รายงานผลการจัดอันดับความยาก — ง่ายในการประกอบธุรกิจของธนาคารโลก (Doing Business 2010)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 4, 2009 15:15 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบและเห็นชอบตามที่สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอดังนี้

1. รับทราบรายงานผลการดำเนินการปรับปรุงบริการเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการประกอบธุรกิจของหน่วยงานต่าง ๆ และรายงานผลการจัดอันดับความยาก — ง่ายในการประกอบธุรกิจในประเทศต่าง ๆ ของธนาคารโลก (Doing Business 2010) ซึ่งประเทศไทยได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในอันดับที่ 12 จาก 183 ประเทศ

2. เห็นชอบตามความเห็นของกระทรวงแรงงานที่เห็นควรปรับเปลี่ยนข้อความใหม่ จากรายงานผลการจัดอันดับดังกล่าว ดังนี้

3. ด้านการจ้างงาน

กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน

มีพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 ซึ่งพระราชบัญญัติดังกล่าวได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายคุ้มครองแรงงานเดิมให้เหมาะสมกับสภาพการจ้างที่เปลี่ยนไป โดยผลของกฎหมายฉบับใหม่ในภาพรวมจะคุ้มครองฝ่ายลูกจ้างมากขึ้น และอาจเป็นการเพิ่มภาระหน้าที่ให้แก่นายข้างบ้าง เช่น การเพิ่มภาระหน้าที่ให้นายจ้าง ต้องยื่นแบบรายงานสภาพการจ้างและสภาพการทำงานต่อพนักงานตรวจแรงงานในเดือนมกราคมของทุกปี การเปลี่ยนแปลงแก้ไขเหตุแห่งการเลิกจ้างซึ่งไม่ต้องจ่ายชดเชยและการต้องระบุข้อเท็จจริงอันเป็นเหตุเลิกจ้างในหนังสือเลิกจ้างให้ลูกจ้างทราบในขณะเลิกจ้าง การให้อัตราค่าชดเชยพิเศษเมื่อลูกจ้างบอกเลิกสัญญาจ้าง ในกรณีที่นายจ้างย้ายสถานประกอบการและมีผลกระทบสำคัญต่อการดำรงชีวิตของลูกจ้างหรือครอบครัว เป็นต้น

ทั้งนี้ พระราชบัญญัติดังกล่าว ถึงแม้จะมีการแก้ไขเพิ่มเติม โดยเพิ่มภาระหน้าที่ให้แก่นายจ้างมากขึ้น แต่ก็ไม่ได้ทำให้การเลิกจ้างยากขึ้น เพราะการเลิกจ้างจะเป็นสิทธิของนายจ้างที่จะจ้างหรือเลิกจ้างบุคคลใดก็ได้ เพียงแต่หากไม่เข้าข้อยกเว้นตามกฎหมายนายจ้างมีหน้าที่ในการจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างตามกฎหมาย ซึ่งไม่ได้ทำให้ลูกจ้างเสียประโยชน์ และได้รับการคุ้มครองลดลง เพราะการจ่ายค่าชดเชยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ลูกจ้างสามารถยังชีพอยู่ได้ระหว่างที่รองานใหม่หรือนำไปประกอบอาชีพอื่น”

สาระสำคัญของเรื่อง

สำนักงาน ก.พ.ร. รายงานว่า สืบเนื่องจากมติคณะรัฐมนตรี (20 ธันวาคม 2548) สำนักงาน ก.พ.ร. และกระทรวงพาณิชย์โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้ร่วมกันจัดประชุมเพื่อชี้แจงกรอบทิศทางในการดำเนินงานปรับปรุงบริการเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการประกอบธุรกิจแก่ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2549 โดยมีรายละเอียดผลการประชุมสรุปได้ดังนี้

1. ที่ประชุมเห็นชอบกับกรอบทิศทางการดำเนินงานเกี่ยวกับการปรับปรุงบริการเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการประกอบธุรกิจ ที่กำหนดให้มีการตั้งคณะทำงานเพื่อรับผิดชอบการปรับปรุงบริการในแต่ละด้านตามหัวข้อการวิจัยของธนาคารโลกทั้ง 10 ด้าน เรียกว่าคณะทำงานดำเนินการปรับปรุงบริการเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันรวม 5 คณะ โดยให้คณะทำงานชุดที่ 9 รับผิดชอบดำเนินการทั้งด้านการบังคับให้เป็นไปตามข้อตกลงและด้านการปิดกิจการ เนื่องจากมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเหมือนกัน ซึ่งวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งคณะทำงานมีดังนี้

1.1 เพื่อให้ส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการได้มีส่วนร่วมในการกำหนดแนวทางการปรับปรุงบริการให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

1.2 เพื่อให้คณะทำงานได้ร่วมกันพิจารณาแก้ไขปัญหาและอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้น รวมทั้งร่วมกันปรับปรุงระบบการทำงานของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เอื้อต่อการประกอบธุรกิจยิ่งขึ้น

1.3 เพื่อให้คณะทำงานสามารถผลักดันให้การดำเนินการปรับปรุงบริการเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการประกอบธุรกิจประสบผลสำเร็จได้ตามเป้าหมาย

2. กำหนดหน่วยงานเจ้าภาพหลักและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในแต่ละด้าน โดยให้หน่วยงานเจ้าภาพหลัก ทำหน้าที่ออกคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานและพิจารณาดำเนินการ ปรับปรุงการบริการในเรื่องที่รับผิดชอบให้มีประสิทธิภาพ รวมทั้งเป็นประธานและฝ่ายเลขานุการของคณะทำงาน และให้คณะทำงานทุกคณะมีผู้แทนของสำนักงาน ก.พ.ร. และกระทรวงพาณิชย์ร่วมเป็นคณะทำงานด้วย ทั้งนี้ โดยมีผู้แทนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชนร่วมอยู่ในคณะทำงานทั้ง 9 คณะ รวม 49 หน่วยงาน ดังนี้

2.1 ด้านการเริ่มต้นธุรกิจ หน่วยงานเจ้าภาพหลัก คือ กระทรวงพาณิชย์ (กรมพัฒนาธุรกิจการค้า)

2.2 ด้านการขออนุญาตก่อสร้าง หน่วยงานเจ้าภาพหลัก คือ กรุงเทพมหานคร

2.3 ด้านการจ้างงาน หน่วยงานเจ้าภาพหลัก คือ กระทรวงแรงงาน (กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กรมการจัดหางาน)

2.4 ด้านการจดทะเบียนทรัพย์สิน คือ กระทรวงมหาดไทย (กรมที่ดิน)

2.5 ด้านการได้รับสินเชื่อ หน่วยงานเจ้าภาพหลัก คือ กระทรวงการคลัง (สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง)

2.6 ด้านการคุ้มครองผู้ลงทุน หน่วยงานเจ้าภาพหลัก คือ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

2.7 ด้านการชำระภาษี หน่วยงานเจ้าภาพหลัก คือ กระทรวงการคลัง (กรมสรรพากร)

2.8 ด้านการค้าระหว่างประเทศ หน่วยงานเจ้าภาพหลัก คือ กระทรวงการคลัง (กรมศุลกากร)

2.9 ด้านการบังคับให้เป็นไปตามข้อตกลงและการปิดกิจการ หน่วยงานเจ้าภาพหลัก คือ กระทรวงยุติธรรม (สำนักงานกิจการยุติธรรม)

3. สำนักงาน ก.พ.ร. ได้ร่วมกับธนาคารโลกประจำประเทศไทย กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงการคลัง จัดประชุมเพื่อติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินการปรับปรุงบริการเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการประกอบธุรกิจของคณะทำงานแต่ละคณะเป็นระยะๆ อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้จัดประชุมเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2552 โดยมีผู้บริหารของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเข้าร่วมประชุม เพื่อแจ้งผลความก้าวหน้าในการดำเนินการ พร้อมทั้งให้ข้อเสนอแนะและแนวทางในการดำเนินการของภาครัฐให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นด้วย โดยสำนักงาน ก.พ.ร. และ กระทรวงการคลังได้จัดส่งรายละเอียดผลความก้าวหน้าในการปรับปรุงบริการดังกล่าวให้ธนาคารโลก เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการศึกษาเพื่อจัดอันดับความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจของธนาคารโลกด้วย

4. จากการส่งเสริม สนับสนุน และผลักดันของสำนักงาน ก.พ.ร. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อปรับปรุงระบบการทำงานของหน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะการผลักดันให้ส่วนราชการต่างๆ ดำเนินการลดขั้นตอนและระยะเวลาการปฏิบัติราชการ ปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงาน รวมทั้งการดำเนินการปรับปรุงบริการของคณะทำงานคณะต่าง ๆ ด้วยการปรับปรุงระบบการทำงานเพื่อการอำนวยความสะดวก และตอบสนองความต้องการของประชาชน/ผู้ประกอบการมาอย่างต่อเนื่องส่งผลให้ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับตามรายงานผลการวิจัยของธนาคารโลกเรื่อง Doing Business ดีขึ้นเป็นลำดับ ซึ่งผลการจัดอันดับล่าสุดเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2552 ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับให้เป็นประเทศที่มีความสะดวกในการเข้าไปประกอบธุรกิจอยู่ในอันดับที่ 12 จาก 183 ประเทศทั่วโลก

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 3 พฤศจิกายน 2552 --จบ--


แท็ก ธนาคารโลก  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ