การปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2553 ครั้งที่ 1

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 4, 2009 15:31 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบและอนุมัติตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ทั้ง 5 ข้อ ดังนี้

1. อนุมัติการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2553 ครั้งที่ 1 ที่มีวงเงินดำเนินการสุทธิเพิ่มขึ้น 50,819.83 ล้านบาท จากวงเงินเดิม 1,637,896.68 ล้านบาท เป็น 1,688,716.51 ล้านบาท

2. อนุมัติการกู้เงินและการค้ำประกันเงินกู้ของรัฐวิสาหกิจภายใต้แผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2553 ปรับปรุงครั้งที่ 1

3. อนุมัติให้กระทรวงการคลังเป็นผู้พิจารณาการกู้เงิน วิธีการกู้เงิน เงื่อนไข และรายละเอียดต่างๆ ของการกู้เงินและการค้ำประกันในแต่ละครั้งได้ตามความเหมาะสมและจำเป็น ภายใต้แผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2553 ปรับปรุงครั้งที่ 1 แต่หากรัฐวิสาหกิจสามารถดำเนินการกู้เงินได้เอง ก็ให้สามารถดำเนินการได้ตามความเหมาะสมและจำเป็นของรัฐวิสาหกิจนั้นๆ

4. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังหรือผู้ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมอบหมายเป็นผู้ลงนามผูกพันการกู้เงินและหรือการค้ำประกันเงินกู้ และเอกสารที่เกี่ยวข้อง

5. รับทราบการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2553 ครั้งที่ 1 ของรัฐวิสาหกิจที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องอยู่ภายใต้กรอบวงเงินแผนการบริหารหนี้สาธารณะ

สาระสำคัญของเรื่อง

คณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธานกรรมการ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังเป็นรองประธานกรรมการ และมีปลัดกระทรวงการคลัง ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ และผู้ทรงคุณวุฒิ 3 ท่าน (1. นายปรีชา จรุงกิจอนันต์ 2. นายกำชัย จงจักรพันธ์ 3. นายอนุสรณ์ ธรรมใจ) เป็นกรรมการ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ เป็นกรรมการและเลขานุการ ได้พิจารณาเห็นว่า

ในปัจจุบันมีรัฐวิสาหกิจ 8 แห่งมีความจำเป็นต้องดำเนินการกู้เงินและบริหารหนี้เพิ่มขึ้นนอกเหนือจากแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2553 และได้พิจารณาเหตุผลความจำเป็นประกอบด้วยแล้วจึงได้มีมติเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2552 และวันที่ 2 พฤศจิกายน 2552 เห็นชอบการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2553 ครั้งที่ 1 โดยเป็นการปรับปรุงแผนงานย่อย จำนวน 2 แผน ได้แก่ แผนการบริหารและจัดการเงินกู้ในประเทศของรัฐวิสาหกิจ และแผนการก่อหนี้จากต่างประเทศ ดังนี้

1. แผนการบริหารและจัดการเงินกู้ในประเทศของรัฐวิสาหกิจ

             วงเงินเดิม                   288,531.92   ล้านบาท
             ปรับเพิ่ม                      49,124.27   ล้านบาท
             วงเงินหลังการปรับปรุง          337,656.19   ล้านบาท

การปรับเพิ่มวงเงิน 49,124.27 ล้านบาท ดังกล่าว ประกอบด้วย การกู้เงินใหม่ในแผนเงินกู้เพื่อลงทุน จำนวน 819.04 ล้านบาท แผนเงินกู้เพื่อดำเนินกิจการทั่วไปและอื่นๆ จำนวน 41,565 ล้านบาท และการบริหารและจัดการหนี้เดิมอีก จำนวน 6,740.23 ล้านบาท โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1.1 การกู้เงินใหม่

(1) เงินกู้เพื่อลงทุน

การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ขอบรรจุเพิ่มโครงการในแผนฯ จำนวน 1 โครงการ ได้แก่ โครงการก่อสร้างระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ วงเงิน 819.04 ล้านบาท เนื่องจากคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2552 อนุมัติให้ รฟท. กู้เงินเพื่อจ่ายเงินชดเชยค่าก่อสร้างตามสัญญาแบบปรับราคาได้ วงเงิน 721.04 ล้านบาท และเพื่อใช้ในการก่อสร้างทางเดินยกระดับเชื่อมต่อกับระบบรถไฟฟ้าที่สถานีพญาไทและเพชรบุรี วงเงิน 98 ล้านบาท

(2) เงินกู้เพื่อดำเนินกิจการทั่วไปและอื่นๆ รัฐวิสาหกิจ 5 แห่ง ขอปรับเพิ่มวงเงินในแผนฯ โดยมีวงเงินเพิ่มขึ้นทั้งสิ้น 41,565 ล้านบาท ดังนี้

1) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ขอปรับเพิ่มวงเงินกู้ จำนวน 6,565 ล้านบาท โดยเป็นเงินกู้เพื่อใช้ในการดำเนินงาน 4,210 ล้านบาท เนื่องจากคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2552 อนุมัติให้ รฟท. กู้เงินเพื่อใช้ในการดำเนินงานตามแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2552 แต่ รฟท. ไม่สามารถจัดหาเงินกู้ดังกล่าวได้ทันในปีงบประมาณ 2552 แต่ยังมีความจำเป็นต้องใช้เงินกู้ดังกล่าวเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการขาดสภาพคล่องภายในองค์กร จึงขอเลื่อนมากู้เงินในปีงบประมาณ 2553 แทน และนอกจากนี้ยังมีความต้องการกู้เงินเพื่อใช้เป็นเงินทดแทนเงินอุดหนุนบริการสาธารณะ (PSO) วงเงิน 2,355 ล้านบาท เนื่องจากสำนักงบประมาณไม่สามารถจัดสรรงบประมาณในปี 2553 ให้แก่ รฟท. ได้ดังนั้น คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2552 อนุมัติให้ รฟท. กู้เงินจำนวนดังกล่าวโดยรัฐบาลเป็นผู้รับชำระคืนเงินต้น ดอกเบี้ย และค่าใช้จ่ายในการกู้เงิน และให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้

2) องค์การคลังสินค้า (อสค.) และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ขอบรรจุวงเงินกู้ในแผนฯ จำนวน 20,000 ล้านบาท เนื่องจากคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2552 อนุมัติให้ อคส. และ อ.ต.ก. ดำเนินโครงการแทรกแซงตลาดรับซื้อข้าวเปลือก ปี 2552/53 ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก และให้กระทรวงการคลังจัดหาแหล่งเงินกู้เพื่อให้ อคส. และ อ.ต.ก. นำมาใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการแทรกแซงตลาดรับซื้อข้าวเปลือกตามโครงการดังกล่าว โดยวงเงิน 20,000 ล้านบาท นี้คำนวณจากร้อยละ 10 ของมูลค่าผลผลิตข้าวเปลือกเจ้าที่ คาดว่าจะเข้าไปดำเนินการแทรกแซงตลาดรับซื้อข้าวเปลือกในครั้งนี้

การกู้เงินของ อคส. ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การคลังสินค้า พ.ศ. 2498 มาตรา 7(5) ได้กำหนดว่าการกู้ยืมเงินถ้าเกินกว่าสามล้านบาทต้องได้รับอนุญาตจากคณะรัฐมนตรีก่อน และการกู้เงินของ อ.ต.ก. ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร มาตรา 26 (1) ได้กำหนดว่าการกู้ยืมเงินถ้าเกินกว่าห้าล้านบาทต้องได้รับอนุญาตจากคณะรัฐมนตรีก่อน ดังนั้น หากคณะรัฐมนตรีอนุมัติการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2553 ครั้งที่ 1 แล้ว กระทรวงต้นสังกัดของรัฐวิสาหกิจทั้งสองแห่งจะต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติการกู้เงินก่อนจึงจะสามารถดำเนินการได้ ทั้งนี้ เพื่อความรอบคอบในการดำเนินการเรื่องดังกล่าวเห็นควรให้ต้องมีการกำหนดวงเงินดำเนินการของแต่ละรัฐวิสาหกิจให้ชัดเจนและแจ้งรายละเอียดแผนการใช้เงินต่อคณะรัฐมนตรีให้ครบถ้วนด้วย ทั้งนี้ หากมีส่วนที่รัฐต้องรับภาระในกรณีใดๆ ก็ตาม ก็ให้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาในคราวเดียวกันด้วยเพื่อให้เห็นภาพรวมและผลกระทบทั้งหมด

3) องค์การสวนยาง (อ.ส.ย.) ขอบรรจุวงเงินกู้ในแผนฯ จำนวน 5,000 ล้านบาท เนื่องจากคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2552 อนุมัติให้ อ.ส.ย. กู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร จำนวน 5,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0 โดยมีกระทรวงการคลังค้ำประกัน เพื่อนำไปใช้ในการดำเนินโครงการสนับสนุนสถาบันเกษตรกรแปรรูปยางเพื่อเพิ่มมูลค่าแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำ และให้บรรจุการกู้เงินดังกล่าวไว้ในแผนการบริหารหนี้สาธารณะด้วย ทั้งนี้ อ.ส.ย. ได้แจ้งว่า มีความจำเป็นต้องเริ่มกู้เงินเพื่อดำเนินโครงการดังกล่าวในช่วงปลายเดือนตุลาคมนี้

4) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ขอบรรจุวงเงินกู้ในแผนฯ จำนวน 10,000 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นแหล่งเงินทุนรองรับการปล่อยสินเชื่อของธนาคารโดยคณะกรรมการ ธ.ก.ส. ได้มีมติเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2552 เห็นชอบให้ ธ.ก.ส. กู้เงินจำนวนดังกล่าวแล้ว

1.2 การบริหารและจัดการหนี้

รัฐวิสาหกิจ 2 แห่ง ขอปรับเพิ่มวงเงินบริหารหนี้ในแผนฯ โดยมีวงเงินเพิ่มขึ้นทั้งสิ้น 6,740.23 ล้านบาท ดังนี้

1) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ขอเพิ่มแผนดำเนินการ Roll-over เงินกู้ Short term facility จำนวน 1,000 ล้านบาท เนื่องจากในปีงบประมาณ 2552 รฟท. ไม่สามารถจัดหาเงินกู้ระยะยาวได้ จึงใช้เงินกู้ Short term facility อายุ 9 เดือน ซึ่งจะครบกำหนดไถ่ถอนในเดือนมิถุนายน 2553 จึงมีความจำเป็นต้องจัดหาเงินกู้มาทดแทนเงินกู้ดังกล่าว

2) บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) ขอเพิ่มแผนดำเนินการทำ Swap Arrangement จำนวน 5,740.23 ล้านบาท เพื่อปิดความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ย (Interest Rate Swap: IRS) สัญญาเงินกู้ 5 สัญญา เนื่องจากวงเงินบางส่วน บวท. ไม่สามารถทำ IRS ตามที่กำหนดไว้ในปีงบประมาณ 2552 ได้ทัน จึงต้องเลื่อนวงเงินดังกล่าวมาดำเนินการในปีงบประมาณ 2553 และอีกส่วนหนึ่งเป็นวงเงินที่ได้มีการเบิกจ่ายครบตามสัญญาเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2552 บวท. จึงมีความประสงค์จะทำ IRS ภายในปีงบประมาณ 2553 ด้วย

2. แผนการก่อหนี้จากต่างประเทศ

             วงเงินเดิม              118,662.30  ล้านบาท
             ปรับเพิ่ม                  1,695.56  ล้านบาท

วงเงินหลังการปรับปรุง 120,357.86 ล้านบาท

การประปานครหลวง ขอบรรจุเพิ่มโครงการในแผนฯ จำนวน 1 โครงการ ได้แก่ โครงการปรับปรุงกิจการประปาแผนหลัก ครั้งที่ 8 วงเงินกู้ 1,695.56 ล้านบาท (ณ อัตราแลกเปลี่ยน 100 เยน ต่อ 38 บาท) ที่กำหนดจะกู้เงินจาก JICA แต่เนื่องจากโครงการดังกล่าวยังไม่ได้รับการพิจารณาจากรัฐสภา จึงไม่สามารถลงนามสัญญาเงินกู้ได้ทันตามที่กำหนดไว้ในปี งบประมาณ 2552 จึงต้องเลื่อนการดำเนินการมาในปีงบประมาณ 2553

หลังการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2553 ครั้งที่ 1 จะทำให้ภาพรวมของแผนฯ มีวงเงินเพิ่มขึ้น 50,819.83 ล้านบาท จากเดิม 1,637,896.68 ล้านบาท เพิ่มเป็น 1,688,716.51 ล้านบาท แบ่งเป็นการกู้เงินใหม่ 888,994.81 ล้านบาท และการบริหารหนี้ 799,721.71 ล้านบาท ซึ่งสรุปตามแผนงานย่อยได้ ดังนี้

หน่วย : ล้านบาท

แผน                                                   วงเงินแผนเดิม    การเปลี่ยนแปลง          วงเงินหลัง

ปรับปรุงครั้งที่ 1

1. การบริหารและจัดการเงินกู้ในประเทศของรัฐบาล                673,000.00               -        673,000.00
2.  การบริหารและจัดการเงินกู้เพื่อชดใช้ความเสียหายให้ FIDF       139,171.02               -        139,171.02
3. การบริหารและจัดการเงินกู้เพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้าง               320,000.00               -        320,000.00
ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ
4. การบริหารและจัดการเงินกู้ในประเทศของรัฐวิสาหกิจ             288,531.92       49,124.27        337,656.19
4.1 การกู้เงินใหม่                                          56,252.90       42,384.04         98,636.95
(1) เงินกู้ในประเทศทดแทนเงินกู้จากต่างประเทศ                    9,256.24               -          9,256.24
(2) เงินกู้เงินบาทสมทบโครงการเงินกู้จากต่างประเทศ                7,368.81               -          7,368.81
(3) เงินกู้เพื่อลงทุน                                         34,573.74          819.04         35,392.79
(4) เงินกู้เพื่อดำเนินกิจการทั่วไปและอื่นๆ                          5,054.11       41,565.00         46,619.11
4.2 การบริหารและจัดการหนี้                                 232,279.02        6,740.23        239,019.25
5. การก่อหนี้จากต่างประเทศ   3,438.80 (MUSD)               118,662.30        1,695.56        120,357.86
6. การบริหารหนี้ต่างประเทศ   2,815.18 (MUSD)                98,531.44               -         98,531.44
รวม                                                  1,637,896.68       50,819.83      1,688,716.51

นอกจากวงเงินในแผน 2 รายการที่กล่าวมาแล้ว คณะกรรมการฯ ยังเห็นชอบการปรับปรุงแผนฯ ของรัฐวิสาหกิจที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องอยู่ภายใต้กรอบวงเงินกู้และบริหารหนี้ของแผนการบริหารหนี้สาธารณะเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการดำเนินงาน แต่ยังคงต้องดำเนินการตามขั้นตอนการกู้เงินของรัฐวิสาหกิจนั้นๆ โดยการปรับปรุงแผนฯ ครั้งนี้ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) (บกท.) ขอปรับเพิ่มวงเงินกู้ในประเทศและต่างประเทศ วงเงินรวม 9,751.50 ล้านบาท ประกอบด้วย

  • การเพิ่มวงเงินกู้ในประเทศ จำนวน 5,660 ล้านบาท สำหรับใช้เสริมสภาพคล่อง เพื่อชดเชยและรองรับผลกระทบจากการปิดสนามบิน ซึ่งเป็นวงเงินที่ได้เลื่อนการกู้เงินมาจากปีงบประมาณ 2552 เพื่อให้สอดคล้องกับความจำในการใช้เงิน
  • การเพิ่มวงเงินกู้ต่างประเทศ จำนวน 116.90 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเทียบเท่า4,091.50 ล้านบาท เนื่องจาก บกท. มีแผนจะกู้เงินระยะยาวเพื่อทดแทนในส่วนที่ใช้รายได้ในการจัดซื้อเครื่องบิน A330-300 ลำที่ 3 ในปีงบประมาณ 2552 และเพื่อจัดซื้อเครื่องบิน A330-300 ลำที่ 4 เนื่องจาก ไม่สามารถดำเนินการรับมอบได้ทันในปีงบประมาณ 2552 จึงเลื่อนมาดำเนินการในปีงบประมาณ 2553

อนึ่ง บกท. ขอเพิ่มการบริหารหนี้ด้วยการ Roll-over เงินกู้สำหรับจัดซื้อเครื่องบิน A330-300 ลำที่ 3 ซึ่งเดิมได้รับการพิจารณาให้ทำ Swap Arrangement อยู่แล้ว โดยคาดว่าจะดำเนินการ Roll-over หนี้ระยะสั้นเป็นหนี้ระยะยาวก่อนที่จะทำ Swap Arrangement ต่อไป

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 3 พฤศจิกายน 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ