ขอขยายระยะเวลาการรับชำระเงินในการซื้อหุ้นคืนที่เกินกรอบอายุของกองทุนรวม

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 18, 2009 11:04 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ขอขยายระยะเวลาการรับชำระเงินในการซื้อหุ้นคืนที่เกินกรอบอายุของกองทุนรวมเพื่อร่วมลงทุน

ในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

คณะรัฐมนตรีอนุมัติขยายระยะเวลาการรับชำระเงินในการซื้อหุ้นคืนที่เกินกรอบอายุของกองทุนรวมเพื่อร่วมลงทุนในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 27 กรกฎาคม 2553 ออกไปอีก 3 ปี 6 เดือนจากวันที่ 27 กรกฎาคม 2553 ถึงวันที่ 26 มกราคม 2557 ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

1. กระทรวงอุตสาหกรรม และ กระทรวงการคลัง รายงานว่า

1.1 ผลการดำเนินการตลอดระยะเวลา 9 ปีที่ผ่านมาวิสาหกิจสนใจติดต่อกับกองทุนรวมทั้งสิ้น 2,427 ราย และวิสาหกิจได้ยื่นแผนธุรกิจเพื่อขอรับการพิจารณาสนับสนุนเงินร่วมลงทุน จำนวน 472 ราย คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 19.44 ซึ่งกองทุนรวมได้อนุมัติเข้าร่วมทุน/สนับสนุนทางการเงินแก่วิสาหกิจ จำนวน 68 ราย เป็นเงินจำนวน 714.05 ล้านบาท ครอบคลุมกลุ่มอุตสาหกรรมหลักทั้งภาคการผลิต การค้า และการบริการ รวมทั้งยังได้กระจายการลงทุนไปตามเป้าหมายยุทธศาสตร์และการพัฒนาตามนโยบายการลงทุนที่กำหนดไว้ ซึ่งวิสาหกิจที่กองทุนรวมได้ร่วมลงทุนในแต่ละภาคอุตสาหกรรมได้เติบโตขึ้นและสามารถสร้างรายได้แก่ประเทศประมาณ 21,530 ล้านบาท และเกิดการจ้างงานทั้งสิ้น 14,000 คน

1.2 กองทุนรวมมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2552 จำนวน 913.93 ล้านบาท โดยมีทรัพย์สินที่เป็นเงินสดประมาณ 667.28 ล้านบาท และเงินลงทุนในรัฐวิสาหกิจซึ่งคำนวณตามมูลค่าเงินลงทุนเริ่มต้น (Cost Method) 526.69 ล้านบาท หรือหากลงทุนตามมาตรฐานการบันทึกบัญชีของเงินลงทุนโดยบันทึกกำไรขาดทุน (Equity Method) จะมีมูลค่าเงินลงทุน จำนวน 246.65 ล้านบาท

1.3 นโยบายการลงทุนของกองทุนรวมเป็นการเข้าร่วมลงทุน โดยเข้าไปถือหุ้นของวิสาหกิจที่มีศักยภาพในเชิงพาณิชย์ โดยมุ่งหวังให้วิสาหกิจนั้นสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจและเติบโตได้อย่างมั่นคง รวมทั้งมุ่งหวังในการพัฒนาวิสาหกิจเข้าสู่ตลาดทุนต่อไป ทั้งนี้ กองทุนรวมจะถอนตัวจากวิสาหกิจร่วมทุนเมื่อครบกำหนดตามสัญญาร่วมทุน ซึ่งการถอนตัวมี 3 วิธี คือ

1.3.1 ขายหุ้นคืนให้กับเจ้าของกิจการเดิม

1.3.2 ขายหุ้นให้กับบุคคลภายนอกที่ประสงค์จะเข้าเป็นผู้ร่วมทุนรายใหม่

1.3.3 ขายหุ้นให้กับประชาชนทั่วไปในกรณีที่กิจการนั้น เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

1.4 ปัจจุบันกองทุนรวมได้เริ่มทยอยถอนตัวจากการลงทุนในวิสาหกิจแล้ว จำนวน 18 ราย คิดเป็นเงิน 187.38 ล้านบาท อย่างไรก็ดีจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในช่วงที่ผ่านมามีผลทำให้รายได้ของวิสาหกิจลดลง วิสาหกิจหลายรายประสบปัญหาขาดทุน และอาจไม่สามารถซื้อหุ้นคืนภายในกำหนดอายุของกองทุนรวมได้ ซึ่งหากจัดกลุ่มการลงทุนจำแนกตามสถานะของวิสาหกิจแล้วมี 3 กลุ่ม ดังนี้

1.4.1 กลุ่มที่เลยกำหนดการซื้อหุ้นคืนแล้ว (Default) จำนวน 20 ราย เงินลงทุน 133 ล้านบาท

1.4.2 กลุ่มเสี่ยงที่อาจไม่สามารถซื้อหุ้นคืนได้ (Risky) จำนวน 5 ราย เงินลงทุน 63 ล้านบาท

1.4.3 กลุ่มที่อยู่ในขั้นตอนของกระบวนการทางกฎหมาย จำนวน 8 ราย เงินลงทุน 41 ล้านบาท

เมื่อรวมทั้ง 3 กลุ่มข้างต้นแล้ว คิดเป็นเงินลงทุนทั้งสิ้น 237 ล้านบาท ซึ่งกองทุนรวมได้พยายามเจรจาและติดตามการซื้อหุ้นคืนอย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ดี ภายใต้สัญญาร่วมทุนมีข้อกำหนดการซื้อหุ้นคืนจากกองทุนรวม ซึ่งวิสาหกิจไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาซื้อหุ้นคืนได้ กองทุนรวมก็จะติดตามโดยเสนอข้อพิพาทผ่านสถาบันอนุญาโตตุลาการ โดยจะมีกระบวนการไกล่เกลี่ยเพื่อให้การพิจารณาชี้ขาดทำได้รวดเร็วขึ้น

2. กระทรวงอุตสาหกรรม และ กระทรวงการคลัง พิจารณาแล้ว มีความเห็นดังนี้

2.1 มติคณะรัฐมนตรี (10 สิงหาคม 2542) ได้จัดตั้งกองทุนรวมในรูปแบบของกองทุนปิดอายุ 10 ปี ซึ่งจะครบกำหนดวันที่ 27 กรกฎาคม 2553 ต้องปิดกองทุนรวมและดำเนินการชำระบัญชี เพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่ได้รับอนุมัติ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในปัจจุบัน การถอนตัวในวิสาหกิจร่วมทุนที่มีผลประกอบการขาดทุนคงกระทำได้ไม่ง่ายนัก โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่เหลืออยู่เพียงปีเดียวของกองทุนรวม และหากจะใช้วิธีดำเนินการทางกฎหมายเพื่อบังคับขายหุ้นวิสาหกิจร่วมทุนทุกรายที่กองทุนรวมถืออยู่ ก็จะเป็นการซ้ำเติมวิสาหกิจร่วมทุนเหล่านั้น ส่งให้วิสาหกิจร่วมทุนที่ถูกดำเนินคดีเสียโอกาสในการขยายกิจการ และไม่เป็นผลดีต่อวิสาหกิจที่ยังมีศักยภาพในการเติบโตต่อไป รวมทั้งอาจไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งกองทุนรวมที่มุ่งมั่นให้วิสาหกิจเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ และเติบโตได้อย่างมั่นคง

2.2 แม้ว่าการขยายระยะเวลารับชำระเงินในการซื้อหุ้นคืนเกินกรอบอายุกองทุนรวมดังกล่าว จะส่งผลให้ภาครัฐได้รับเงินคืนช้ากว่าที่กำหนดแต่จะเป็นผลดีต่อวิสาหกิจร่วมทุนและต่อกองทุนรวมโดยตรง ดังนี้

2.2.1 ผลดีต่อวิสาหกิจร่วมทุน

เป็นการช่วยเหลือวิสาหกิจที่มีความตั้งใจในการดำเนินธุรกิจแต่ยังไม่มีความพร้อมในการซื้อหุ้นคืนภายในกรอบอายุกองทุนรวมสามารถทยอยชำระเงินในการซื้อหุ้นกู้ได้ ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างสภาพคล่องให้กับวิสาหกิจต่อไปได้ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง และประหยัดค่าใช้จ่ายและเวลาในการดำเนินการทางกฎหมาย

2.2.2 ผลดีต่อกองทุนรวม

(1) มีโอกาสได้รับเงินลงทุนและผลตอบแทนเพิ่มขึ้นหลังจากชำระบัญชีประมาณ 52 ล้านบาท จาก 863.20 ล้านบาท (กรณีไม่ขยายระยะเวลารับชำระเงิน) เป็น 915.20 ล้านบาท (กรณีขยายระยะเวลารับชำระเงิน) ทั้งนี้ ตัวเลขดังกล่าวประเมินจากสถานะความน่าจะเป็น ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2552

(2) ประหยัดค่าใช้จ่ายและเวลาในการดำเนินการทางกฎหมาย

(3) รักษาภาพลักษณ์ที่ดีของกองทุนรวม ซึ่งเป็นกองทุนที่ภาครัฐตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนวิสาหกิจร่วมทุน

2.3 เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อกองทุนรวมและวิสาหกิจร่วมทุนให้สามารถอยู่รอดได้ภายใต้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวย ควรที่จะขยายระยะเวลารับชำระเงินออกไปอีก 3 ปี 6 เดือน (ประมาณการจากการดำเนินการฟ้องร้องผ่านอนุญาโตตุลาการ สำหรับวิสาหกิจที่อยู่ในกลุ่มเลยกำหนดการซื้อคืนแล้ว : Default) นับจากวันที่กองทุนครบกำหนดอายุ คือจากวันที่ 27 กรกฎาคม 2553 ถึงวันที่ 26 มกราคม 2557 ซึ่งในระหว่างการขยายระยะเวลารับชำระเงิน จะไม่มีค่าใช้จ่ายในการบริหารกองทุน แต่จะมีค่าใช้จ่ายในการรับชำระบัญชีเท่านั้น

2.4 ภายหลังจากการชำระบัญชีเสร็จสิ้นแล้วและมีทรัพย์สินคงเหลือ หากเห็นว่ามีความจำเป็นต้องให้ความช่วยเหลือวิสาหกิจต่อไป ก็อาจจัดตั้งกองทุนรวมขึ้นใหม่ และพิจารณาปรับปรุงแก้ไขปัญหาจากการดำเนินงานของกองทุนแรก เพื่อให้ธุรกิจเงินร่วมลงทุนสามารถพัฒนาได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนเกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจโดยรวม

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 17 พฤศจิกายน 2552 --จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ