รายงานผลการวิจัยเรื่อง การศึกษาแนวทางการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนขนาดเล็ก

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 28, 2009 16:34 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง รายงานผลการวิจัยเรื่อง การศึกษาแนวทางการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนขนาดเล็กที่ได้รับงบอุดหนุนค่าใช้จ่าย

ในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ค่าใช้จ่ายรายหัว) ส่วนเพิ่ม (TOP up) สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน

คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการวิจัย เรื่อง การศึกษาแนวทางการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนขนาดเล็กที่ได้รับงบอุดหนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ค่าใช้จ่ายรายหัว) ส่วนเพิ่ม (TOP up) สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงศึกษาธิการรายงานว่า ตามมติคณะรัฐมนตรี (21 พฤศจิกายน 2549) มีข้อเสนอให้ติดตามผลการดำเนินการจัดสรรเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายรายหัวสำหรับการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างใกล้ชิด เพื่อตรวจสอบว่าการเพิ่มงบประมาณดังกล่าวจะสามารถยกระดับคุณภาพการศึกษาได้จริง พร้อมทั้งรายงานผลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบนั้น สพฐ.ได้ดำเนินการวิจัยเรื่อง การศึกษาแนวทางการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนขนาดเล็กที่ได้รับงบอุดหนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ค่าใช้จ่ายรายหัว) ส่วนเพิ่ม (Top up) สังกัด สพฐ.ซึ่งเป็นการวิจัยเชิงสำรวจ (Survey research) มีวัตถุประสงค์การวิจัยเพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนาคุณภาพของโรงเรียนขนาดเล็ก และแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงด้านคุณภาพของโรงเรียนขนาดเล็กหลังจากได้รับงบอุดหนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานส่วนเพิ่ม (Top up) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2550 พร้อมทั้งสำรวจนวัตกรรม/กิจกรรมที่มีแนวโน้มต่อการพัฒนาคุณภาพของโรงเรียนขนาดเล็ก โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

1. โรงเรียนขนาดเล็กส่วนใหญ่เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นภายหลังได้รับงบประมาณงบอุดหนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ค่าใช้จ่ายรายหัว) ส่วนเพิ่ม (Top up) ทั้งตามการรับรู้ของผู้บริหารและผู้เรียน เช่น มีความคล่องตัวในการบริหารจัดการงบประมาณ มีสื่อแหล่งเรียนรู้เพิ่มเติม โครงการหรือกิจกรรมเพื่อการพัฒนาคุณภาพมีความหลากหลายเพิ่มขึ้นเป็นต้น ดังนั้น สพฐ. ซึ่งเป็นหน่วยงานระดับนโยบายควรได้รับการสนับสนุน ส่งเสริม และประสานงานกับสำนักงบประมาณ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดสรรงบอุดหนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานส่วนเพิ่ม (Top up) ให้กับโรงเรียนขนาดเล็กอย่างต่อเนื่องต่อไป

2. โรงเรียนขนาดเล็กส่วนใหญ่มีการพัฒนานวัตกรรมเพื่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาจำนวนมากทั้งนวัตกรรมด้านการบริหารจัดการและนวัตกรรมด้านการเรียนการสอน ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในทุกระดับ ทั้งระดับ สพฐ.และระดับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาควรได้นำนวัตกรรมที่เกิดขึ้นต่างๆ เหล่านี้ไปรวบรวมสังเคราะห์ เผยแพร่ และประชาสัมพันธ์ให้มีการนำไปใช้และเกิดการพัฒนาต่อยอดต่อไป

3. แนวทางการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนขนาดเล็กส่วนใหญ่นำงบอุดหนุนค่าใช้จ่ายในการ จัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ค่าใช้จ่ายรายหัว) ส่วนเพิ่ม (Top up) ที่ได้รับไปบูรณาการกับงบประมาณปกติ ส่งผลให้เกิดการพัฒนาทั้งทางตรงและทางอ้อมกล่าวคือ

3.1 นักเรียนส่วนใหญ่รับรู้ว่าการพัฒนาคุณภาพการศึกษาเพิ่มขึ้นหลังจากโรงเรียนได้รับงบอุดหนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ค่าใช้จ่ายรายหัว) ส่วนเพิ่ม (Top up) โดยสิ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงมากที่สุดคือ ครูให้ความสนใจและเอาใจใส่นักเรียนมากยิ่งขึ้น (ร้อยละ 78.3) รองลงไปเป็นด้านนักเรียนมีความสุขกับการเรียนมากขึ้น (ร้อยละ 75.28) และนักเรียนมีความสนุกและสนใจโครงการหรือกิจกรรมที่ทางโรงเรียนจัดขึ้น (ร้อยละ 70.76)

3.2 ผลการประเมินคุณภาพการศึกษาระดับชาติโดยพิจารณาจากคะแนนเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นระหว่างปี 2549 และปีการศึกษา 2550 พบว่าผลประเมินคุณภาพการศึกษาระดับชาติ ดังนี้

  • นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 (O-NET) พบว่าจำนวนโรงเรียนขนาดเล็กที่มีคะแนนเฉลี่ยสูงขึ้นเมื่อเทียบกับคะแนนเฉลี่ยของปีการศึกษา 2549 มีมากกว่าจำนวนโรงเรียนที่มีคะแนนต่ำลงในกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์
  • นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 (NT) พบว่าจำนวนโรงเรียนที่มีคะแนนเฉลี่ยสูงขึ้นเมื่อเทียบกับคะแนนเฉลี่ยของปีการศึกษา 2549 มีมากกว่าจำนวนโรงเรียนที่มีคะแนนเฉลี่ยต่ำลงในกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยและคณิตศาสตร์

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 27 ตุลาคม 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ