ผลการประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ครั้งที่ 15/2552

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 11, 2009 14:01 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบและเห็นชอบตามที่เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจเสนอ ดังนี้

1. รับทราบผลการประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (รศก.) ครั้งที่ 15/2552

2. เห็นชอบแผนพัฒนาตลาดทุนไทยสำหรับช่วงระยะเวลา 5 ปี (2552-2556) ตามข้อเสนอของกระทรวงการคลัง

3. เห็นชอบแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ระยะที่ 2 โดยเห็นควรให้กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยร่วมกันพัฒนาตัวชี้วัดที่ชัดเจน เพื่อใช้ประเมินและผลักดันเรื่องการลดต้นทุนในการเข้ารับบริการจากสถาบันการเงินให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจะมีส่วนช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย นอกจากนี้เห็นควรจัดทำแนวนโยบายในการพัฒนาระบบสถาบันการเงินในรูปแบบ Microfinance แยกออกจากแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ระยะที่ 2 เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการส่งเสริมระบบสถาบันการเงินของประเทศ

4. เห็นชอบหลักการจัดตั้งกองทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานไทยตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยให้กระทรวงการคลังศึกษาจัดทำรายละเอียดการจัดตั้งกองทุนฯ ให้สอดคล้องกับแนวทางการเพิ่มบทบาทภาคเอกชนในรูปแบบ PPPs โดยประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและนำเสนอตามขั้นตอนต่อไป

5. มอบหมายให้กระทรวงการคลังและกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร รับไปพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาสัญญาสัมปทานระหว่างภาคเอกชน กับ บมจ.ทีโอที และ บมจ. กสท โทรคมนาคม ให้ถูกต้องตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 ตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา และแนวทางการแปรสัญญาสัมปทานให้สอดคล้องกับแผนแม่บทการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบแล้ว และนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

6. ให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร รอความชัดเจนทั้งในเรื่องข้อกฎหมาย และเงื่อนไขของการเปิดประมูลของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ที่ชัดเจนก่อนที่ บมจ.ทีโอที จะดำเนินการลงทุนเพื่อเป็นการป้องกันความเสี่ยงในการลงทุนพัฒนาโครงข่าย 3G ของ บมจ.ทีโอที ทั้งนี้ หากเงื่อนไขการประมูลใบอนุญาต 3G ของ กทช. มีผลกระทบต่อโครงการลงทุนพัฒนาโครงข่าย 3G ของ บมจ.ทีโอที อย่างมีนัยสำคัญต่อผลตอบแทนทางการเงินของโครงการ และหาก บมจ.ทีโอที มีความจำเป็นต้องปรับแผนธุรกิจที่แตกต่างจากเงื่อนไขเดิมที่คณะรัฐมนตรีได้เคยให้ความเห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2551 บมจ.ทีโอที จะต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาก่อนดำเนินการลงทุนต่อไป

7. มอบหมายให้ สศช.ในฐานะฝ่ายเลขานุการ คณะกรรมการ รศก. จัดส่งข้อสังเกตเพิ่มเติมของคณะกรรมการ รศก. ให้ กทช. เพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินการพัฒนาโทรศัพท์เคลื่อนที่ยุคที่ 3 ในระยะต่อไป ดังนี้

7.1 ประเด็นข้อกฎหมายสำคัญที่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติควรพิจารณา โดยอาจหารือกับคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อให้เกิดความชัดเจนและสามารถดำเนินการได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ได้แก่ ประเด็นสถานะองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ในการจัดสรรคลื่นความถี่และออกใบอนุญาตของ กทช. และ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องและประเด็นการประมูลคลื่นความถี่และการให้ใบอนุญาต 3G จะต้องดำเนินการตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 หรือไม่

7.2 ประเด็นที่ควรพิจารณารับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในประเด็นการกำหนดเงื่อนไขที่ชัดเจนกรณีการเข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ 3G ของผู้ประกอบการที่เป็นคู่สัญญาสัมปทานกับ บมจ.ทีโอที และ บมจ.กสท โทรคมนาคม เช่น อาจกำหนดเงื่อนไขที่จะต้องดำเนินการแปรสัญญาสัมปทานให้เรียบร้อยก่อนการเข้าประมูลใบอนุญาต ซึ่งจะช่วยให้เกิดการแข่งขันอย่างเท่าเทียมกัน ลดปัญหาการโอนฐานลูกค้าและปัญหาการใช้ทรัพย์สินที่ได้รับโอนจากสัญญาสัมปทาน เป็นต้น รวมทั้งควรพิจารณาในประเด็นมูลค่าใบอนุญาตโทรศัพท์เคลื่อนที่ยุคที่ 3 เมื่อ เปรียบเทียบกับสัญญาสัมปทานเดิมด้วย

สาระสำคัญของเรื่อง

สรุปผลการประชุมคณะกรรมการ รศก. ประกอบด้วย สาระสำคัญ และมติคณะกรรมการ รศก. ดังนี้

1. ผลการวิเคราะห์ความเสี่ยงและผลกระทบพร้อมแนวทางแก้ไขจากการออกใบอนุญาตบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ยุคที่ 3 กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้จัดทำผลการวิเคราะห์ความเสี่ยงและผลกระทบที่เกิดจากการออกใบอนุญาตและการจัดสรรคลื่นความถี่ยุคที่ 3 (3G) ของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ต่อ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) (ทีโอที) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) (กสท.) เสนอคณะกรรมการฯ พิจารณา สรุปได้ดังนี้

1.1 สาระสำคัญ

1.1.1 ด้านการแข่งขัน

1) ด้านการแข่งขัน หาก กทช. ให้ใบอนุญาต 3G รายใหม่ 4 ราย และเมื่อนับรวม บมจ. ทีโอที เข้าด้วยจะมีผู้ให้บริการ 3G รวม 5 ราย ซึ่งจะส่งผลให้การแข่งขันในตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายในประเทศทวีความ รุนแรงยิ่งขึ้น ทั้งนี้ บมจ. ทีโอที ได้วิเคราะห์โครงการโดยคำนึงถึงผลกระทบด้านการเงินจากการออกใบอนุญาต 3G เพิ่มเติม โดย บมจ. ทีโอที กำหนดเป้าหมายส่วนแบ่งตลาดในปี 2559 ไว้ร้อยละ 10 หรือประมาณ 7 ล้านเลขหมาย และมีแผนกลยุทธ์เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย คือ (1) เข้าสู่ตลาดโดยรวดเร็ว (2) ติดตั้งโครงข่ายให้ทั่วถึงและมีคุณภาพ (3) ดำเนินธุรกิจ ขายส่งเป็นหลัก และ (4) ดำเนินธุรกิจขายปลีกเพื่อลดความเสี่ยงการจากพึ่งพิงลูกค้าของ Mobile Virtual Network Operator (MVNO) สำหรับ บมจ. กสท โทรคมนาคม เนื่องจากในปัจจุบันได้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ CDMA ด้วยระบบ CDMA 2000 1X ในส่วนกลาง 25 จังหวัด และด้วยระบบ CDMA 2000 1X EVDO ในอีก 51 จังหวัด ซึ่งการให้บริการดังกล่าวมีประสิทธิภาพเทียบเท่า 3G และได้วางแผนที่จะทำให้ระบบในส่วนกลาง 25 จังหวัด เป็น CDMA 2000 1X รวมทั้งการเจรจาเรื่องสิทธิการดำเนินการกับ บริษัท Hutchison เพื่อให้ บมจ. กสท โทรคมนาคม เป็นเจ้าของรายเดียว

1.1.2 ด้านความมั่นคง เนื่องจากคลื่นความถี่เป็นทรัพยากรของชาติ หากหน่วยงานของรัฐเป็น ผู้ดำเนินงาน ภาครัฐจะสามารถควบคุมและกำกับการให้บริการให้สอดคล้องกับนโยบายความมั่นคงของประเทศ แต่หากจัดสรรคลื่นความถี่ให้แก่ผู้เข้าประมูลที่มิใช่สัญชาติไทย หรือนอมินี อาจมีผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ เช่นการโจรกรรมหรือดักฟังข้อมูล การทำสงครามข้อมูลข่าวสารหรือสร้างความวุ่นวายทางการเมือง เป็นต้น

ดังนั้น จึงควรสนับสนุนให้ บมจ. ทีโอที จัดสร้างโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ เพื่อเป็น National Network Provider และยังช่วยลดการลงทุนโครงข่ายที่ซ้ำซ้อน รวมทั้ง สนับสนุนให้ บมจ.กสท โทรคมนาคม มีสิทธิเข้าร่วมประมูลและมีโอกาสได้รับคลื่นความถี่โทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G ด้วย

1.1.3 ด้านสัญญาร่วมการงาน ผู้ประกอบการรายเดิมที่อยู่ภายใต้สัญญาร่วมการงานจะถ่ายโอนลูกค้า เนื่องจากภาระค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับใบอนุญาตใหม่จะน้อยกว่าส่วนแบ่งรายได้ที่จะต้องจ่ายตามสัญญาร่วมการงาน คือ จากอัตราการจ่ายส่วนแบ่งรายได้ร้อยละ 20 - 30 เป็นการจ่ายค่าใบอนุญาตใหม่ ตามกฎเกณฑ์ของ กทช. ที่กำหนดไว้ร้อยละ 6.5 ของรายได้ต่อปี (มาจากค่าใบอนุญาต ร้อยละ 2.5 และค่า Universal Service Obligation Fund ร้อยละ 4) ทั้งนี้ หากมีการโอนลูกค้า 2G ภายใต้สัญญาร่วมการงานเดิมไปเป็นลูกค้าบนโครงข่าย 3G จะทำให้ส่วนแบ่งรายได้ของ บมจ. ทีโอที และ บมจ. กสท โทรคมนาคม ลดลง และภาครัฐได้รับประโยชน์ในรูปของภาษีเงินได้ และเงินปันผลลดลงประมาณปีละ 29,000 ล้านบาท ตลอดอายุสัมปทานที่เหลือ นอกจากนี้ ผู้ประกอบรายเดิม อาจใช้โครงข่ายตามสัญญาร่วมการงานเดิมโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือมีการนำทรัพย์สินของรัฐไปใช้ประโยชน์โดยการนำอุปกรณ์ระบบ 3G มาติดตั้งเพิ่มเติมบนทรัพย์สินของโครงข่าย 2G เพื่อให้สามารถเปิดให้บริการ 3G ได้รวดเร็วและลดต้นทุนลง ซึ่งยากต่อการควบคุมและ ตรวจสอบ และนำไปสู่ข้อพิพาทในที่สุด ดังนั้น กทช. จึงควรกำหนดเงื่อนไขการประมูล โดยหากมีการใช้ทรัพย์สินโครงข่ายเดิม ต้องขออนุญาตและทำความตกลงจากเจ้าของทรัพย์สินตามกฎหมาย ให้ถูกต้องชัดเจน ก่อนดำเนินงาน

1.1.4 ด้านการเงิน บมจ. ทีโอที และ บมจ. กสท โทรคมนาคม มีความเสี่ยงด้านการเงินทั้งในระดับโครงการและระดับองค์กร กล่าวคือ ส่วนแบ่งรายได้ของสัญญาร่วมการงานของ บมจ.ทีโอที และ บมจ.กสท โทรคมนาคม จะลดลง โดยหากมีการโอนลูกค้า ร้อยละ 10 ต่อปี ส่วนแบ่งรายได้ของ บมจ.ทีโอที จะลดลงร้อยละ 7 ต่อปี หรือประมาณปีละ 1,300 ล้านบาท และจะสะสมเพิ่มขึ้นทุกปี ทั้งนี้ หากมีการโอนลูกค้าทั้งหมดจะส่งผลให้ บมจ.ทีโอที สูญเสียส่วนแบ่งรายได้ประมาณ 18,000 ล้านบาทต่อปี สำหรับ บมจ. กสท โทรคมนาคม ที่ได้รับส่วนแบ่งรายได้จากสัญญาร่วมการงาน 3 ราย รวมประมาณ 21,400 ล้านบาทต่อปี หากมีการโอนลูกค้าทั้งหมดจะเหลือเพียงเงินประกันรายได้ขั้นต่ำประมาณ 2,600 ล้านบาทต่อปี ซึ่งจะทำให้ผลประกอบการในภาพรวมของ บมจ.กสท โทรคมนาคม มีแนวโน้มขาดทุนในระดับไม่เกิน 1,000 ล้านบาทต่อปี ดังนั้น จึงควรสนับสนุนให้มีการนำโครงข่ายตามสัญญาไปเช่าใช้งานให้ถูกต้องตามกฎหมาย และทำให้โครงข่ายมีมูลค่าสูงขึ้น และเร่งดำเนินโครงการ 3G เพื่อหารายได้มาชดเชย และสอดคล้องตามนโยบายการพึ่งตนเอง ลดการพึ่งพาส่วนแบ่งรายได้

1.2 มติที่ประชุม

1.2.1 มอบหมายฝ่ายเลขานุการ แจ้งความเห็นและข้อสังเกตของคณะกรรมการฯ ให้ กทช. ในประเด็นการกำหนดเงื่อนไขที่ชัดเจน กรณีการเข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ 3G ของผู้ประกอบการที่เป็นคู่สัญญาสัมปทานกับ บมจ.ทีโอที และ บมจ. กสท โทรคมนาคม และแนวทางการดำเนินการเกี่ยวกับสัญญาสัมปทานเดิม เพื่อให้ กทช. พิจารณาประกอบการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง รวมทั้งมีข้อสังเกตในประเด็นข้อกฎหมายที่ กทช. ควรพิจารณา โดยหารือกับคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้แก่ ประเด็นสถานะ องค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ในการจัดสรรคลื่นความถี่และออกใบอนุญาตของ กทช. และ กสทช. ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง และประเด็นการประมูลคลื่นความถี่และการให้ใบอนุญาต 3G จะต้องดำเนินการตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 หรือไม่

1.2.2 มอบหมายให้กระทรวงการคลังและกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร รับไปพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาสัญญาสัมปทานระหว่างภาคเอกชน กับ บมจ.ทีโอที และ บมจ. กสท. โทรคมนาคมให้ถูกต้องตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 ตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา และแนวทางการแปรสัญญาสัมปทานให้สอดคล้องกับแผนแม่บทการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบแล้ว และนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

1.2.3 เพื่อเป็นการป้องกันความเสี่ยงในการลงทุนพัฒนาโครงข่าย 3G ของบมจ.ทีโอที ที่ประชุมเห็นสมควรให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร รอความชัดเจนทั้งในเรื่องข้อกฎหมาย และเงื่อนไขของการเปิดประมูลของ กทช.ที่ชัดเจนก่อนที่ บมจ. ทีโอที จะดำเนินการลงทุน ทั้งนี้ หากเงื่อนไขการประมูลใบอนุญาต 3G ของ กทช. มีผลกระทบต่อโครงการลงทุนพัฒนาโครงข่าย 3G ของ บมจ. ทีโอที อย่างมีนัยสำคัญต่อผลตอบแทนทางการเงินของโครงการ และหาก บมจ. ทีโอที มีความจำเป็นต้องปรับแผนธุรกิจที่แตกต่างจากเงื่อนไขเดิมที่คณะรัฐมนตรีได้เคยให้ความเห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2551 บมจ. ทีโอที จะต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาก่อนดำเนินการลงทุนต่อไป

2. แผนการพัฒนาตลาดทุนไทย กระทรวงการคลังได้เสนอแผนพัฒนาตลาดทุนไทยสำหรับช่วงระยะเวลา 5 ปี (2552 - 2556) ที่ครอบคลุมทุกองค์ประกอบของตลาดทุนทั้งตลาดตราสารทุน ตลาดตราสารหนี้ และตลาดตราสารอนุพันธ์ สรุปได้ดังนี้

2.1 สาระสำคัญ

2.1.1 มาตรการปฏิรูปตลาดทุนไทย แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ

1) มาตรการเพื่อการปฏิรูปตลาดทุนไทยที่จะมีผลกว้างไกลต่อการพัฒนา ประกอบด้วย 8 มาตรการ ได้แก่

  • ยกเลิกการผูกขาดและยกระดับความสามารถในการแข่งขันของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)
  • เปิดเสรีและการเพิ่มประสิทธิภาพของสถาบันตัวกลาง
  • ปฏิรูปกฎหมายสำหรับการพัฒนาตลาดทุน
  • ปรับระบบภาษีสำหรับการพัฒนาตลาดทุน
  • พัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงิน
  • จัดตั้งกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.)
  • สร้างวัฒนธรรมการลงทุนผ่านการออมระยะยาว
  • พัฒนาตลาดตราสารหนี้ในประเทศ

2) มาตรการปฏิรูปตลาดทุนไทยอื่น ๆ จำนวน 34 มาตรการ ซึ่งเป็นการดำเนินการควบคู่กับมาตรการปฏิรูปตลาดทุนไทย เพื่อส่งเสริมให้มีจำนวนนักลงทุนเพิ่มขึ้น ส่งเสริมให้มีสินค้าหลากหลาย ลดต้นทุนให้แก่ผู้ลงทุน และส่งเสริมด้านโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งให้ความรู้ที่เหมาะสมกับผู้ลงทุน

2.1.2 ร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาตลาดทุน โดยจะมีการร่างกฎหมายเพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีจำนวน 7 เรื่อง คือ (1) ร่างแก้ไข พ.ร.บ. หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 (การปฏิรูป ตลท. และการยกเลิกการผูกขาดธุรกิจตลาดหลักทรัพย์) (2) ร่างแก้ไข พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฯ เรื่องมาตรการบังคับทาง กม. (มาตรการลงโทษทางแพ่ง) (3) ร่างกฎหมายเกี่ยวกับการส่งเสริมการควบรวมกิจการ (4) ร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง พ.ศ....(ฉบับที่...) ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีแบบกลุ่ม (class action) (5) โครงการตั้งกองทุน (6) การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับมาตรการด้านภาษี และ (7) การปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.เงินคงคลัง

2.1.3 แนวทางการกำกับดูแล จัดทำตัวชี้วัดผลการดำเนินงาน จำนวน 20 รายการ เช่น มูลค่าตลาดตราสารทุน ยอดคงค้างตราสารหนี้ และมูลค่ากองทุนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) จำนวนประเภทของผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ เป็นต้น และมีคณะกรรมการกำกับติดตามการดำเนินงานและจัดทำรายงานทุก 6 เดือน รวมทั้งจัดให้มีการเปิดเผยข้อมูลผ่านช่องทางต่าง ๆ

2.2 มติคณะกรรมการ รศก.

เห็นชอบแผนการพัฒนาตลาดทุนไทยตามที่กระทรวงการคลังเสนอ

3. แผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ระยะที่ 2 กระทรวงการคลังได้เสนอเรื่องแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ระยะที่ 2 ให้คณะกรรมการฯ พิจารณา สรุปได้ดังนี้

3.1 สาระสำคัญ

3.1.1 แผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินระยะที่ 2 (ปี 2552-2556) มีนโยบายหลักและมาตรการของแผน แบ่งออกเป็น 3 ส่วนสำคัญ ดังนี้

1) การลดต้นทุนของระบบ เช่น การลดต้นทุนจากกฎระเบียบของทางการ โดยการปรับปรุงกฎเกณฑ์การกำกับดูแล และการลดต้นทุนจากสินเชื่อและสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่ยังคงค้างในระบบ โดยการสนับสนุนให้มีการตัดจำหน่ายหนี้สูญสำหรับสินทรัพย์จัดชั้นสงสัยจะสูญ และเพิ่มประสิทธิภาพการซื้อขายในตลาดสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ เป็นต้น โดยไม่กระทบความมั่นคงของสถาบันการเงินและระบบเศรษฐกิจโดยรวม รวมทั้งไม่ลิดรอนสิทธิผู้บริโภค

2) การส่งเสริมการแข่งขันและการเข้าถึงบริการทางการเงิน โดยมีขั้นตอนการส่งเสริมแบ่งเป็น 3 ช่วง ดังนี้

  • ช่วงที่หนึ่ง (ปี 2552-2553) สร้างความแข็งแกร่งและประสิทธิภาพให้แก่สถาบันการเงินปัจจุบัน โดยสนับสนุนให้มีการควบรวมขยายขอบเขตธุรกิจ และลดต้นทุนของระบบสถาบันการเงิน
  • ช่วงที่สอง (ปี 2554-2555) เพิ่มการแข่งขัน โดยผ่อนคลายกฎเกณฑ์การทำธุรกิจของสถาบันการเงินต่างชาติ และอนุญาตให้มีผู้ให้บริการรายใหม่ประเภทจำกัดขอบเขตธุรกิจ รวมทั้งสนับสนุนธนาคารพาณิชย์ให้มีรูปแบบการให้บริการที่เหมาะสมกับกลุ่มประชาชนที่ยังขาดโอกาสการเข้าถึงบริการทางการเงินในปัจจุบัน ตลอดจนเปิดโอกาสให้มีผู้ให้บริการรายใหม่ที่สามารถปิดช่องว่างการให้บริการทางการเงินเชิงพาณิชย์ และสนับสนุนบทบาทของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ เช่น Microfinance และ Islamic Bank เป็นต้น
  • ช่วงที่สาม (ปี 2556) อาจมีการประเมินประสิทธิภาพของระบบสถาบันการเงินอีกครั้ง ก่อนจะพิจารณาให้ใบอนุญาตผู้ให้บริการรายใหม่ประเภทจำกัดขอบเขตธุรกิจหรือธนาคารพาณิชย์เต็มรูปแบบ

3.1.2 การส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานทางการเงิน โดยปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินที่จำเป็น 5 ด้าน ได้แก่ (1) เพิ่มศักยภาพและเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงของสถาบันการเงิน (2) พัฒนาระบบข้อมูลสำหรับการบริหารความเสี่ยงของสถาบันการเงิน (3) ปรับปรุงกฎหมายการเงินที่สนับสนุนการบริหารความเสี่ยงของสถาบันการเงิน (4) ส่งเสริมศักยภาพด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (5) ส่งเสริมศักยภาพด้านบุคลากรในระบบสถาบันการเงิน

3.1.3 ทั้งนี้ ตามแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ระยะที่ 2 จะมีการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อดูแลการปฏิบัติงานตามแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินระยะที่ 2 ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธาน เพื่อรับผิดชอบการดำเนินนโยบายในภาพรวม และมีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการด้านต่างๆ รวม 4 คณะ ได้แก่ ด้านภาษี ด้านกฎหมายการเงิน ด้านระบบข้อมูล และด้านการพัฒนาบุคลากร เพื่อดูแลให้การดำเนินงานเป็นไปตามแผนปฏิบัติงานขณะที่คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงินจะเป็นผู้ดูแลด้านการส่งเสริมการแข่งขันและการเข้าถึงบริการทางการเงิน และ ธปท. เป็นผู้ดูแลด้านการลดต้นทุนของระบบ การบริหารความเสี่ยง และเทคโนโลยีสารสนเทศ

3.1.4 ประโยชน์ที่จะได้รับจากแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ระยะที่ 2 ได้แก่ (1) ระบบสถาบันการเงินมีประสิทธิภาพ และสามารถสนับสนุนพัฒนาการของเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างมั่นคงทั้งในภาวะปกติและวิกฤติ (2) ต้นทุนในการเข้ารับบริการสถาบันการเงินลดลง ทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศเพิ่มขึ้น และช่วยยกระดับศักยภาพของประชาชน (3) เพิ่มโอกาสให้ผู้ใช้บริการสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้ทั่วถึงและหลากหลายตรงกับความต้องการมากขึ้น เพื่อลดปัญหาการกู้ยืมเงินนอกระบบ ตลอดจนสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนมากขึ้น เป็นต้น (4) มีโครงสร้างพื้นฐานทางกฎหมายที่เอื้อโอกาสให้แก่ลูกหนี้บุคคลธรรมดาและผู้ประกอบการรายย่อยที่มีศักยภาพสามารถขอฟื้นฟูกิจการได้ดีขึ้น ทำให้กิจการของลูกหนี้ยังคงดำเนินต่อไปได้ และ (5) มีโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินที่เอื้อต่อการบริหารความเสี่ยงของระบบสถาบันการเงิน ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานลดลง และมีความพร้อมที่จะให้บริการแก่ผู้ใช้บริการมากขึ้น

3.2 มติคณะกรรมการ รศก.

เห็นชอบแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ระยะที่ 2 โดยเห็นควรให้กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยร่วมกันพัฒนาตัวชี้วัดที่ชัดเจน เพื่อใช้ประเมินและผลักดันเรื่องการลดต้นทุนในการเข้ารับบริการจากสถาบันการเงินให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจะมีส่วนช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย นอกจากนี้เห็นควรจัดทำแนวนโยบายในการพัฒนาระบบสถาบันการเงินในรูปแบบ Microfinance แยกออกจากแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ระยะที่ 2 เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการส่งเสริมระบบสถาบันการเงินของประเทศ

4. แนวทางการจัดตั้งกองทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานไทย (Infrastructure Fund) กระทรวงการคลัง ได้เสนอเรื่องแนวทางการจัดตั้งกองทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานไทย (Thai Infrastructure Fund) โดยสรุปได้ดังนี้

4.1 สาระสำคัญ

4.1.1 การระดมทุนในรูปแบบกองทุน จะไม่ถือว่าเป็นการก่อหนี้ของรัฐวิสาหกิจซึ่งเป็นหนี้สาธารณะ ในขณะที่รัฐวิสาหกิจยังคงเป็นเจ้าของและผู้บริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานนั้นๆ จึงไม่เป็นการขายทรัพย์สินของรัฐวิสาหกิจ นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มความโปร่งใสในการทำงานของรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งเป็นการช่วยพัฒนาตลาดทุน โดยเป็นการเพิ่มทางเลือกในการลงทุนให้กับผู้ฝากเงินและนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ

4.1.2 ปัจจุบันมีรัฐวิสาหกิจที่ดำเนินการก่อสร้างและบริหารโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ และรัฐยังคงความเป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียวรวม 11 หน่วยงาน ซึ่งในเบื้องต้นมีรัฐวิสาหกิจที่มีความพร้อมในการระดมทุนผ่านกองทุนฯ ได้ 5 แห่ง แบ่งเป็น 2 ประเภท ดังนี้

1) กลุ่มรัฐวิสาหกิจที่มีกระแสเงินเพียงพอสามารถจัดตั้งกองทุนฯ ได้เอง 3 หน่วยงาน ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟฟ้านครหลวง การท่าเรือแห่งประเทศไทย ซึ่งจากการประมาณการเบื้องต้น พบว่า กรณีที่ระดมทุนจากรัฐวิสาหกิจทั้ง 3 แห่ง โดยใช้กระแสเงินสดจากโครงการที่มีอยู่มาจัดตั้งกองทุนฯ โดยไม่ส่งผลต่อฐานะทางการเงินของรัฐวิสาหกิจ และจะสามารถระดมทุนได้ถึง 270,000 — 340,000 ล้านบาท

2) กลุ่มรัฐวิสาหกิจที่ไม่สามารถจัดตั้งกองทุนฯ ได้หากไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ 2 หน่วยงาน ได้แก่ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย และการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ซึ่งขนาดของกองทุนฯ จะขึ้นอยู่กับการสนับสนุนของภาครัฐ

4.1.3 การจัดตั้งและลักษณะของกองทุนฯ กระทรวงการคลังเป็นหน่วยงานหลักในการกำกับดูแลการจัดตั้ง บริหารแผนการจัดตั้ง และกำกับดูแลกองทุนฯ ภายหลังการระดมทุน เพื่อพิจารณาคัดเลือกโครงการที่จะนำมาระดมทุนผ่านกองทุนฯ รวมทั้งเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการประสานงานและจัดสรรเงินระหว่างรัฐวิสาหกิจและกองทุนฯ โดยจะดำเนินการจัดตั้งและจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ทั้งนี้ จะแบ่งประเภทกองทุนตามลักษณะโครงการโครงสร้างพื้นฐานของรัฐวิสาหกิจ 2 ลักษณะ คือ

1) กองทุนฯ ที่ใช้โครงการที่มีผลตอบแทนตามความพร้อมในการให้บริการโดยไม่ขึ้นกับปริมาณการใช้บริการจริง (กองทุนฯ ที่มีลักษณะเป็น Availability Payment) เช่น โรงไฟฟ้า ระบบจำหน่าย ไฟฟ้า โรงผลิตน้ำ และท่าเรือที่มีสัญญาเช่าระยะยาว เป็นต้น ทำให้กองทุนฯ ลักษณะนี้จะมีความเสี่ยงต่ำ เนื่องจาก โครงการมีผลตอบแทนค่อนข้างแน่นอน

2) กองทุนฯ ที่ใช้โครงการที่ได้รับผลตอบแทนตามปริมาณการใช้งานจริง (กองทุน ฯ ที่มีลักษณะเป็น Demand Payment) เช่น โครงการทางพิเศษที่จะได้รับรายได้เมื่อมีผู้ใช้บริการ โดยเฉพาะโครงการใหม่ๆ ซึ่งจะคาดการณ์ผลตอบแทนได้ยาก ส่งผลให้กองทุนฯ มีความเสี่ยงอยู่ในระดับสูงและอาจต้องการการสนับสนุนจากรัฐ เช่น รับประกันผลตอบแทนขั้นต่ำ เพื่อเพิ่มความสนใจของนักลงทุน และลดต้นทุนในการระดมทุน

4.1.4 รูปแบบการใช้เงินที่ได้จากการระดมทุน รัฐวิสาหกิจสามารถนำเงินจากการระดมทุนไปใช้ประโยชน์ในการลงทุนโครงการ ซึ่งจะช่วยแบ่งเบาภาระภาครัฐ และ/หรือนำเงินไปชำระหนี้ ซึ่งจะช่วยให้ภาระหนี้สาธารณะของประเทศลดลง ทำให้รัฐบาลมีความสามารถในการก่อหนี้เพิ่มขึ้นเพื่อใช้การสนับสนุนโครงการอื่นๆ ได้ ทั้งนี้ เนื่องจากเป็นแนวทางเลือกในการระดมทุนรูปแบบใหม่ จึงควรมีการออกกฎหมายเฉพาะสำหรับการจัดตั้งกองทุนฯ เพื่อให้สามารถเคลื่อนย้ายเงินข้ามหน่วยงานได้ รวมทั้งมีความโปร่งใสและตรวจสอบได้

4.1.5 ในเบื้องต้นรัฐวิสาหกิจที่มีความสนใจและความพร้อมในการจัดตั้งกองทุนฯ ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ซึ่งคาดว่าจะสามารถระดมทุนได้รวมประมาณ 27,000 ล้านบาท ทั้งนี้ เพื่อให้การระดมทุนในรูปแบบกองทุนฯ และการเคลื่อนย้ายเงินเป็นไปอย่างรวดเร็วและเป็นไปในทิศทางเดียวกันจึงเห็นควรให้มีการร่างพระราชบัญญัติเฉพาะสำหรับการจัดตั้งกองทุนฯ ควบคู่กันไป โดยในเบื้องต้นคาดว่าจะสามารถจัดตั้งกองทุนฯ ได้ในไตรมาสที่ 1 ปี 2553

4.2 มติคณะกรรมการ รศก.

เห็นชอบหลักการจัดตั้งกองทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานไทยตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยให้กระทรวงการคลังศึกษาจัดทำรายละเอียดการจัดตั้งกองทุนฯ ให้สอดคล้องกับแนวทางการเพิ่มบทบาทภาคเอกชนในรูปแบบ PPPs โดยประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และนำเสนอตามขั้นตอนต่อไป

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 10 พฤศจิกายน 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ