คณะรัฐมนตรีอนุมัติตามความเห็นของสำนักงบประมาณ ที่เห็นควรให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ปฏิบัติตามเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) กำหนดไว้ โดยให้บริหารจัดการงบประมาณภายในวงเงินงบประมาณที่ได้รับจัดสรรประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 งบบุคลากร ที่ตั้งงบประมาณรองรับไว้แล้วแทนการขอรับสนับสนุนงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพิ่มเติม เพื่อให้เกิดความเป็นมาตรฐานเดียวกันกับแนวทางปฏิบัติของส่วนราชการอื่น ๆ
สาระสำคัญของเรื่อง
กระทรวงศึกษาธิการรายงานว่า
1. สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) ให้ดำเนินมาตรการปรับปรุงอัตรากำลังของส่วนราชการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 และเห็นชอบให้มีจำนวนผู้เข้าร่วมมาตรการฯ ได้ 11,918 ราย
2. สพฐ. ได้ดำเนินมาตรการฯ ภายใต้กรอบหลักเกณฑ์และวิธีการที่ คปร.กำหนด และกำหนดเงื่อนไขให้มีการบรรจุทดแทนผู้เข้าร่วมมาตรการฯ ทุกตำแหน่งโดยมีระยะเวลาปฏิบัติราชการ แต่ด้วยข้อจำกัดของบุคลากรจึงได้อนุมัติให้ข้าราชการในสังกัดเข้าร่วมมาตรการฯ ได้เพียง 8,795 ราย จากผู้สมัครทั้งสิ้น 10,107 ราย และยังคงเหลือผู้สมัครที่ยังไม่ได้รับการอนุมัติให้เข้าร่วมมาตรการฯ อีกจำนวน 1,312 ราย
3. เพื่อสนองตอบความต้องการของข้าราชการกลุ่มนี้และเพื่อประโยชน์แห่งการศึกษาขั้นพื้นฐานซึ่งเป็นสิ่งสำคัญของรัฐและส่งผลต่อคุณภาพของพลเมืองในอนาคตของประเทศ จึงควรอนุมัติให้ข้าราชการกลุ่มนี้ได้เข้าร่วม มาตรการฯ ด้วย และจะทำให้มีอัตราว่างรวมทั้งสิ้น 10,107 อัตรา ซึ่งไม่มีผลกระทบต่อจำนวน (โควตา) ผู้เข้าร่วมมาตรการฯ ที่ได้รับความเห็นชอบจาก คปร. แล้วแต่อย่างใด (มีโควตา 11,918 ราย) เพียงแต่ขาดงบประมาณบางส่วน จำนวน 174,102,400 บาท ทั้งนี้ได้วิเคราะห์แล้วหากดำเนินการได้จะมีผลดีมากกว่าผลเสีย ดังนี้
3.1 สามารถเกลี่ยอัตรากำลังจากโรงเรียนที่มีครูเกินเกณฑ์ไปยังโรงเรียนที่มีครูต่ำกว่าเกณฑ์ได้ทันทีไม่ยุ่งยากเหมือนการเกลี่ยอัตราที่มีผู้ครองอยู่
3.2 สามารถคัดเลือกบุคลากรมาบรรจุทดแทนได้ตรงตามวิชาเอกที่ขาดแคลนและตรงตามความต้องการของสถานศึกษา อีกทั้งยังเป็นการแก้ไขปัญหาครูสอนไม่ตรงวิชาได้อย่างดี ปัญหาในเชิงคุณภาพจะได้รับการแก้ไขให้ดีขึ้นส่งผลต่อคะแนน ONET, ANET และ NT ในภาพรวมของประเทศ อันจะส่งผลต่อคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา ขั้นพื้นฐานให้สูงขึ้น
3.3 สามารถสรรหาบุคคลรุ่นใหม่ที่มีความต้องการเข้าสู่ระบบราชการและเป็นบุคลากรที่มีความรู้วิทยาการทันเทคโนโลยีสมัยใหม่ อันเป็นประโยชน์ต่อการปฏิรูปการศึกษารอบสองและจะนำไปสู่เป้าหมายคุณภาพการศึกษาเป็นอย่างยิ่ง
3.4 เป็นการตอบสนองความต้องการของผู้สมัครเข้าร่วมมาตรการฯ ในการกำหนดอนาคตของชีวิตตนเอง ทั้งสุขภาพกาย สุขภาพจิต การวางแผนครอบครัว การดูแลบิดา-มารดาที่ชราภาพหรือเจ็บป่วย เป็นต้น ซึ่งจิตใจของบุคคลกลุ่มนี้มุ่งหวังว่าตนเองจะได้รับการพิจารณาอนุมัติให้เข้าร่วมมาตรการฯ เหมือนเช่นปีที่ผ่านมา จึงไม่มีจิตใจและขาดแรงจูงใจที่จะปฏิบัติราชการต่อไปอีกแล้ว
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 17 พฤศจิกายน 2552 --จบ--