เรื่อง แผนแม่บทโครงการขยายผลโครงการหลวงเพื่อแก้ปัญหาพื้นที่ปลูกฝิ่นอย่างยั่งยืน ระยะเวลา 4 ปี (พ.ศ. 2553-2556)
คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่รองนายกรัฐมนตรี (นายสุเทพ เทือกสุบรรณ) ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดเสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบแผนแม่บทโครงการขยายผลโครงการหลวงเพื่อแก้ปัญหาพื้นที่ปลูกฝิ่นอย่างยั่งยืน ระยะเวลา 4 ปี (พ.ศ. 2553-2556) เพื่อให้เป็นกรอบปฏิบัติของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
2. วงเงินเพื่อดำเนินการตามแผนแม่บทดังกล่าว นั้น ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2553- พ.ศ. 2555 จำนวน 1,550,294,840 บาท ให้กระทรวงยุติธรรมประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำรายละเอียดข้อเสนอโครงการและงบประมาณให้มีความชัดเจน แล้วนำเสนอต่อคณะกรรมการกลั่นกรองและบริหารโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 พิจารณาตามระเบียบและขั้นตอนต่อไป สำหรับค่าใช้จ่ายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 จำนวน 425,012,960 บาท ซึ่งจะต้องขอรับการสนับสนุนต่อเนื่องโดยใช้เงินงบประมาณ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประเมินผลการดำเนินงานและขอจัดสรรงบประมาณร่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 ตามความจำเป็นต่อไป ซึ่งเป็นไปตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
สาระสำคัญของเรื่อง
รองนายกรัฐมนตรี (นายสุเทพ เทือกสุบรรณ) ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบแผนแม่บทโครงการขยายผลโครงการหลวงเพื่อแก้ปัญหาพื้นที่ปลูกฝิ่นอย่างยั่งยืน ระยะเวลา 4 ปี (พ.ศ. 2553-2556) ซึ่งสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
1. เหตุผลความจำเป็น
1.1 รัฐบาลไทยได้ประกาศให้การปลูกฝิ่นเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2502 เป็นต้นมา
1.2 ในปี พ.ศ. 2508/2509 กรมประชาสงเคราะห์ได้ดำเนินการสำรวจสภาพเศรษฐกิจและสังคมบนพื้นที่สูง และสำรวจพื้นที่ลักลอบปลูกฝิ่นควบคู่ไปด้วยพบว่า มีการลักลอบปลูกฝิ่นจำนวนมากถึง 112,000 ไร่ คิดเป็นผลผลิตฝิ่นดิบประมาณ 145 ตัน
1.3 ในปี พ.ศ. 2512 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงริเริ่มจัดตั้งโครงการหลวงขึ้น เพื่อเป็นต้นแบบในการปลูกพืชทดแทนฝิ่น ตลอดจนพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานไปพร้อมๆ กัน เพื่อยกระดับสภาพความเป็นอยู่ของชาวไทยภูเขาให้ดีขึ้น
1.4 ประเทศไทยใช้เวลากว่า 40 ปี จึงสามารถลดพื้นที่ลักลอบปลูกฝิ่นให้เหลือเพียง 5,266 ไร่ ได้ในปี พ.ศ. 2546 ซึ่งถือเป็นความสำเร็จที่นานาประเทศให้การยอมรับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินการแก้ไขปัญหาตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ได้พระราชทานไว้แก่โครงการหลวง ทำให้พระองค์ได้รับการยกย่องจากองค์การสหประชาชาติและโครงการหลวงได้รับรางวัลแม็กไซไซ และรางวัลอื่น ๆ อีกมากมาย
1.5 ผลการสำรวจพื้นที่ลักลอบปลูกฝิ่น ปี พ.ศ. 2547/2548 ของสำนักงาน ป.ป.ส. พบพื้นที่การลักลอบปลูกฝิ่นลดลงต่ำสุด จำนวน 744 ไร่ หลังจากนั้นเป็นต้นมาพบพื้นที่ลักลอบปลูกฝิ่นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากการประเมินสถานการณ์ร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพบว่า สาเหตุหลักประกอบด้วย
1.5.1 แรงจูงใจด้านราคา เนื่องจากราคาขายปลีกในประเทศสูงขึ้นเป็น 100,000-134,000 บาทต่อจ๊อย (1 จ๊อยเท่ากับ 1.6 กิโลกรัม)
1.5.2 สภาพความเป็นอยู่ของชาวไทยภูขาในพื้นที่ทุรกันดารที่จำเป็นต้องไปลักลอบปลูกฝิ่นยังขาดโอกาสที่จะได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างเพียงพอทั้งด้านสาธารณูปโภค สาธารณสุข การศึกษา และการอาชีพ
1.6 ในปี พ.ศ. 2550/2551 และ พ.ศ. 2551/2552 พบว่าการลักลอบปลูกฝิ่นยังคงสูงกว่าในปี พ.ศ. 2547/2548 โดยมีจำนวนถึงพันกว่าไร่ในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง น่าน พะเยา แม่ฮ่องสอน ตาก และกำแพงเพชร โดยพื้นที่ที่มีการปลูกหนาแน่นมากกว่า 50 ไร่ขึ้นไป พบในเขตพื้นที่ 7 อำเภอของจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ตาก และแม่ฮ่องสอน
สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อความมั่นคง และภาพลักษณ์ของประเทศไทยโดยตรง หากไม่ได้รับการแก้ไขโดยเร็ว อาจจะทำให้ปัญหาการลักลอบปลูกฝิ่นหวนกลับมาจนยากต่อการแก้ไขในอนาคต
2. วัตถุประสงค์
2.1 เพื่อขยายผลความสำเร็จของโครงการหลวงในการพัฒนาพื้นที่สูงและการลดปัญหาการเพาะปลูกฝิ่นอย่างยั่งยืนไปยังพื้นที่ที่มีปัญหาการปลูกฝิ่นซ้ำซากในจังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอนและตาก
2.2 เพื่อพัฒนาพื้นที่ที่มีปัญหาการปลูกฝิ่นซ้ำซาก โดยใช้แนวทางของโครงการหลวงและปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มุ่งเสริมสร้างอาชีพและรายได้บนฐานความรู้ที่สอดคล้องกับสภาพภูมิสังคม
2.3 เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับสังคมและชุมชน รวมทั้งส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนและหน่วยงานในพื้นที่ในการพัฒนาที่นำไปสู่การพึ่งตนเอง และเป็นรากฐานที่มั่นคงของประเทศ
2.4 เพื่อสร้างความมั่นคงของฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบนพื้นที่สูงอย่างยั่งยืนด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน
3. พื้นที่เป้าหมาย จำนวน 10 พื้นที่ใน 3 จังหวัด (เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก)
4. เป้าหมายการพัฒนา
4.1 เป้าหมายรวม เพื่อให้ชุมชนที่มีปัญหาการปลูกฝิ่นซ้ำซากได้รับการพัฒนาโดยอาศัยฐานความรู้ที่เหมาะสม มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สามารถพึ่งพาตนเองได้ในระยะยาวโดยไม่ต้องอาศัยการปลูกฝิ่นและค้ายาเสพติด และมีกระบวนการชุมชนที่เข้มแข็งในการป้องกันการแพร่ระบาดของยาเสพติด ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้รับการฟื้นฟูและบริหารจัดการโดยชุมชนมีส่วนร่วม
4.2 เป้าหมายเชิงพื้นที่ ครอบคลุมพื้นที่หมู่บ้านเป้าหมาย 115 หมู่บ้าน/หย่อมบ้าน ตั้งอยู่ใน 15 ตำบล 7 อำเภอใน 3 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน และตาก
4.3 เป้าหมายเชิงประชากร มีประชากรที่ได้รับประโยชน์และมีส่วนร่วมในการพัฒนาจำนวน 4,425 ครัวเรือน 23,585 คน ซึ่งเป็นชาวไทยภูเขาบนพื้นที่สูงจำนวน 4 ชนเผ่า คือ กระเหรี่ยง ลีซอ มูเซอและม้ง
5. ตัวชี้วัดผลสำเร็จของโครงการ
5.1 ด้านการแก้ไขปัญหายาเสพติด ชุมชนเป้าหมายเลิกปลูกฝิ่นและได้รับการพัฒนาตามนโยบายรัฐบาลด้านสังคมและคุณภาพชีวิตร้อยละ 80 ของหมู่บ้านเป้าหมายภายในปี 2556
5.2 ด้านเศรษฐกิจชุมชน ประชากรในพื้นที่เป้าหมายมีรายได้พอเพียงจากอาชีพการเกษตรและนอกภาคการเกษตร สามารถประกอบอาชีพบนพื้นฐานความรู้และทรัพยากรในท้องถิ่นได้อย่างน้อยร้อยละ 60 ของจำนวนประชากรภายในปี 2556
5.3 ด้านรากฐานที่มั่นคง ชุมชนเข้มแข้งจากการรวมกลุ่มอาชีพที่สามารถพึ่งพาตนเองได้ และมีการเสริมสร้างศักยภาพในการป้องกันและการแพร่ระบาดของยาเสพติดด้านกระบวนการมีส่วนร่วมขององค์กรส่วนท้องถิ่นและกลุ่มทางสังคมในชุมชน ร้อยละ 80 ของหมู่บ้านเป้าหมาย ภายในปี 2556
5.4 ด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีการกำหนดขอบเขตพื้นที่ป่าและพื้นที่ทำกินและมีกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนอย่างเข้มแข็งในการฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติร้อยละ 40 ของหมู่บ้านเป้าหมายภายในปี 2546
6. ยุทธศาสตร์โครงการฯ แบ่งเป็น 5 ด้านประกอบด้วย
6.1 ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาอาชีพและการตลาด
6.2 ยุทธศาสตร์ด้านการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและการพัฒนาสังคม
6.3 ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนากระบวนการชุมชนเพื่อแก้ปัญหายาเสพติด
6.4 ยุทธศาสตร์ด้านการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
6.5 ยุทธศาสตร์ด้านการบริหารจัดการและกำกับดูแลแผนแม่บท
7. หน่วยงานที่รับผิดชอบ
หน่วยงานหลัก สำนักงาน ป.ป.ส. กระทรวงยุติธรรม และสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หน่วยงานสนับสนุน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ จังหวัด / อำเภอ / ตำบล
8. การขับเคลื่อนโครงการฯ
การขับเคลื่อนโครงการฯ ประสาน กำกับดูแล ติดตามประเมินผล โดยสำนักงาน ป.ป.ส. ร่วมกับสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ทำหน้าที่รวบรวมติดตามข้อมูลและจัดทำรายงานเสนอต่อคณะกรรมการระดับต่าง ๆ ประกอบด้วย
8.1 คณะกรรมการกำหนดนโยบายระดับชาติ ได้แก่ คณะกรรมการประสานงานและสนับสนุนโครงการหลวง (กปส.) และสำนักงาน ป.ป.ส.
8.2 คณะกรรมการอำนวยการโครงการและคณะกรรมการระดับพื้นที่
8.3 คณะทำงานบริหารจัดการโครงการในระดับพื้นที่
9. ปัจจัยและเงื่อนไขความสำเร็จ
เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่มีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและเลิกปลูกฝิ่นอย่างยั่งยืน ต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างเร่งด่วนในการพัฒนาสาธารณูปโภคและปัจจัยพื้นฐานที่เหมาะสม การมีส่วนร่วมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การบังคับใช้กฎหมาย ทั้งการตัดฟันทำลายฝิ่น การจับกุม การสนับสนุนและเสริมสร้างขวัญกำลังใจให้ชุมชนและหน่วยงาน
10.ประโยชน์ที่จะได้รับ
10.1 พื้นที่ปลูกฝิ่นลดลงหรือหมดไป
10.2 ปัญหาความยากจนซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการปลูกฝิ่นลดลง
10.3 ประชาชนมีทัศนคติ มีทางเลือกในการประกอบอาชีพ
10.4 ชาวบ้านที่ติดฝิ่นได้รับการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพ
10.5 มีการอนุรักษ์ธรรมชาติในพื้นที่ และพื้นที่ป่าไม้เพิ่มขึ้น
10.6 ชุมชนมีความเข้มแข็งมากขึ้นในการป้องกันพื้นที่เสี่ยงภัยดังกล่าว
10.7 เป็นการรักษาชื่อเสียงของประเทศไทยที่ได้รับการยกย่องจากองค์การสหประชาชาติ (UN) ว่าเป็นต้นแบบของการแก้ไขปัญหาการปลูกพืชเสพติด โดยใช้มาตรการพัฒนาและการแก้ไขปัญหาอย่างสมดุล
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 10 พฤศจิกายน 2552 --จบ--