคเอกชน และผู้ให้บริการตลาดกลางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อรวบรวมปัญหาในการปฏิบัติของแต่ละส่วน แล้วนำมาดำเนินการปรับปรุงแก้ไขระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ ดังกล่าว ซึ่งในขณะที่การแก้ไขระเบียบฯ ดังกล่าวยังไม่แล้วเสร็จ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2552 ให้มีมาตรการผ่อนผัน 6 มาตรการ ได้แก่
5.1.1 กรณีการจัดหาพัสดุในวงเงิน 2-5 ล้านบาท สำหรับส่วนราชการ และวงเงินไม่เกิน 10 ล้านบาท สำหรับรัฐวิสาหกิจ หากมีเหตุจำเป็นจะไม่ดำเนินการด้วยวิธี e-Auction ก็ได้
5.1.2 การจัดหาพัสดุในวงเงินไม่เกิน 10 ล้านบาท หรืองานก่อสร้างในโครงการที่มีแบบและข้อกำหนดในการก่อสร้างที่เป็นมาตรฐานไว้แล้ว จะแต่งตั้งคณะกรรมการร่างขอบเขตของงาน และร่างเอกสารประกวดราคาหรือไม่ก็ได้
5.1.3 ให้อำนาจหัวหน้าหน่วยงานในการแต่งตั้งคณะกรรมการประกวดราคา การคัดเลือกผู้ให้บริการตลาดกลาง และกำหนดวัน เวลา สถานที่เสนอราคา
5.1.4 การจัดหาพัสดุในวงเงินไม่เกิน 10 ล้านบาท จะมีกรรมการบุคคลภายนอกหรือไม่ก็ได้ และกรณีวงเงินเกิน 10 ล้านบาทขึ้นไป ต้องมีกรรมการบุคคลภายนอก อย่างน้อยหนึ่งคน
5.1.5 กรณีมีผู้มีสิทธิเสนอราคาเพียงรายเดียว หากมีเหตุผลสมควร ก็ให้คณะกรรมการฯ ต่อรองราคากับผู้มีสิทธิเสนอราคารายนั้นแล้วเสนอหัวหน้าหน่วยงานพิจารณา โดยไม่ต้องยกเลิกการประกวดราคา
5.1.6 กรณีการจัดหาพัสดุในวงเงินไม่เกิน 10 ล้านบาท หน่วยงานได้ดำเนินการจัดหาตามระเบียบฯ ข้อ 9 (1) (2) (3) และ (4) แล้ว กรณีไม่มีผู้เข้าเสนอราคา มีผู้มีสิทธิเสนอราคารายเดียว หรือมีผู้มีสิทธิเสนอราคาเพียงรายเดียว ให้หน่วยงานดำเนินการจัดหาด้วยวิธีการอื่น ตามระเบียบหรือข้อบังคับว่าด้วยการพัสดุของหน่วยงานนั้นๆ ได้ โดยไม่ต้องขออนุมัติจากคณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (กวพ.อ.)
นอกจากนี้ ได้พิจารณาขั้นตอนการปฏิบัติเพื่อให้มีประสิทธิภาพเพิ่มเติมอีก 4 เรื่อง ซึ่งเป็นมาตรการแก้ไขปัญหาในระยะปานกลาง ได้แก่ (1) กรณีการจัดหาพัสดุในวงเงินเกิน 10 ล้านบาท ให้ดำเนินการ ณ ตลาดกลาง และกรณีวงเงินต่ำกว่า 10 ล้านบาท ไม่จำเป็นต้องดำเนินการคัดเลือก ณ ตลาดกลาง (2) ให้นำร่างขอบเขตของงานและร่างเอกสารประกวดราคาเผยแพร่ทางเว็บไซต์เป็นเวลา 3 วัน (3) หน่วยงานสามารถดำเนินการจัดซื้อจัดหาต่อไปได้ โดยไม่ต้องรอให้กระบวนการอุทธรณ์เสร็จสิ้น (4) ลดมูลค่าของหลักประกันซอง ลงจากร้อยละ 5 เหลือร้อยละ 2.5 ของวงเงินจัดหาพัสดุหรือโครงการในครั้งนั้นๆ
5.2 มติคณะกรรมการ กรอ.
รับทราบความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Auction) และมอบหมายกระทรวงการคลัง (กรมบัญชีกลาง) รับไปศึกษาทบทวนหลักการของการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Auction) โดยพิจารณาถึงหลักการและประเภทสินค้า/โครงการที่ควรจะใช้ระบบ e-Auction และประเมินผลการดำเนินงานก่อนและหลังการใช้ระบบ e—Auction โดยให้พิจารณาราคาประมูลเทียบกับราคากลางด้วย ทั้งนี้ ให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน แล้วนำเสนอคณะกรรมการ กรอ. ต่อไป
6. ความคืบหน้าการศึกษาแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมและชุมชนอย่างยั่งยืน
6.1 สาระสำคัญ สศช. รายงานความคืบหน้าการศึกษาแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมและ ชุมชนอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 25 สิงหาคม 2552 ที่ได้มอบหมายให้ สศช. พิจารณาทบทวนภารกิจของคณะกรรมการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ โดยรวมข้อเสนอของภาคเอกชนเรื่องการจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมและชุมชนอย่างยั่งยืน ให้ครอบคลุมมิติการพัฒนาอุตสาหกรรม สิ่งแวดล้อม และชุมชน และต่อมาวันที่ 30 กันยายน 2552 คณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (รศก.) มีมติให้ สศช. ทบทวนองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการพัฒนาเขตอุตสาหกรรมนิเวศน์ ให้ครอบคลุมการพัฒนาอุตสาหกรรมของไทยในภาพรวม และมีความคล่องตัวในการดำเนินงาน พร้อมทั้งให้ศึกษาทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจและภาคอุตสาหกรรมของประเทศ เชื่อมโยงกับการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจ รวมถึงภาคเกษตรและการท่องเที่ยวด้วย ทั้งนี้ สศช. ได้ดำเนินการตามที่ได้รับมอบหมายโดยได้กำหนดขอบเขตการศึกษาและแนวทางการดำเนินงานหลักๆ ดังนี้
6.1.1 ศึกษาและทบทวนทิศทางการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมไทยโดยจะพิจารณาทั้งในระดับอุตสาหกรรมต้นน้ำและปลายน้ำ
6.1.2 ศึกษาแนวทางการพัฒนาพื้นที่/เมืองอุตสาหกรรมนิเวศน์ โดยจะขยายขอบเขตการศึกษาให้ครอบคลุมภาคเกษตร และบริการโดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว
6.1.3 จัดประชุมระดมความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งภาคเอกชนและภาคประชาสังคม ซึ่งในส่วนของภาคเอกชนได้จัดประชุมเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2552 และสำหรับภาคประชาสังคมได้จัดประชุมเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2552
6.2 มติคณะกรรมการ กรอ.
รับทราบความก้าวหน้าการศึกษาแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมและชุมชนอย่างยั่งยืน
7. ความคืบหน้าการฟ้องร้องต่อศาลปกครองเพื่อบังคับให้รัฐต้องปฏิบัติตามกฎหมายทุกขั้นตอนตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 67
7.1 สาระสำคัญ สศช. รายงานความคืบหน้าการฟ้องร้องต่อศาลปกครองเพื่อบังคับให้รัฐต้องปฏิบัติตามกฎหมายทุกขั้นตอนตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 67 โดยรายงานถึงความเป็นมา ดังนี้
7.1.1 เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องสืบเนื่องมาจากคำสั่งศาลปกครองกลางเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2552 ที่กำหนดมาตรการหรือวิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์เป็นการชั่วคราวก่อนการพิพากษา โดยให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 8 สั่งระงับโครงการหรือกิจกรรม จำนวน 76 โครงการ โดยในวันที่ 30 กันยายน 2552 คณะกรรมการ รศก. ได้มีการพิจารณาเรื่องนี้และมีมติมอบหมายกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นหน่วยงานหลักในการอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองกลาง และให้ตรวจสอบโครงการของผู้ประกอบการทั้งหมดที่ได้รับใบอนุญาตแล้ว รวมทั้งประเมินผลกระทบจากคำพิพากษาของศาลปกครองกลางแล้วนำเสนอคณะกรรมการ รศก. ต่อไป
7.1.2 ต่อมาวันที่ 8 ตุลาคม 2552 นายกรัฐมนตรีได้ประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาหรือบรรเทาผลกระทบจากคำสั่งศาลปกครองกลาง เป็นกรณีเร่งด่วน โดยมีมติให้นำร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ฉบับที่... (พ.ศ. ....) ที่ผ่านความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้วเสนอต่อคณะรัฐมนตรีในวันที่13 ตุลาคม 2552 ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบหลักการร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (กำหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณารายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง) ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานด้านนิติบัญญัติตรวจพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป
7.2 มติคณะกรรมการ กรอ.
รับทราบความคืบหน้าการฟ้องร้องต่อศาลปกครองเพื่อบังคับให้รัฐต้องปฏิบัติตามกฎหมายทุกขั้นตอนตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 67 และมอบหมายกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รับไปปรับปรุงร่างประกาศของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยให้บูรณาการเรื่องร่างหลักเกณฑ์ และวิธีการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพของสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติไว้ในกระบวนการเดียวกัน แล้วให้นำเสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เพื่อพิจารณาในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2552
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 27 ตุลาคม 2552 --จบ--