สรุปสถานการณ์อุทกภัยเนื่องจากอิทธิพลของพายุ “กิสนา (KETSANA)”

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 4, 2009 16:09 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง สรุปสถานการณ์อุทกภัยเนื่องจากอิทธิพลของพายุ “กิสนา (KETSANA)” และหย่อมความกดอากาศต่ำ

และการเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยหนาว ปี พ.ศ. 2552 - 2553

คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ติดตาม สถานการณ์อุทกภัยเนื่องจากอิทธิพลของพายุ “กิสนา” และหย่อมความกดอากาศต่ำ ระหว่างวันที่ 29 กันยายน- 2 พฤศจิกายน 2552 โดยสรุปสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้น รวมทั้งผลการปฏิบัติงานช่วยเหลือประชาชน ในห้วงเวลาดังกล่าว และการเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยหนาว ปี พ.ศ. 2552 - 2553 ดังนี้

1. สรุปสถานการณ์อุทกภัยเนื่องจากอิทธิพลของพายุ “กิสนา (KETSANA)” และหย่อมความกดอากาศต่ำ (ระหว่างวันที่ 29 กันยายน - 2 พฤศจิกายน 2552)

1.1 พื้นที่ประสบภัย 40 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกำแพงเพชร ลำปาง พิษณุโลก พิจิตร เชียงใหม่ ตาก สุโขทัย ลำพูน เพชรบูรณ์ อุทัยธานี นครสวรรค์ แม่ฮ่องสอน พะเยา เลย ศรีสะเกษ ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี ชัยภูมิ กาฬสินธุ์ บุรีรัมย์ นครราชสีมา ยโสธร สุรินทร์ มุกดาหาร ขอนแก่น ชัยนาท ลพบุรี สิงห์บุรี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สมุทรปราการ นครปฐม กาญจนบุรี ปทุมธานี สุพรรณบุรี ราชบุรี จันทบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา และจังหวัดระนอง รวม 251 อำเภอ 1,541 ตำบล 12,122 หมู่บ้าน มีผู้เสียชีวิต 2 คน (ลำปาง ยโสธร) บาดเจ็บ 1 คน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 2,897,554 คน 701,288 ครัวเรือน บ้านเรือนเสียหายทั้งหลัง 44 หลัง เสียหายบางส่วน 4,683 หลัง ถนน 3,795 สาย สะพาน 172 แห่ง บ่อปลา/กุ้ง 5,097 บ่อ ปศุสัตว์ 16,018 ตัว สัตว์ปีก 37,790 ตัว พื้นที่การเกษตรถูกน้ำท่วมเบื้องต้นประมาณ 2,077,392 ไร่ มูลค่าความเสียหายเบื้องต้น 711,034,613 บาท

1.2 ตารางสรุปความเสียหายจากพายุ “กิสนา” และหย่อมความกดอากาศต่ำ(ระหว่างวันที่ 29 กันยายน - 2 พฤศจิกายน 2552)

                 ลำดับที่     ประเภทความเสียหาย                จำนวนความเสียหาย
                 1         พื้นที่ประสบอุทกภัย                   40 จังหวัด รวม 251 อำเภอ 1,541 ตำบล 12,122 หมู่บ้าน
                 2         ประชาชนได้รับความเดือดร้อน          2,897,554 คน 701,288 ครัวเรือน
                 3         ผู้เสียชีวิต                         2 คน (ลำปาง  ยโสธร)
                 4         บาดเจ็บ                          1 คน
                 5         บ้านเรือนเสียหายทั้งหลัง              44 หลัง
                 6         บ้านเรือนเสียหายบางส่วน             4,683 หลัง
                 7         ถนนเสียหาย                       3,795 สาย
                 8         สะพาน                           172 แห่ง
                 9         บ่อปลา/กุ้ง                        5,097 บ่อ
                 10        ปศุสัตว์                           16,018 ตัว
                 11        สัตว์ปีก                           37,790 ตัว
                 12        พื้นที่การเกษตรถูกน้ำท่วมเบื้องต้นประมาณ  2,077,392 ไร่
                 13        มูลค่าความเสียหายเบื้องต้น            711,034,613 บาท

1.3 สถานการณ์ปัจจุบัน คลี่คลายเข้าสู่ภาวะปกติทุกพื้นที่แล้ว

1.4 การตรวจติดตามสถานการณ์อุทกภัย

เมื่อวันพุธที่ 28 ตุลาคม 2552 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล) พร้อมด้วยประธานคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ) ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (นายชำนิ บูชาสุข) ปลัดกระทรวงมหาดไทย (นายมานิต วัฒนเสน) รองปลัดกระทรวงมหาดไทย (นายขวัญชัย วงศ์นิติกร) อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (นายอนุชา โมกขะเวส) อธิบดีกรมการปกครอง (ดร.วงศ์ศักดิ์ สวัสดิ์พาณิชย์) และคณะ เดินทางไปตรวจราชการและมอบนโยบายการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ให้กับผู้ว่าราชการจังหวัด 14 จังหวัดภาคใต้ และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่สำนักงานเทศบาลนครหาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

2. การให้ความช่วยเหลือ

2.1 สิ่งของพระราชทานผู้ประสบภัยพายุ “กิสนา” และหย่อมความกดอากาศต่ำ

1) มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เดินทางไปมอบสิ่งของพระราชทาน ที่จังหวัดมหาสารคาม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ บุรีรัมย์ อุบลราชธานี ชุมพร ลำพูน ลำปาง ตาก อุทัยธานี ชัยนาท พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สมุทรปราการ และจังหวัดกาญจนบุรี รวม 29,560 ชุด

2) สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สภานายิกาสภากาชาดไทยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้เลขาธิการสภากาชาดไทย มอบชุดธารน้ำใจสภากาชาดไทย ที่จังหวัดนครราชสีมา อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา นครสวรรค์ และจังหวัดสมุทรปราการ จำนวน 3,670 ชุด ยาสามัญประจำบ้านและยาแก้น้ำกัดเท้า จำนวน 2,000 ชุด และน้ำดื่ม จำนวน 32,040 ขวด

3) สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร และพระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ให้ พล.อ.อ.โยธิน ประยูรโภคราช ประธานที่ปรึกษา กองงานพระวรชายาฯ เป็นผู้แทนพระองค์ มอบถุงยังชีพและสิ่งของพระราชทาน ที่จังหวัดสุโขทัย และจังหวัดกาญจนบุรี รวม 2,000 ชุด

4) สำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย มอบชุดธารน้ำใจฯ พระราชทานที่จังหวัดชัยนาท ลำปาง ศรีสะเกษ ตาก บุรีรัมย์ อุทัยธานี สุรินทร์ อุบลราชธานี และจังหวัดนครสวรรค์ จำนวน 9,121 ชุด ยาสามัญประจำบ้าน จำนวน 2,860 ชุด น้ำดื่ม 33,874 ขวด เสื้อยืดแขนสั้น จำนวน 2,000 ตัว และหม้อ MEYER 12 ชุด

5) พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ (นายกกิตติมศักดิ์ตลอดชีพ) และพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ประธานมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก ทรงโปรดให้ นายอภัย จันทนจุลกะ รองประธานมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก เป็นผู้แทนพระองค์ มอบถุงพระราชทาน พร้อมตรวจเยี่ยมและจัดรถประกอบอาหารเคลื่อนที่แจกจ่ายแก่ราษฎรที่ประสบอุทกภัย ที่จังหวัดสุโขทัย อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา และกรุงเทพมหานคร รวม 2,696 ชุด

2.2 การให้ความช่วยเหลือของจังหวัดที่ประสบภัย สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้ให้ความช่วยเหลือแก่ราษฎรที่ประสบภัยในเบื้องต้นแล้ว พร้อมทั้งได้ระดมเจ้าหน้าที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสำรวจความเสียหายเพื่อให้ความช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรอง ราชการฯ (งบ 50 ล้านบาท) ต่อไป

3. การเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยหนาว ปี พ.ศ. 2552 - 2553

กรมอุตุนิยมวิทยา ได้คาดหมายลักษณะอากาศในช่วงฤดูหนาวของประเทศไทย ปี 2552 — 2553 ว่าจะเริ่มตั้งแต่ประมาณกลางเดือนตุลาคม 2552 ถึงประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2553 เนื่องจากบริเวณความกดอากาศสูง หรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนเป็นระยะ ๆ และทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงได้ในบางพื้นที่ ต่อจากนั้นอุณหภูมิจะลดลง ทำให้ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก รวมทั้งบริเวณยอดดอยและยอดภู จะมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด และจะสิ้นสุดฤดูหนาวประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2553

เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยหนาว ปี พ.ศ.2552 - 2553 รวมทั้งเพื่อให้การช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ผู้ประสบภัย การประสานการปฏิบัติ ตลอดจนสนับสนุนการปฏิบัติตามแผนป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนจังหวัด อำเภอ/และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ กระทรวงมหาดไทยจึงได้สั่งการทุกจังหวัดดำเนินการดังนี้

1) จัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยหนาวของจังหวัดขึ้น ณ สำนักงานป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด และจัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจฯ อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งในเขตพื้นที่ พร้อมทั้งแต่งตั้งเจ้าหน้าที่รับผิดชอบประจำศูนย์ฯ โดยแบ่งมอบหน้าที่ให้มีผู้รับผิดชอบในการปฏิบัติอย่างเป็นระบบ

2) สำรวจและจัดทำบัญชีผู้ประสบภัยหนาว โดยระบุจำนวนประชากรแยกรายครัวเรือนแต่ละอำเภอ ตำบล และหมู่บ้านที่ประสบภัยหนาว หรือคาดว่าจะประสบภัยหนาว

3) ประสานและซักซ้อมหน่วยราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มูลนิธิ และองค์กรเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมการช่วยเหลือประชาชนตามแผนป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนจังหวัด อำเภอและท้องถิ่น รวมทั้งขอรับการสนับสนุนเครื่องกันหนาว ผ้าห่ม เวชภัณฑ์ เครื่องอุปโภคบริโภคตามความเหมาะสม

4) จัดเตรียมผ้าห่ม และเครื่องนุ่งห่มกันหนาว เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่ประสบภัยหนาว โดยให้ถือปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2546 และที่แก้ไขเพิ่มเติม รวมทั้งหลักเกณฑ์ที่กำหนด

5) ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนระมัดระวังอัคคีภัยจากสภาพอากาศแห้ง และอุบัติเหตุจากการเดินทาง เนื่องจากหลายพื้นที่มักมีหมอกเกิดขึ้น รวมทั้งให้ดูแลรักษาสุขภาพ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ยากไร้ และเด็กเล็ก ซึ่งอาจเจ็บป่วยจากภาวะอากาศหนาวเย็น

6) กำชับให้เจ้าหน้าที่ ฯ ติดตาม และประเมินสถานการณ์ภัยหนาวว่าประชาชนสามารถช่วยเหลือตนเองได้หรือไม่ เพื่อให้สามารถพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือไปยังพื้นที่ที่ประสบภัยได้ทันทีและทั่วถึง

7) ในกรณีเกิดสถานการณ์ภัยหนาวขึ้นในพื้นที่ ให้จังหวัดจัดทำสรุปสถานการณ์ความเสียหาย และการให้ความช่วยเหลือ ตามแบบรายงานที่ส่งมาพร้อมนี้ โดยจัดส่งให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยทุกวันพุธของสัปดาห์ และรายงานอย่างต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์จะยุติ พร้อมทั้งบันทึกข้อมูลลงในระบบโปรแกรมประยุกต์ระบบข้อมูลสาธารณภัย (MIS,GIS) ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจัดทำขึ้น

4. การคาดหมายลักษณะอากาศระหว่างวันที่ 1- 7 พฤศจิกายน 2552

4.1 กรมอุตุนิยมวิทยา คาดหมายลักษณะอากาศว่า ในช่วงวันที่ 1-5 พฤศจิกายน 2552 บริเวณความกดอากาศสูงกำลังแรงจากประเทศจีนจะแผ่เข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนในระยะแรก จากนั้นอากาศจะเย็นลงมากโดยอุณหภูมิจะลดลง 3 - 6 องศาเซลเซียส และมีลมแรง สำหรับในภาคใต้ตอนล่างลงไปจะมีฝนเพิ่มมากขึ้น และมีฝนตกหนักในหลายพื้นที่ ส่วนคลื่นลมในอ่าวไทยและทะเลอันดามันจะมีกำลังแรง หลังจากนั้นในช่วงวันที่ 6-7 พฤศจิกายน 2552 บริเวณความกดอากาศสูงนี้จะมีกำลังอ่อนลง ทำให้อากาศอุ่นขึ้น

อนึ่ง พายุโซนร้อน “มิรีแน” (Mirinae) ในทะเลจีนใต้ตอนกลาง กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกด้วยความเร็วประมาณ 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คาดว่าพายุนี้จะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณเมืองนาตรัง ประเทศเวียดนามในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2552 และคาดว่าจะอ่อนกำลังลงอย่างรวดเร็ว

4.2 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้แจ้งเตือนเกี่ยวกับสภาวะอากาศให้จังหวัดในภาคใต้ เตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม อันเกิดจากสภาวะฝนตกหนัก อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินถล่ม และได้แจ้งเตือนเกี่ยวกับสภาวะภัยหนาวให้จังหวัดในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยหนาว อันเกิดจากสภาวะอากาศ อาจสร้างความเสียหายให้แก่ชีวิต ทรัพย์สิน และพืชผลทางการเกษตรของประชาชนแล้ว และให้ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ในพื้นที่อย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งเตรียมเครื่องมืออุปกรณ์ไว้ให้พร้อมเพื่อสามารถช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ทันต่อเหตุการณ์เมื่อเกิดสาธารณภัยขึ้น

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 3 พฤศจิกายน 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ