ปฏิญญาการประชุมสุดยอดว่าด้วยความมั่นคงอาหารโลก (World Summit on Food Security)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 11, 2009 15:27 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างปฏิญญาการประชุมสุดยอดว่าด้วยความมั่นคงอาหารโลก (World Summit on Food Security) ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รายงานว่า

1. องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture of the United Nations — FAO) กำหนดจัดประชุมสุดยอดว่าด้วยความมั่นคงอาหารโลก (World Summit on food Security) ระหว่างวันที่ 16 — 18 พฤศจิกายน 2552 ณ กรุงโรม ประเทศอิตาลี ซึ่งในการประชุมดังกล่าวจะมีการรับรองปฏิญญาการประชุมสุดยอดว่าด้วยความมั่นคงอาหาร (The Declaration of the World Summit on Food Security) เพื่อให้ประเทศต่าง ๆ ใช้เป็นแนวทางปฏิบัติเพื่อให้เกิดความมั่นคงด้านอาหารในระดับประเทศและระดับโลก โดยมีสาระสำคัญเกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยสรุปดังนี้

1.1 ในการลงมติยอมรับปฏิญญาฯ ฉบับนี้ รัฐหรือรัฐบาลจะต้องให้ความสำคัญและดำเนินการลดจำนวนประชากรที่อดอยากหิวโหย ขาดโภชนาการและขาดความมั่นคงด้านอาหาร รวมถึงการขจัดความยากจน

1.2 เป้าหมาย

1.2.1 เพื่อสร้างความมั่นใจว่าการดำเนินการอย่างเร่งด่วนในระดับชาติและระดับโลกนั้น ได้ให้ความสำคัญกับเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษข้อ 1 คือ การขจัดความยากจนและความหิวโหย และเป้าหมายจากการประชุมสุดยอดอาหารโลกในปี 2539 (ค.ศ. 1996) ที่ต้องการลดสัดส่วนและจำนวนประชากรที่อดอยากหิวโหยและทุพโภชนาการให้ได้กึ่งหนึ่งภายในปี 2558 (ค.ศ. 2015)

1.2.2 เพิ่มเงินลงทุนภาคการเกษตร ความมั่นคงด้านอาหาร และการพัฒนาชนบททั้งระดับภายในประเทศและระหว่างประเทศ รวมถึงสนับสนุนการลงทุนใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มผลผลิตและผลิตภาพการเกษตรอย่างยั่งยืน ลดความยากจน และสร้างความมั่นใจว่าประชาชนทุกคนมีความมั่นคงด้านอาหาร และสามารถเข้าถึงอาหารได้ตลอดเวลา

1.2.3 แก้ปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในเชิงรุกที่อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านอาหาร และความจำเป็นในการปรับตัวและบรรเทาผลกระทบในภาคการเกษตร รวมถึงเพิ่มความสามารถในการฟื้นฟูภาคการเกษตร ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยให้ความสำคัญกับเกษตรกรรายย่อยและประชากรผู้ด้อยโอกาส

2. ปฏิญญาฯ นี้ เป็นเพียงความเห็นทางการเมือง (Political Views) และไม่มีการลงนาม จึงไม่มีข้อผูกพันทางกฎหมาย (legal binding) แต่อย่างใด ซึ่งแต่ละประเทศมีอำนาจอธิปไตยของตัวเองที่จะทำตามหรือไม่ก็ได้

3. ประเด็นการพัฒนาที่ระบุไว้ในปฏิญญาฯ นี้ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่ประเทศไทยดำเนินการอยู่แล้ว เช่น การพัฒนาศักยภาพการผลิตภาคการเกษตร การวิจัยและพัฒนาควบคู่กับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การสร้างความมั่นคงด้านอาหาร อาหารปลอดภัย การลดปัญหาความยากจน และการเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่อาจส่งผลกระทบต่อการผลิตภาคการเกษตร เป็นต้น รวมทั้งไทยมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนความมั่นคงด้านอาหารในระดับภูมิภาค โดยโครงการสำรองข้าวในกลุ่มประเทศ ASEAN+3 จึงไม่น่าจะมีประเด็นขัดข้องในการให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามปฏิญญาฯ ดังกล่าว

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 10 พฤศจิกายน 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ