เรื่อง ผลการประชุมคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการดำเนินโครงการตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ครั้งที่ 4/2552
คณะรัฐมนตรีรับทราบและมอบหมายตามที่เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอ ดังนี้
1. รับทราบผลการประชุมคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการดำเนินโครงการตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ครั้งที่ 4/2552
2. มอบหมายให้คณะกรรมการกลั่นกรองและบริหารโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ดำเนินการดังนี้
2.1 ทบทวนความชัดเจนของวงเงินลงทุนและแหล่งเงินลงทุนโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 เพื่อให้การดำเนินการตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 อยู่ในกรอบวงเงินที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2552 จำนวน 1.43 ล้านบาท
2.2 พิจารณากลั่นกรองและกำกับดูแลการใช้จ่ายเงินในส่วนโครงการสนับสนุนการปฏิบัติงานของเครือข่ายบริการทุกระดับ ของกระทรวงสาธารณสุข วงเงิน 3,888.58 ล้านบาทอย่างรอบคอบ เนื่องจากเป็นโครงการที่มีวงเงินลงทุนสูง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการก่อสร้างบ้านพักบุคลากรแพทย์
3. มอบหมายให้กรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบทจัดส่งรายละเอียดตัวชี้วัดผลการดำเนินโครงการและความก้าวหน้าการดำเนินโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ให้คณะกรรมการติดตามและประเมินผลการดำเนินโครงการตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 เพื่อใช้ประกอบการติดตามประเมินผลการดำเนินโครงการต่อไป
4. มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนที่อยู่ในความรับผิดชอบของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) พิจารณาดำเนินการ ดังนี้
4.1 โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ มอบหมายให้กระทรวงการคลังประสานกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) ในการพิจารณาตามขั้นตอนของ JICA ให้เกิดความรวดเร็วเพื่อให้การดำเนินโครงการเป็นไปตามแผนงานที่กำหนด
4.2 โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค และช่วงบางซื่อ-ท่าพระ มอบหมายให้ รฟม. เร่งรัดการพิจารณาบันทึกข้อตกลง (MOU) เพื่อแก้ไขปัญหาผลกระทบของประชาชนในพื้นที่สถานีวัดมังกรกมลาวาสต่อไป
4.3 โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่ และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการมอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เร่งรัดการแก้ไขแนวเขตที่ดินตามแผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินของโครงการ และเร่งรัด รฟม.ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมของรูปแบบการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในโครงการดังกล่าวตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 ต่อไป
5. มอบหมายให้ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจที่รับผิดชอบดำเนินโครงการตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 จัดทำตัวชี้วัดผลผลิตและผลสัมฤทธิ์ของโครงการที่สามารถใช้ในการติดตามประเมินผลได้ในทางปฏิบัติ และจัดส่งให้คณะกรรมการติดตามและประเมินผลการดำเนินโครงการตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 เพื่อใช้ประกอบการติดตามประเมินผลการดำเนินโครงการต่อไป
6. มอบหมายให้รัฐวิสาหกิจที่มีโครงการได้รับการบรรจุไว้ในแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ประเภทที่ 1 จัดเตรียมรายละเอียดโครงการและจัดส่งให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พิจารณาตามขั้นตอนระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2550 ต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
สรุปผลการประชุมคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการดำเนินโครงการตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ครั้งที่ 4/2552 มีดังนี้
1. ความก้าวหน้าการดำเนินโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 คณะกรรมการได้พิจารณาความก้าวหน้าการดำเนินโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ของกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย และโครงการสาขาสาธารณสุข โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1.1 ภาพรวมความก้าวหน้าการดำเนินโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ณ วันที่ 16 ตุลาคม 2552 มีการเบิกจ่ายเงินแล้วทั้งสิ้นจำนวน 15,325.81 ล้านบาท ประกอบด้วย (1) โครงการที่ดำเนินการแล้วเสร็จ จำนวน 14,913.08 ล้านบาท แบ่งเป็น กระทรวงคมนาคม 413.08 ล้านบาท และกระทรวงการคลัง 14,500 ล้านบาท และ (2) โครงการที่ลงนามสัญญาแล้ว ในส่วนของกระทรวงคมนาคมจำนวน 412.73 ล้านบาท
1.2 กรมทางหลวง
กรมทางหลวงได้รับจัดสรรเงินกู้จากพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ. 2552 ในช่วงงบประมาณ 2553 จำนวน 23,626 ล้านบาท โดยมีความก้าวหน้าในการดำเนินโครงการ ดังนี้
1.2.1 โครงการเพิ่มประสิทธิภาพทางหลวง รอลงนามสัญญาก่อสร้าง 34 รายการ วงเงิน 2,017 ล้านบาท และอยู่ระหว่างเตรียมประกวดราคา 2 รายการ วงเงิน 110 ล้านบาท ยังไม่มีการเบิกจ่าย
1.2.2 โครงการบูรณะทางหลวงสายหลัก ลงนามสัญญาแล้ว 6 ฉบับ วงเงิน 445.69 ล้านบาท จากวงเงินลงทุนทั้งหมด 1,565 ล้านบาท (ร้อยละ 28.5) มีการเบิกจ่ายล่าช้ากว่าแผนงานประมาณร้อยละ 5
1.2.3 งานพัฒนาทางหลวง จำนวนสัญญา 172 รายการ ก่อสร้างแล้วเสร็จ 13.23 กม. จากระยะทางทั้งหมด 378.40 กม. มีการเบิกจ่ายเร็วกว่าแผนงานประมาณร้อยละ 5
1.2.4 งานบำรุงรักษาทางหลวง ลงนามสัญญาแล้ว 795 ฉบับ วงเงิน 9,965 ล้านบาท จากทั้งหมด 1,125 ฉบับ วงเงินทั้งสิ้น 14,034 ล้านบาท ก่อสร้างแล้วเสร็จ 170.27 กม. จากระยะทางทั้งหมด 2,960.53 กม. และการเบิกจ่ายล่าช้ากว่าแผนงานประมาณร้อยละ 5
1.2.5 งานอำนวยความปลอดภัย ลงนามสัญญาแล้ว 247 ฉบับ วงเงิน 500 ล้านบาท จากทั้งหมด 1,086 ฉบับ จากวงเงินทั้งสิ้น 3,100 ล้านบาท และก่อสร้างแล้วเสร็จ 30 แห่ง จากทั้งหมด 1,524 แห่ง และมีการเบิกจ่ายเร็วกว่าแผนงานประมาณร้อยละ 1.30 ทั้งนี้ ผู้แทนการกรมทางหลวง ได้ชี้แจงความก้าวหน้าการดำเนินโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง
ในส่วนของกรมทางหลวง วงเงิน 23,626 ล้านบาท สรุปว่าโครงการลงทุนปี 2552 ได้ลงนามสัญญาแล้วเสร็จทั้งหมด และได้เริ่มเบิกจ่ายแล้ว 1,350 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 11 สำหรับโครงการลงทุนปี 2553 อยู่ระหว่างเร่งรัดหาผู้รับจ้างตามขั้นตอน คาดว่าจะลงนามสัญญาได้ทั้งหมดภายในเดือนธันวาคม 2552 และใช้เวลาดำเนินการก่อสร้างประมาณ 4-9 เดือน โดย ขณะนี้ยังไม่ประสบปัญหาในการดำเนินงานแต่อย่างใด
1.3 กรมทางหลวงชนบท
กรมทางหลวงชนบทได้รับจัดสรรเงินกู้จากพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ. 2552 ในช่วงงบประมาณ 2553 จำนวน 15,032 ล้านบาท โดยมีความก้าวหน้าในการดำเนินโครงการ ดังนี้
1.3.1 โครงการถนนไร้ฝุ่น ระยะทาง 3,100 กม. วงเงินรวม 14,822 ล้านบาท มีการลงนามในสัญญาจ้างแล้ว 303 รายการ จากทั้งหมด 901 รายการ วงเงิน 4,949 ล้านบาท ทราบผลประกวดราคา 591 รายการ และอยู่ระหว่างประกวดราคา 7 รายการ โดยคาดว่าจะเริ่มเบิกจ่ายในเดือนธันวาคม จำนวน 1,485 ล้านบาท และ
1.3.2 โครงการก่อสร้างทางในพื้นที่ 5 จังหวัด ระยะทาง 44 กม. วงเงิน 211 ล้านบาท จำนวน 13 รายการ มีการลงนามในสัญญาจ้างแล้ว 12 รายการ วงเงิน 152 ล้านบาท และทราบผลประกวดราคา 1 รายการ โดยคาดว่าจะเริ่มเบิกจ่ายในเดือนธันวาคม จำนวน 17 ล้านบาท
ทั้งนี้ ผู้แทนกรมทางหลวงชนบทได้ชี้แจงความก้าวหน้าการดำเนินโครงการถนนไร้ฝุ่นสรุปว่า การดำเนินการที่ผ่านมาได้แบ่งการเปิดประกวดราคาก่อสร้างตามพื้นที่ และได้ผู้ชนะการประกวดราคาที่เสนอราคาต่ำกว่าราคากลางทั้งหมด ทำให้สามารถดำเนินโครงการได้ในวงเงินที่ได้รับจัดสรร ทั้งนี้ มีโครงการจำนวน 5-6 เส้นทางที่ไม่มีผู้สนใจเข้าประกวดราคา ซึ่งกรมทางหลวงชนบทอาจต้องพิจารณาสาเหตุของปัญหาในรายละเอียดอีกครั้งหนึ่ง
1.4 การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้รับจัดสรรเงินกู้จากพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ. 2552 ในช่วงปี 2553 จำนวน 825 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน ค่าจ้างสำรวจอสังหาริมทรัพย์และงานว่าจ้างที่ปรึกษาคัดเลือกผู้รับจ้างงาน โดยแบ่งเป็น โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ 785 ล้านบาท โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่ 20 ล้านบาท และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ 20 ล้านบาท ซึ่งมีความก้าวหน้าในการดำเนินโครงการ ดังนี้
1.4.1 โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ ด้านการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน เบิกจ่ายค่าทดแทนแล้วเป็นเงิน 4,899 ล้านบาท ด้านการก่อสร้าง คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2552 ได้มีมติรับทราบผลการประกวดราคาผู้รับเหมางานโยธา โดยกลุ่มบริษัท CKTC/ ชิโน-ไทยฯ/ กลุ่มบริษัท PAR เป็นผู้ชนะการประกวดราคาสัญญาที่ 1, 2 และ 3 ตามลำดับ ด้านการให้เอกชนร่วมลงทุน คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้พิจารณาผลการศึกษาวิเคราะห์โครงการตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ พ.ศ. 2535 แล้วเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2552 และอยู่ระหว่างการนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาตามขั้นตอน ปัญหาและอุปสรรค (1) ขั้นตอนที่ต้องขอความเห็นชอบจากองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) ใช้ระยะเวลาในการดำเนินงานมากกว่า 1 เดือน ซึ่งมากกว่าที่ รฟม. คาดไว้ว่าจะใช้ระยะเวลาเพียงประมาณ 1 สัปดาห์ และ (2) ความล่าช้าในการจัดหาเงินกู้สำหรับงานระบบราง โดย JICA ได้แจ้งว่าวงเงินของงานสัญญาที่ 6 จะอยู่ในวงเงินกู้ระยะที่ 2 ซึ่งคาดว่าจะลงนามสัญญาเงินกู้ได้ภายในเดือนกันยายน 2553 ทำให้งานคัดเลือกผู้รับจ้างงานระบบรางล่าช้าจากแผนงานประมาณ 11 เดือน
1.4.2 โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค และช่วงบางซื่อ-ท่าพระ ด้านการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน อยู่ระหว่างการจัดจ้างสำรวจอสังหาริมทรัพย์ ด้านการก่อสร้าง รฟม. อยู่ระหว่างขออนุมัติยกเว้นการปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ฯ โดยจะดำเนินการจัดจ้างในรูปแบบการประกวดราคานานาชาติ (International Competitive Bidding: ICB) แทน ด้านการให้เอกชนร่วมลงทุน กระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างพิจารณาผลการศึกษาวิเคราะห์โครงการตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ พ.ศ. 2535
ปัญหาและอุปสรรค กลุ่มผู้เช่าที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และมูลนิธิจุมภฏ — พันธุ์ทิพย์ คัดค้านการเวนคืนที่ดินเพื่อก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้าวัดมังกรกมลาวาส ขณะนี้ รฟม. ได้นำร่างบันทึกข้อตกลงระหว่าง รฟม.และกลุ่มผู้เช่าที่ดินดังกล่าวเสนอคณะอนุกรรมการกฎหมายและระเบียบข้อบังคับช่วยพิจารณาก่อนนำเสนอคณะกรรมการ รฟม. ต่อไป
1.4.3 โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่ และช่วงแบริ่ง- สมุทรปราการ ด้านการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน อยู่ระหว่างจัดจ้างสำรวจอสังหาริมทรัพย์และออกพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินฯ ด้านการก่อสร้าง อยู่ระหว่างปรับแก้ไขแบบในส่วนของอาคารจอดรถ (Park & Ride) โดยไม่ใช้พื้นที่สำนักงานเขตบางเขน และยกเลิกศูนย์ซ่อมบำรุงบริเวณฐานทัพอากาศดอนเมือง ด้านการให้เอกชนร่วมลงทุน อยู่ระหว่างคัดเลือกที่ปรึกษาศึกษาวิเคราะห์โครงการตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ พ.ศ. 2535
ปัญหาอุปสรรค (1) การออกพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินฯ ล่าช้ากว่าแผนงาน โดยขณะนี้ สำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) อยู่ระหว่างเสนอเรื่องดังกล่าวให้คณะรัฐมนตรี พิจารณายกเลิกการใช้พื้นที่บริเวณฐานทัพอากาศดอนเมือง และแก้ไขแนวเขตที่ดินตามแผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกาฯ ตามขั้นตอนต่อไป และ (2) เพิ่มขั้นตอนการศึกษาวิเคราะห์โครงการตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ พ.ศ. 2535 ซึ่ง รฟม. อยู่ระหว่างดำเนินการจัดจ้างที่ปรึกษาศึกษาวิเคราะห์โครงการฯ คาดว่าจะแล้วเสร็จเดือนมกราคม 2553
1.4.4 ทั้งนี้ รองผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยได้ชี้แจงความก้าวหน้า และปัญหาอุปสรรคในการดำเนินโครงการ ดังนี้
1.4.4.1 โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงบางใหญ่-บางซื่อ ว่าจะสามารถเบิกจ่ายเงินกู้ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ. 2552 เพื่อเป็นค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินในเดือนพฤศจิกายนได้จำนวน 500 ล้านบาท จากที่ได้รับจัดสรร 785 ล้านบาท รฟม. จึงมีแนวโน้มที่จะใช้จ่ายเงินตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ. 2552 ที่ได้รับจัดสรรทั้งหมดภายในปี 2555
1.4.4.2 ในส่วนการกู้เงินจากองค์กรความร่วมมือแห่งประเทศของญี่ปุ่น (JICA) เพื่อดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงบางใหญ่-บางซื่อในส่วนของงานระบบรางนั้น หาก JICA สามารถอนุมัติเงินกู้ในส่วนงานดังกล่าวได้ภายในเดือนมีนาคม 2553 รฟม. จะสามารถลงนามสัญญาก่อสร้างระบบรางได้ภายในเดือนกันยายน 2553 ซึ่งจะทำให้ รฟม. สามารถดำเนินโครงการได้ตามที่กำหนดไว้ ทั้งนี้ สำหรับการคัดเลือกภาคเอกชนเข้าร่วมลงทุนในโครงการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 คาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ภายใน 1 ปี นับจากที่คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาเห็นชอบรูปแบบการให้เอกชนเข้าร่วมลงทุน
1.4.4.3 สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินช่วงหัวลำโพง-บางแค และช่วงบางซื่อ-ท่าพระ ซึ่งประสบปัญหาการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินบริเวณวัดมังกรกมลาวาสนั้น ขณะนี้ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ มูลนิธิจุมภฏฏ- พันธุ์ทิพย์ และ รฟม. ได้จัดตั้งคณะทำงานร่วมกัน 3 ฝ่าย เพื่อพิจารณาดำเนินการลดผลกระทบแก่ประชาชนผู้อาศัยอยู่ในบริเวณที่จะก่อสร้างสถานีวัดมังกรกมลาวาส โดยได้มีการจัดทำบันทึกข้อตกลงเพื่อช่วยเหลือประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อนจากการเวนคืน และจะให้สิทธิผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการในการกลับมาอยู่ในที่ดินเดิมภายหลังจากการก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้าแล้วเสร็จ โดย รฟม. จะนำเสนอบันทึกข้อตกลงดังกล่าวต่อคณะกรรมการ รฟม. ในเดือนพฤศจิกายนนี้
1.4.4.3 นอกจากนี้ ผู้แทน รฟม. ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่ากระบวนการพิจารณาผลการประกวดราคาของ JICA ใช้ระยะเวลาดำเนินการมากกว่าที่คาดไว้ ซึ่งทำให้แผนการดำเนินโครงการมีความล่าช้ากว่าที่กำหนด ดังนั้น หากกระทรวงการคลังสามารถประสานกับ JICA เพื่อเร่งรัดกระบวนการดังกล่าวได้จะทำให้สามารถดำเนินโครงการได้รวดเร็วขึ้น
1.5 โครงการด้านสาธารณสุข โครงการด้านสาธารณสุขปี 2553 ได้รับการจัดสรรเงินกู้ภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ.2522 รวม 10,908.95 ล้านบาท ประกอบด้วย 2 แผนงานย่อย ได้แก่ 1) แผนงานโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุข เป็นการลงทุนในเรื่องการก่อสร้างและการจัดซื้อครุภัณฑ์ทางการแพทย์รวม 11 โครงการ วงเงินรวม 9,614.36 ล้านบาท และ 2) แผนงานพัฒนาบุคลากรสาธารณสุข เป็นการลงทุนในการผลิตและพัฒนาศักยภาพบุคลากรสาธารณสุขและการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ รวม 4 โครงการ วงเงินรวม 1,294.59 ล้านบาท โดยมีความก้าวหน้าในการดำเนินงาน ดังนี้
1.5.1 การบริหารจัดการโครงการ กระทรวงสาธารณสุขได้แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารโครงการเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบและกำกับการดำเนินโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ของกระทรวงสาธารณสุข โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน และแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นรวม 3 คณะ พร้อมทั้งได้จัดตั้งสำนักงานบริหารโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งการเบิกจ่ายเงินลงทุนให้มีประสิทธิภาพและความโปร่งใส
1.5.2 ปัญหาอุปสรรคการดำเนินโครงการด้านสาธารณสุข
1.5.2.1 การลงทุนสาขาสาธารณสุขเป็นการบูรณาการการดำเนินงานระหว่างหลายหน่วยงาน ขณะที่กลไกการบริหารจัดการโครงการข้างต้นเป็นกลไกบริหารภายในกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น ซึ่งอาจจะทำให้ไม่สามารถติดตามประเมินผลภาพรวมของการลงทุนทางด้านสาธารณสุขของทั้งประเทศได้
1.5.2.2 การเบิกจ่ายเงินรายโครงการของกระทรวงสาธารณสุขที่ได้มีการบันทึกข้อมูลจากส่วนกลาง ทำให้ครุภัณฑ์และสิ่งก่อสร้างบางประเภทไม่ตรงตามคุณลักษณะเฉพาะตามที่พื้นที่ต้องการ จึงเกิดความไม่โปร่งใสในการดำเนินงาน อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุขได้มีหนังสือแจ้งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด ให้ชะลอการจัดซื้อจัดจ้างครุภัณฑ์ทุกรายการ และแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงปัญหาทุจริตโครงการไทยเข้มแข็ง โดยมีนายแพทย์บรรลุ ศิริพานิช เป็นประธาน เพื่อดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าว
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 10 พฤศจิกายน 2552 --จบ--