การลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในกรอบอาเซียน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 4, 2009 16:34 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง การลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในกรอบอาเซียนเกี่ยวกับแผนการส่งเสริมสินค้าเกษตรและป่าไม้

(Memorandum of Understanding on ASEAN Co-operation in Agriculture and Forest Products

Promotion Scheme)

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในกรอบอาเซียนเกี่ยวกับแผนการส่งเสริมสินค้าเกษตรและป่าไม้ (Memorandum of Understanding on ASEAN Co-operation in Agriculture and Forest Products Promotion Scheme) ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ และให้เสนอรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบต่อไป

โดยมอบอำนาจให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นผู้ลงนามในบันทึกความเข้าใจฯ ดังกล่าว ในการประชุมรัฐมนตรีเกษตรและป่าไม้อาเซียน ครั้งที่ 31 ระหว่างวันที่ 7-12 พฤศจิกายน 2552 ณ ประเทศบรูไน ดารุซาราม เมื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบบันทึกความเข้าใจฯ ดังกล่าว ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขเอกสารดังกล่าวที่ไม่ใช่สาระสำคัญ หรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ให้คณะผู้แทนไทยดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก

ความเป็นมา

1. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในกรอบอาเซียนเกี่ยวกับแผนการส่งเสริมสินค้าเกษตรและป่าไม้ (MOU) ได้มีการลงนามครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2537 ที่มีเป้าหมายเพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันของสินค้าเกษตรและป่าไม้ของอาเซียนในภาพรวม และต่อมาได้มีการพัฒนาเนื้อหาของ MOU เพิ่มเติม และขยายระยะเวลาบังคับใช้ 5 ปี (พ.ศ.2542-2547) และอีก 5 ปี (พ.ศ.2548-2552) โดยจะสิ้นสุดการบังคับใช้ในวันที่ 27 ตุลาคม 2552

2. ที่ประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสสำหรับการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านเกษตรและป่าไม้ ครั้งที่ 30 สมัยพิเศษ เมื่อวันที่ 11-13 สิงหาคม 2552 ณ ประเทศเวียดนาม ได้มีมติเห็นชอบร่าง MOU ที่ได้มีการปรับปรุงให้สอดคล้องกับภาวะการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในปัจจุบันแล้ว และจะนำเสนอต่อที่ประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียนด้านเกษตรและป่าไม้ (AMAF) ให้มีการลงนามในเดือนพฤศจิกายน 2552

3. คณะรัฐมนตรีได้ประชุมปรึกษาเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2552 รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (นายมณฑล เจียมเจริญ) ชี้แจงว่า บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือ (MOU) ในกรอบอาเซียนเกี่ยวกับแผนการส่งเสริมสินค้าเกษตรและป่าไม้ ได้มีการลงนามครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2537 และมีการขยายระยะเวลาบังคับใช้ทุก ๆ 5 ปี ซึ่งบันทึกความเข้าใจดังกล่าวจะสิ้นสุดบังคับใช้ในวันที่ 27 ตุลาคม 2552 ดังนั้น เพื่อให้อาเซียนสามารถร่วมกันดำเนินการไปสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในพ.ศ. 2558 ประเทศสมาชิกจึงได้มีมติเห็นชอบให้มีการปรับปรุงเนื้อหาใน MOU เพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน ดังนี้

3.1 เพิ่มข้อบท ได้แก่ การเก็บรักษาความลับ การเก็บรักษาซึ่ง MOU การระงับข้อพิพาท การขอสงวนการขอระงับการปฏิบัติตาม MOU ซึ่งสามารถระงับการดำเนินการได้และมีผลทันที โดยไม่มีเงื่อนไขผูกพันให้ต้องชดเชยสิ่งใดที่จะกระทบต่อผลประโยชน์ของประเทศ MOU นี้ จึงเป็นหนังสือสัญญาที่ไม่มีผลตามกฎหมาย

3.2 เพิ่มข้อความในข้อบทการจัดการด้านการเงิน ในการสนับสนุนการเงิน เช่น ค่าเดินทางและ ค่าครองชีพในการเข้าร่วมประชุมกับบางประเทศตามแต่กรณีที่ประเทศเจ้าภาพเห็นสมควร ซึ่งเห็นว่า เป็นการปรับปรุงเล็กน้อยเพื่อให้สอดคล้องกับรูปแบบเอกสารอาเซียน สำหรับการกำหนดเงื่อนไขเพื่อให้มีการเลือกชนิดสินค้าให้เกิดประโยชน์ ตามที่ระบุใน MOU ที่กำหนดให้เป็นสินค้าที่มีศักยภาพในการส่งออกและมีรัฐสมาชิกเห็นพ้องอย่างน้อยสองประเทศ และเป็นสินค้าที่มีผลต่อภาวะเศรษฐกิจเชิงบวกในการสร้างรายได้และการสร้างงาน ซึ่งมีผลต่อประชาชนจำนวนมากของรัฐสมาชิก ทั้งนี้ การกำหนดเงื่อนไขดังกล่าว มีเจตนาเพื่อให้การเลือกชนิดสินค้าสำหรับมาพัฒนาเกิดประโยชน์ต่อประชาชนของรัฐสมาชิกมากที่สุด จึงไม่น่าจะมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างกว้างขวาง ที่จะต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาตามมาตรา 190 วรรคสอง

สาระสำคัญของเรื่อง

1. วัตถุประสงค์ เพื่อสร้างความเข้มแข็งและเพิ่มอำนาจการต่อรองในเรื่องการค้าสินค้าเกษตรและป่าไม้ของอาเซียนในตลาดโลก การขยายตลาดสินค้า พัฒนาคุณภาพและความปลอดภัยด้านอาหาร ประสานงานระหว่างสมาชิกอย่างใกล้ชิด และเพื่อการมีวัตถุดิบในการผลิตที่ยั่งยืน

2. ครอบคลุม สินค้าจำนวน 11 ชนิด ได้แก่ สาหร่ายทะเล โกโก้ มะพร้าว กาแฟ ผลิตภัณฑ์จากป่าไม้ น้ำมันปาล์ม ถั่วต่าง ๆ พริกไทย มันสำปะหลัง ชา และปลาทูน่า

3. หลักการ ประกอบด้วย 1) ร่วมมือกันด้านการค้าสินค้าในตลาดโลก อาทิ ลด/เลิกกีดกันทางการค้า และการเจรจาต่อรองการค้า 2) สร้างจุดยืนร่วมกันสำหรับสินค้าชนิดนั้นในตลาดโลก 3) เพิ่มมูลค่าการค้าสินค้าเกษตรและป่าไม้ และ 4) สร้างเสริมความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว ซึ่งแผนงาน/กิจกรรมในการส่งเสริมสินค้าเหล่านี้จะริเริ่มโดยภาคเอกชน ขณะที่ภาครัฐจะเป็นผู้ให้การสนับสนุน

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 3 พฤศจิกายน 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ