ขอความเห็นชอบกรอบการเจรจาเพื่อการดำเนินงานความร่วมมือด้านการขนส่งภายใต้กรอบอาเซียน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 11, 2009 15:17 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการของกรอบการเจรจาเพื่อการดำเนินงานความร่วมมือด้านการขนส่งภายใต้กรอบอาเซียน ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ และให้เสนอกรอบการเจรจาดังกล่าวให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบต่อไป

ข้อเท็จจริง

กระทรวงคมนาคมเสนอว่า

1. สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเยน (Association Southeast Asia Nations : ASENA) ก่อตั้งขึ้นตามปฏิญญากรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2510 มีวัตถุประสงค์หลัก 3 ประการ ได้แก่

1.1 ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมในภูมิภาค

1.2 รักษาเสถียรภาพและความมั่นคงในภูมิภาค และ

1.3 ใช้เป็นเวทีแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในภูมิภาค ปัจจุบันประกอบด้วยประเทศสมาชิกจำนวน 10 ประเทศ ได้แก่ บรูไนดารุสซาลาม ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สหพันธ์รัฐมาเลเซีย สหภาพพม่า สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ สาธารณรัฐสิงคโปร์ ราชอาณาจักรไทย และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม

2. ความร่วมมือด้านการขนส่งภายใต้กรอบอาเซียน มีจุดเริ่มต้นจากการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 5 ณ กรุงเทพฯ ซึ่งได้มีการประกาศปฏิญญากรุงเทพฯ 2538 เรียกร้องให้รัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านต่างๆ มาพบหารือกันเป็นประจำเพื่อริเริ่มและเสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจโดยมุ่งหวังให้มีการพัฒนาระบบการขนส่งในภูมิภาคที่สอดคล้อง เชื่อมโยง และเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และให้มีการจัดตั้งกลไกทีจะประสานและกำกับโครงการความร่วมมือและกิจกรรมด้านการขนส่ง เช่น คณะทำงานเพื่อหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็น กำหนดยุทธศาสตร์ความร่วมมือ และแผนการดำเนินงานต่าง ๆ อาทิ การจัดทำความตกลง บันทึกความเข้าใจ แผนปฏิบัติการ และแนวทางการดำเนินงาน เป็นต้น และให้มีการประชุมรัฐมนตรีขนส่งอาเซียนเป็นประจำทุกปี ก่อนรายงานความคืบหน้าต่อที่ประชุมสุดยอดอาเซียน โดยการประชุมรัฐมนตรีขนส่งอาเซียน ครั้งที่ 1 จัดขึ้นเมื่อปี 2539 ณ ประเทศอินโดนีเซีย และครั้งล่าสุดได้มีการประชุมฯ ครั้งที่ 14 เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2551 ณ กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์

3. สืบเนื่องจากบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 190 วรรคสาม บัญญัติให้ก่อนการดำเนินการเพื่อทำหนังสือสัญญากับนานาประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศตามวรรคสอง คณะรัฐมนตรีต้องให้ข้อมูลและจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และต้องชี้แจงต่อรัฐสภาเกี่ยวกับหนังสือสัญญานั้น ในการนี้ ให้คณะรัฐมนตรีเสนอกรอบการเจรจาต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบด้วย

สาระสำคัญของเรื่อง

1. วัตถุประสงค์ : เพื่อขยายและส่งเสริมความร่วมมือด้านการขนส่งภายในอาเซียน และประเทศคู่เจรจานอกภูมิภาค ซึ่งจะอำนวยความสะดวกแก่ภาคอุตสาหกรรมสาขาต่าง ๆ ของประเทศ เพิ่มศักยภาพและโอกาสแก่ผู้ประกอบการไทยในการประกอบธุรกิจการขนส่ง เพิ่มคุณภาพการบริการด้านการขนส่งให้แก่คนไทย ซึ่งจะส่งผลดีต่อการค้าและการลงทุน ส่งเสริมให้มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม ตลอดจนส่งเสริมการปฏิบัติตามมาตรฐานการดำเนินการต่าง ๆ ขององค์การระหว่างประเทศ ซึ่งประเทศสมาชิกอาเซียนร่วมเป็นภาคี เพื่อความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มประเทศอาเซียนและประเทศคู่เจรจานอกภูมิภาคที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น และเป็นการดำเนินการตามเป้าหมายการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 อีกด้วย

2. รูปแบบการเจรจา : แบ่งออกเป็น 3 ระดับ

2.1 การประชุมระดับรัฐมนตรีขนส่งอาเซียน กำหนดให้มีการประชุมร่วมกันเป็นประจำทุกปี ปีละ 1 ครั้ง

2.2 การประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการขนส่งอาเซียน กำหนดให้มีการประชุมร่วมกันเป็นประจำทุกปี ปีละ 2 ครั้ง เพื่อทำหน้าที่เป็นหน่วยบริการ ติดตาม และประสานโครงการตามทิศทางที่รัฐมนตรีขนส่งได้กำหนดไว้

2.3 การประชุมระดับคณะทำงาน คณะทำงานย่อย และคณะทำงานพิเศษ กำหนดให้มีการประชุมร่วมกันเป็นประจำทุกปี ปีละ 1-2 ครั้ง ดังนี้

(1) คณะทำงาน ประกอบด้วย 4 คณะ ได้แก่ คณะทำงานด้านการอำนวยความสะดวกในการขนส่ง คณะทำงานด้านการขนส่งทางน้ำ คณะทำงานด้านการขนส่งทางอากาศ และคณะทำงานด้านการขนส่งทางบก

(2) คณะทำงานย่อย 1 คณะ ได้แก่ คณะทำงานย่อยด้านทางหลวงอาเซียน

(3) คณะทำงานพิเศษ 4 คณะ ได้แก่ คณะทำงานพิเศษว่าด้วยโครงการเชื่อมโยงเส้นทางรถไฟสายสิงคโปร์-คุนหมิง และ คณะทำงานพิเศษว่าด้วยความปลอดภัยทางถนน

ทั้งนี้ อาจมีการแต่งตั้งคณะทำงานย่อย หรือคณะทำงานพิเศษอื่น ๆ นอกเหนือจากที่ได้ระบุไว้ข้างต้นได้ตามความเหมาะสม เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นในการทำงาน

3. ประเด็นการเจรจา

การจัดทำความตกลง กรอบและแนวนโยบายเกี่ยวกับความร่วมมือด้านการขนส่งภายใต้กรอบอาเซียนในทุกรูปแบบของการขนส่ง (ทางถนน ทางรถไฟ ทางน้ำ ทางอากาศ และการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ) มีประเด็นการเจรจาที่สำคัญ เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่ง การอำนวยความสะดวกในการขนส่ง โลจิสติกส์การขนส่งความปลอดภัยในการขนส่ง (Transport Safety) การรักษาความปลอดภัยในการขนส่ง (Transport Security) การเปิดตลาดบริการสาขาการขนส่งและโลจิสติกส์ การส่งเสริมระบบการขนส่งที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ความร่วมมือทางวิชาการและการฝึกอบรมและการกำหนดท่าทีร่วมกันของประเทศสมาชิกอาเซียนในประเด็นที่สมาชิกอาเซียนได้รับผลกระทบร่วมกัน

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 10 พฤศจิกายน 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ