กรอบการเจรจาข้อตกลงจัดตั้ง Credit Guarantee and Investment Mechanism (CGIM)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 11, 2009 15:34 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง กรอบการเจรจาข้อตกลงจัดตั้ง Credit Guarantee and Investment Mechanism (CGIM)

และกรอบวงเงินทุนจัดตั้งในส่วนที่ประเทศไทยจะต้องชำระ

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบกรอบการเจรจาข้อตกลงจัดตั้ง Credit Guarantee and Investment Mechanism (CGIM) และกรอบวงเงินทุนจัดตั้งในส่วนที่ประเทศไทยจะต้องชำระ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้เสนอรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบต่อไป

สาระสำคัญของเรื่อง

ด้วยที่ประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ASEAN+3 ซึ่งได้ประชุมไป เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2552 ณ เกาะบาหลี สาธารณรัฐอินโดนีเซีย เห็นชอบแนวทางการจัดตั้งกลไกการค้ำประกันเครดิตและการลงทุน (Credit Guarantee and Investment Mechanism : CGIM) เพื่อสนับสนุนการออกหุ้นกู้สกุลเงินท้องถิ่นของภาคเอกชนในภูมิภาค โดยให้จัดตั้ง CGIM ในรูป Trust Fund ของธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank : ADB) และให้มีเงินทุนจัดตั้งเบื้องต้นไม่ต่ำกว่า 500 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่สามารถเพิ่มทุนดำเนินงานได้ในภายหลังหากมีความต้องการจากตลาดเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังกำหนดให้จัดตั้ง CGIM ให้แล้วเสร็จก่อนการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ASEAN+3 ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2553 พร้อมทั้งมอบหมายให้คณะทำงานย่อยมาตรการริเริ่มการพัฒนาตลาดพันธบัตรเอเชีย (Asian Bond Market Initiative : ABMI) ภายใต้ Task Force 1 : Promoting the Issuance of Local Currency Denominated Bonds (TF1) ซึ่งมีประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นประธานคณะทำงานร่วมไปหารือแนวทางการจัดตั้ง CGIM ต่อไป

กระทรวงการคลังรายงาน ดังนี้

1. สรุปความคืบหน้าในการกำหนดแนวทางจัดตั้ง CGIM

คณะทำงานย่อย TF 1 ได้มอบหมายให้ ADB ในฐานะผู้ที่จะทำหน้าที่ Trustee ยกร่างข้อตกลงจัดตั้ง (Articles of Agreement) และร่างนโยบายการดำเนินงาน (Operational Policies) ของ CGIM ให้ประเทศสมาชิก ASEAN+3 พิจารณา โดยคณะทำงานย่อย TF1 ได้จัดประชุมเพื่อพิจารณาแนวทางการร่างกรอบข้อตกลงฯ และร่างนโยบายการดำเนินงาน รวมถึงหารือถึงท่าทีของแต่ละประเทศในการเข้าร่วมลงทุนใน CGIM ไปแล้วรวม 2 ครั้ง เมื่อวันที่ 1-2 กันยายน 2552 ณ กรุงปักกิ่ง และเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2552 ณ เมืองกวางเจา สาธารณรัฐประชาชนจีน

2. กรอบการเจรจาข้อตกลงจัดตั้ง CGIM และกรอบวงเงินทุนจัดตั้งในส่วนที่ประเทศไทยจะต้องชำระ

ที่ประชุมคณะทำงานเพื่อพิจารณาแนวทางในการร่างกรอบข้อตกลงฯ ได้หารือถึงกรอบการเจรจาข้อตกลงจัดตั้ง CGIM และแนวทางในการชำระเงินทุนจัดตั้ง CGIM ซึ่งสรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

2.1 วัตถุประสงค์การจัดตั้ง CGIM

เพื่อสนับสนุนให้ผู้ออกตราสารหนี้ในประเทศ ASEAN+3 ที่มีอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในระดับที่ลงทุนได้ (Investment Grade) ออกตราสารหนี้สกุลเงินท้องถิ่นในภูมิภาค ASEAN+3 มากขึ้น โดยจะยังช่วยให้ผู้ออกตราสารหนี้สามารถออกตราสารหนี้ที่มีอายุยาวขึ้น ทำให้การระดมเงินทุนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับความต้องการใช้เงิน และยังเป็นการช่วยพัฒนาตลาดตราสารหนี้ให้มีสภาพคล่องเพิ่มขึ้นทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาคด้วย

2.2 ขอบเขตการดำเนินงานของ CGIM

(1) ค้ำประกันตราสารหนี้สกุลเงินท้องถิ่นที่ออกโดยนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นในประเทศ ASEAN+3 ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือตั้งแต่ระดับที่น่าลงทุน (BBB) ขึ้นไปและออกในตลาดตราสารหนี้ของประเทศ ASEAN+3

(2) ค้ำประกันตราสารหนี้สกุลเงินอื่นที่ออกโดยนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นในประเทศ ASEAN+3 ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือตั้งแต่ระดับที่น่าลงทุน (BBB) ขึ้นไป และออกในตลาดตราสารหนี้ของประเทศ ASEAN+3 ทั้งนี้ ตราสารหนี้ ดังกล่าวจะต้องมีการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนด้วย

(3) ลงทุนในธุรกิจที่สนับสนุนการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ในภูมิภาค ตามที่ที่ประชุมผู้ถือหุ้นพิจารณาเห็นสมควร

(4) ดำเนินการใดๆ เพื่อสนับสนุนการดำเนินธุรกรรมตามข้อ 2.2 (1) — (3)

2.3 สัดส่วนของทุนต่อการค้ำประกัน (Leverage Ratio)

ในช่วงแรกของการดำเนินการ จะกำหนดสัดส่วน Leverage Ratio ของ CGIM ไว้ที่ 1:1 และหากที่ประชุมผู้ถือหุ้นมีมติเห็นชอบโดยมีเสียงข้างมากไม่ต่ำกว่า 2 ใน 3 ของผู้ถือหุ้นและต้องไม่ต่ำกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนหุ้น ทั้งหมดแล้วก็สามารถปรับสัดส่วนเพิ่มเติมได้ในภายหลัง

2.4 โครงสร้างการดำเนินงานของ CGIM

มติของที่ประชุมผู้ถือหุ้น (Contributor’s Meeting) จะเป็นการตัดสินใจระดับสูงสุด โดยจะตัดสินใจในเรื่องการเพิ่มทุนของ CGIM การเปลี่ยนแปลงสัดส่วน Leverage Ratio ของ CGIM การโอนสิทธิในหุ้นหรือผลตอบแทนอื่นหรือภาระผูกพันของผู้ถือหุ้น การยุติการดำเนินงานของ CGIM การกำหนดกลยุทธ์การดำเนินงาน และการรับรองงบการเงิน เป็นต้น ส่วนการตัดสินใจในระดับรองลงมาจะขึ้นกับคณะกรรมการอำนวยการ (Board of Directors ) ซึ่งจะมีหน้าที่สั่งการ ให้คำแนะนำ และควบคุมฝ่ายบริหารเพื่อให้ดำเนินงานไปตามแนวทางที่ผู้ถือหุ้นกำหนด นอกจากนี้ ยังมีคณะกรรมการบริหาร (Executive Committee) ทำหน้าที่บริหารงานประจำวันของ CGIM เพื่อให้สอดคล้องกับแผนการดำเนินงานประจำปีงบประมาณ และนโยบายที่คณะกรรมการอำนวยการกำหนด รวมถึงดำเนินการในเรื่อง การลงทุน การวิเคราะห์เครดิต การบริหารความเสี่ยง และการบริหารงานบุคคล

2.5 แนวทางในการชำระเงินทุนจัดตั้ง

ประเทศญี่ปุ่นและสาธารณรัฐประชาชนจีนแจ้งว่า จะร่วมลงทุนประเทศละ 200 ล้านเหรียญสหรัฐ สาธารณรัฐเกาหลี 100 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับประเทศในกลุ่ม ASEAN 10 ประเทศคาดว่าจะชำระเงินทุนจัดตั้งรวมกันอย่างน้อยร้อยละ 10 ของเงินทุนจัดตั้งเบื้องต้น (หรือประมาณ 70 ล้านเหรียญสหรัฐ) ในขณะที่ ADB แจ้งว่า น่าจะสามารถชำระเงินทุนจัดตั้งได้ในวงเงิน 100 — 150 ล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้ CGIM น่าจะมีเงินทุนจัดตั้งเบื้องต้นประมาณ 700 ล้านเหรียญสหรัฐ

2.6 กรอบวงเงินทุนจัดตั้งในส่วนที่ประเทศไทยจะต้องชำระ

จากการประชุมหารือนอกรอบของกลุ่มประเทศสมาชิก ASEAN ทั้ง 10 ประเทศพบว่า ประเทศสมาชิกส่วนใหญ่สนับสนุนแนวทางที่ให้กลุ่มประเทศ ASEAN ร่วมกันชำระเงินทุนจัดตั้งให้ได้อย่างน้อยไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 ของเงินทุนจัดตั้งเบื้องต้น หรือเทียบเท่าวงเงินประมาณ 70 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ เพื่อให้มีสิทธิแต่งตั้งกรรมการอำนวยการได้ 1 ราย ดังนั้น ผู้แทนไทยในฐานะประธานร่วมในที่ประชุมคณะทำงานย่อย TF 1 จึงได้เสนอแนวทางให้ประเทศสมาชิก ASEAN ที่มีตลาดตราสารหนี้ที่ค่อนข้างพัฒนาแล้ว 5 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย พิจารณาร่วมกันชำระเงินทุนจัดตั้งในสัดส่วนเท่าๆ กันในวงเงินประเทศละ 14 ล้านเหรียญสหรัฐ ในการนี้ กระทรวงการคลังจึงเห็นควรให้กำหนดกรอบวงเงินทุนจัดตั้งในส่วนที่ประเทศไทยจะต้องชำระไว้ไม่เกิน 14 ล้านเหรียญสหรัฐ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 10 พฤศจิกายน 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ