ความตกลงว่าด้วยบริการเดินอากาศระหว่างไทย-สวิตเซอร์แลนด์

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 28, 2009 16:30 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้มีการลงนามความตกลงว่าด้วยบริการเดินอากาศระหว่างไทย-สวิตเซอร์แลนด์ ฉบับใหม่ ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ และให้เสนอความตกลงในเรื่องนี้ไปให้รัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบ ก่อนมอบให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการให้ความตกลงมีผลใช้บังคับต่อไป และให้กระทรวงคมนาคมดำเนินการตามมาตรา 190 วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ตามความเห็นของกระทรวงการต่างประเทศต่อไปด้วย

ข้อเท็จจริง

กระทรวงคมนาคมเสนอว่า กระทรวงคมนาคมได้จัดให้มีการพบปะเจรจาการบินระหว่างไทยและสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 26-27 ตุลาคม 2548 ที่กรุงเทพฯ โดยในการเจรจาการบินครั้งล่าสุดนั้น คณะผู้แทนทั้งสองฝ่ายได้จัดทำร่างความตกลงว่าด้วยบริการเดินอากาศระหว่างไทย-สวิตเซอร์แลนด์ ฉบับใหม่ขึ้น เพื่อใช้แทนที่ความตกลงฯ ฉบับเดิมที่ลงนามเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2547 โดยมีการปรับปรุงเนื้อหาสาระและเพิ่มเติมข้อบทต่างๆ ให้ทันสมัยเหมาะสมกับสถานการณ์ และเป็นไปตามแนวทางที่องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization : ICAO) เสนอแนะและคณะรัฐมนตรี (14 มีนาคม 2549) ได้มีมติเห็นชอบร่างความตกลงฯ ดังกล่าวแล้ว

สาระสำคัญของเรื่อง

1. สายการบินสายหนึ่ง (หรือหลายสาย) ที่กำหนดโดยภาคีผู้ทำความตกลงแต่ละฝ่ายจะได้รับสิทธิในการบินผ่าน สิทธิในการแวะลง และสิทธิในการรับขึ้นและลง ขณะดำเนินบริการเดินอากาศระหว่างประเทศ (ร่างข้อ 2)

2. สายการบินที่กำหนดสายหนึ่ง (หรือหลายสาย) ของภาคีผู้ทำความตกลงแต่ละฝ่ายจะมีโอกาสอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียมกัน ในอันที่จะรับขนโดยบริการที่ตกลง และบริการที่ตกลงซึ่งสายการบินที่กำหนดสายหนึ่ง (หรือหลายสาย) ของภาคีผู้ทำความตกลงแต่ละฝ่ายจัดขึ้นนั้น จะต้องสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับความต้องการของประชาชนสำหรับ การขนส่งในเส้นทางที่ระบุ และแต่ละบริการจะถือการจัดความจุที่พอเพียงเพื่อสนองความต้องการในการขนคนโดยสาร (ร่างข้อ 3)

3. กฎหมายและข้อบังคับของภาคีผู้ทำความตกลงฝ่ายหนึ่ง ซึ่งใช้บังคับกับการเข้ามาและการออกจากอาณาเขตของตนของอากาศยานซึ่งใช้ในการเดินอากาศระหว่างประเทศ หรือเที่ยวบินของอากาศยานเท่านั้น เหนืออาณาเขตนั้นจะใช้บังคับแก่สายการบินที่กำหนดสายหนึ่ง (หรือหลายสาย) ของภาคีผู้ทำความตกลงอีกฝ่ายหนึ่งด้วย และห้ามมิให้ภาคีผู้ทำความตกลงให้โอกาสแก่สายการบินสายหนึ่ง (หรือหลายสาย) ของตนในทางที่ดีกว่าที่ให้กับสายการบินที่กำหนดสายหนึ่ง (หรือหลายสาย) ของภาคีผู้ทำความตกลงอีกฝ่ายหนึ่ง (ร่างข้อ 4)

4. ภาคีผู้ทำความตกลงจะดำเนินการตามข้อบทว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยในการบิน ซึ่งจัดทำโดยองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศและกำหนดไว้เป็นภาคผนวกของอนุสัญญาว่าด้วยการบินพลเรือนระหว่างประเทศ เท่าส่วนที่ข้อบทว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยเช่นว่านั้น มีผลใช้กับภาคีผู้ทำความตกลง (ร่างข้อ 5)

5. ภาคีผู้ทำความตกลงแต่ละฝ่ายมีสิทธิที่จะกำหนดสายการบินหลายสายตามปรารถนา เพื่อความมุ่งประสงค์ในการดำเนินบริการที่ตกลง การกำหนดนั้นให้กระทำโดยแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรระหว่างเจ้าหน้าที่การเดินอากาศของภาคีผู้ทำความตกลงทั้งสองฝ่าย (ร่างข้อ 6)

6. อากาศยานที่ใช้ดำเนินบริการระหว่างประเทศโดยสายการบินที่กำหนดสายหนึ่ง (หรือหลายสาย) ของภาคีผู้ทำความตกลงฝ่ายหนึ่ง ตลอดจนเครื่องบริภัณฑ์ปกติของตนซึ่งอยู่บนอากาศยาน เชื้อเพลิงและน้ำมันลื่น และพัสดุอากาศยาน รวมทั้งอาหาร เครื่องดื่ม และยาสูบ ซึ่งอยู่บนอากาศยานนั้น จะได้รับการยกเว้นค่าอากรหรือภาษีทั้งปวงเมื่อนำเข้ามาในอาณาเขตของภาคีผู้ทำความตกลงอีกฝ่ายหนึ่ง โดยมีเงื่อนไขว่า เครื่องบริภัณฑ์ซึ่งอยู่บนอากาศยาน สัมภาระ และพัสดุอากาศยานนั้น ต้องอยู่บนอากาศยานจนกระทั่งถูกนำกลับออกไป (ร่างข้อ 10)

7. สายการบินที่กำหนดสายหนึ่ง (หรือหลายสาย) ของภาคีผู้ทำความตกลงฝ่ายหนึ่งจะต้องจัดให้แก่เจ้าหน้าที่การเดินอากาศของภาคีผู้ทำความตกลงอีกฝ่ายหนึ่งนานล่วงหน้าเท่าที่จะปฏิบัติได้ แต่ไม่น้อยกว่าสามสิบวันก่อนเริ่มดำเนินบริการที่ตกลงหรือการแก้ไขใดๆ จากนั้น หรือภายในสามสิบวันหลังจากได้รับคำขอจากเจ้าหน้าที่การเดินอากาศ (ร่างข้อ 17)

8. ถ้ามีข้อพิพาทใด ๆ เกิดขึ้น ระหว่างภาคีผู้ทำความตกลงเกี่ยวกับการตีความหรือการใช้ความตกลงฉบับนี้ ในชั้นต้นให้ภาคีผู้ทำความตกลงพยายามตกลงกันโดยการเจรจาระหว่างกัน หากภาคีผู้ทำความตกลงไม่อาจตกลงกันได้โดยการเจรจาให้เสนอข้อพิพาทให้แก่บุคคลหรือองค์คณะใด ๆ เพื่อวินิจฉัย หรือเสนอข้อพิพาทนั้นไปขอคำวินิจฉัยจากคณะอนุญาโตตุลาการสามคน โดยภาคีผู้ทำความตกลงแต่ละฝ่ายเป็นผู้เสนอชื่ออนุญาโตตุลาการฝ่ายละคน และอนุญาโตตุลาการที่ระบุชื่อสองคนนั้นเป็นผู้แต่งตั้งอนุญาโตตุลาการคนที่สาม (ร่างข้อ 20)

9. ภาคีผู้ทำความตกลงฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดพิจารณาแล้วเห็นสมควรแก้ไขบทบัญญัติใดๆ แห่งความตกลงฉบับนี้ ข้อแก้ไขนั้นเมื่อเป็นที่ตกลงกันระหว่างภาคีผู้ทำความตกลงแล้ว จะมีผลใช้บังคับเมื่อได้มีการยืนยันโดยหนังสือแลกเปลี่ยนทางการทูต และการแก้ไขภาคผนวกอาจตกลงกันโดยตรงระหว่างเจ้าหน้าที่การเดินอากาศของภาคีผู้ทำความ ตกลง ข้อแก้ไขนั้นให้ใช้ได้เป็นการชั่วคราวตั้งแต่วันที่ได้ตกลงกัน และให้มีผลใช้บังคับเมื่อได้มีการยืนยันโดยหนังสือแลกเปลี่ยนทางการทูต (ร่างข้อ 21)

10. ความตกลงฉบับนี้และข้อแก้ไขทั้งปวงต่อความตกลงดังกล่าวจะต้องจดทะเบียนไว้กับองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ และความตกลงฉบับนี้จะมีผลใช้ได้เป็นการชั่วคราวตั้งแต่วันที่ลงนาม และให้พักการใช้ความตกลงระหว่างคณะมนตรีสหพันธ์สวิสและรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยว่าด้วยบริการเดินอากาศระหว่างอาณาเขตทั้งสองฝ่ายและพ้นจากนั้นไป ลงนามเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2527 และให้ความตกลงฉบับนี้มีผลใช้บังคับในวันที่ภาคีผู้ทำความตกลงได้แจ้งแก่กันและกันเป็นหนังสือว่าได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดตามรัฐธรรมนูญของประเทศตนว่าด้วยการจัดทำและการมีผลบังคับใช้เป็นความตกลงระหว่างประเทศแล้ว (ร่างข้อ 23 และข้อ 24)

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 27 ตุลาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ