การรับรองถ้อยแถลงร่วมของรัฐมนตรีเอเชียและแปซิฟิก

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 11, 2009 15:23 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง การรับรองถ้อยแถลงร่วมของรัฐมนตรีเอเชียและแปซิฟิก ว่าด้วยการเสริมสร้างความร่วมมือระดับภูมิภาค

เพื่อก้าวสู่เศรษฐกิจบรอดแบนด์ในเอเชียและแปซิฟิก

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างถ้อยแถลงร่วมของรัฐมนตรีเอเชียและแปซิฟิก ว่าด้วยการเสริมสร้างความร่วมมือระดับภูมิภาคเพื่อก้าวสู่เศรษฐกิจบรอดแบนด์ในเอเชียและแปซิฟิก ตามที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเสนอ โดยเพิ่มเติมข้อความตามที่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ได้เสนอ และหากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงหรือแก้ไขร่างถ้อยแถลงร่วมฯ ดังกล่าวที่ไม่ใช่สาระสำคัญ หรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารดำเนินการได้โดยหารือกับกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก ทั้งนี้ ให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารประสานกับกระทรวงคมนาคมอย่างใกล้ชิดเพื่อดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของผู้นำอาเซียนเกี่ยวกับความเชื่อมโยง (connectivity) ด้วย

ความเป็นมา

1. องค์การโทรคมนาคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก (The Asia-Pacific Telecommunity : APT) เป็นองค์กรระหว่างประเทศด้านโทรคมนาคมของภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2522 ภายใต้การอุปถัมภ์ของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก (UNESCAP) โดยมีสมาชิก 34 ประเทศ สมาชิกสมทบ 4 เขตปกครองพิเศษ และสมาชิกในเครือ 121 หน่วยงาน สำนักงานใหญ่ของ APT ตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานคร APT เป็นศูนย์รวมด้านโทรคมนาคมในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ที่ให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศสมาชิกในการพัฒนาข่ายงาน โทรคมนาคมให้มีประสิทธิภาพก่อให้เกิดผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ประเทศไทยโดยกรมไปรษณีย์โทรเลขเดิมได้เข้าเป็นสมาชิกก่อตั้งองค์กรฯ ตั้งแต่ปี 2522

2. APT ได้จัดการประชุมระดับรัฐมนตรีขึ้นเป็นครั้งแรก ระหว่างวันที่ 1-2 กรกฎาคม 2547 ณ กรุงเทพฯ เนื่องในโอกาสครบรอบ 25 ปีการก่อตั้ง APT โดยมีชื่อการประชุมว่า “APT Ministerial Conference on Broadband and ICT Development” หัวข้อหลักของการประชุม ได้แก่ การพัฒนาระบบบรอดแบนด์และการกระจายโอกาสในการเข้าถึง ICT ในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ผู้เข้าร่วมการประชุมประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี 1 ประเทศ รัฐมนตรี 12 ประเทศ รัฐมนตรีช่วย 9 ประเทศ ในส่วนของประเทศไทยซึ่งเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมฯ มีอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (นายสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี) เข้าร่วมการประชุมฯ นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมการประชุมอื่น ๆ ได้แก่ สมาชิกในเครือและสมาชิกสมทบของ APT องค์กรระดับภูมิภาค และองค์กรระหว่างประเทศ รวมทั้งสิ้น 224 คน หลังจากการประชุม เสร็จสิ้น รัฐมนตรีได้ร่วมกันลงนามในเอกสาร Bangkok Agenda ว่าด้วยความร่วมมือของสมาชิก APT ในการดำเนินการตามแผนพัฒนาโทรคมนาคมของภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก

3. โดยที่ปี 2552 เป็นปีที่ครบรอบ 30 ปี ของการก่อตั้ง APT ประเทศสมาชิก APT จึงเห็นสมควรจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีขึ้น เพื่อเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสดังกล่าว ซึ่งกำหนดจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 12-13 พฤศจิกายน 2552 ณ เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย โดยมีหัวข้อหลักสำหรับการประชุมครั้งนี้ คือ “การเสริมสร้างความร่วมมือระดับภูมิภาคเพื่อก้าวสู่เศรษฐกิจบรอดแบนด์” (Strengthen the Regional Collaboration Towards Broadband Economy) ผู้เข้าร่วมการประชุมฯ จะประกอบด้วย รัฐมนตรีจากประเทศสมาชิก APT รวมทั้งผู้แทนจากหน่วยงานด้านนโยบาย ตลอดจนผู้บริหารระดับสูงจากภาคอุตสาหกรรม และองค์การระหว่างประเทศอื่น ๆ ทั้งนี้ จะมีการรวบรวมผลการประชุมเพื่อจัดทำถ้อยแถลงร่วม (Joint Statement) ว่าด้วยการเสริมสร้างความร่วมมือระดับภูมิภาคเพื่อก้าวสู่เศรษฐกิจบรอดแบนด์ในเอเชียและแปซิฟิก ซึ่งรัฐมนตรีจากประเทศสมาชิก APT ที่เข้าร่วมประชุมจะร่วมรับรองเอกสารดังกล่าวในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2552

4. กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารพิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อแสดงบทบาทและการมีส่วนร่วมของประเทศไทยในฐานะประเทศสมาชิกที่ดีของ APT อีกทั้งประเทศไทยยังเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของ APT จึงเห็นสมควรเสนอให้มีผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมฯ ดังกล่าว ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารได้มอบหมายให้ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (นายณัฐวุฒ จิตะสมบัติ) ไปร่วมการประชุมครั้งนี้ร่วมด้วยผู้แทนอื่น ๆ ประกอบด้วยผู้แทนกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน)

สาระสำคัญของร่างถ้อยแถลงร่วมฯ

1. ร่างถ้อยแถลงร่วมฯ เป็นการแสดงเจตจำนงของประเทศสมาชิก APT ที่จะสืบสานความร่วมมือระดับภูมิภาคในการพัฒนากิจการโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารต่อไป รวมทั้งร่วมกันพิจารณากำหนดบทบาท ภารกิจ ตลอดจนแผนงานของ APT ในการพัฒนาโทรคมนาคมของภูมิภาคสำหรับอนาคต ตลอดจนกำหนดแนวทางในการกระชับความร่วมมือระดับภูมิภาคในการพัฒนาทั้งโครงสร้างพื้นฐานและการให้บริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) เพื่อมุ่งสู่การเป็นสังคมที่มีเทคโนโลยีบรอดแบนด์เป็นปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจ หรือที่เรียกว่า “เศรษฐกิจบรอดแบนด์” (Broadband Economy) ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในภูมิภาคฯ ได้อย่างแท้จริง โดยเนื้อหาของร่างถ้อยแถลงฯ ได้ให้ความสำคัญต่อการประสานความร่วมมือระหว่างรัฐและภาคเอกชนหรือภาคอุตสาหกรรมในการพัฒนา Broadband Economy โดยมี APT ในฐานะองค์กรหลักด้านการพัฒนาโทรคมนาคมและ ICT ของภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกทำหน้าที่เป็นหน่วยงานหลักที่ช่วยประสานความร่วมมือของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก

2. ร่างถ้อยแถลงร่วมฯ ระบุถึงแนวทางในการร่วมมือในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้

ก) พัฒนาการเชื่อมต่อบรอดแบนด์ (Improve broadband connectivity)

ข) สร้างสิ่งแวดล้อมที่มั่นคงปลอดภัยสำหรับทุกคน (Provide a secure environment for all)

ค) ส่งเสริมการบูรณาการบริการต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ (Facilitate the effective integration of services)

ง) สนับสนุนการพัฒนาเนื้อหาและโปรแกรมประยุกต์ต่าง ๆ (Encourage development of content and applications)

จ) พัฒนาขีดความสามารถของทรัพยากรมนุษย์ (Develop the human resources capacity)

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 10 พฤศจิกายน 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ