ร่างแผนปฏิบัติการร่วมระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับราชอาณาจักรสเปน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 11, 2009 15:21 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ ทั้ง 2 ข้อ ดังนี้

1. เห็นชอบร่างแผนปฏิบัติการร่วมระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับราชอาณาจักรสเปน โดยให้กระทรวงการต่างประเทศสามารถเปลี่ยนแปลงถ้อยคำในส่วนที่ไม่กระทบต่อสาระสำคัญของร่างแผนปฏิบัติการร่วมฯ โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีก

2. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้ลงนามแผนปฏิบัติการร่วมฯ

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงการต่างประเทศรายงานว่า

1. ไทยและสเปนมีดำริที่จะจัดทำแผนปฏิบัติการร่วมเพื่อเป็นแนวทางการดำเนินความสัมพันธ์และเป็นกลไกในการผลักดันความร่วมมือระหว่างกันให้มีความชัดเจนและมีผลคืบหน้าที่เป็นรูปธรรมต่อไป โดยเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2548 นายโลเปซ นาดาล (Lopez Nadal) เอกอัครราชทูตสเปนประจำประเทศไทย ในขณะนั้น ได้เข้าเยี่ยมคารวะพันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในขณะนั้น ในโอกาสเข้ารับหน้าที่เอกอัครราชทูต ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เสนอให้จัดทำแผนปฏิบัติการร่วมไทย-สเปน เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาความร่วมมือทวิภาคีระหว่างภาครัฐและเอกชนของทั้งสองประเทศ และตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2548 เป็นต้นมา ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนร่างแผนปฏิบัติการร่วมฯ ฉบับโต้ตอบระหว่างกันจนได้ข้อยุติและเห็นพ้องกันว่า น่าจะจัดให้มีการลงนามแผนปฏิบัติการร่วมฯ ในระหว่างการเยือนประเทศสเปนของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศประเทศไทย ภายใต้โครงการฟื้นฟูความเชื่อมั่นและเสริมสร้างภาพลักษณ์ของประเทศไทย (Roadshow) ที่ประเทศสเปน ระหว่างวันที่ 17-22 พฤศจิกายน 2552

2. ร่างแผนปฏิบัติการร่วมฯ มีสาระสำคัญ สรุปได้ดังนี้

2.1 แผนปฏิบัติการร่วมฯ เป็นแผนความร่วมมือในกรอบกว้างระหว่างรัฐบาลของทั้งสองประเทศ มีระยะเวลา 5 ปี คือ ระหว่างปี 2552-2557 โดยจัดทำเป็น 3 ภาษา ได้แก่ ภาษาไทย ภาษาสเปน และภาษาอังกฤษ โดยจะยึดถือฉบับภาษาอังกฤษเป็นเกณฑ์ในกรณีที่มีความแตกต่างในการตีความ

2.2 แผนปฏิบัติการร่วมฯ แบ่งออกเป็น 3 หมวด ดังนี้

2.2.1 การส่งเสริมความสัมพันธ์ทางการเมือง โดยผ่านการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างผู้แทนของทั้งสองประเทศ และเพิ่มพูนความร่วมมือในประเด็นความมั่นคง การต่อต้านการก่อการร้าย และอาชญากรรมข้ามชาติ ตลอดจนกระชับความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ ทั้งในระดับทวิภาคี ภูมิภาค และระหว่างประเทศ

2.2.2 การส่งเสริมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ ทั้งในระดับทวิภาคีและระดับภูมิภาค โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเพิ่มพูนการค้าและการลงทุนให้อยู่ในระดับที่มีนัยสำคัญ รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือในเรื่องสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา และการสนับสนุนให้มีระบบการค้าพหุภาคีที่เสรีและเป็นธรรมภายใต้องค์การการค้าโลก

2.2.3 การยกระดับความร่วมมือทวิภาคีในสาขาอื่นๆ ที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน ได้แก่ ด้านวัฒนธรรมและการศึกษา ความร่วมมือทางวิชาการ ความร่วมมือด้านการป้องกันประเทศและการทหาร และความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อม

2.3 กรมสนธิสัญญาและกฎหมายได้พิจารณาร่างแผนปฏิบัติการร่วมฯ แล้ว มีความเห็นว่า โดยที่ในส่วนอารัมบทของร่างแผนปฏิบัติการร่วมฯ ระบุว่า แผนปฏิบัติการร่วมฯ จะไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย (Both sides have also agreed that this Joint Plan of Action shall not be legally binding) ดังนั้น ร่างแผนปฏิบัติการร่วมฯ จึงไม่ก่อให้เกิดสิทธิและพันธกรณีภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศและไม่น่าจะเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ทั้งนี้ ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 6-7/2551 ลงวันที่ 8 กรกฎาคม 2551 เรื่อง คำแถลงการณ์ ร่วมไทย-กัมพูชา ฉบับลงวันที่ 18 มิถุนายน 2551

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 10 พฤศจิกายน 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ