กรอบการเจรจากู้เงินจากต่างประเทศ ภายใต้แผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 4, 2009 15:39 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีอนุมัติกรอบการเจรจากู้เงินจากต่างประเทศและให้เสนอรัฐสภาเพื่อให้ความเห็นชอบกรอบการเจรจากู้เงินดังกล่าว และมอบหมายให้กระทรวงการคลังดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้องก่อนที่จะนำเสนอสัญญาเงินกู้และเอกสารที่เกี่ยวข้องให้รัฐสภาเพื่อให้ความเห็นชอบต่อไป

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงการคลังเสนอว่า ได้เตรียมกรอบการเจรจากู้เงินกับแหล่งเงินกู้สำหรับโครงการ จำนวน 6 โครงการ โดยมีประเด็นในการเจรจาเพื่อเสนอให้รัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบ ดังนี้

1. วัตถุประสงค์ในการกู้เงิน

(1) โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง บางใหญ่-ราษฎร์บูรณะ ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและขยายการให้บริการของโครงข่ายรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ให้เกิดเป็นโครงข่ายรถไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งเพื่อลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงและลดมลภาวะ

(2) โครงการจัดหารถจักรดีเซลไฟฟ้า โครงการ (2) (4) และ (5) (น้ำหนักกดเพลา 15 และ 20 ตัน) ของการรถไฟแห่งประเทศไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดหารถจักรดีเซลไฟฟ้าพร้อมอะไหล่เพื่อนำมาบริการประชาชนและขนส่งตู้สินค้าคอนเทนเนอร์ระหว่างประเทศ และเพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่งสินค้าทางรถไฟ ให้สามารถแข่งขันในตลาดและสนับสนุนนโยบายรัฐบาลตามแผนยุทธศาสตร์พัฒนาระบบโลจิสติกส์ ที่มุ่งพัฒนาศูนย์รวบรวมและกระจายสินค้า เชื่อมโยงระหว่างการขนส่งรูปแบบต่างๆ ลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิง และต้นทุนการขนส่ง

(3) โครงการจัดหารถโบกี้บรรทุกตู้สินค้า จำนวน 308 คัน ของการรถไฟแห่งประเทศไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดหารถโบกี้บรรทุกตู้สินค้า เพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่งสินค้าตู้คอนเทนเนอร์ ลดปัญหาสินค้าเสียหายในระหว่างการขนถ่าย เพิ่มความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก รวมทั้งสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลและแผนยุทธศาสตร์พัฒนาระบบโลจิสติกส์

(4) โครงการสร้างโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ยุคที่ 3 ของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) (บมจ. ทีโอที) มีวัตถุประสงค์ ดังนี้

  • เพื่อส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของประเทศโดยให้ประชาชน ภาคเอกชน และหน่วยงานภาครัฐสามารถใช้ประโยชน์จากโครงข่ายสารสนเทศภาครัฐและใช้ทรัพยากรของประเทศอย่างคุ้มค่า
  • เพื่อส่งเสริมศักยภาพในการแข่งขันให้กับ บมจ. ทีโอที ในการขยายฐานผู้ใช้บริหารและแก้ปัญหาผู้ใช้บิรการโทรศัพท์ประจำที่ บมจ. ทีโอที ที่หันไปใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่
  • เพื่อรองรับการพัฒนาระบบรัฐบาลอิเล็คทรอนิกส์ และบริการภาครัฐสำหรับการให้บริการแก่ประชาชนและภาคธุรกิจ

2. กรอบวงเงินกู้

กำหนดกรอบวงเงินที่จะขอกู้เงินสำหรับ 6 โครงการประมาณ 1,353.86 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเทียบเท่า 47,385.10 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น

(1) โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง บางใหญ่-ราษฎร์บูรณะ ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย กำหนดวงเงินที่จะขอกู้เงินจากรัฐบาลญี่ปุ่นผ่านองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) ประมาณ 563.86 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเทียบเท่า 19,735 ล้านบาท

(2) โครงการจัดหารถจักรดีเซลไฟฟ้า จำนวน 7 คัน (น้ำหนักกดเพลา 20 ตัน) ของการรถไฟแห่งประเทศไทย กำหนดวงเงินกู้ลักษณะ Export Credit ประมาณ 30 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเทียบเท่า 1,050 ล้านบาท

(3) โครงการจัดหารถโบกี้บรรทุกตู้สินค้า จำนวน 308 คัน ของการรถไฟแห่งประเทศไทย กำหนดวงเงินกู้ลักษณะ Export Credit ประมาณ 20 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเทียบเท่า 700 ล้านบาท

(4) โครงการจัดหารถจักรดีเซลไฟฟ้า จำนวน 7 คัน (น้ำหนักกดเพลา 15 ตัน) ของการรถไฟแห่งประเทศไทย กำหนดวงเงินกู้ลักษณะ Export Credit ประมาณ 21.43 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเทียบเท่า 750.10 ล้านบาท

(5) โครงการจัดหารถจักรดีเซลไฟฟ้า จำนวน 13 คัน (น้ำหนักกดเพลา 20 ตัน) ของการรถไฟแห่งประเทศไทย กำหนดวงเงินกู้ลักษณะ Export Credit ประมาณ 55.71 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเทียบเท่า 1,950 ล้านบาท

(6) โครงการสร้างโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ยุคที่ 3 ของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)กำหนดวงเงินกู้ลักษณะ Export Credit ประมาณ 662.86 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเทียบเท่า 23,200 ล้านบาท

3. กรอบต้นทุนและระยะเวลาในการกู้เงิน

กำหนดกรอบในการกู้เงินโดยจะเจรจาให้ได้ต้นทุนเงินกู้ในระดับที่เหมาะสมและสอดคล้องกับภาวะตลาด และมีระยะเวลาการกู้เงินที่สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของรัฐบาลในอนาคต ในกรณีเงินกู้จาก JICA การพิจารณาต้นทุนการกู้เงินจะใช้ต้นทุนที่ได้ทำการแปลงหนี้ต่างประเทศเป็นเงินบาท (swap rate) แล้วเปรียบเทียบกับต้นทุนการกู้เงินในประเทศของรัฐบาลด้วย อย่างไรก็ดี การกู้เงินจากแหล่งเงินกู้ดังกล่าวมีต้นทุนการกู้เงินโดยเฉลี่ยต่ำกว่าการกู้เงินในประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีต้นทุนการกู้เงินสำหรับการออกพันธบัตรรัฐบาลอายุ 16 ปี อยู่ที่ประมาณร้อยละ 4.76 ต่อปี (ณ วันที่ 2 พฤศจิกายน 2552) โดยมีต้นทุนการกู้เงินต่างประเทศประมาณร้อยละ 4.40 ต่อปี ภายใต้ระยะเงินกู้เฉลี่ยประมาณ 16 ปี สำหรับการกู้เงินลักษณะ Export Credit อัตราดอกเบี้ยกำหนดตาม Commercial Interest Reference Rate (CIRR) ในรูปสกุลเงินของประเทศผู้ส่งออกหรือสกุลเงินหลัก ซึ่งอัตราดอกเบี้ยขั้นต่ำที่ Organization for Economic Co-operation and Development (OECD) กำหนดในการให้สินเชื่อเพื่อการส่งออก โดยมีอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงตามสกุลเงินหลักที่กำหนดโดย OECD ที่มีการปรับเปลี่ยนทุก 15 วัน

4. กรอบในการจัดซื้อจัดจ้าง

จะดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างภายใต้ระเบียบของแต่ละแหล่งเงินกู้

5. กรอบระยะเวลาในการเบิกจ่ายเงินกู้

กำหนดกรอบและระยะเวลาในการเบิกจ่ายเงินกู้ให้สอดคล้องกับการดำเนินโครงการของแต่ละโครงการ โดยจะเจรจาให้ได้เงื่อนไขที่เป็นประโยชน์สูงสุด

6. กรอบในการกำกับติดตามและการตรวจสอบการใช้จ่ายเงิน

กำหนดกรอบในการกำกับติดตามและการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินโดยให้มีการตรวจสอบและกำกับติดตามจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งแหล่งเงินกู้ของแต่ละโครงการ และให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเข้ามาตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างและการใช้จ่ายเงินของทุกโครงการ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 3 พฤศจิกายน 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ