แผนปฏิบัติการรองรับการเดินทางของประชาชนช่วงเทศกาลลอยกระทง ปี 2552 กระทรวงคมนาคม

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 28, 2009 16:25 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงคมนาคมรายงานแผนปฏิบัติการรองรับการเดินทางของประชาชนช่วงเทศกาลลอยกระทง ปี 2552 กระทรวงคมนาคม ดังนี้

ด้วยในช่วงเทศกาลลอยกระทงจะมีประชาชนจำนวนมากไปร่วมกิจกรรมและประเพณีที่จัดขึ้นในแต่ละท้องถิ่น ซึ่งกิจกรรมส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นที่แม่น้ำ ลำคลอง ตามแนวชายฝั่ง และแหล่งชุมชนเมือง การเดินทางของประชาชนเข้าร่วมกิจกรรม และรูปแบบของกิจกรรม อาจส่งผลกระทบก่อให้เกิดปัญหาที่คาดไม่ถึง เช่น ปัญหาอุบัติเหตุจากการเดินทาง ปัญหาการจราจรติดขัด ปัญหาอุบัติเหตุทางน้ำ โป๊ะเทียบเรือล่ม ปัญหาการพลัดตก/ลื่นไถล และอุบัติเหตุจากการจัดกิจกรรมการแสดงต่างๆ ในเทศกาล เช่น ปัญหาจากโคมลอย พลุไฟ ประทัด และดอกไม้เพลิง โดยเฉพาะปัญหาโคมลอย ซึ่งปัจจุบันประเพณีการปล่อยโคมได้เปลี่ยนรูปแบบไปจากเดิม มีการพัฒนาโคมให้สามารถลอยอยู่ในอากาศได้นานและสูงขึ้นในระดับทำการบิน จนอาจเป็นอันตรายต่ออากาศยาน ก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัยต่อเครื่องบิน ตลอดจนชีวิตและทรัพย์สินของผู้โดยสารได้

กระทรวงคมนาคมได้จัดทำแผนปฏิบัติการรองรับการเดินทางของประชาชนช่วงเทศกาลลอยกระทง ปี 2552 ขึ้นเพื่อตอบสนองต่อนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล เช่น ภาคอุตสาหกรรม ในเรื่องมาตรฐานความปลอดภัย ภาคการท่องเที่ยวและบริการ ในเรื่องมาตรฐานการเดินทางด้านความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว และนโยบายการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพความปลอดภัยในการเดินทาง โดยแผนปฏิบัติการฯ นี้ ได้กำหนดจัดให้บริการและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนให้มีความปลอดภัยในการเดินทางและการเข้าร่วมกิจกรรมลอยกระทง และได้กำหนดเป้าหมายไว้ ดังนี้

1. เป้าหมาย

1.1 การจัดให้บริการและอำนวยความสะดวกอย่างเพียงพอ รวมถึงการจัดเตรียมมาตรการรองรับเพื่อบรรเทาและแก้ไขปัญหาโดยทันทีและเร่งด่วน กรณีเกิดสถานการณ์ไม่ปกติ

1.2 ไม่มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางน้ำและความสูญเสียจากประชาชนที่ร่วมประเพณีลอยกระทง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากเรือโดยสารและท่าเรือในความรับผิดชอบของกระทรวงคมนาคม

1.3 กำหนดแนวทางและมาตรการที่เหมาะสมสำหรับการปล่อยโคม เพื่อลดความเสี่ยงและป้องกันอันตรายร้ายแรงอันอาจจะกระทบต่อการบินและอากาศยาน และยังคงรักษาวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นไว้

1.4 ประชาชนมีความเชื่อมั่นในเขตพื้นที่และความรับผิดชอบของกระทรวงคมนาคมมีความมั่นคงและปลอดภัยสูงสุด

1.5 ไม่มีเหตุการณ์ก่อความไม่สงบเกิดขึ้นในพื้นที่ความรับผิดชอบของกระทรวงคมนาคม

2. หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมร่วมปฏิบัติงาน จำนวน 15 หน่วยงาน ได้แก่

กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี (ขน.) กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กรมการขนส่งทางอากาศ (ขอ.) กรมทางหลวง (ทล.) กรมทางหลวงชนบท (ทช.) สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) (บกท.) บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) และบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.)

3. แผนปฏิบัติการฯ เทศกาลลอยกระทง ปี 2552 ของกระทรวงคมนาคม ประกอบด้วย

3.1 แผนงานการให้บริการและอำนวยความสะดวก

กระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้หน่วยงานที่มีหน้าที่จัดให้บริการระบบขนส่งสาธารณะ และรับผิดชอบเส้นทาง เตรียมความพร้อมและจัดให้บริการและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ในการเดินทางและเข้าร่วมกิจกรรมในเทศกาลลอยกระทงอย่างเพียงพอ ดังนี้

3.1.1 ยานพาหนะและสถานีขนส่ง/ ท่ารถประจำทาง ขสมก./ สถานีรถไฟ/ สถานีรถไฟฟ้า

1) จัดเตรียมความพร้อมของสถานีขนส่ง/ท่ารถประจำทาง ขสมก. /สถานีรถไฟ ให้สามารถรองรับปริมาณผู้โดยสารที่เข้ามาใช้บริการให้ได้รับความสะดวก ปลอดภัย และเพียงพอ

2) จัดเตรียมรถโดยสาร รถประจำทาง รถร่วมบริการ รถโดยสารไม่ประจำทาง และขบวนรถไฟ ให้เพียงพอให้บริการประชาชน และจัดเที่ยววิ่งเสริมพิเศษสำหรับกรณีต้องการความสนับสนุนเพิ่มเติม

3) จัดเจ้าหน้าที่จราจรและอุปกรณ์เพื่ออำนวยความสะดวกในด้านการจราจรภายในพื้นที่ ประสานการปฏิบัติกับเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรพื้นที่ในการอำนวยความสะดวกทางเข้า-ออก รวมทั้งจัดเตรียมพื้นที่สำหรับจอดรถ

4) จัดเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ไว้บริการติดต่อสอบถาม และรับเรื่องร้องเรียนการให้บริการ

5) จัดเจ้าหน้าที่ดูแลรักษาความสะอาดพื้นที่

6) ให้ ขสมก.จัดเจ้าหน้าที่ประจำจุดบริการเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนบริเวณที่มีประชาชนผู้ใช้บริการอยู่หนาแน่น

7) ให้ ขสมก.จัดบริการเดินรถในเส้นทางสายหลักและเพิ่มเที่ยววิ่งที่ผ่านสถานที่จัดกิจกรรมและมีประชาชนใช้บริการเป็นจำนวนมากตลอด 24 ชั่วโมง

3.1.2 ถนน/ ทางพิเศษ/ สะพาน

1) ประชาสัมพันธ์การให้บริการและอำนวยความสะดวก และรับเรื่องร้องเรียนการให้บริการ

2) บำรุงรักษาทางหลวง ทางพิเศษ และสะพานให้อยู่ในสภาพดีและดูแลระบบจราจร เครื่องหมาย ป้าย สัญญาณไฟ ให้ใช้งานได้ตามปกติ

3) จัดให้มีศูนย์ประสานการปฏิบัติงานของหน่วยงาน เชื่อมโยงเครือข่าย ประสานการช่วยเหลือ บรรเทา และแก้ไขปัญหาการเดินทางให้แก่ประชาชน

4) กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท และการทางพิเศษแห่งประเทศไทยจัดเจ้าหน้าที่ประจำสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาในความรับผิดชอบ เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการจราจรให้แก่ประชาชน โดยเฉพาะในจุดที่มีประชาชนใช้เดินทางและร่วมจัดกิจกรรมลอยกระทงเป็นจำนวนมาก

5) กรมทางหลวงและการทางพิเศษแห่งประเทศไทยจัดเจ้าหน้าที่บริการเพิ่มเติมบริเวณด่านเก็บค่าผ่านทาง อำนวยการจราจรในเส้นทางพิเศษ เพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจทางด่วนให้บริการประชาชน ประชาสัมพันธ์การใช้เส้นทางพิเศษในการเดินทาง

3.1.3 ท่าอากาศยาน/ สนามบินและเครื่องบิน

1) จัดเจ้าหน้าที่จราจรและอุปกรณ์เพื่ออำนวยความสะดวกในด้านการจราจรภายในพื้นที่ ประสานการปฏิบัติกับเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรพื้นที่ในการอำนวยความสะดวกทางเข้า-ออกท่าอากาศยาน รวมทั้งจัดเตรียมพื้นที่สำหรับจอดรถ จัดให้มีรถสาธารณะไว้บริการ จัดเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ไว้บริการติดต่อสอบถาม รับเรื่องร้องเรียนการให้บริการ และเจ้าหน้าที่ดูแลรักษาความสะอาด

2) จัดเครื่องบินโดยสารให้เพียงพอกับความต้องการเดินทางของประชาชนในช่วงเทศกาล

3.1.4 การขนส่งและการจราจรทางน้ำ

1) กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี ได้จัดทำแผนรักษาการณ์ทางน้ำ และได้มีประกาศกำหนดเขตควบคุมการเดินเรือในแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงเทศกาลลอยกระทงประจำปี 2552 โดยกำหนดการเดินเรือในเขตควบคุมการจราจรทางน้ำ ระหว่างสะพานพระราม 7 ถึงสะพานพระราม 9 ในวันที่ 30 ตุลาคม ถึง 2 พฤศจิกายน 2552 เพื่ออำนวยความสะดวก ควบคุม ดูแลการเดินเรือและการใช้เรือ ตลอดจนดำเนินกิจกรรมต่างๆ ในเทศกาลลอยกระทง

2) กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวีจัดเจ้าหน้าที่ประจำท่าเทียบเรือ โป๊ะเทียบเรือ อำนวยความสะดวกและบริการประชาชนในการโดยสารเรือ และร่วมกิจกรรมลอยกระทง

3) กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวีร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กองทัพเรือ กรุงเทพมหานคร กองบังคับการตำรวจน้ำ สถานีตำรวจนครบาลที่รับผิดชอบพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา และมูลนิธิต่างๆ จัดเรือตรวจการณ์และเรือยนต์ อำนวยความสะดวกการจราจรทางน้ำ และพร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชน

4) ให้สำนักงานการขนส่งทางน้ำที่รับผิดชอบพื้นที่ส่วนภูมิภาคพิจารณาจัดทำแผนรักษาการณ์ทางน้ำ และออกประกาศคำสั่งเพื่อให้บริการและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการเดินทางและการเข้าร่วมกิจกรรมลอยกระทงตามแนวทางของกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี

3.2 แผนงานด้านความมั่นคง

กระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้หน่วยงานที่มีหน้าที่จัดให้บริการระบบขนส่งสาธารณะ และรับผิดชอบเส้นทางเข้มงวดและวางระบบการป้องกันพื้นที่ในความรับผิดชอบ ดังนี้

3.2.1 ยานพาหนะและสถานีขนส่ง/ ท่ารถประจำทาง ขสมก./ สถานีรถไฟ/ สถานีรถไฟฟ้า

จัดเจ้าหน้าที่คอยตรวจสอบดูแลพื้นที่สถานีขนส่ง/ ท่ารถประจำทาง/ สถานีรถไฟ และสถานีรถไฟฟ้า และบริเวณโดยรอบ พื้นที่จอดรถยนต์ ตรวจตรารถยนต์ที่เข้าไปในอาคารจอดรถ เข้มงวด กวดขัน กำชับเจ้าหน้าที่ตรวจ สังเกต เฝ้าระวังสิ่งผิดปกติ และเพิ่มความถี่ในการตรวจตรา เข้มงวดในการสังเกตบุคคล สัมภาระ ต้องสงสัย หรือที่ไม่มีผู้แสดงตัวเป็นเจ้าของ ประสานงานอย่างใกล้ชิดกับเจ้าหน้าที่ตำรวจพื้นที่ และประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือจากผู้ใช้บริการในการปฏิบัติงาน

3.2.2 ถนน/ ทางพิเศษ/ สะพาน

ทุกหน่วยงานที่รับผิดชอบเส้นทางและสะพาน โดยเพิ่มเติมเฉพาะเส้นทางและสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาในความรับผิดชอบที่มีประชาชนเดินทางและร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก จัดเจ้าหน้าที่ตรวจ สังเกต เฝ้าระวังพฤติกรรมบุคคลต้องสงสัย และสิ่งผิดปกติ หรือสิ่งของที่ไม่มีผู้แสดงตัวเป็นเจ้าของ รวมทั้งเข้มงวด กวดขัน กำชับเจ้าหน้าที่ และเพิ่มความถี่ในการตรวจในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง และให้ประสานงานอย่างใกล้ชิดกับเจ้าหน้าที่ตำรวจพื้นที่ กรณีเกิดเหตุฉุกเฉินร้ายแรงให้ปฏิบัติตามแผนฉุกเฉินที่มีและรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบโดยทันที

3.2.3 ท่าอากาศยาน/ สนามบินและเครื่องบิน

1) เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ตรวจตรารถยนต์ที่จอดตามแนวชานชลาอาคารที่พักผู้โดยสาร ที่จอดรถยนต์ ตรวจรถยนต์ที่เข้าไปจอดในอาคารจอดรถ เข้มงวด กวดขัน กำชับเจ้าหน้าที่ตรวจ สังเกต เฝ้าระวังสิ่งผิดปกติ และเพิ่มความถี่ในการตรวจตรา ในพื้นที่อาคารที่พักผู้โดยสารและบริเวณโดยรอบ เข้มงวดในการตรวจค้นบุคคล สัมภาระ และเพิ่มมาตรการสุ่มตรวจ ประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือจากผู้ใช้บริการ ประสานงานอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานด้านการข่าว หน่วยเก็บกู้วัตถุระเบิด กรณีเกิดเหตุฉุกเฉินร้ายแรงให้ปฏิบัติตามแผนฉุกเฉินของท่าอากาศยานหรือสนามบิน

2) ให้เจ้าหน้าที่สายการบินเข้มงวดการตรวจ สังเกต เฝ้าระวังพฤติกรรมบุคคลและสิ่งผิดปกติ ทั้งก่อนและขณะทำการบิน กรณีเกิดเหตุฉุกเฉินร้ายแรงให้ปฏิบัติตามแผนฉุกเฉินที่มีและรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบโดยทันที

3.2.4 การขนส่งและการจราจรทางน้ำ

1) กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวีจัดเจ้าหน้าที่ตรวจ สังเกต เฝ้าระวังพฤติกรรมบุคคล ต้องสงสัย และสิ่งผิดปกติ หรือสิ่งของที่ไม่มีผู้แสดงตัวเป็นเจ้าของ ในบริเวณท่าเทียบเรือ โป๊ะเทียบเรือ รวมทั้งเข้มงวด กวดขัน กำชับเจ้าหน้าที่ และเพิ่มความถี่ในการตรวจในจุดที่มีความเสี่ยงสูง และให้ประสานงานอย่างใกล้ชิดกับเจ้าหน้าที่ตำรวจพื้นที่ กรณีเกิดเหตุฉุกเฉินร้ายแรงให้ปฏิบัติตามแผนฉุกเฉินที่มีและรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบโดยทันที

2) ให้สำนักงานการขนส่งทางน้ำที่รับผิดชอบพื้นที่ส่วนภูมิภาคพิจารณาจัดทำแผนรักษาการณ์ทางน้ำ และออกประกาศคำสั่งเพื่อให้พื้นที่ในความรับผิดชอบมีความมั่นคงและปลอดภัยสูงสุดสำหรับประชาชนในการเดินทางและการเข้าร่วมกิจกรรมลอยกระทงตามแนวทางของกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี

3) การท่าเรือแห่งประเทศไทยและท่าเรือแหลมฉบัง จัดเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย เพิ่มความเข้มข้นในการตรวจบุคคล ยานพาหนะ ที่ผ่านเข้าออกท่าเรือ ทั้งทางบกและทางน้ำ และเพิ่มความถี่การตรวจพื้นที่และบริเวณโดยรอบ

3.3 แผนงานด้านความปลอดภัย

กระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้หน่วยงานที่มีหน้าที่จัดให้บริการระบบขนส่งสาธารณะ และรับผิดชอบเส้นทางดำเนินการเพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่ประชาชนในการเดินทางและการเข้าร่วมกิจกรรมลอยกระทง ดังนี้

3.3.1 ยานพาหนะและสถานีขนส่ง/ ท่ารถประจำทาง ขสมก./ สถานีรถไฟ/ สถานีรถไฟฟ้า

1) ควบคุมและจัดการจราจรในพื้นที่ให้ปฏิบัติตามกฎจราจรโดยเคร่งครัด ประสานร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรในพื้นที่จัดตั้งจุดตรวจ จุดสกัด ก่อนเข้าพื้นที่

2) ตรวจสอบสภาพเครื่องมือ เครื่องใช้ และอุปกรณ์ให้มีความพร้อมสำหรับให้บริการประชาชน

3) จัดเจ้าหน้าที่ตรวจวัดแอลกอฮอล์พนักงานขับรถโดยสารทุกคนก่อนปล่อยรถโดยสารออกจากสถานี

4) จัดเจ้าหน้าที่ตรวจสภาพความพร้อมของผู้ขับขี่ รวมถึงการตรวจสอบการจัดให้มีผู้ขับขี่สำรองตามที่กฎหมายกำหนดเมื่อต้องขับรถเกินกว่า 4 ชั่วโมง และควบคุมมิให้ขับรถเร็วเกินกว่า 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

5) ตรวจสภาพของรถโดยสาร รถประจำทาง ขบวนรถไฟ และรถไฟฟ้า ให้มีความพร้อมและความปลอดภัยสูงสุดในการให้บริการประชาชน

6) กำชับเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ให้ถือปฏิบัติตามระเบียบโดยเคร่งครัด

7) จัดเตรียมความพร้อมสำหรับเจ้าหน้าที่ เครื่องมือและอุปกรณ์ การรักษาพยาบาล การดับเพลิงและกู้ภัย

3.3.2 ถนน/ ทางพิเศษ/ สะพาน

1) หน่วยงานที่รับผิดชอบเส้นทางและสะพาน จัดเจ้าหน้าที่ตรวจสอบความปลอดภัยบนถนน และสะพานที่ประชาชนใช้สัญจร รวมทั้งจุดเสี่ยงและจุดอันตรายที่เกิดอุบัติเหตุซ้ำซาก และดำเนินการปรับปรุงแก้ไขให้มีความปลอดภัย

2) หน่วยงานที่รับผิดชอบบำรุงรักษาเส้นทางและสะพานให้อยู่ในสภาพดี และดูแลระบบจราจร เครื่องหมาย ป้าย สัญญาณไฟ มีความชัดเจนใช้งานได้ และสามารถป้องกันอุบัติเหตุจราจรที่อาจเกิดขึ้นได้

3) หน่วยงานที่รับผิดชอบเส้นทางและสะพาน โดยเพิ่มเติมในเส้นทางและสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ในความรับผิดชอบโดยเฉพาะในจุดที่มีประชาชนใช้เดินทางและร่วมจัดกิจกรรมลอยกระทงเป็นจำนวนมาก จัดเจ้าหน้าที่ประจำสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่ออำนวยการจราจร ให้ความช่วยเหลือ บรรเทา และแก้ไขปัญหาให้ประชาชนมีความปลอดภัยในการเดินทาง

4) ประสานร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรในพื้นที่จัดตั้งจุดตรวจ จุดสกัด เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุทางถนน

3.3.3 ท่าอากาศยาน/ สนามบินและเครื่องบิน

1) ควบคุมและจัดการจราจรในพื้นที่ให้ปฏิบัติตามกฎจราจรโดยเคร่งครัด ประสานร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรในพื้นที่จัดตั้งจุดตรวจ จุดสกัด ก่อนเข้าพื้นที่ ตรวจสอบสภาพเครื่องมือ เครื่องใช้ และอุปกรณ์ให้มีความพร้อมสำหรับให้บริการประชาชน กำชับเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ให้ถือปฏิบัติตามระเบียบโดยเคร่งครัด จัดเตรียมความพร้อมสำหรับเจ้าหน้าที่ เครื่องมือและอุปกรณ์การรักษาพยาบาล การดับเพลิงและกู้ภัย

2) จัดเตรียมเครื่องบินให้มีความพร้อมและมีความปลอดภัยสูงสุดในการให้บริการประชาชน

3) กัปตันเครื่องบินให้ประสานงานอย่างใกล้ชิดกับเจ้าหน้าที่สนามบินและเจ้าหน้าที่ประจำหอบังคับการบิน กรณีการแจ้งข่าวการปล่อยโคมควัน โคมลอย และบั้งไฟ กรณีเทศกาลลอยกระทง (ยี่เป็ง) ในจังหวัดทางภาคเหนือ และจังหวัดอื่นที่ประชาชนเริ่มนิยมปล่อยโคมลอย

3.3.4 การขนส่งและการจราจรทางน้ำ

1) กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวีได้ออกประกาศมาตรการเพื่อความปลอดภัยในเทศกาลวันลอยกระทง ประจำปี 2552 โดยได้กำหนดมาตรการเกี่ยวกับการใช้โป๊ะ ท่าเทียบเรือ การเดินเรือ และประชาชนที่จะมาลอยกระทง

  • ผู้ประกอบกิจการ ผู้ใช้เรือ ผู้ครอบครองโป๊ะ และท่าเทียบเรือ ต้องจัดให้มีป้ายระบุจำนวนคน มีพวงชูชีพ ติดตั้งไฟส่องสว่าง จัดเจ้าหน้าที่ควบคุม
  • เจ้าของเรือและผู้ควบคุมเรือต้องตรวจสอบเรือและระมัดระวังความปลอดภัยในการเดินเรือ
  • สำหรับประชาชนทั่วไป เพื่อเป็นการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุทางน้ำต่อประชาชน ผู้โดยสารเรือ หรือผู้เดินทางมาลอยกระทง

2) กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวีได้ออกประกาศเตือนให้ใช้ความระมัดระวังในการเดินเรือและใช้เรือช่วงเทศกาลลอยกระทง ประจำปี 2552

  • ผู้ควบคุมเรือต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ ระมัดระวังไม่ประมาท ไม่ดื่มสุรา ไม่เสพยาเสพติดให้โทษ หรือของมึนเมาขณะปฏิบัติหน้าที่ ไม่เดินเรือด้วยความเร็วเกินสมควร
  • เจ้าของเรือหรือผู้ประกอบกิจการเดินเรือต้องตรวจสอบดูแล ตัวเรือ เครื่องจักร และท่าเทียบเรือให้อยู่ในสภาพดีมีความมั่นคงแข็งแรงเหมาะสมแก่การให้บริการผู้โดยสาร โดยเฉพาะโป๊ะสำหรับจอดเทียบเรือต้องจัดให้มีพวงชูชีพและเครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นสำหรับการช่วยชีวิตให้เพียงพอ
  • สำหรับประชาชนผู้ใช้บริการเรือโดยสาร การขึ้น-ลงเรือไม่ควรยืนคอยบนโป๊ะสำหรับจอดเทียบเรือ ไม่ควรแย่งกันขึ้น-ลงเรือเมื่อเรือจอดเทียบท่า ไม่ควรดื่มสุราหรือของมึนเมาจนไม่สามารถครองสติได้ ควรพิจารณาเครื่องแต่งกายที่สามารถถอดออกได้ง่ายเมื่อเกิดอุบัติเหตุตกลงไปในน้ำ ควรสวมเสื้อชูชีพเมื่อโดยสารเรือ

3) ให้สำนักงานการขนส่งทางน้ำที่รับผิดชอบพื้นที่ส่วนภูมิภาคพิจารณาจัดทำแผนรักษาการณ์ทางน้ำ และออกประกาศคำสั่งเพื่อให้ประชาชนมีความปลอดภัยในการเดินทางและการเข้าร่วมกิจกรรมลอยกระทง ตามแนวทางของกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี

4. การรายงานเหตุการณ์และการสื่อสาร

4.1 สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) โดยศูนย์ปลอดภัยคมนาคม กระทรวงคมนาคม (ศปภ.คค.) ปฏิบัติหน้าที่เป็นศูนย์ประสานงานกลางในการรับข้อมูลข่าวสารและประชาสัมพันธ์ข่าว สถานการณ์ เหตุการณ์ให้ผู้บังคับบัญชาระดับสูงและทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมที่รับภารกิจทราบ

4.2 การประสานและแจ้งข้อมูลข่าวสารไปยัง ศปภ.คค. ให้แจ้งผ่านทางโทร.สายด่วน 1356 โทรสาร 0 2280 8400 และผ่านทางศูนย์วิทยุสื่อสาร ศปภ.คค. ความถี่ 151.600 MHz

4.3 ให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ รายงานการปฏิบัติและเหตุการณ์ต่างๆ ไปยังผู้บังคับบัญชา และศูนย์อำนวยการ/ ประสานงานของหน่วยงาน และแจ้งรายงานเหตุการณ์/ สถานการณ์ไปยังศูนย์ปลอดภัยคมนาคม กระทรวงคมนาคม ทราบด้วย

4.4 การสื่อสารระหว่างหน่วยงาน หน่วยงานที่รับผิดชอบสามารถติดต่อประสานงานผ่านช่องทางโทร. สายด่วน สายตรง โทรสาร และศูนย์วิทยุสื่อสารของแต่ละหน่วยงานได้

5. มาตรการด้านความปลอดภัยเกี่ยวกับการปล่อยโคมลอยช่วงเทศกาลลอยกระทง ปี 2552

5.1 ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบถึงอันตรายร้ายแรงอันอาจเกิดขึ้นได้จากการปล่อยโคมลอย และสำหรับประเพณีการปล่อยโคมลอยในจังหวัดทางภาคเหนือให้แนะนำเชิญชวนให้ประชาชนใช้โคมที่ได้มาตรฐาน มผช. 808/2552 หรือโคมลอยธรรมชัย ซึ่งลดความเสี่ยงและโอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุจากการปล่อยโคมลอยได้ มีสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องสรุปได้ ดังนี้

1) โคมลอยที่ปล่อยต้องมีปริมาตรไม่เกิน 1 ลูกบาศก์เมตร และทำจากวัสดุธรรมชาติ

2) โคมลอย ส่วนที่เป็นตัวโคม ต้องทำจากวัสดุธรรมชาติ เช่น กระดาษ ส่วนตัวโครงของโคมทำจากไม้ไผ่ และต้องไม่ติดอุปกรณ์หรือวัสดุตกแต่งใดๆ ที่มีคุณสมบัติติดไฟหรือเกิดประกายไฟลุกไหม้ได้ง่ายไว้กับโคมลอย

3) ส่วนที่เป็นเชื้อเพลิงทำจากกระดาษชุบเทียน ขี้ผึ้ง หรือพาราฟิน ซึ่งใช้สำหรับจุดไฟให้อากาศร้อนบรรจุในตัวโคม เพื่อให้โคมยกตัวลอยตัวสู่อากาศเองได้

4) การยึดติดเชื้อเพลิงกับตัวโคม ให้ยึดติดด้วยเชือกทนไฟ เชือกหรือลวดอ่อนเบอร์ 24 เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 0.5 มิลลิเมตร จำนวน 2 เส้น แต่ละเส้นความยาวไม่เกิน 30 เซนติเมตร

5) โคมลอยขนาดใหญ่ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางต้องไม่เกิน 90 เซนติเมตร ความสูงต้องไม่เกิน 140 เซนติเมตร น้ำหนักเชื้อเพลิงไม่เกิน 55 กรัม ระยะเวลาการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงไม่เกิน 8 นาที สำหรับโคมลอยที่มีขนาดลดลงให้เป็นไปตามส่วนของขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ความสูง น้ำหนักเชื้อเพลิง และระยะเวลาการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงตามประกาศ มผช.808/2552

5.2 กรมการขนส่งทางอากาศ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด พิจารณาดำเนินการหลีกเลี่ยงการจัดเที่ยวบินขึ้นและลงที่ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ในระหว่างวันที่ 1-3 พฤศจิกายน 2552 ตั้งแต่เวลา 21.00 น. เป็นต้นไป

5.3 กรมการขนส่งทางอากาศและบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) จัดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ประสานงานกับสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมพิจารณาหาแนวทางที่เหมาะสมกรณีวัดในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ทุกวัด จะมีประเพณีการปล่อยโคมควันขนาดใหญ่ ในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2552 (วันขึ้น 15 ค่ำเดือนสิบสอง) ระหว่างเวลา 09.00 - 12.00 น. และให้ออกประกาศแจ้งเตือนนักบิน (NOTAM) ทราบถึงกำหนดการและห้วงเวลาการปล่อยโคม รวมทั้งให้พิจารณาดำเนินการในพื้นที่จังหวัดที่มีท่าอากาศยานหรือสนามบินในความรับผิดชอบโดยเฉพาะจังหวัดทางภาคเหนือ จังหวัดสุรินทร์ สุราษฎร์ธานี และภูเก็ต ที่มีประชาชนนิยมปล่อยโคมลอยเป็นจำนวนมาก โดยนำรูปแบบแนวทางการดำเนินการของจังหวัดเชียงใหม่เป็นแนวทางประกอบการพิจารณา

5.4 ท่าอากาศยานเชียงใหม่และศูนย์ควบคุมการบินเชียงใหม่ จัดเจ้าหน้าที่ประสานงานอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ กรณีการปล่อยโคมควันขนาดใหญ่และการปล่อยโคมลอย (โคมไฟ) จำนวนมาก

5.5 บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด จัดทำแผนที่พื้นที่โซนนิ่งบริเวณโดยรอบท่าอากาศยาน/สนามบิน สำหรับเฝ้าระวังเป็นพิเศษตามแนวขึ้นลงของเครื่องบิน ในพื้นที่จังหวัดที่มีประชาชนนิยมปล่อยโคมลอยเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะจังหวัดทางภาคเหนือตอนบนและจังหวัดภูเก็ต

5.6 ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเก็บข้อมูลสถิติเกี่ยวกับโคมลอยทุกประเภท ที่อาจส่งผลกระทบต่อการบินและอากาศยาน ตลอดช่วงเทศกาลลอยกระทง ปี 2552 รวบรวมจัดส่งให้กระทรวงคมนาคม และสำเนาให้ศูนย์ปลอดภัยคมนาคมทราบ เพื่อสรุปรายงานพร้อมข้อเสนอแนะเพิ่มเติม สำหรับพิจารณากำหนดแนวทางและมาตรการในปีต่อๆ ไป

กระทรวงคมนาคมพิจารณาเห็นว่าความปลอดภัยต่อการบินและอากาศยานจากกรณีการปล่อยโคมลอยในเทศกาลลอยกระทงเป็นสิ่งสำคัญควบคู่ไปกับวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นที่ต้องคงรักษาไว้และสืบทอดต่อไป ดังนั้น มาตรการและแนวทางต่างๆ ที่กระทรวงคมนาคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งหน่วยงานภูมิภาคและหน่วยงานท้องถิ่นได้ร่วมมือกันกำหนดและนำไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรม จึงมีความจำเป็นที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยให้เพิ่มเติมแนวทางและมาตรการที่เหมาะสมปรับให้เข้ากับสถานการณ์ที่เป็นปัจจุบัน

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 27 ตุลาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ