สรุปสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ ครั้งที่ 1

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 11, 2009 15:03 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สรุปสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ ครั้งที่ 1 ณ วันที่ 9 พฤศจิกายน 2552 ประกอบด้วย สถานการณ์อุทกภัย ผลกระทบด้านการเกษตร การให้ความช่วยเหลือ และสถานการณ์น้ำ สรุปได้ดังนี้

สถานการณ์อุทกภัย

จากอิทธิพลลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมภาคใต้และอ่าวไทยมีกำลังแรง ในช่วงวันที่ 3 พฤศจิกายน 2552 เป็นต้นมา ทำให้เกิดฝนตกหนักในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ ส่งผลทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำและพื้นที่การเกษตร ในพื้นที่ 9 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ชุมพร ตรัง พัทลุง สงขลา สตูล ยะลา และนราธิวาส

จังหวัดสุราษฎร์ธานี เกิดฝนตกหนัก ช่วงวันที่ 4 -7 พ.ย. 52 ประสบภัย 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอท่าชนะ ดอนสัก และไชยา สถานการณ์เข้าสู่สภาวะปกติแล้วเมื่อวันที่ 7 พ.ย. 52

จังหวัดนครศรีธรรมราช เกิดฝนตกหนัก ช่วงวันที่ 3 -7 พ.ย. 52 ประสบภัย 10 อำเภอ ได้แก่ อำเภอปากพนัง เมือง หัวไทร ลานสกา ร่อนพิบูลย์ สิชล ท่าศาลา พิปูน พระพรหม และจุฬาภรณ์

จังหวัดพัทลุง เกิดฝนตกหนัก ช่วงวันที่ 3 - 6 พ.ย. 52 ประสบภัย 7 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง ป่าบอน ป่าพะยอม ควนขนุน เขาชัยสน บางแก้ว และปากพยูน

จังหวัดตรัง เกิดฝนตกหนัก ช่วงวันที่ 4 -6 พ.ย. 52 ประสบภัย 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอปะเหลียน ห้วยยอด นาโยง

จังหวัดสงขลา เกิดฝนตกหนัก ช่วงวันที่ 4 -6 พ.ย. 52 ประสบภัย 14 อำเภอ ได้แก่ อำเภอสะบ้าย้อย นาทวีหาดใหญ่ ควนเนียง สทิงพระ เมือง บางกล่ำ สิงหนคร จะนะ สะเดา ระโนด เทพา รัตภูมิ และ คลองหอยโข่ง

จังหวัดสตูล เกิดฝนตกหนัก ช่วงวันที่ 5 -6 พ.ย. 52 ประสบภัย 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอมะนัง ควนโดน เมือง ควนกาหลง และละงู

จังหวัดยะลา เกิดฝนตกหนัก ช่วงวันที่ 4 -6 พ.ย. 52 ประสบภัย 8 อำเภอ ได้แก่ อำเภอยะหา กรงปินัง ธารโต เมือง รามัน บันนังสตา กาบัง และเบตง

จังหวัดนราธิวาส เกิดฝนตกหนัก ช่วงวันที่ 4 -6 พ.ย. 52 ประสบภัย 11 อำเภอ ได้แก่ อำเภอศรีสาคร จะแนะ สุคิริน รือเสาะ เมือง แว้ง สุไหงโก-ลก สุไหงปาตี ตากใบ ระแงะ และเจาะไอร้อง

ผลการทบด้านการเกษตร

ด้านพืช 8 จังหวัด เกษตรกรประสบภัย 23,121 ราย พื้นที่คาดว่าจะเสียหาย 52,540 ไร่ แบ่งเป็นข้าว 27,724 ไร่ พืชไร่ 2,688 ไร่ และพืชสวน 22,128 ไร่

ด้านปศุสัตว์ 3 จังหวัด เกษตรกรประสบภัย 3,062 ราย สัตว์ได้รับผลกระทบ 22,700 ตัว แบ่งเป็น โค-กระบือ 8,037 ตัว สุกร-แพะ-แกะ 4,480 ตัว และสัตว์ปีก 19,993 ตัว แปลงหญ้า 210 ไร่

ด้านประมง 1 จังหวัด เกษตรกรประสบภัย 1,688 ราย พื้นที่คาดว่าจะเสียหาย แบ่งเป็น บ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ 1,326 บ่อ คิดเป็นพื้นที่ 672 ไร่ กระชังเลี้ยงสัตว์น้ำ 504 กระชัง คิดเป็นพื้นที่ 7,635 ตารางเมตร

การช่วยเหลือเบื้องต้น

1. สนับสนุนเครื่องสูบน้ำ 58 เครื่อง ได้แก่ นราธิวาส (12) ยะลา (8) สงขลา (32) และ นครศรีธรรมราช (6)

2. สนับสนุนรถขุด ช่วยขุดร่องระบายน้ำ และเสริมคันคลองจำนวน 2 คัน ในเขตพื้นที่อำเภอหาดใหญ่ และอำเภอบางกล่ำ จังหวัดสงขลา

3. สนับสนุนพืชอาหารสัตว์ 21.63 ตัน ทั้งนี้ ได้เตรียมเสบียงสัตว์ไว้ 6,544 ตัน แบ่งเป็น หญ้าแห้ง 3,503 ตัน หญ้าหมัก 154 ตัน หญ้าสด 2,887 ตัน โดยเฉพาะพื้นที่เขต 8 และเขต 9 ได้เตรียมเสบียงสัตว์ไว้ช่วยเหลือ 2,035 ตัน แบ่งเป็น หญ้าแห้ง 788 ตัน หญ้าหมัก 63 ตัน หญ้าสด 1,184 ตัน พร้อมให้การช่วยเหลือทันที (ข้อมูล ณ วันที่ 20 ตุลาคม 2552)

หมายเหตุ : พื้นที่เขต 8 ได้แก่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์สุราษฎร์ธานี สถานีพัฒนาอาหารสัตว์ชุมพร เขต 9 ได้แก่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์นราธิวาส สถานีพัฒนาอาหารสัตว์ตรัง สถานีพัฒนาอาหารสัตว์สตูล สถานีพัฒนาอาหารสัตว์พัทลุง

สถานการณ์น้ำ

1. สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่

สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศ (9 พฤศจิกายน 2552) มีปริมาตรน้ำในอ่างฯ ทั้งหมด 55,524 ล้านลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 80 ของความจุอ่างฯ ทั้งหมด น้อยกว่าปี 2551 (57,864 ล้าน ลบ.ม.) จำนวน 2,340 ล้านลบ.ม. ปริมาตรน้ำใช้การได้ 31,997 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 46 ของความจุอ่างฯ สามารถรับน้ำได้อีก 14,071 ล้านลบ.ม.

อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้ำ น้อยกว่า ร้อยละ 30 ของความจุอ่างฯ จำนวน 1 อ่าง คือ อ่างเก็บน้ำแม่กวง (26%)

อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้ำ มากกว่า ร้อยละ 80 ของความจุอ่าง ๆ จำนวน 14 อ่าง คือ อ่างเก็บน้ำแม่งัด (86%) จุฬาภรณ์ (91%) ลำปาว (86%) สิริธร (89%) ป่าสักฯ (100%) กระเสียว (87%) ศรีนครินทร์ (91%) วชิราลงกรณ์ (90%) ขุนด่าน ฯ (83%) หนองปลาไหล (102%) ประแสร์ (101%) แก่งกระจาน (90%) ปราณบุรี (91%) และรัชชประภา (90%)

อ่างเก็บน้ำภูมิพลและสิริกิติ์ มีปริมาณน้ำรวม 15,421 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 67 ของความจุทั้งสองอ่าง ฯ น้อยกว่าปี 2551 (18,003 ล้าน ลบ.ม.) จำนวน 2,582 ล้าน ลบ.ม.

2. สภาพน้ำท่า

ภาคเหนือ แม่น้ำปิง แม่น้ำวัง และแม่น้ำน่าน ปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย ยกเว้น แม่น้ำยม บริเวณอำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก ปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้ำมาก

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แม่น้ำชี ปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย ยกเว้น บริเวณอำเภอมัญจาคีรี จังหวัดขอนแก่น ปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้ำมาก แม่น้ำมูล ปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย ยกเว้น บริเวณอำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ และอำเภอราศีไศล จังหวัดศรีสะเกษ ปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้ำมาก และแม่น้ำโขง ปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย

ภาคกลาง แม่น้ำเจ้าพระยา ปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้ำปกติ แม่น้ำป่าสัก ปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย

ภาคใต้ ส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์น้ำมาก ถึง ท่วม รายละเอียด ดังนี้

แม่น้ำ                       ที่ตั้งสถานีสำรวจปริมาณน้ำท่า                  ระดับตลิ่ง   ระดับน้ำ   เกณฑ์   แนวโน้ม
                      สถานี            อำเภอ         จังหวัด            เมตร     เมตร
หาดส้มแป้น    X.209     หาดส้มแป้น        เมือง          ระนอง            9.85     8.20   มาก    ลดลง
ตาปี         X.37A     บ้านย่านดินแดง     พระแสง        สุราษฎร์ธานี       10.75     9.50   มาก    เพิ่มขึ้น
            X.195     บ้านท่าใหญ่        ลานสกา        นครศรีธรรมราช    38.67    35.08   มาก    ลดลง
ค.บางใหญ่    X.190A    บ้านเก็ตโฮ        เมือง          ภูเก็ต            17.13    15.17   มาก    ทรงตัว
ค.ท่าดี       X.203     บ้านนาป่า         เมือง          นครศรีธรรมราช    11.00    10.46   มาก    ลดลง
ม.ตรัง       X.56      บ้านท่าประดู่       ห้วยยอด        ตรัง             13.07    13.93   ท่วม    เพิ่มขึ้น
ค.ปะเหลียน   X.236     คลองปะเหลียน     ย่านตาขาว      ตรัง              4.60     2.54   มาก    ลดลง
            X.139     คลองปะเหลียน     คลองปะเหลียน   ตรัง             26.82    24.97   มาก    ลดลง
ค.นาค่อม     X.265     หน้าวัดภูผาพิมุข     เมือง          พัทลุง             8.50     6.97   มาก    ลดลง
            X.150     บ้านวังป่าเคียน     ละงู           สตูล             12.20     9.28   มาก    ลดลง
ค.อู่ตะเภา    X.173A    บ้านม่วงก็อง       สะเดา         สงขลา           15.56    15.30   มาก    ลดลง
            X.90      บ้านบางศาลา      คลองหอยโข่ง    สงขลา            7.18     8.04   ท่วม    ลดลง
            X.44      บ้านหาดใหญ่ใน     เมือง          สงขลา            7.40     4.60   มาก    ลดลง
ปัตตานี       X.40A     บ้านท่าสาป        เมือง          ยะลา            16.28    15.30   ท่วม    ลดลง
            X.40B     ท้ายเขื่อนปัตตานี    เมือง          ยะลา            12.15    11.40   มาก    เพิ่มขึ้น
โก-ลก       X.119A    บ้านปาเสมัส       สุไหงโก-ลก     นราธิวาส          9.28     9.50   ท่วม    ลดลง
ค.ตันหยงมัส   X.73      บ้านตันหยงมัส      ระแงะ         นราธิวาส         15.58    15.24   มาก    ลดลง

การเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติด้านการเกษตรจังหวัด เพื่อเตรียมรับสถานการณ์อุทกภัย แบ่งการดำเนินการเป็น 3 ระยะ คือ ก่อนเกิดภัย ขณะเกิดภัย และหลังเกิดภัย ประกอบด้วย 11 กิจกรรมหลัก ดังนี้

ก่อนเกิดภัย 5 กิจกรรม ได้แก่

1) การเตรียมความพร้อมของศูนย์ติดตามฯจังหวัด โดยแต่ละจังหวัดได้จัดให้มีการประชุมคณะกรรมการศูนย์ฯ รวมถึงเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการศูนย์ฯ และเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ ตามความเหมาะสม

2) การวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงภัยและการจัดทำฐานข้อมูลครัวเรือนเกษตรในพื้นที่เสี่ยงภัย ซึ่งจากการวิเคราะห์ของศูนย์ติดตามฯจังหวัด 10 จังหวัด ปรากฏว่ามี พื้นที่เสี่ยงอุทกภัย รวม 110 อำเภอ 551 ตำบล

3) การเตรียมความพร้อมในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติด้านการเกษตร ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

  • ด้านการจัดการน้ำ วางแผนบริหารจัดการน้ำ จัดการการระบายน้ำเพื่อลดระดับน้ำกักเก็บเพื่อรองรับปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้นในช่วงฤดูฝน ขุดลอกและกำจัดวัชพืชขวางทางน้ำ
  • ด้านปศุสัตว์ วางแผน/จัดเตรียมสถานที่อพยพสัตว์ สำรองเสบียงสัตว์และเวชภัณฑ์ ให้คำแนะนำในการดูแลสัตว์แก่เกษตรกร
  • ด้านพืช จัดเตรียมสำรองเมล็ดพันธุ์พืช ให้คำแนะนำในการวางแผนการปลูกพืช การป้องกันกำจัดศัตรูพืช
  • ด้านประมง จัดเตรียมพันธุ์สัตว์น้ำ ให้คำแนะนำแก่เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์น้ำ
  • อื่นๆ เตรียมความพร้อมเครื่องสูบน้ำ เครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ ยานพาหนะ และบุคลากรให้พร้อมปฏิบัติงานทันทีเมื่อเกิดภัย

4) การเฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัย โดยศูนย์ติดตามฯจังหวัด ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการติดตาม เฝ้าระวัง สถานการณ์ต่างๆ อย่างใกล้ชิด เพื่อประชาสัมพันธ์และแจ้งเตือนภัยแก่เกษตรกร

5) การสร้างเครือข่ายเกษตรกรอาสา/เครือข่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยศูนย์ติดตามฯ จังหวัด ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขอความร่วมมือให้เกษตรกรอาสาและเครือข่าย อปท. ร่วมเป็นเครือข่ายในการปฏิบัติงานและแจ้งเตือนภัยในพื้นที่ให้กับศูนย์ติดตามฯจังหวัด รวมทั้งจัดทำฐานข้อมูลเครือข่ายเกษตรกรอาสา/เครือข่ายอปท.

ขณะเกิดภัย 3 กิจกรรม ได้แก่ การแจ้งเตือนภัยและประชาสัมพันธ์ การสำรวจและการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติด้านการเกษตร การติดตามและรายงาน

หลังเกิดภัย 3 กิจกรรม ได้แก่ การประชาสัมพันธ์ข่าวสารด้านการช่วยเหลือเกษตรกร การสำรวจและให้การช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติด้านการเกษตร การติดตามและรายงาน

นอกจากนั้น ได้สั่งการให้ศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตรระดับจังหวัด ในพื้นที่ภาคใต้ 14 จังหวัด ให้ติดตาม เฝ้าระวังสถานการณ์ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง หากเกิดสถานการณ์อุทกภัยให้จัดประชุมศูนย์ติดตามฯจังหวัดและรายงานสถานการณ์ให้ศูนย์ติดตามฯ กระทรวงทราบทันที

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 10 พฤศจิกายน 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ