การลงนามร่าง BIMSTEC

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 4, 2009 16:31 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง การลงนามร่าง BIMSTEC Convention on Combating International Terrorism,

Transnational Organized Crime and lllicit Drug Trafficking

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างอนุสัญญา BIMSTEC Convention on Combating International Terrorism, Transnational Organized Crime and lllicit Drug Trafficking เพื่อให้สามารถลงนามได้ในการประชุมระดับรัฐมนตรี BIMSTEC ที่ประเทศพม่า โดยมอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้ลงนามฝ่ายไทยในร่างอนุสัญญาฯ ตามที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติเสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) รายงานว่า

1. ความเป็นมาของร่างอนุสัญญาฯ

1.1 ที่ประชุมระดับผู้นำ BIMSTEC ครั้งที่ 1 วันที่ 30-31 กรกฎาคม 2547 ที่กรุงเทพฯ ได้ตกลงให้มีการจัดตั้ง “คณะทำงานร่วมว่าด้วยการต่อต้านการก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ” เพื่อร่วมกันต่อต้านการก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ และในการประชุมคณะทำงานร่วมฯ ครั้งที่ 4 วันที่ 22-23 ตุลาคม 2551 ที่ประเทศอินเดีย ที่ประชุมได้มีมติรับรองร่างอนุสัญญา BIMSTEC Convention on Cooperation in Combating International Terrorism Transnational Organized Crime and lllicit Drug Trafficking ที่อินเดียยกร่างขึ้น โดยคณะผู้แทนไทย ได้ประสบความสำเร็จในการผลักดันให้ระบุคำว่า UN Convention ไว้ในอารัมภบทของร่างอนุสัญญาฯ รวมทั้งระบุคำว่า International Terrorism แทนคำว่า Terrorism ไว้ใน Scope of the Convention เพื่อให้เกิดความชัดเจน และเป็นไปตามพันธกรณีที่ไทยมีอยู่แล้วภายใต้สนธิสัญญา อนุสัญญา หรือข้อมติที่เกี่ยวข้องกับสหประชาติ อย่างไรก็ตาม ในการประชุมระดับผู้นำ BIMSTEC ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2551 ที่ประเทศอินเดีย ไม่สามารถลงนามร่างอนุสัญญาฯ ดังกล่าวได้เนื่องจากติดขัดที่กฎหมายภายในของประเทศไทย

1.2 โครงสร้างสำคัญของร่างอนุสัญญาฯ ประกอบไปด้วยอารัมภบทและข้อบท 15 ข้อ กล่าวถึงขอบเขตของอนุสัญญาฯ ว่าจะต้องอยู่ภายใต้กฎหมายและข้อบังคับภายในของประเทศสมาชิก และนิยามที่ระบุว่าข้อตกลงต้องอยู่ภายใต้พันธกรณีระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง ซึ่งประเทศสมาชิกเป็นภาคี รวมทั้งกล่าวถึงการร่วมมือกันอย่างเป็นรูปธรรมในการต่อต้านการก่อการร้ายสากล องค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ และการลักลอบค้ายาเสพติด นอกจากนี้ ร่างอนุสัญญาฯ ยังได้ระบุถึงกลไกวิธีการ และขั้นตอนในการดำเนินการภายใต้อนุสัญญาฯ อาทิ ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย การแจ้งเกี่ยวกับหน่วยประสานงาน การรักษาความลับของข้อมูล การปฏิเสธคำร้องขอ การระงับข้อพิพาทการมีผลบังคับใช้ และการถอนตัวออกจากอนุสัญญาฯ

2. การดำเนินการ

สืบเนื่องจากที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2552 รับทราบผลการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือ BIMSTEC ครั้งที่ 2 สมช. โดยศูนย์ประสานความร่วมมือต่อต้านการก่อการร้ายสากลและอาชญากรรมข้ามชาติแห่งชาติ (ศกอช.) ในการจัดทำร่างอนุสัญญาฯ ได้จัดประชุมส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2552 ประกอบด้วย กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) สำนักงานอัยการสุงสุด (อส.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร สำนักงานป้องปันและปราบปรามการฟอกเงิน สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด สำนักข่าวกรองแห่งชาติ และกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อพิจารณาในประเด็นว่าร่างอนุสัญญาฯ เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 190 วรรคสองของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาหรือไม่ และที่ประชุมมีความเห็นว่าร่างอนุสัญญาฯ เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 190 แต่ไม่เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 190 วรรคสอง เนื่องจากสารัตถะของร่างอนุสัญญาฯ เป็นไปตามพันธกรณีที่ไทยมีภายใต้สนธิสัญญา อนุสัญญา หรือข้อมติของสหประชาชาติที่เกี่ยวข้อง ขณะเดียวกันก็ไม่ได้กระทบต่ออธิปไตยและความมั่นคงของประเทศ นอกจากนี้ กต. ได้มีหนังสือถึง สมช. ให้ความเห็นไปในทางเดียวกับที่ประชุม

3. ข้อพิจารณาของ สมช.

3.1 แม้ว่า BIMSTEC จะมุ่งเน้นความร่วมมือทางเศรษฐกิจเพื่อเป็นสะพานเชื่อมระหว่างเอเชียใต้กับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างไรก็ตาม บรรดาประเทศสมาชิกได้ตระหนักถึงความสำคัญของมิติด้านความมั่นคงที่อาจมีผลกระทบต่อความเจริญทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภัยคุกคามจากการก่อการร้าย ทั้งนี้ อนุสัญญาฯ จะมีความสำคัญในฐานะที่เป็นกลไกหลักในการดำเนินความร่วมมือด้านการต่อต้านการก่อการร้ายสากลและองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติของกลุ่มประเทศ BIMSTEC ในส่วนของประเทศไทย อนุสัญญาฯ จะช่วยในการกระชับความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างไทยกับประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้ต่อไปด้วย

3.2 ประเทศสมาชิกทุกประเทศต่างมีความพร้อมที่จะลงนามในร่างอนุสัญญาฯ เว้นแต่ประเทศไทยที่ยังติดขัดขั้นตอนการดำเนินการตามกฎหมายภายในโดยหากประเทศไทยสามารถเสร็จสิ้นกระบวนการภายในเพื่อให้สามารถลงนามในร่างอนุสัญญาฯ ได้ ในการประชุมระดับรัฐมนตรี BIMSTEC ที่จะจัดขึ้นที่ประเทศพม่าในเดือนตุลาคม 2552 ก็จะแสดงถึงการมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันของประเทศไทยในการดำเนินความร่วมมือภายใต้กรอบความร่วมมือ BIMSTEC

3.3 ร่างอนุสัญญาฯ เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ซึ่งจะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อนการลงนาม และโดยที่คาดการณ์ว่าจะมีการลงนามในร่างอนุสัญญาฯ โดยประเทศสมาชิกในการประชุมระดับรัฐมนตรี BIMSTEC ที่ประเทศพม่าในห้วงเดือนตุลาคม 2552 จึงเห็นสมควรมอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้ลงนามฝ่ายไทยในร่างอนุสัญญาฯ

3.4 ร่างอนุสัญญาฯ ไม่เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 190 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญฯ ที่จะต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาก่อนดำเนินการให้มีผลผูกพัน เนื่องจากสารัตถะของอนุสัญญาฯ เป็นความร่วมมือด้านการต่อต้านการก่อการร้ายองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ และการค้ายาเสพติดของประเทศสมาชิก BIMSTEC ในกรอบของกฎหมายและข้อบังคับของแต่ละประเทศ โดยไม่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือเขตพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ หรือต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญาฯ หรือมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง หรือมีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน หรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 3 พฤศจิกายน 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ