การรับรองร่างเอกสารสำคัญในการประชุมรัฐมนตรีเอเปค ครั้งที่ 21

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 11, 2009 15:25 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง การรับรองร่างเอกสารสำคัญในการประชุมรัฐมนตรีเอเปค ครั้งที่ 21 และการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 17

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างแถลงการณ์ร่วมรัฐมนตรีเอเปค (Joint Statement) และร่างปฏิญญาผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค (Leaders’ Declaration) ตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ และหากจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงร่างเอกสารดังกล่าวในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญก่อนมีการรับรอง ให้กระทรวงการต่างประเทศสามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีก

สาระสำคัญของเรื่อง

ด้วยสิงคโปร์จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีเอเปค ครั้งที่ 21 (21st APEC Ministerial Meeting — AMM) การประชุมรัฐมนตรีคลังเอเปค (APEC Finance Ministers Meeting) และการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 17 (17th APEC Economic Leaders’ Meeting — AELM) ระหว่างวันที่ 11 — 12 พฤศจิกายน 2552 วันที่ 12 พฤศจิกายน 2552 และวันที่ 14 — 15 พฤศจิกายน 2552 ตามลำดับ โดยนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะเข้าร่วมการประชุมดังกล่าว โดยกำหนดจะรับรองเอกสารสำคัญ ดังนี้

1. ร่างแถลงการณ์ร่วมรัฐมนตรีเอเปค (Joint Statement) เป็นเอกสารที่รัฐมนตรีต่างประเทศและ รัฐมนตรีการค้าเปคจะให้การรับรอง มีสาระแสดงเจตนารมณ์ในการแก้ไขปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจโลก การวางรากฐานเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างเท่าเทียมและยั่งยืน และการขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ผ่านการส่งเสริมการค้าพหุภาคี การดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายโบกอร์ การวางรากฐานเพื่อการจัดตั้งเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก การเร่งรัดการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ อาทิ อำนวยความสะดวกการค้าข้ามพรมแดน การปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจภายใน การสร้างความเชื่อมโยงในภูมิภาค การส่งเสริมความมั่นคงมนุษย์ การเพิ่มธรรมาภิบาลและความโปร่งใส และการพัฒนาการทำงานของสำนักเลขาธิการเอเปค เป็นต้น

2. ร่างปฏิญญาผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค (Leaders’ Declaration) เป็นเอกสารที่ผู้นำเขตเศรษฐกิจ เอเปคจะให้การรับรอง มีสาระสำคัญสะท้อนเจตนารมณ์ของเอเปคที่จะสร้างการเจริญเติบโตอย่างสมดุล เท่าเทียม และยั่งยืน ผ่านการดำเนินงานที่ส่งเสริมการค้าระดับพหุภาคี การต่อต้านการกีดกันทางการค้า การเร่งรัดการรวมกลุ่มเศรษฐกิจในภูมิภาค การส่งเสริมความร่วมมือทางวิชาการ การส่งเสริมความมั่นคงของมนุษย์ การเพิ่มธรรมาภิบาลและความโปร่งใส และการพัฒนาการทำงานของสำนักเลขาธิการเอเปค เป็นต้น

กระทรวงการต่างประเทศเห็นว่า ร่างเอกสารทั้งสองฉบับมีสาระเป็นการแสดงเจตนารมณ์ระหว่างเขตเศรษฐกิจสมาชิกเอเปคที่จะร่วมมือกันในด้านต่างๆ นอกจากนี้หลักการพื้นฐานของเอเปคคือการเป็นเวทีสำหรับการปรึกษาหารือ แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในประเด็นทางเศรษฐกิจ ไม่ใช่เวทีการเจรจา การดำเนินงานของเขตเศรษฐกิจสมาชิกเป็นไปโดยสมัครใจและไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย และโดยที่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 6-7/2551 เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2551 เกี่ยวกับคำแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ฉบับลงวันที่ 18 มิถุนายน 2551 ระบุว่า “ปกติคำแถลงการณ์ร่วมที่ไม่ประสงค์จะให้มีผลทางกฎหมายนั้นไม่มีความจำเป็นต้องลงนาม” ดังนั้น ร่างเอกสารทั้งสองฉบับจะมีการลงมติรับ (adoption) ในระหว่างการประชุมโดยไม่มีการลงนาม จึงไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย และไม่น่าจะเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 10 พฤศจิกายน 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ