การลงนามความตกลงพหุภาคีอาเซียนว่าด้วยการเปิดเสรีอย่างเต็มที่ของบริการขนส่งผู้โดยสารทางอากาศ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 4, 2009 16:47 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง การลงนามความตกลงพหุภาคีอาเซียนว่าด้วยการเปิดเสรีอย่างเต็มที่ของบริการขนส่งผู้โดยสารทางอากาศ และพิธีสารแนบท้าย

ความตกลง 2 ฉบับ และพิธีสารข้อผูกพันชุดที่ 6 ของบริการขนส่งทางอากาศ ภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยบริการของอาเซียน

คณะรัฐมนตรีอนุมัติตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ ทั้ง 3 ข้อ ดังนี้

1. อนุมัติการลงนามความตกลงพหุภาคีอาเซียนว่าด้วยการเปิดเสรีอย่างเต็มที่ของบริการขนส่งผู้โดยสารทางอากาศ และพิธีสารแนบท้ายความตกลง 2 ฉบับ และพิธีสารข้อผูกพันชุดที่ 6 ของบริการขนส่งทางอากาศ ภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยบริการของอาเซียน และให้เสนอความตกลงและพิธีสารทั้ง 2 เรื่องเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาให้ความเห็นชอบต่อไป

2. มอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หรือรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม หรือผู้ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมมอบหมาย ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทยในการประชุมรัฐมนตรีขนส่งอาเซียนร่วมลงนามความตกลงฯ และพิธีสาร 2 เรื่องข้างต้น ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขเอกสาร 2 เรื่องดังกล่าวที่มิใช่สาระสำคัญ ขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หรือรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม หรือผู้ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมมอบหมายเป็นผู้ใช้ดุลยพินิจในเรื่องนั้น ๆ แทนคณะรัฐมนตรี โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีกครั้ง

3. เมื่อรัฐสภาเห็นชอบตามข้อ 1 แล้ว มอบหมายหน่วยงานภายในที่เกี่ยวข้องดำเนินกระบวนการภายในประเทศเพื่ออนุวัติการให้เป็นไปตามหนังสือสัญญา และมอบกระทรวงการต่างประเทศแจ้งภาคีคู่สัญญาทราบเพื่อให้หนังสือสัญญามีผลใช้บังคับต่อไป

ข้อเท็จจริง

ด้วยสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม มีกำหนดเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีขนส่งอาเซียน ครั้งที่ 15 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 7-11 ธันวาคม 2552 ณ กรุงฮานอย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม โดยในการประชุมดังกล่าว จะมีการลงนามมีความตกลงและพิธีสาร 2 เรื่อง ดังนี้

1. ความตกลงพหุภาคีอาเซียนว่าด้วยการเปิดเสรีอย่างเต็มที่ของบริการขนส่งผู้โดยสารทางอากาศ และพิธีสารแนบท้ายความตกลง 2 ฉบับ (ASEAN Multilateral Agreement on the Full Liberalisation of Passenger Air Services and its 2 Protocols)

1.1 เรื่องเดิม

1.1.1 ในการประชุมรัฐมนตรีขนส่งอาเซียน ครั้งที่ 10 เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2547 ณ กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา ที่ประชุมได้รับรองแผนปฏิบัติการในการรวมกลุ่มและเปิดเสรีการขนส่งทางอากาศของอาเซียน เพื่อส่งเสริมความก้าวหน้าของการเปิดเสรีอย่างเต็มที่และการรวมกลุ่มของการบริการเดินอากาศในอาเซียน

1.1.2 ในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 10 เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2547 ที่กรุงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ที่ประชุมได้ให้การรับรองแผนปฏิบัติการเวียงจันทน์ที่ให้เร่งรัดการตกลงเปิดน่านฟ้าเสรี และยกระดับการเปิดเสรีในบริการขนส่งทางอากาศ โดยให้ดำเนินการเปิดเสรีบริการเดินอากาศสำหรับผู้โดยสารสำหรับทุกเมืองหลวงในอาเซียนภายในเดือนธันวาคม 2553 (ค.ศ. 2010)

1.1.3 เพื่อให้อาเซียนสามารถดำเนินการเปิดเสรีบริการขนส่งทางอากาศได้ภายในเวลาที่กำหนด รัฐมนตรีขนส่งอาเซียน/เจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการขนส่งอาเซียนจึงได้มอบหมายให้คณะทำงานด้านการขนส่งทางอากาศอาเซียนพิจารณาจัดทำร่างความตกลงพหุภาคีอาเซียนว่าด้วยบริการเดินอากาศให้แล้วเสร็จเพื่อการนำเสนอรัฐมนตรีขนส่งอาเซียนลงนามในการประชุมรัฐมนตรีขนส่งอาเซียน ครั้งที่ 14 ในเดือนพฤศจิกายน 2551 ณ ประเทศฟิลิปปินส์

1.1.4 ในการประชุมรัฐมนตรีขนส่งอาเซียน ครั้งที่ 14 เมื่อวันที่ 6-7 พฤศจิกายน 2551 ณ กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ รัฐมนตรีขนส่งอาเซียน 9 ประเทศ (ยกเว้นประเทศไทย) ได้ร่วม ลงนามความตกลงพหุภาคีอาเซียนว่าด้วยบริการเดินอากาศ และพิธีสารแนบท้ายความตกลง 6 ฉบับ เนื่องจากในขณะนั้นประเทศไทยอยู่ระหว่างดำเนินการเสนอรัฐสภาเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างความตกลงฯ พร้อมกันนี้ ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบให้ดำเนินการจัดทำพิธีสารแนบท้ายความตกลงฯ เพิ่มขึ้น 2 ฉบับ จากเดิมที่มีอยู่ 6 ฉบับ เพื่อเป็นการเปิดเสรีการขนส่งผู้โดยสารทางอากาศอย่างเต็มที

1.1.5 ในคราวประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 1 (สมัยสามัญทั่วไป) และ ครั้งที่ 2 (สมัยสามัญทั่วไป) เมื่อวันที่ 26-27 มกราคม 2552 รัฐสภาได้มีมติเห็นชอบร่างความตกลงฯ และพิธีสารทั้ง 6 ฉบับ ซึ่งต่อมา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้ลงนามความตกลงฯ และพิธีสารแนบท้ายความตกลง 6 ฉบับดังกล่าวเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2552

1.1.6 ในการประชุมคณะทำงานด้านการขนส่งทางอากาศอาเซียน ครั้งที่ 20 เมื่อวันที่ 4-7 สิงหาคม 2552 ณ เมืองปีนัง ประเทศมาเลเซีย ที่ประชุมได้ตกลงให้มีการจัดทำความตกลงแยกจากความตกลงพหุภาคีอาเซียนว่าด้วยบริการเดินอากาศ โดยมีพิธีสารแนบท้ายความตกลง 2 ฉบับ และให้นำเสนอต่อรัฐมนตรีขนส่งอาเซียนลงนามในช่วงการประชุมรัฐมนตรีขนส่งอาเซียน ครั้งที่ 15 ซึ่งมีกำหนด จัดขึ้นในเดือนธันวาคม 2552 ณ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม

1.2 หลักการและสาระสำคัญ การจัดทำความตกลงดังกล่าวเป็นไปตามแนวทางที่กำหนดไว้ในแผนปฏิบัติการในการรวมกลุ่มและการเปิดเสรีของการขนส่งทางอากาศของอาเซียน และแผนงานการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งได้กำหนดกรอบเวลาให้เปิดเสรีอย่างเต็มที่ภายในปี 2553 (ค.ศ. 2010) โดยกำหนดกรอบหลักการในเรื่องต่างๆ ดังนี้

1.2.1 ภาคีแต่ละฝ่ายมีสิทธิกำหนดสายการบินได้มากสายเท่าที่ต้องการ โดยมีคุณสมบัติตามที่ประเทศสมาชิกแต่ละประเทศกำหนด

1.2.2 สายการบินจะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ข้อบังคับภายในของประเทศสมาชิกที่สายการบินทำการบินเข้าไป ในเรื่องต่างๆ อาทิ พิกัดอัตราขนส่ง ความปลอดภัย กิจกรรมเชิงพาณิชย์ เป็นต้น

1.2.3 ความตกลงและพิธีสารจะมีผลใช้บังคับเมื่อได้รับมอบสัตยาบันสาร จำนวน 3 ฉบับ และจะมีผลใช้บังคับในระหว่างภาคีผู้ที่ให้สัตยาบันเท่านั้น

1.2.4 ความตกลงฯ ประกอบด้วยพิธีสาร 2 ฉบับ ได้แก่

พิธีสาร 1 เกี่ยวกับสิทธิรับขนการจราจรเสรีภาพที่ 3 และ 4 อย่างไม่จำกัดระหว่างเมืองใดๆ ในอาเซียน ซึ่งสายการบินสามารถทำการบินไปยังเมืองใดๆ ในอาเซียน ที่มีท่าอากาศยานระหว่างประเทศ และใช้สิทธิรับขนการจราจรระหว่างเมืองในประเทศของตนและเมืองในประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นได้อย่างไม่จำกัดจำนวนเที่ยวบินและแบบอากาศยาน

พิธีสาร 2 เกี่ยวกับสิทธิรับขนการจราจรเสรีภาพที่ 5 อย่างไม่จำกัด ระหว่างเมืองใดๆ ในอาเซียน ซึ่งสายการบินสามารถทำการบินไปยังเมืองใดๆ ในอาเซียนที่มีท่าอากาศยานระหว่างประเทศ และสามารถใช้สิทธิรับขนการจราจรระหว่างสองเมืองใดๆ ในประเทศสมาชิกอื่นๆ (ทั้งสองเมืองไม่ได้อยู่ในประเทศเดียวกัน) ได้อย่างไม่จำกัดจำนวนเที่ยวบินและแบบอากาศยาน โดยมีเงื่อนไขว่าจุดหนึ่งในเมืองเหล่านั้นต้องเป็นจุดที่ไม่ใช่เมืองหลวง

1.3 การวิเคราะห์ผลกระทบ การจัดทำความตกลงพหุภาคีอาเซียนว่าด้วยการเปิดเสรีอย่างเต็มที่ของบริการขนส่งผู้โดยสารทางอากาศ และพิธีสารแนบท้ายทั้ง 2 ฉบับ เป็นไปตามนโยบายของผู้นำอาเซียน ที่ประสงค์ให้สายการบินในอาเซียนมีความคล่องตัวในการวางแผนและการดำเนินบริการ ณ จุดต่างๆ ในอาเซียนอย่างเต็มที่ อันจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้บริการ ส่งเสริมอุตสาหรรมการท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนจะส่งผลให้สภาพเศรษฐกิจโดยรวมของภูมิภาคอาเซียนเจริญเติบโตต่อไป

2. พิธีสารข้อผูกพันชุดที่ 6 ของบริการขนส่งทางอากาศ ภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยบริการของอาเซียน (6th Package of Commitments for Air Transport Sectoral Negotiations under the ASEAN Framework Agreement on Services)

2.1 เรื่องเดิม

2.1.1 การเจรจาการค้าบริการด้านการขนส่งทางอากาศเป็นการดำเนินการตามกรอบความตกลงว่าด้วยบริการของอาเซียน โดยมีการเจรจาผ่านมาแล้ว 4 รอบ รอบที่ 1 ระหว่างปี 2539-2541รอบที่ 2 ระหว่างปี 2542-2544 รอบที่ 3 ระหว่างปี 2545-2547 และรอบที่ 4 ระหว่างปี 2548-2549 และได้จัดทำข้อผูกพันเพื่อการเปิดตลาดบริการเสริมด้านการขนส่งทางอากาศแล้ว 5 ชุด โดยประเทศไทยได้ยื่นข้อผูกพันไปแล้ว 5 กิจกรรม ได้แก่ (1) บริการซ่อมและบำรุงรักษาอากาศยาน (2) การขายและการตลาดของบริการขนส่งทางอากาศ (3) บริการสำรองที่นั่งด้วยระบบคอมพิวเตอร์ (4) บริการให้เช่าอากาศยานแบบไม่มีลูกเรือ และ (5) บริการตัวแทนจัดการขนส่งสินค้าทางอากาศ

2.1.2 ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 4 (สมัยสามัญทั่วไป) เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2552 ที่ประชุมได้พิจารณาและลงมติเห็นชอบการอนุมัติให้ประเทศไทยให้สัตยาบันพิธีสารเพื่ออนุวัติข้อผูกพันชุดที่ 5 ของบริการขนส่งทางอากาศภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยบริการของอาเซียน

2.1.3 ปัจจุบันเป็นการเจรจารอบที่ 5 ระหว่างปี 2551-2552 ประเทศสมาชิกอาเซียนได้หารือกันและขอให้ประเทศสมาชิก พิจารณาเปิดตลาดบริการเสริมอื่นๆ เพิ่มเติม และ/หรือปรับปรุงเงื่อนไขของบริการที่ได้ยื่นข้อผูกพันไว้แล้วให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น โดยมีประเทศสมาชิกอาเซียน 7 ประเทศยื่นข้อเสนอผูกพัน ขณะที่ไทยไม่ได้ยื่นข้อเสนอผูกพันในการเจราจารอบนี้ เนื่องจากกระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างการนำเสนอกรอบการเจรจาเพื่อการดำเนินความร่วมมือด้านการขนส่งภายใต้กรอบอาเซียนต่อคณะรัฐมนตรีและรัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบ ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะทำงานด้านการขนส่งทางอากาศอาเซียนได้มีมติให้นำเสนอพิธีสารเพื่ออนุวัติข้อผูกพันชุดที่ 6 ของบริการขนส่งทางอากาศภายใต้กรอบความตกลงด้วยบริการของอาเซียนให้รัฐมนตรีขนส่งอาเซียนลงนาม ในการประชุมรัฐมนตรีขนส่งอาเซียน ครั้งที่ 15 ในเดือนธันวาคม 2552 ณ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม

2.2 หลักการและสาระสำคัญ

2.2.1 ประเทศสมาชิกอาเซียนที่ยื่นข้อผูกพันจะต้องให้สิทธิและให้การปฏิบัติเป็นพิเศษสำหรับบริการตามที่ระบุในข้อผูกพันเฉพาะของตนแก่ประเทศสมาชิกอื่น ดังนี้

บรูไน - บริการซ่อมและบำรุงอากาศยาน บริการสำรองที่นั่งด้วยระบบคอมพิวเตอร์ บริการให้เช่าอากาศยานแบบมีลูกเรือ และบริการให้เช่าอากาศยานแบบไม่มีลูกเรือ

กัมพูชา - บริการตัวแทนจัดการขนส่งสินค้าทางอากาศ

สปป. ลาว - บริการตัวแทนจัดการขนส่งสินค้าทางอากาศ

มาเลเซีย - บริการให้เช่าอากาศยานแบบมีลูกเรือ

พม่า - บริการให้เช่าอากาศยานแบบมีลูกเรือ และบริการตัวแทนจัดการขนส่งสินค้าทางอากาศ

สิงคโปร์ - บริการซ่อมและบำรุงรักษาอากาศยาน และบริการสำรองที่นั่งด้วยระบบคอมพิวเตอร์

เวียดนาม - บริการตัวแทนจัดการขนส่งสินค้าทางอากาศ

2.2.2 พิธีสารฯ จะมีผลใช้บังคับกับประเทศที่ยื่นสัตยาบันสารเท่านั้น

2.3 การวิเคราะห์ผลกระทบ การเข้าเป็นภาคีพิธีสารฯ ฉบับนี้ จะทำให้ผู้ประกอบการชาวไทยสามารถเข้าไปดำเนินบริการในประเทศสมาชิกอาเซียนที่ยื่นข้อผูกพันทั้ง 7 ประเทศข้างต้นได้ ตามรายการบริการและเงื่อนไขที่ระบุไว้ในตารางข้อผูกพันเฉพาะ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการไทยโดยตรง นอกจากนี้ จะช่วยส่งเสริมให้บริการเสริมด้านการขนส่งทางอากาศในภูมิภาคอาเซียนขยายตัว ส่งผลต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมการบิน และอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนจะส่งผลให้สภาพเศรษฐกิจโดยรวมของภูมิภาคอาเซียนเจริญเติบโตต่อไป

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 3 พฤศจิกายน 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ