เรื่อง สรุปสถานการณ์อุทกภัยเนื่องจากอิทธิพลของพายุ “กิสนา (KETSANA)” และหย่อมความกดอากาศต่ำ
(ระหว่างวันที่ 29 กันยายน - 26 ตุลาคม 2552)
คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ติดตามสถานการณ์อุทกภัยเนื่องจากอิทธิพลของพายุ “กิสนา” และหย่อมความกดอากาศต่ำ ระหว่างวันที่ 29 กันยายน- 26 ตุลาคม 2552 โดยสรุปสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้น รวมทั้งผลการปฏิบัติงานช่วยเหลือประชาชน ในห้วงเวลาดังกล่าว ดังนี้
1. สรุปสถานการณ์อุทกภัยเนื่องจากอิทธิพลของพายุ “กิสนา (KETSANA)” และหย่อมความกดอากาศต่ำ (ระหว่างวันที่ 29 กันยายน - 26 ตุลาคม 2552)
1.1 พื้นที่ประสบภัย 36 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกำแพงเพชร ลำปาง พิษณุโลก พิจิตร เชียงใหม่ ตาก สุโขทัย ลำพูน เพชรบูรณ์ อุทัยธานี นครสวรรค์ แม่ฮ่องสอน เลย ศรีสะเกษ ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี ชัยภูมิ กาฬสินธุ์ บุรีรัมย์ นครราชสีมา ยโสธร สุรินทร์ มุกดาหาร ขอนแก่น ชัยนาท ลพบุรี สิงห์บุรี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สมุทรปราการ นครปฐม กาญจนบุรี ปทุมธานี จันทบุรี ระยอง และระนอง) รวม 207 อำเภอ 1,221 ตำบล 9,140 หมู่บ้าน มีผู้เสียชีวิต 1 คน (จ.ลำปาง) ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 1,783,245 คน 437,723 ครัวเรือน บ้านเรือนเสียหายทั้งหลัง 16 หลัง เสียหายบางส่วน 2,218 หลัง ถนน 2,539 สาย สะพาน 104 แห่ง บ่อปลา/กุ้ง 3,069 บ่อ ปศุสัตว์ 15,889 ตัว สัตว์ปีก 33,007 ตัว พื้นที่การเกษตรถูกน้ำท่วมเบื้องต้นประมาณ 1,366,659 ไร่ มูลค่าความเสียหายอยู่ระหว่างการสำรวจ
1.2 ตารางสรุปความเสียหายจากพายุ “กิสนา” และหย่อมความกดอากาศต่ำ(ระหว่างวันที่ 29 กันยายน - 26 ตุลาคม 2552)
ลำดับที่ ประเภทความเสียหาย จำนวนความเสียหาย 1 พื้นที่ประสบอุทกภัย 36 จังหวัด (กำแพงเพชร ลำปาง พิษณุโลก พิจิตร
เชียงใหม่ ตาก สุโขทัย ลำพูน เพชรบูรณ์ อุทัยธานีนครสวรรค์
แม่ฮ่องสอน เลย ศรีสะเกษ ร้อยเอ็ดอุบลราชธานี ชัยภูมิ กาฬสินธุ์
บุรีรัมย์ นครราชสีมา ยโสธร สุรินทร์ มุกดาหาร ขอนแก่น ชัยนาท
ลพบุรีสิงห์บุรี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สมุทรปราการนครปฐม
กาญจนบุรี ปทุมธานี จันทบุรี ระยอง ระนอง) รวม 207 อำเภอ
1,221 ตำบล 9,140 หมู่บ้าน
2 ประชาชนได้รับความเดือดร้อน 1,783,245 คน 437,723 ครัวเรือน 3 ผู้เสียชีวิต 1 คน (อ.แม่พริก จ.ลำปาง) 4 บาดเจ็บ - 5 บ้านเรือนเสียหายทั้งหลัง 16 หลัง 6 บ้านเรือนเสียหายบางส่วน 2,218 หลัง 7 ถนนเสียหาย 2,539 สาย 8 สะพาน 104 แห่ง 9 บ่อปลา/กุ้ง 3,069 บ่อ 10 ปศุสัตว์ 15,889 ตัว 11 สัตว์ปีก 33,007 ตัว 12 พื้นที่การเกษตรถูกน้ำท่วมเบื้องต้นประมาณ 1,366,659 ไร่ มูลค่าความเสียหายเบื้องต้น อยู่ระหว่างการสำรวจ
1.3 สถานการณ์ปัจจุบัน คลี่คลายเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว 34 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกำแพงเพชร ลำปาง พิษณุโลก พิจิตร เชียงใหม่ ตาก สุโขทัย ลำพูน เพชรบูรณ์ อุทัยธานีนครสวรรค์ แม่ฮ่องสอน เลย ศรีสะเกษ ร้อยเอ็ด ชัยภูมิ กาฬสินธุ์ บุรีรัมย์ นครราชสีมา ยโสธร สุรินทร์ มุกดาหาร ชัยนาท ลพบุรี สิงห์บุรี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สมุทรปราการ นครปฐม กาญจนบุรี ปทุมธานี จันทบุรี ระยอง และจังหวัดระนอง
ปัจจุบัน (26 ตุลาคม 2552) ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 2 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดขอนแก่น และจังหวัดอุบลราชธานี ดังนี้
1) จังหวัดขอนแก่น น้ำจากจังหวัดชัยภูมิได้ไหลเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มน้ำชีตอนบนเหนือฝายชนบท ท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำการเกษตร ของอำเภอโคกโพธิ์ชัย แวงน้อย แวงใหญ่ บ้านไผ่ และอำเภอบ้านแฮด ระดับน้ำลดลง คาดว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 1-2 วัน
2) จังหวัดอุบลราชธานี มีน้ำท่วมขังในพื้นที่อำเภอเมือง (เทศบาลนครอุบลราชธานี 17 ชุมชน 401 ครัวเรือน 1,665 คน) อำเภอวารินชำราบ (เทศบาลเมืองวารินชำราบ 11 ชุมชน 389 ครัวเรือน 1,335 คน) ระดับน้ำมูลที่สะพานเสรีประชาธิปไตย (M.7) ลดลงตามลำดับ โดยมีน้ำท่วมพื้นที่การเกษตรที่ราบลุ่มของลำเซบก ลำเซบาย ลำโดมใหญ่ ลำชี และลำมูล ในเขตอำเภอเขื่องใน ดอนมดแดง เดชอุดม และอำเภอเมือง คาดว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 1-2 วัน
อนึ่ง จังหวัดลำปาง เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2552 เวลาประมาณ 02.00 น. มีฝนตกหนักต่อเนื่องทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมในพื้นที่ อำเภอเมืองปาน 3 ตำบล ได้แก่ ตำบลแจ้ซ้อน (หมู่ที่ 1,3,4,5,6,9) ตำบลบ้านขอ (หมู่ที่ 1,12) และตำบลเมืองปาน (หมู่ที่ 1,2,3,5,9) ปัจจุบันสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ทั้งนี้ จังหวัด สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งให้ความช่วยเหลือในเบื้องต้นแล้ว
2. การให้ความช่วยเหลือ
2.1 สิ่งของพระราชทานผู้ประสบภัยพายุ “กิสนา” และหย่อมความกดอากาศต่ำ
1) มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เดินทางไปมอบสิ่งของพระราชทาน ที่จังหวัดมหาสารคาม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ บุรีรัมย์ อุบลราชธานี ชุมพร ลำพูน ลำปาง ตาก อุทัยธานี ชัยนาท พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สมุทรปราการ และจังหวัดกาญจนบุรี จำนวน 29,560 ชุด
2) สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สภานายิกาสภากาชาดไทยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้เลขาธิการสภากาชาดไทย มอบชุดธารน้ำใจสภากาชาดไทย ที่จังหวัดนครราชสีมา อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา นครสวรรค์ และจังหวัดสมุทรปราการ จำนวน 3,670 ชุด ยาสามัญประจำบ้านและยาแก้น้ำกัดเท้า จำนวน 2,000 ชุด และน้ำดื่ม จำนวน 32,040 ขวด
3) สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร และพระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ให้ พล.อ.อ.โยธิน ประยูรโภคราช ประธานที่ปรึกษา กองงานพระวรชายาฯ เป็นผู้แทนพระองค์มอบถุงยังชีพและสิ่งของพระราชทาน ที่จังหวัดสุโขทัย และจังหวัดกาญจนบุรี จำนวน 2,000 ชุด
4) สำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย มอบชุดธารน้ำใจฯ พระราชทาน ที่จังหวัดชัยนาท ลำปาง ศรีสะเกษ ตาก บุรีรัมย์ อุทัยธานี สุรินทร์ อุบลราชธานี และจังหวัดนครสวรรค์ จำนวน 9,121 ชุด ยาสามัญประจำบ้าน จำนวน 2,860 ชุด น้ำดื่ม 33,874 ขวด เสื้อยืดแขนสั้น จำนวน 2,000 ตัว และหม้อ MEYER 12 ชุด
5) พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ (นายกกิตติมศักดิ์ตลอดชีพ) และพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ประธานมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก ทรงโปรดให้นายอภัย จันทนจุลกะ รองประธานมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก เป็นผู้แทนพระองค์ มอบถุงพระราชทาน พร้อมตรวจเยี่ยมและจัดรถประกอบอาหารเคลื่อนที่แจกจ่ายแก่ราษฎรที่ประสบอุทกภัย ที่จังหวัดสุโขทัย อ่างทอง และจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จำนวน 2,596 ชุด และกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2552 มอบถุงยังชีพพระราชทาน ที่โรงเรียนวัดเทวราชกุญชร แขวงวชิระ เขตดุสิต จำนวน 100 ชุด
2.2 การให้ความช่วยเหลือของจังหวัดที่ประสบภัย สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้ให้ความช่วยเหลือแก่ราษฎรที่ประสบภัยในเบื้องต้นแล้ว พร้อมทั้งได้ระดมเจ้าหน้าที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสำรวจความเสียหายเพื่อให้ความช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการฯ (งบ 50 ล้านบาท) ต่อไป
3. การคาดหมายลักษณะอากาศระหว่างวันที่ 25-31 ตุลาคม 2552
3.1 กรมอุตุนิยมวิทยา คาดหมายลักษณะอากาศว่า ในช่วงวันที่ 25-26 ตุลาคม 2552 บริเวณความกดอากาศสูงที่ปกคลุมประเทศไทยมีกำลังอ่อนลง แต่ยังคงทำให้ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า ส่วนหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมประเทศกัมพูชาและเวียดนามตอนใต้ ทำให้บริเวณภาคตะวันออกและภาคใต้ มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ส่วนในช่วงวันที่ 27-31 ตุลาคม 2552 บริเวณความกดอากาศสูงกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนระลอกใหม่จะแผ่เข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวจะมีอุณหภูมิลดลง 2-4 องศาเซลเซียส ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันจะมีกำลังแรงขึ้น โดยมีคลื่นสูง 1-2 เมตร
3.2 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้แจ้งเตือนเกี่ยวกับสภาวะอากาศให้จังหวัดใน ภาคกลาง และภาคตะวันออก เตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย และ ดินถล่ม อันเกิดจากสภาวะฝนตกหนัก อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินถล่มแล้ว และให้ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ในพื้นที่ อย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งเตรียมเครื่องมืออุปกรณ์ไว้ให้พร้อมเพื่อสามารถช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ทันต่อเหตุการณ์เมื่อเกิดสาธารณภัยขึ้น
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 27 ตุลาคม 2552 --จบ--