การค้าระหว่างประเทศของไทยในระยะ 8 เดือนของปี 2552 (มกราคม-สิงหาคม)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 28, 2009 15:42 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงพาณิชย์รายงานภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยระยะ 8 เดือน ปี 2552 (มกราคม-สิงหาคม) ดังนี้

1. การส่งออก

1.1 การส่งออกเดือนสิงหาคม 2552

1.1.1 การส่งออก มีมูลค่า 13,280.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สูงสุดในรอบ 8 เดือน เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนสิงหาคม 2551 ลดลงร้อยละ 18.4 แต่ดีขึ้นจากเดือนกรกฎาคมร้อยละ 2.9 ในรูปเงินบาทการส่งออกมีมูลค่า 448,629.6 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 16.8 แต่ดีขึ้นจากเดือนกรกฎาคมร้อยละ 2.5

1.1.2 สินค้าส่งออก การส่งออกสินค้าเกษตร/อุตสาหกรรมเกษตรสำคัญลดลงร้อยละ 22.3 เมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคมของปี 2551 สินค้าอุตสาหกรรมสำคัญลดลงร้อยละ 14.8 แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคมร้อยละ 5.5 และสินค้าอื่น ๆ ลดลงร้อยละ 27.3

สินค้าสำคัญที่ส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 64.1 และ 10.3 ตามลำดับ กุ้งแช่แข็งและแปรรูป ปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.7 และ 3.2 ตามลำดับ ผัก ผลไม้สด แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 60.0 และ 26.8 ตามลำดับ ไก่แช่แข็งและแปรรูป ปริมาณเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 แต่มูลค่าลดลงร้อยละ 15.1 และสินค้าอุตสาหกรรม ได้แก่ อัญมณี เพิ่มขึ้นร้อยละ 40.6 (เป็นการส่งออกทองคำที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 1,451) เครื่องสำอาง เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.7 สิ่งพิมพ์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.3 ผลิตภัณฑ์เภสัช เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.8 เป็นต้น

1.1.3 ตลาดส่งออก การส่งออกไปตลาดหลักลดลงร้อยละ 26.3 ขณะที่ตลาดใหม่ปรับตัวดีขึ้นมาก โดยลดลงเพียงร้อยละ 9.7 โดยเฉพาะออสเตรเลียและจีน ที่ส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.7 และ 1.2 ตามลำดับ

1.2 การส่งออกในระยะ 8 เดือนของปี 2552 (ม.ค.-ส.ค.)

1.2.1 การส่งออก มีมูลค่า 94,396.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 23.1 ในรูปเงินบาทการส่งออกมีมูลค่า 3,259,426.8 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 18.1

1.2.2 สินค้าส่งออก สินค้าเกษตร/อุตสาหกรรมเกษตรสำคัญลดลงร้อยละ 23.1 สินค้าอุตสาหกรรมสำคัญลดลงร้อยละ 22.1 และสินค้าอื่น ๆ ลดลงร้อยละ 30.7

(1) สินค้าเกษตร/อุตสาหกรรมเกษตรสำคัญ ส่วนใหญ่ส่งออกลดลงตามความต้องการในตลาด โลกที่ลดลง การแข่งขันที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ลูกค้าชะลอการสั่งซื้อและมีการต่อรองราคามากขึ้น ได้แก่ ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง อาหารทะเลแช่แข็งกระป๋องและแปรรูป (ไม่รวมกุ้ง) ไก่แช่แข็งและแปรรูป และผัก ผลไม้สด แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป รวมทั้งน้ำตาล ที่ส่งออกเพิ่มขึ้นในช่วงต้นปีก็กลับมาส่งออกลดลงต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นมา ขณะที่การส่งออกกุ้งแช่แข็งและแปรรูป ยังขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

(2) สินค้าอุตสาหกรรมสำคัญ ส่วนใหญ่ส่งออกลดลง

  • สินค้าที่ส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ อัญมณี เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.7 (เป็นการส่งออกทองคำที่เพิ่ม ขึ้นถึงร้อยละ 117.3) ผลิตภัณฑ์เภสัช/เครื่องมือแพทย์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.9
  • สินค้าที่ส่งออกลดลง ได้แก่ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์และส่วน ประกอบ เม็ดและผลิตภัณฑ์พลาสติก วัสดุก่อสร้าง เฟอร์นิเจอร์ เลนส์ สิ่งทอ ผลิตภัณฑ์ยาง สิ่งพิมพ์ เครื่องเดิน ทางและเครื่องหนัง เครื่องสำอาง เครื่องใช้เครื่องประดับตกแต่ง เป็นต้น

(3) สินค้าอื่นๆ ลดลงร้อยละ 30.7 สินค้าสำคัญที่ลดลงในอัตราสูงได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป น้ำมันดิบ และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบลดลงร้อยละ 43.9, 44.2 และ 30.9 ตามลำดับ

1.2.3 ตลาดส่งออก การส่งออกไปตลาดหลักลดลงร้อยละ 30.4 และตลาดใหม่ลดลงร้อยละ 15.4 ทำให้สัดส่วนการส่งออกไปตลาดใหม่เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 53.0 ขณะที่สัดส่วนการส่งออกไปตลาดหลักลดลงเป็นร้อยละ 47.0

(1) ตลาดหลัก ส่งออกลดลงในทุกตลาด คือ อาเซียน(5) สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 33.7, 31.7, 28.4 และ 25.7 ตามลำดับ

(2) ตลาดใหม่ ส่งออกลดลงทุกตลาด ได้แก่ ลาตินอเมริกา(ร้อยละ 38.5) ไต้หวัน(29.9) ยุโรปตะวันออก(ร้อยละ 32.0) เกาหลีใต้(ร้อยละ 26.9) อินโดจีน(ร้อยละ 19.0) ฮ่องกง(ร้อยละ 17.4) จีน(ร้อยละ 16.3) ตะวันออกกลาง(ร้อยละ 15.8) ออสเตรเลีย(ร้อยละ 11.7) แคนาดา(ร้อยละ 13.4) อินเดีย (ร้อยละ 11.2) และ แอฟริกา(ร้อยละ 9.7)

2. การนำเข้า

2.1 การนำเข้าเดือนสิงหาคม 2552

2.1.1 การนำเข้า มูลค่า 11,201.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เทียบกับระยะเดียวกันของปีที่ผ่านมา ลดลงร้อยละ 32.58 และเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา ลดลงร้อยละ 8.2 คิดในรูปเงินบาทมีมูลค่า 382,643.4 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 31.5

2.1.2 สินค้านำเข้า สินค้านำเข้าสำคัญส่วนใหญ่มีการนำเข้าลดลงดังนี้

(1) สินค้าเชื้อเพลิง นำเข้ามูลค่า 1,939.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 50.9 สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่น้ำมันดิบ นำเข้าปริมาณ 21.1 ล้านบาร์เรล (681,550 บาร์เรลต่อวัน) มูลค่า 1,493.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปริมาณและมูลค่า ลดลงร้อยละ 10.4 และร้อยละ 52.4 ตามลำดับ

(2) สินค้าทุน นำเข้ามูลค่า 3,112.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 9.5 สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ลดลงร้อยละ 24.0 เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ลดลง ร้อยละ 4.9 เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ลดลง ร้อยละ 1

(3) สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป นำเข้ามูลค่า 4,618.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 38.7 สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ อุปกรณ์ส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ลดลงร้อยละ 8.6 เคมีภัณฑ์ ลดลงร้อยละ 27.8 ทองคำ ปริมาณและมูลค่า ลดลงร้อยละ 82.4 และ 80.9 ตามลำดับ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ปริมาณและมูลค่า ลดลงร้อยละ 36.3 และ 56.1 ตามลำดับ

(4) สินค้าอุปโภคบริโภค นำเข้ามูลค่า 1,138.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 10.1 สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน ลดลงร้อยละ 0.1 เครื่องใช้เบ็ดเตล็ด ลดลงร้อยละ 16.8 ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม ซึงเป็นสินค้าที่ยังจำเป็นต่อสุขภาพ ลดลงร้อยละ 3.2

(5) สินค้ายานพาหนะและอุปกรณ์ นำเข้ามูลค่า 374.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 19.9 สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ ลดลงร้อยละ 12.2 ส่วนประกอบและอุปกรณ์จักรยานยนต์และรถจักรยาน ลดลง ร้อยละ 20.7 รถยนต์นั่ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 รถยนต์โดยสารและรถบรรทุก ลดลงร้อยละ 68.6

2.2 การนำเข้าในระยะ 8 เดือนของปี 2552 (ม.ค.-ส.ค.)

2.2.1 การนำเข้า มูลค่า 80,619.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เทียบกับระยะเดียวกันของปี 2551 ลดลงร้อยละ 34.6

2.2.2 สินค้านำเข้าสำคัญ

(1) สินค้าเชื้อเพลิง นำเข้ามูลค่า 14,436.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 45.0 เป็นการนำเข้าน้ำมันดิบปริมาณ 194.6 ล้านบาร์เรล เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.12 มูลค่า 10,929.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 50.1

(2) สินค้าทุน นำเข้ามูลค่า 22,803.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 22.6 เป็นการนำเข้าเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ลดลงร้อยละ 20.8 เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ลดลงร้อยละ 22.8 เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ลดลงร้อยละ 22.2

(3) สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป มูลค่า 32,290.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 39.4 เป็นการนำเข้าอุปกรณ์ส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ลดลงร้อยละ 24.9 เคมีภัณฑ์ ลดลงร้อยละ 40.5 เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ลดลงร้อยละ 60.4 เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ ลดลงร้อยละ 37.0 โดยเป็นการนำเข้า ทองคำ ลดลงร้อยละ 31.1

(4) กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค มูลค่า 8,410.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 17.1 เป็นการนำเข้าเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน ลดลงร้อยละ 16.1 เครื่องใช้เบ็ดเตล็ด ลดลงร้อยละ 21.1 ผลิตภัณฑ์เวชภัณฑ์และเภสัช ลดลงร้อยละ 6.9

(5) กลุ่มสินค้ายานพาหนะและอุปกรณ์ขนส่ง มูลค่า 2,480.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 33.1 เป็นการนำเข้าส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ ลดลงร้อยละ 35.2

3. ดุลการค้า

3.1 ดุลการค้าเดือนสิงหาคม 2552 ไทยเกินดุลการค้า 2,079.4 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อคิดในรูปเงินบาท ไทยเกินดุล การค้ามูลค่า 65,986.2 ล้านบาท

3.2 ดุลการค้าในระยะ 8 เดือนของปี 2552 (ม.ค.-ส.ค.)

ไทยเกินดุลการค้า 13,776.8 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อคิดในรูปเงินบาท ไทยเกินดุลการค้ามูลค่า 446,824.9 ล้านบาท

4. ข้อสังเกต

4.1 เมื่อพิจารณาการส่งออกเป็นรายเดือนจะเห็นได้ว่ามูลค่าการส่งออกมีแนวโน้มที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นมา โดยจะเห็นได้จากมูลค่าการส่งออกในแต่ละเดือนที่เพิ่มสูงขึ้นจากเดือนที่ผ่านมา และคาดว่าการส่งออกในระยะต่อไปจะมีแนวโน้มที่ปรับตัวดีขึ้นเป็นลำดับ เนื่องจากภาวะการค้าของตลาดส่งออกสำคัญเริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้น ประกอบกับสต็อกของผู้นำเข้าในต่างประเทศที่ลดลง ทำให้ผู้ซื้อในต่างประเทศเริ่มกลับมาซื้อมากขึ้น

อัตราการขยายตัวของมูลค่าส่งออก เทียบกับเดือนที่ผ่านมา (ร้อยละ)

                    พฤษภาคม             11.8
                    มิถุนายน               5.8
                    กรกฎาคม              4.6
                    สิงหาคม               2.9

4.2 มูลค่าการส่งออกไปยังแต่ละตลาด ก็มีทิศทางและแนวโน้มที่ดีขึ้นเช่นเดียวกับการส่งออกสินค้า กล่าวคือมูลค่าการส่งออกไปยังตลาดสำคัญมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นมา โดยเฉพาะในตลาดใหม่ ได้แก่ จีน ตะวันออกกลาง ออสเตรเลีย ฮ่องกง แคนาดา แอฟริกา ยุโรปตะวันออก อินโดจีน อินเดีย และลาตินอเมริกา รวมทั้งในตลาดหลักที่สำคัญ เช่นสหรัฐฯ ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และอาเซียน (5)

4.3 การนำเข้าในเดือนสิงหาคม 2552 ลดลง โดยสินค้าเชื้อเพลิง ลดลงเนื่องจากราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลงจากระยะเดียวกันของปีที่ผ่านมาค่อนข้างมากถึงร้อยละ 46.9 ประกอบกับเกิดปัญหาขัดข้องในระบบส่งก๊าซธรรมชาติจากพม่า ทุน ลดลงเนื่องจากการชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบกับต้นปี แนวโน้มการลงทุนเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล วัตถุดิบ/กึ่งสำเร็จรูป ลดลงเนื่องจากความต้องการวัตถุดิบเพื่อการผลิตสินค้าสำหรับส่งออกที่ลดลงตามภาวะวิกฤตเศรษฐกิจในตลาดส่งออก

4.4 แม้ว่าภาวะตลาดโลกมีการแข่งขันสูงแต่ละประเทศมีการนำเข้าลดลง แต่สินค้าไทยยังคงสามารถรักษาส่วนแบ่งตลาด (Market Share) ในตลาดที่สำคัญ ๆ ได้และยังขยายส่วนแบ่งสินค้าไทยในตลาดโลกได้เพิ่มขึ้น เช่น

ส่วนแบ่งตลาดของไทยในตลาดส่งออกสำคัญ (ร้อยละ)

ปี 2551 ปี 2552

                 - สหรัฐฯ             1.12      1.18  (มค.-กค.)
                 - ญี่ปุ่น               2.73      2.89  (มค.-กค.)
                 - สหภาพยุโรป         0.96      1.02  (มค.-พค.)
                 - จีน                2.27      2.44  (มค.-กค.)
                 - ฮ่องกง             2.27      2.62  (มค.-กค.)
                 - ออสเตรเลีย         4.52      5.42  (มค.-มิย.)
                 - แคนาดา            0.58      0.61  (มค.-กค.)
                 - ไต้หวัน             1.35      1.63  (มค.-มิย.)
                 - อินเดีย             0.89      1.14  (มค.-กพ.)

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 27 ตุลาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ